xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เคลมประกันโควิด พุ่ง 170 ล้าน” “ติดปุ๊บ-จ่ายปั๊บ” จริงหรือมั่ว? ที่ชัวร์บริษัทประกัน โกยกำไรอื้อ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ยอดกรมธรรม์ประกันโควิด-19 ทะลุ 10.66 ล้านฉบับ ดันเบี้ยรับรวมกว่า 4.95 พันล้านบาท ขณะที่เคลมประกันยอดพุ่ง 170 ล้านบาท (ข้อมูลมีนาคม 2564) 

 “โควิด-19 ระลอก 3” นับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2564 ตัวเลขผู้ติดเชื้อเกี่ยวโยง “คลัสเตอร์ทองหล่อ” ยังคงพุ่งไม่หยุด ขณะที่ กรมธรรม์  “ประกันโควิด-19” ยังคงได้รับความนิยมสูง รวมทั้งเพิ่มความคุ้มครองทั้งเรื่องแพ้วัคซีนโควิด-19 มีประชาชนสนใจซื้อประกันฯ กันเป็นจำนวนมาก ดันธุรกิจประกันวินาศภัยเติบโตพรวดๆ สวนทางภาวะเศรษฐกิจที่กำลังซบเซา

อาทิ ผลประกอบการของ บริษัท ทิพยประกันภัย จํากัด (มหาชน)  กำไร ปี 2563 ทะลุ 2,000 ล้าน เพิ่มขึ้น 10.82% สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ เบี้ยประกันภัยขยายตัวทุกผลิตภัณฑ์ ดันเบี้ยประกันภัยรวม 25,398 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.26% หรืออย่า บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)  ปี 2563 กำไรสุทธิ 590.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.8 เบี้ยประกันภัยรับรวมแตะ 14,725 ล้านบาท เติบโต 10.3%

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในเมืองไทยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 กรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 กลายมาเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงของคนไทยในรอบปีกว่าๆ ที่ผ่านมา

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) รายงานว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด - 19 ในประเทศไทย อ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 มีจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 รวมประมาณ 10.66 ล้านฉบับ จำนวนเบี้ยรวมประมาณ 4.95 พันล้านบาท

เทียบเคียงสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอก 2 ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งขยายวงกว้างแพร่ระบาดในวงกว้าง จากวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 เพิ่มขึ้น 1.29 ล้านฉบับ ซึ่งช่วงเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ถือช่วงเดือนแรกหลังจากการระบาดระลอก 2 ในไทย ส่งผลให้ประชาชนมีกลับมาให้ความสนใจในการทำประกันภัยโควิดกันอีกครั้ง

จำนวนกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 เดือนมกราคม 2564 จึงมีอัตราการเติบโตมากกว่าช่วงเดือนอื่นๆ สำหรับหลังการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 มีจำนวนกรมธรรม์สะสมที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 5 แสนกว่าฉบับ หรือ ประมาณ 6% หรือ เบี้ยโควิดไตรมาสแรกเพิ่ม 815 ล้านบาท ดันเบี้ยรวมเกือบ 5 พันล้าน

พร้อมกันนี้ ช่วงเดือนมีนาคม 2564 มีอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันมากกว่าช่วงเดือนอื่นๆ ประมาณ 8% หรือมีเบี้ยประกันภัยสะสมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 400 ล้านบาท ผลพวงมมาจากเป็นช่วงที่บริษัทส่วนใหญ่มีการปรับความคุ้มครองและเบี้ยประกันภัยให้สอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดและสภาวะแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

สำหรับยอดเคลมประกันโควิดพุ่งสูงเป็นระลอกๆ จำนวนค่าสินไหมทดแทนของกรมธรรม์ประกันโควิด-19 มีจำนวนรวมประมาณ 170.48 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีการเปลี่ยนแปลงของค่าสินไหมทดแทนจากวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 เพิ่มขึ้น 93.18 ล้านบาท เฉพาะเดือน ม.ค. เดือนแรกภายหลังจากการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ในไทย สถิติการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อัตราการเติบโตของค่าสินไหมทดแทนสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 38% หรือมีค่าสินไหมทดแทนสะสมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 29 ล้านบาท

ดังนั้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 เป็นที่น่าจับตาเพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ธุรกิจประกันวินาศภัยกลับคึกคักอีกครั้ง เริ่มตั้งแต่  บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TQM ซึ่งหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ส่งผลต่อยอดขายและการต่ออายุแบบประกันโควิด-19 เพิ่มขึ้น เดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564 ที่ลูกค้าต่ออายุประกันโควิด-19 สูงสุดอยู่ที่ 10,000 กว่ากรมธรรม์ต่อวัน จนช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน ยอดขายประกันโควิด-19 ชะลอลงมาอยู่ที่ราว 4,000 - 5,000 กรมธรรม์ต่อวัน กระทั่ง การแพร่ระบาดระลอก 3 ส่งผลให้กรมธรรม์เพิ่มขึ้น 20,000 - 30,000 ล่าสุดวันที่ 8 เมษายน ยอดขึ้นมาทะลุ 50,000 กรมธรรม์ต่อวัน

ขณะที่  บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)  ปี 2563 เริ่มขายประกันโควิด-19 มียอดขายรวมทั้งหมด 1.6 ล้านกรมธรรม์ (เบี้ยประกันภัยโควิดปี 2563 อยู่ที่ 700 ล้านบาท) คาดว่าจากการระบาดรอบ 3 อัตราการต่ออายุแบบประกันโควิด-19 น่าจะเพิ่มขึ้น มากกว่า 50% ก็แต่อาจต่ำกว่าระดับ 80% คาดการณ์ว่าอัตราค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) แบบประกันโควิด-19 ปัจจุบันอยู่ที่ราว 10% แม้ว่าระยะนี้จะเห็นการเคลมสินไหมมากขึ้น แต่คาดว่า Loss Ratio จะพุ่งขึ้นไม่ถึง 20%

ด้วยจำนวนประชาชนให้ความสนใจซื้อกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 จำนวนมากกว่า 10 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยโควิด-19 ยอดซื้อเข้ามาถล่มทลายนับพันๆ ล้าน เทียบกับยอดเงินเคลมประกันร้อยกว่าล้านมีส่วนต่างค่อนข้างมาก คปภ. ออกคำสั่ง ปรับลดอัตราเบี้ยประกันภัย 20% หรือมากกว่านั้นก็ตามแต่ดุลพินิจของบริษัทประกัน

 ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คปภ. ได้ออกคำสั่งให้บริษัทประกันภัยสามารถปรับลดอัตราเบี้ยประกันภัยได้ถึง 20% เพื่อให้เบี้ยประกันภัยสอดรับกับสภาวะการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มากยิ่งขึ้น

สอดคล้องกับ  นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย ปี 2564 ค่าเบี้ยประกันภัยโควิด-19 จะลดลงราว 20% เนื่องจากยอดเคลมปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำเฉลี่ยไม่เกิน 20% ขณะที่ตลาดยังมีความต้องการสูงจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 รอบใหม่ ทำให้การแข่งขันในตลาดสูง บริษัทประกันบางแห่งเริ่มปรับลดเบี้ยให้ลูกค้าต่ออายุแล้ว หรือบางบริษัทกำลังปรับเปลี่ยนเงื่อนไขความคุ้มครองให้เหมาะสมกับค่าเบี้ยที่ถูกลง โดยรูปแบบ  “เจอ จ่าย จบ”  อย่างเดียวอาจลดลง แต่เป็นการให้ความคุ้มครองครอบคลุมมากขึ้น และคาดการณ์ว่าผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 2564 จะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 250,000 - 253,000 ล้านบาท จะเติบโตราว 0-5.0%




ทั้งนี้ คปภ. ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง และครอบคลุมในทุกมิติของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

สำหรับความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 สามารถแบ่งออกเป็น 4 แบบความคุ้มครองหลักๆ ดังนี้ ความคุ้มครองแบบที่ 1การรักษาพยาบาล หากผู้เอาประกันภัยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเจ็บป่วยจากโควิด-19 จนเป็นเหตุให้ต้องได้รับการรักษาพยาบาล บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตามจำนวนเงินที่ต้องจ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้

ความคุ้มครองแบบที่ 2 : เงินชดเชยรายวัน หากผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเจ็บป่วยด้วยโควิด-19 และต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาล บริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินชดเชยรายวันให้ตามจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้

ความคุ้มครองแบบที่ 3 : ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ค่าใช้จ่ายเพื่อทำความสะอาดสถานที่เอาประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเจ็บป่วยด้วยโควิด-19 จนเป็นเหตุทำให้สถานที่เอาประกันภัยมีความเสี่ยงเป็นแหล่งในการติดเชื้อดังกล่าว บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดสถานที่เอาประกันภัย ได้แก่ น้ำยาฆ่าเชื้อโรค อุปกรณ์ในการทำความสะอาด รวมถึงการว่าจ้างบริษัทบริการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคให้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง ทั้งนี้ ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ และค่าใช้จ่ายตรวจหาโควิด-19 หากผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเจ็บป่วยด้วยโควิด-19 และทำให้บุคคลในครอบครัวเกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อดังกล่าว บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าใช้จ่ายตรวจหาโควิด-19 ให้กับบุคคลในครอบครัวตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงต่อคน ทั้งนี้ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้

และความคุ้มครองแบบที่ 4 กรณีได้รับผลกระทบในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อาทิ ผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาล หากผู้เอาประกันภัยได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 และเกิดผลกระทบจากการแพ้วัคซีนดังกล่าว จนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยในของโรงพยาบาล บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ และผลประโยชน์การเจ็บป่วยด้วยภาวะหรือโรคร้ายแรง

หากผู้เอาประกันภัยได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 และเกิดผลกระทบจากการแพ้วัคซีนดังกล่าว ซึ่งทำให้ผู้เอาประกันภัยเจ็บป่วยด้วยภาวะหรือโรคร้ายแรงตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ตามจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ได้ระบุไว้ รวมทั้ง ผลประโยชน์เงินชดเชยปลอบขวัญสำหรับผู้ป่วยใน หากผู้เอาประกันภัยได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 จนเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบจากการแพ้วัคซีนดังกล่าวและต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ในโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน บริษัทประกันภัยจะจ่ายชดเชยเงินปลอบขวัญให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ความคุ้มครองข้างต้นเป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละบริษัท ดังนั้นผู้ทำประกันภัยควรศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ และเข้าใจก่อนตัดสินใจทำประกันภัย

ล่าสุด คปภ. ส่งเสริมระบบประกันภัยกรณีได้รับผลกระทบในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทประกันวินาศภัย เบี้ยประกันภัยตั้งแต่ 70 -1,000 บาทต่อปี เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หากเกิดการแพ้วัคซีนขึ้น

 เรียกว่าเปิดศึกครั้งใหม่ บริษัทประกันภัยลงสนามท้าชิงเบี้ยกรมธรรม์ ‘‘แพ้วัคซีนโควิด-19’’ กันอย่างอึกทึก  


“แม้การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะเป็นวิธีการยับยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ แต่ประชาชนหลายคนก็ยังมีความกังวลกรณีเกิดการแพ้วัคซีนแล้วอาจจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามมา ดังนั้นการทำประกันภัย จึงเป็นการโอนความเสี่ยงไปให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบ หากเกิดเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในสัญญาประกันภัยการทำประกันภัยแพ้วัคซีนป้องกันโควิด-19 จึงเป็นมาตรการที่ช่วยตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าวได้อย่างดี ซึ่งหากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อสายด่วน คปภ. 1186” ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าว

และแน่นอนว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ย่อมส่งผลให้สถิติการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของกรมธรรม์ประกันโควิด-19 สูงขึ้น โดยเฉพาะล่าสุดเกิดการแพร่ระบาดย่านเศรษฐกิจใจกลางเมือง ผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนใหญ่

ภาพปัญหาการจ่ายสินไหมทดแทนของบริษัทประกันเริ่มปรากฎให้เห็น ผู้ทำประกันหลายคนเริ่มพบปัญหาขั้นตอนดำเนินการเบิกจ่ายเป็นไปอย่างยุ่งยาก มีรายละเอียดเงื่อนไขยุบยิบ หรือล่าสุด ผู้ทำประกันถูกบริษัทประกันปฏิเสธการเคลม โดยให้เหตุผลว่าต้องรักษาให้หายก่อน ทั้งๆ ที่ในกรมธรรม์ไม่ระบุเงื่อนไขดังกล่าว ทั้งนี้ หากเกิดปัญหาผู้ทำประกันสามารถฟ้อง คปภ. ได้ทันที

ในประเด็นข้อกำหนดเงื่อนไขของประกันภัยโควิด ทาง คปภ. ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักรู้มาตั้งแต่ต้น เพราะแต่ละบริษัทเงื่อนไขต่างกัน ประกันจำเป็นต้องทำความเข้าใจอย่างละเอียด เช่น ประกันภัยโควิด-19 รูปแบบที่นิยมสูงสุด คือ เจอ จ่าย จบ หรือตรวจพบเชื้อโควิด-19 จะจ่ายสินไหมทดแทน เงินก้อนในวงเงินสูงสุด 100,000 บาท โดยการเคลมประกันหรือเรียกร้องสินไหม เป็นไปตามแต่ข้อกำหนดของบริษัทนั้นๆ บางแห่งมีระยะรอคอยโรค 14 วัน หมายความว่าหลัง 14 นับจากวันที่ซื้อประกันถึงจะได้รับความคุ้มครอง หรือกรณีติดเชื้อต้องยื่นเอกสารใบรับรองแพทย์ตัวจริงเพื่อยืนยัน เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ที่ซื้อประกันภัยโควิดไว้หลายกรมธรรม์หลายบริษัท สามารถเคลมได้ทุกฉบับ แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของบริษัทประกัน ย้ำว่าต้องทำความเข้าใจอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้เสียสิทธิ

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจประกันภัยนั้นมีการคิดคำนวณมาเป็นอย่างดี โดยบริษัทประกันจะทำดัชนี worst case scenario หรือกรณีเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ อิงจากสถิติที่เกิดขึ้นจริง สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก จะคำนวณหาค่าเฉลี่ยตามอัตราก้าวหน้าต่างๆ โดยมีการคำนวณตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดของแต่ละประเทศในปัจจุบัน กับจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศนั้นๆ ซึ่งจะพบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้นการออกผลิตภัณฑ์กรมธรรม์ประกันโควิด-19 เบี้ยประกันหลักร้อยหลักพัน โฆษณาให้ความคุ้มครองหลักแสนหลักล้าน ธุรกิจประกันภัยคำนวณมาแล้วยังไงก็คุ้ม แถมได้รับกระแสตอบรับถล่มทลายจากประชาชนต่อเนื่อง พายุความกลัวโควิดระลอกใหม่ยิ่งกระพือยอดขายทะลุเป้า แม้ยอดเคลมประกันเรียกสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้น แต่ถัวเฉลี่ยแล้วบริษัทประกันฯ โกยกำไรกันถ้วนหน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น