xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เชียร์ทีมลุงแจกแหลก เทหมดหน้าตัก 2.5 แสนล้าน ยังไม่พอหนุนกู้เพิ่ม 2.4 ล้านล้าน สู้โควิดยกสาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ติดเยียวยาแบบแจกแหลกชนิดถอนตัวกันไม่ขึ้นกันทั้งรัฐบาลทั้งประชาชนที่ได้รับผลกระทบถ้วนหน้าจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาถึงการแพร่ระบาดยกที่ 3 ทีมนักเศรษฐศาสตร์แบงก์กรุงเทพ และทีดีอาร์ไอ เชียร์ “ทีมลุงตู่” ทุ่มใช้เงินกู้ที่ยังเหลืออยู่ 2.5แสนกว่าล้าน แจกต่อ ยังไม่พอหนุนกู้มาเพิ่มอีก 2.4 ล้านล้านบาท แบบไม่ต้องหวั่นเพราะหนี้สาธารณะยังไม่ชนเพดาน 60% ของจีดีพี แต่ที่น่าห่วงสุดๆ คือหนี้ครัวเรือนที่พุ่งแรงจากพิษโควิด-19 ทำนิวไฮใหม่ในรอบ 18 ปี  

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นับจากปีที่ผ่านมาจนบัดนี้ที่  “รัฐบาลลุง”  แจกสะบั้นหั่นแหลกนั้นเป็นที่ชอบอกชอบใจและเรียกคะแนนนิยมได้ไม่น้อยไม่ว่าจะ  “รักลุง” หรือ “ชังลุง”  ก็ตาม จนคล้ายอาการเสพติด เมื่อโควิดระบาดรอบใหม่ ประชาชนคนไทยจึงตั้งตารอว่ารัฐบาลจะเทกระจาดแจกอีกเมื่อไหร่ ด้วยว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลก็เพลมมาแล้วว่า  “คนละครึ่ง เฟส 3” มาแน่  “ไทยชนะ” เฟสต่อก็มาแน่ ไม่นับ “บัตรคนจน”  ที่มีเงินเติมเข้าอย่างต่อเนื่องคล้ายน้ำซึมบ่อทรายแถมมีเพิ่มเม็ดเงินเข้าไปอีกทบเท่า

เอาเป็นว่าหลังสงกรานต์นี้คงมีความชัดเจนขึ้น

กระนั้นก็ดี ผลกระทบที่คาดว่ารอบนี้จะหนักกว่ารอบไหนๆ ทำให้ นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารกรุงเทพ มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อว่า สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำโดยด่วนคือการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอก 3 เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มชะงัก โดยภาคการท่องเที่ยวมีปัญหาหนักหน่วงสุด ซึ่งการแพร่ระบาดรอบนี้กระจายไปหมดทั่วทั้งประเทศ ประชาชนทุกกลุ่มได้รับผลกระทบหมด เป็นวิกฤตคนจนโดยเฉพาะกลุ่มอาชีพค้าขาย อาชีพบริการต่างขาดรายได้ทันที

ทีมนักเศรษฐกิจแบงก์กรุงเทพ มองว่า มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐอาจคล้ายกับที่ผ่านมา เช่น โครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” หรือ “เราชนะ” สรุปคือ จะต้องแจกเงินกันอีกรอบ โดยวงเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ที่เหลืออยู่กว่า 2.4 แสนล้านนั้น น่าจะเพียงพอต่อการรับมือสถานการณ์โควิด ระลอก 3 ขณะที่หนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับ 54% ยังมีเพดานกู้หนี้ได้อีกมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ รัฐบาลต้องกล้าใช้เงิน ต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบต่อเนื่องเพื่อเร่งฟื้นเศรษฐกิจ

สอดคล้องกับข้อเสนอของ  นายนณริฏ พิศลยบุตร  นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่นี้ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติมในวงเงินประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันหลังโควิด-19

นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ แนะว่า สำหรับการกู้แบ่งเป็นกู้ระยะสั้น วงเงินประมาณ 4 แสนล้าน เพื่อเยียวยากลุ่มที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ร้านค้า หาบเร่แผงลอย คนหาเช้ากินค่ำ ซึ่งกลุ่มนี้คาดว่ามีประมาณ 30 ล้านคน โดยการช่วยเหลืออย่างน้อยควรจะเป็นร้อยละ 50-60% ของค่าแรงขั้นต่ำ หรือประมาณ 3,900-4,600 บาทต่อเดือน ระยะเวลาเยียวยา 3-4 เดือน จำนวน 30 ล้านคน คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 4 แสนล้านบาท ส่วนอีกก้อนหนึ่งเป็นการเพิ่มลงทุนเพื่อฟื้นฟูโครงการสร้างพื้นฐานที่จะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศหลังการแพร่ระบาดคลี่คลายลง โดยควรมีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่กระทบวินัยการเงินการเงินการคลังและระดับหนี้สาธารณะที่กำหนดกรอบไว้ที่ 60% ของจีดีพี

แต่ก็อย่างที่ว่า การกู้หนี้เพิ่มของรัฐบาลจะต้องตอบคำถามในทางการเมืองด้วย เพราะคงไม่มีรัฐบาลไหนที่อยากถูกชี้หน้าว่าเป็นนักสู้กู้สิบทิศ สร้างภาระหนี้ให้ประชาชนแบกรับ นักวิชาการค่ายทีดีอาร์ไอ จึงเรียกร้องความกล้าหาญทางการเมืองจากรัฐบาลว่า อยากให้ตัดสินใจบนพื้นฐานของความจำเป็นของประเทศในอนาคตมากกว่าเงื่อนไขทางการเมือง และกล้าตัดสินใจเพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอในการดูแลและบริหารสถานการณ์ทั้งการแก้ปัญหาและวางแผนลงทุนในอนาคต

 ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์  ประธานทีดีอาร์ไอ ก็ส่งเสียงหนุนในทำนองเดียวกันว่า ตอนนี้สถานการณ์คลังของรัฐบาลยังไม่ถือว่าถังแตกอย่างที่มีวาทกรรมกันในเวลานี้เพราะหนี้สาธารณะยังต่ำกว่า 60% ต่อจีดีพี สิ่งที่รัฐบาลต้องทำหลังโควิด-19 ระบาด คือ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ใช้หุ่นยนต์ อีคอมเมิร์ซ ลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวที่มีต้นทุนแฝงอยู่มาก เมื่อมีแผนชัดเจนในการลงทุนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหากจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อมาลงทุนในโครงการเหล่านี้ก็สามารถทำได้ เพราะหนี้สาธารณะของประเทศยังต่ำอยู่ ส่วนจะกู้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการลงทุนและเม็ดเงินที่ต้องใช้ ส่วนมาตรการระยะสั้นที่เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอก 3 เช่น โครงการเราชนะ คนละครึ่ง ก็ทำได้

 เสียงหนุนให้รัฐบาลเยียวยาผลกระทบเฉพาะหน้ารวมทั้งกู้เพิ่มเพื่อลงทุนปรับโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจเริ่มมา และต่างยืนยันว่าไม่มีปัญหาหนี้สาธารณะเพราะว่ายังไม่ชนเพดานจึงไม่น่าห่วง หนี้ที่น่ากังวลอยู่ที่ “หนี้ครัวเรือน” ที่ทำนิวไฮทุบสถิติมากกว่า โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกรายงานเปิดเผยระดับหนี้ครัวเรือน ปิดสิ้นปี 2563 ว่าทำสถิติจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 18 ปี ทะลุ 14 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 89.3% เมื่อเทียบกับจีดีพีปี 2563 

อย่างไรก็ดี หากมองในมิติอัตราการเติบโตของหนี้ จะพบว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนปี 2563 เพิ่มขึ้นเพียง 3.9% เป็นอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี แสดงให้เห็นว่า ทั้งผู้กู้และผู้ปล่อยกู้ ต่างเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลงจากผลกระทบของโควิด-19

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีข้อสังเกตว่าสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ยังเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจได้นั้น สะท้อนสถานะของผู้กู้และวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมที่แตกต่างกันระหว่างผู้กู้ 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นการกู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย หรือรถยนต์ ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่กำลังซื้อปานกลางค่อนไปทางสูง และรายได้ไม่ได้ถูกกระทบมากจากสถานการณ์โควิด และกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีความจำเป็นต้องก่อหนี้ เพื่อใช้เสริมสภาพคล่อง หรือเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน และสถานะทางการเงินอ่อนแอลงตามทิศทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ข้อมูลจากการสำรวจภาวะหนี้สินและเงินออมของศูนย์วิจัยกสิกรไทย สะท้อนว่า ภาระหนี้สินและเงินออมของผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจและผู้กู้รายย่อยที่มีปัญหาด้านรายได้ ถดถอยลงมาจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ที่ภาระหนี้ต่อรายได้ (Dept Service Ratio-DSR) ต่อเดือนในช่วงต้นปี 2564 อยู่ที่ 44.1% และ 43.8% ตามลำดับ ซึ่งภาระหนี้ของผู้กู้ทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย DSR ของผู้ตอบแบบสอบถามในผลสำรวจฯ ซึ่งอยู่ที่ 42.8% ขณะที่ข้อมูลในฝั่งการออมของภาคครัวเรือน ก็สะท้อนว่า ระดับการออมของครัวเรือนทุกกลุ่มลดต่ำลงจากผลกระทบของโควิด-19 ด้วยเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มในปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวขึ้น น่าจะทำให้เงินกู้ยืมของภาคครัวเรือนปีนี้ มีโอกาสเติบโตขึ้นสูงกว่าปี 2563 ซึ่งภาพดังกล่าวอาจส่งผลต่อเนื่องให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ขยับสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบประมาณ 89.0-91.0% ต่อจีดีพี ซึ่งภาครัฐคงต้องหันกลับมาดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างจริงจัง เมื่อวิกฤตโควิด-19 สิ้นสุดลง

ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของศูนย์วิจัยกสิกรไทย สอดคล้องกับตัวเลขของสภาพัฒน์ ซึ่งเปิดเผยรายงานเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา โดย  นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 ว่า จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนช่วงครึ่งปี 2563 พบว่า ครัวเรือนมีรายได้ 23,615 บาท ปรับตัวลดลงจากปี 2562 ที่มีรายได้ 26,371 บาท หรือมีรายได้ลดลงร้อยละ 10.45 ขณะที่หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 โดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 86.6 เพิ่มสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลของการแพร่ระบาดของ COVID-19

ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้นโดยไตรมาสสามปี 2563 ยอดคงค้างหนี้ NPLs เพื่อการอุปโภคบริโภคมีมูลค่า 144,329 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.91 ของสินเชื่อรวม ลดลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 3.12 ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อชะลอการด้อยคุณภาพของสินเชื่อ ทำให้ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อดีขึ้นในทุกประเภทสินเชื่อ

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังความสามารถในการชำระหนี้ เนื่องจากในไตรมาส 3 ของปี 2563 สัดส่วนหนี้ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 6.7 ต่อสินเชื่อรวม หรือคิดเป็น 2 เท่าของสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวม ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่สินเชื่อดังกล่าวจะกลายเป็น NPLs หากมีปัจจัยลบมากระทบต่อรายได้หรือความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน

 สรุปง่ายๆ ก็คือ ตอนนี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดน้อยลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศล่าช้าออกไป และเพิ่มความเสี่ยงทางการเงินของครัวเรือนหรือรายได้ของครัวเรือนหดหายไปนั่นเอง โดยสภาพัฒน์ เสนอแนะการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ระลอกใหม่อาจต้องมุ่งเน้นไปยังครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยเพราะมีสัดส่วนภาระหนี้สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ตามผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจของสังคมไทยช่วงครึ่งปี 2563 



กำลังโหลดความคิดเห็น