xs
xsm
sm
md
lg

มวยจะนะ : บทสะท้อนความล้มเหลวของการบริหารยามวิกฤตและสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"


สนามมวยซึ่งเป็นแหล่งมหาระบาดโควิดครั้งแรก ต่อมามีการปรับตัวโดยจัดมวยแบบถ่ายทอดสดที่ไร้คนดูในสนาม ความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดจึงลดลง ต่อมา ตลาด แรงงานเถื่อน และบ่อนเป็นแหล่งมหาระบาดครั้งที่สองและไม่มีสนามมวยเข้ามาเกี่ยวข้อง ล่าสุด คลับบาร์เถื่อนเป็นแหล่งมหาระบาดรอบสาม แต่ผ่านไปไม่กี่วัน การจัดมวยกำลังกลายเป็นแหล่งมหาระบาดอีกครั้งจนได้ คราวนี้เกิดที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และมีหน่วยงานอย่างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) และนักการเมืองเป็นแกนหลักในการจัดงานนี้

กลุ่มคนที่เที่ยวคลับบาร์ คนดูมวย และคนเล่นพนันจำนวนไม่น้อยเป็นกลุ่มคนเดียวกัน เป็นกลุ่มที่มีรสนิยมเข้มข้นในการแสวงหาความบันเทิงเริงรมย์และความเสี่ยงในการพนัน กลุ่มคนเหล่านี้มักตระเวณไปยังแหล่งที่สนองความปรารถนาของพวกเขาอย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย วิธีคิดและการดำรงชีวิตของพวกเขายึดความบันเทิงเริงรมย์เหนือกว่ามิติอื่น ๆ ระหว่างความเสี่ยงในการติดโรคโควิด กับ การเสพสุขจากความบันเทิงเริงรมย์ พวกเขาให้น้ำหนักกับอย่างหลังมากกว่า และผู้ถูกตรวจและพบเชื้อโควิดสองรายแรกที่เข้าไปดูมวยที่จะนะ ซึ่งเมื่อดูจาก “เส้นเวลา” ของการใช้ชีวิต ก็มีแบบแผนการใช้ชีวิตในลักษณะดังกล่าว

กลุ่มหลักที่เป็นแกนนำการจัดมวย ‘ศึกมหกรรมมวยรวมพลคนจะนะ’ ซึ่งมีชื่อปรากฎในสื่อสาธารณะประกอบด้วย ศอบต. มูลนิธิธงฟ้าช่วยคนยากจน องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ชมรมรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดภาคใต้ และมีนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์การจัดการแข่งขัน ที่มาของโครงการตามข่าวที่เลขาธิการ ศอบต. แถลงคือ เริ่มต้นมาจากคนในพื้นที่ซึ่งมีความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างบรรยากาศปรากฏการณ์กิจกรรมมวยเหมือนเวทีระดับโลก

ส่วนนายนิพนธ์ ระบุเป้าประสงค์ของการจัดงานอย่างสวยหรูว่า เพื่อสนองนโยบายและกลยุทธ์ในการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมในการเผยแพร่ศิลปะแม่ไม้มวยไทย ส่งเสริมให้เยาวชนหันมาอนุรักษ์ศิลปะแม่ไม้มวยไทย ห่างไกลยาเสพติด ส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในการมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของคนนอกพื้นที่ รวมทั้ง ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาลที่จะยกระดับประเทศไทยไปสู่การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ และนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พร้อมกันนั้นมีเป้าหมายในการนำเงินรายได้จากการจัดงานมอบแก่เด็กนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียน สถาบันการศึกษาต่างๆในพื้นที่ และชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และหลังการจัดงานกลุ่มผู้จัดก้มอบเงินจำนวน ๑.๔๕ บาท แก่มูลนิธิธงฟ้า ฯ และจะส่งมอบแก่ ศอบต. ต่อไปเพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียน

กลุ่มผู้จัดงานโดยเฉพาะในส่วนของศอบต. ต้องการให้เป็นมหกรรมระดับโลก มีคนเข้ามาร่วมเป็นจำนวนมาก ตั้งเป้าหมายผู้เข้าร่วมประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน และให้ประชาชนเข้าชมฟรีเพื่อดึงดูดผู้คนเข้ามาชมมวยให้ได้ตามเป้าหมาย งานนี้จึงไม่มีรายได้จากค่าเข้าชม แต่รายได้หลักมาจากการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ส่วนจะมีงบประมาณสนับสนุนจากศอบต. และ อบจ. สงขลาด้วยหรือไม่ ยังไม่มีข้อมูลปรากฎต่อสาธารณะ

ส่วนเป้าประสงค์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นเข้าใจว่า คงคาดหวังจากผู้ที่เข้ามาร่วมงานจากต่างถิ่นที่ผู้จัดได้เชิญให้มาชมมวย ซึ่งล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเพราะการระบาดรอบใหม่ของโควิด ๑๙ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าการจัดงานเพียงไม่กี่วัน แต่กระนั้นก็ยังมีกลุ่มที่ได้รับเชิญจากต่างถิ่นเข้ามาชมจำนวนไม่น้อยในวันที่ ๘ เมษายน และกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่นำเชื้อโควิดเข้ามาด้วย และมีความเป็นไปได้ว่าจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางในจังหวัดสงขลาและจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้

ส่วนวัตถุประสงค์ในเรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรมและให้เยาวชนมาสนใจมวยไทยเพื่อห่างไกลยาเสพติดนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถประเมินได้ เป็นเพียงวาทศิลป์สวยหรูสร้างความชอบธรรมให้การจัดมวยเท่านั้น และไม่มีหลักฐานใดที่บ่งบอกว่าการจัดมวยแล้วจะทำให้เยาวชนมาสนใจกีฬามวยมากขึ้นและทำให้ลดการเสพยาเสพติดลงไปได้ ดังที่ทราบในสังคมไทย การจัดแข่งขันมวยไทยมีมาหลายสิบปีแล้ว จัดกันมาอย่างมากมายทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด แต่นอกจากปัญหายาเสพติดของประเทศไทยไม่ลดลงแล้ว กลับยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก ข้ออ้างแบบนี้จึงเป็นความเชื่อเชิงมายาคติเสียมากกว่า ในทางกลับกันการจัดแข่งขันมวยกลับเป็นแหล่งบ่มเพาะนักพนันจำนวนมาก และนักเลงเป็นจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะหลังเลิกประกอบอาชีพชกมวย

ที่สำคัญอีกอย่างคือโครงการมหกรรมรวมพลคนจะนะ ผู้จัดไม่มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบของการจัดงานแม้แต่น้อย ทั้งที่ประเทศยังอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ดังนั้นเมื่อมีการระบาดของโควิดรอบสาม ซึ่งเริ่มทวีจำนวนมากขึ้นเป็นทวีคูณทุกวันนับจากวันที่ ๒ เมษายน ห่างจากวันจัดงานประมาณ ๖ วัน หากกลุ่มผู้จัดงานมีทีมวิเคราะห์ความเสี่ยง เมื่อเห็นตัวเลขการเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจของผู้ติดเชื้อโควิดแล้ว ก็ควรดำเนินการปรับรูปแบบการดำเนินงานอย่างเร่งด่วนทันที โดยลดรูปแบบการจัดงานให้เหลือเพียงการถ่ายทอดสดเพียงอย่างเดียว และระงับการเข้ามาชมในสนามมวย หากทำเสียตั้งแต่วันที่ ๔ หรือ ๕ เมษายน ก็ยังคงสามารถระงับยับยั้งการเป็นแหล่งระบาดได้ทันท่วงที แต่ดูเหมือนผู้จัดงานมีสำนึกแห่งความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การต่ำหรืออาจไม่มีก็ได้ ประธานกิตติมศักดิ์จึงยังแถลงข่าว ยืนยันการจัดงานเมื่อวันที่ ๕ เมษายนในรูปแบบเดิมที่ให้มีผู้ชมในสนาม ทั้งที่มีเสียงคัดค้านจากภาคประชาชนจำนวนมากที่ให้ยกเลิกการจัดงาน

หากกลุ่มผู้จัดมีความตระหนักและสามารถวิเคราะห์ถึงความร้ายแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้น และแถลงปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดเสียตั้งแต่วันที่ ๕ เมษายน และแพร่กระจายข่าวไปให้ทั่วถึง เหตุการณ์วันที่ ๘ เมษายนที่ประชาชนจำนวนมากเข้ามาชมในสนามก็คงไม่เกิดขึ้น แต่ผู้จัดงานกลับไม่ทำ และรอคำสั่งจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา คณะกรรมการชุดนี้ก็ทำงานล่าช้าเหมือนกัน ต้องรอให้ประชาชนมายื่นหนังสือเพื่อให้ทบทวนและยกเลิกการจัดมวย แล้วจึงจัดประชุมในวันที่ ๗ เมษายน แทนที่จะติดตามสถานการณ์ให้ทันท่วงทีโดยใช้การบริหารงานภาวะวิกฤต และรีบมีคำสั่งให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานหรือยกเลิกการจัดงานเสียแต่เนิ่น ๆ กลับรอให้ใกล้เวลาจัดงานแล้วจึงมีคำสั่ง ความเสียหายจากความล่าช้าจึงเกิดขึ้นตามมา

ยิ่งกว่านั้น เมื่อคณะกรรมการฯ สั่งให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงาน แทนที่กลุ่มผู้จัดจะเร่งรีบกำหนดมาตรการอย่างเร่งด่วนในการยับยั้งไม่ให้คนเข้ามาดูมวยในสนาม กลับอ้างว่าได้รับคำสั่งล่าช้าตอบสนองไม่ทัน บอกประชาชนไม่ทั่วถึง จึงทำให้มีคนจำนวนหลายร้อยคนแห่เข้ามาชมในสนาม อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงกลไกในการตอบสนองสถานการณ์ของศอบต.และหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดสงขลามีประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำ เพราะหากกลไกรัฐมีประสิทธิภาพที่ดีแล้ว แม้จะทราบคำสั่งภายในวันเดียวก็สามารถดำเนินสกัดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าไปในสนามมวยได้อย่างทันท่วงที แต่กลับปล่อยให้เนิ่นช้า กว่าจะจัดระบบได้ก็ล่วงมาในวันที่ ๙ เมษายน อันเป็นวันที่สองของงาน เพราะฉะนั้นงานนี้ โควิดมีโอกาสแพร่ระบาดหนึ่งวันเต็ม ๆ คือ วันที่ ๘ เมษายน และมีแนวโน้มจะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเพราะมาตรการหย่อนยานมาก ทั้งในเรื่องการลงทะเบียนผู้เข้าชม และการนั่งกันอย่างแออัดใกล้ชิดกันดังภาพที่มีการเผยแพร่ในสื่อสาธารณะทั่วไป

สิ่งที่ควรทำจากบทเรียนที่เกิดขึ้นในการจัดมวยที่จะนะมีอย่างน้อยสองอย่าง ๑) การจัดงานมหกรรม กิจกรรม และโครงการใดทั้งของรัฐและเอกชนที่ทำให้มีผู้คนจำนวนมากต้องมาอยู่ร่วมกันอย่างแออัดในสถานที่เดียวกัน ควรระงับทั้งหมดอย่างน้อยสามเดือน และในช่วงปีหรือสองปีนี้ ผู้จัดกิจกรรมและ/หรือโครงการ ควรมีคณะทำงานติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์และปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกกิจกรรมและโครงการได้ทันท่วงที ๒) คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะต้องทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น โดยถือว่าสถานการณ์ช่วงนี้เสมือนหนึ่งเป็นสถานการณ์วิกฤตที่ยืดเยื้อ แม้ต่อไปโรคจะแพร่ระบาดน้อยลงกว่าช่วงนี้ แต่จะเฉื่อยชาเหมือนการทำงานประจำไม่ได้ เพราะจะทำให้ตอบสนองสถานการณ์ไม่ทันและสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง

สำหรับเหตุการณ์ที่อำเภอจะนะควรมีผู้รับผิดชอบความเสียหายให้ชัดเจน ซึ่งอย่างน้อยน่าจะมีสองคนหลักคือ เลขาธิการ ศอบต. และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่แม้จะพยายามเลี่ยงความรับผิดชอบว่าตนเองไม่เกี่ยวข้อง แต่หากดูตำแหน่งในฐานะเป็นประธานกิตติมศักดิ์และบทบาทในการขับเคลื่อนงานที่เป็นจริง ก็ไม่น่าจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้ ส่วนวิธีการรับผิดชอบจะเป็นอย่างไรด้านหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับสำนึกของแต่ละคน แต่อีกด้านหนึ่งขึ้นอยู่กับความกล้าหาญในการตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์ จันท์โอชา นายกรัฐมนตรี


กำลังโหลดความคิดเห็น