ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ
คณะสถิติประยุกต์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
พรรคประชาธิปัตย์แท้จริงแล้วมีจุดกำเนิดมาจากการต่อต้านเผด็จการทหารและสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะตั้งโดยนายควง อภัยวงศ์ซึ่งเดิมเป็นผู้ก่อการในคณะราษฎรสายพลเรือน นายควง อภัยวงศ์จบโรงเรียนไปรษณีย์มาจากประเทศฝรั่งเศส ภายหลังรัฐประหารคณะราษฎรเกิดการทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงอำนาจเข่นฆ่ากันเองไม่ได้ต่างอะไรกับที่สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ทรงกล่าวกับนายประยูร ภมรมนตรีว่า แล้วคอยดูเถอะพวกแกจะฆ่ากันเองจนตาย เมื่อคราวที่นายประยูรมาเชิญกรมพระนครสวรรค์วรพินิตไปเป็นองค์ประกันที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475
ภายหลังนั้นจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ขึ้นมามีอำนาจและบทบาทในคณะราษฎร จนกระทั่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
จอมพลป. พิบูลสงคราม เป็นผู้มีทัศนคติในการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรงแม้กระทั่งตราสัญลักษณ์ประจำตัวจอมพลป. พิบูลสงครามก็เป็นตราไก่ระกาเอาตีนเหยียบคทาจอมพลพระครุฑพ่าห์ อันเป็นสัญลักษณ์ของการเย้นหยันด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่สุด
นายควง อภัยวงศ์ จัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ด้วยความเลื่อมใสในระบอบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และต้องการต่อต้านเผด็จการทหาร สนับสนุนการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน ในขณะเดียวกันต้องการฟื้นฟูบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์อันต้องพึงมีในระบอบ constitutional monarchy
หลายสิ่งหลายอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์ได้กระทำในอดีตเป็นแบบอย่างที่ดีไม่ว่าจะเป็นการไฮด์ปาร์คเพื่อหาเสียงกลางสนามหลวงการมีส่วนผลักดันสำคัญ พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ฉบับที่ 3 เป็นการแก้ไขปัญหาศึกชิงพระคลังข้างที่ เกิดสุญญากาศซึ่งคณะราษฎรจำนวนหนึ่งยักยอกทรัพย์และที่ดินของพระเจ้าแผ่นดินไปเป็นของส่วนตัว ไปตั้งธนาคาร ไปเป็นทุนในการทำรัฐประหาร
ก็ต้องนับว่าพรรคประชาธิปัตย์เองเคยทำหน้าที่ในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเข้มแข็ง
บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์นับตั้งแต่การก่อตั้งพรรคจึงเป็นบทบาทสำคัญยิ่งในการปกปักรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในสองนัยยะ
ข้อแรกพรรคประชาธิปัตย์มีอุดมการณ์แบบเสรีนิยม liberal ที่ต่อต้านเผด็จการทหารอย่างเข้มแข็ง
ข้อสองพรรคประชาธิปัตย์มีอุดมการณ์สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเช่นแข็งเช่นกัน อาจกล่าวได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์เมื่อแรกเริ่มก่อตั้งนั้นเป็น royalist อย่างชัดเจน
บทบาท 2 ประการนี้หรืออุดมคติ 2 ประการนี้ในราวปี 2490 และต่อเนื่องยาวนานมาอีกหลายสิบปีนั้นไม่ได้เป็นบทบาทที่ขัดแย้งกันแต่อย่างใด เพราะกองทัพไทยในอดีตนั้นต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรงโดยเฉพาะกลุ่มคณะราษฎรและภายหลังกลุ่มทหารเหล่านั้นก็แก่งแย่งอำนาจกันเองขึ้นมาปกครองบ้านเมืองทำให้เกิดการรัฐประหารอยู่เนืองเนือง
บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ดังกล่าวจึงเป็นบทบาทที่อาจกล่าวได้ว่ากึ่งเหลืองกึ่งร่าน
เหลืองนั้นคือกษัตริย์นิยมหรือ royalist ในขณะที่ร่านนั้นก็คืออาการต่อต้านทหารอย่างรุนแรงโดยเฉพาะต่อต้านเผด็จการทหารจึงเป็นที่มาของชื่อบทความกึ่งเหลืองกึ่งร่านอาการพรรคการเมืองสีฟ้า บทความนี้
อย่างไรก็ตามภูมิทัศน์การเมืองไทยนับตั้งแต่ 2490 จนถึง 2563 70 ปีผ่านไปมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมากแต่พรรคประชาธิปัตย์อุดมการณ์ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยเป็นปัญหาหนักมาก
อาการร่านปนเหลืองหรือกึ่งเหลืองกึ่งร่านนับว่าขัดแย้งกันเองอย่างรุนแรงในยุคนี้และทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและนำมาสู่ความย่อยยับของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 อย่างถล่มทลายจนกระทั่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะต้องลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคตามที่ได้เปล่งวาจาไว้ แต่ไม่ยอมลาออกจากการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างใด อาจจะเป็นไปได้ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะยังมีความหวังเรืองรองที่จะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และยังมีความคาดหวังว่าตนเองจะมีโอกาสกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นการแก้มือและแก้ไขการสูญเสียหน้าตาของตนเองไปในการเลือกตั้งที่พ่ายแพ้ยับเยินในปี 2562
ทำไมจึงแพ้ยับเยินและทำไมกึ่งเหลืองกึ่งร่านจึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับจากมหาชนประชาชนในปัจจุบัน
ประการแรก การมีตำแหน่งตราสินค้าที่ไม่ชัดเจน (Ambiguous market positioning) จัดเป็นบาป 10 ประการทางการตลาดซึ่งปรมาจารย์ทางการตลาดฟิลิป คอตเลอร์ได้กล่าวไว้ การมีตำแหน่งตราสินค้าที่ไม่ชัดเจนทำให้ไม่ไปทางไหน สร้างความสับสน จะเป็นอะไรก็เป็นเถิด แต่ขอให้เป็นในสิ่งที่ดีที่สุดในสิ่งนั้น ๆ แม้ไม่ได้เป็นฟูจิยาม่า แต่ก็ใช่ว่าภูเขาลูกอื่นจะไร้ค่าไปเสียทั้งหมด ศรีบูรพาก็กล่าวไว้เช่นนี้ในข้างหลังภาพ นวนิยายการเมืองไทย เช่นกัน
ตกลงพรรคประชาธิปัตย์จะต่อต้านเผด็จการทหารซึ่งสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจนในสายตาประชาชนอย่างนั้นหรือ ดังนั้นแปลได้ไหมว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่สนใจที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
ด้วยการที่นายอภิสิทธิ์ไปจับมือถือแขนกันที่ปฏิญญาธรรมศาสตร์กอดเกี่ยวก้อยกันนั้น ทำให้ประชาชนหมดความศรัทธากับพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งเงื่อนไขที่จะแก้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยไม่สนใจความรู้สึกของประชาชนซึ่งผ่านการลงประชามติมาหลายสิบล้านคน ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้นต้องการจะเลือกข้างทางการเมืองข้างไหนแน่ตกลงจะอยู่ข้างพรรคล้มเจ้าหรือพรรคที่ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์หรือจะอยู่ข้างพรรคที่มีทหารอยู่เบื้องหลังและสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่
บางส่วนในพรรคแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าจะไปข้างนอกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และอีกหลายส่วนในพรรคโดยเฉพาะส่วนที่มีอำนาจในการบริหารพรรคในเวลานั้นต้องการจะแสดงตนว่าไม่สนับสนุนเผด็จการทหารและการสืบทอดอำนาจ
เอาเข้าจริงในอดีตพรรคประชาธิปัตย์บางระยะเวลาก็เป๋ไปเข้ากับฝ่ายเผด็จการทหารอย่างชัดเจนเป็นระยะระยะ
และในบางคราวพรรคประชาธิปัตย์ก็มีหัวหน้าพรรคบางคนซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นเสรีนิยมอย่างรุนแรงและยอมไปจับมือกับพรรคการเมืองล้มเจ้าอย่างชัดเจนจนประชาชนรับไม่ได้และนำมาสู่ความพ่ายแพ้ย่อยยับของพรรคประชาธิปัตย์อย่างถล่มทลาย
ประการที่สอง พรรคประชาธิปัตย์ขาดความรู้ความเข้าใจและมิได้ตระหนักถึงสถานการณ์ตลอดจนภูมิทัศน์การเมืองไทย (Thai political landscape) ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจากเมื่อ 70 ปีที่แล้ว พรรคประชาธิปัตย์ยังคงเข้าใจว่าอุดมการณ์ไม่เปลี่ยนแปลงนั้นยังคงขายได้เสมอ
อุดมการณ์ 2 ประการของพรรคประชาธิปัตย์คือต่อต้านเผด็จการทหารและสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นน่าจะยังคงสืบทอดดำเนินต่อไปได้ ไม่ขัดแย้งกันเอง ไม่สับสน ไม่กำกวม
แต่พรรคประชาธิปัตย์หาได้พิจารณาเหตุปัจจัยที่เป็นความเป็นจริงในปัจจุบันว่า กองทัพสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเข้มแข็ง การยึดติดกับอุดมการณ์ดังกล่าวดั้งเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ทำให้เกิดความย้อนแย้งกันเองและเกิดความสับสนอย่างหนักในหมู่ประชาชน
แปลว่าพรรคประชาธิปัตย์หาได้เข้าใจภูมิทัศน์การเมืองไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงเลยก็หาไม่
สิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงที่สุดแต่คือสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้ดีที่สุด ทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส ดาร์วิน กล่าวไว้เช่นนั้น
จะเป็นไปได้อย่างไรที่สิ่งมีชีวิตจะดำรงชีพอยู่โดยปราศจากการปรับตัว
พรรคการเมืองด้วยเช่นกันจะอยู่รอดก็ต้องปรับตัว ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
จะมีอาการเหลืองปนร่านแบบเดิมเมื่อ 70 ปีก่อน นั้นคงไม่สามารถเป็นไปได้แล้ว เพราะขัดแย้งกันเองและย้อนแย้งกันเองอย่างเหลือที่ประชาชนจะเข้าใจได้
การยืนหยัดอยู่บนอุดมการณ์เดิมตั้งแต่เริ่มตั้งพรรคมาที่ดูเท่ มีหลักการ แต่ทฤษฎีจัด ปฏิบัติไม่ได้เลย จึงเป็นเรื่องที่อนุรักษ์นิยมจนเกินไป ตกยุคตกสมัย ล้าหลัง และไม่สอดคล้องกับภูมิทัศน์ทางการเมืองในปัจจุบัน
บิล เกตส์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ The business at the speed of thought เอาไว้ว่าองค์การที่ดีต้องเหมือนสรีรวิทยาที่มีการปรับตัวให้เข้าสู่สมดุลได้อย่างรวดเร็วและเป็นไปอย่างอัตโนมัติเพื่อให้ร่างกายไม่ต้องเจ็บป่วยหรือไม่สบายที่เราเรียกกันว่า homeostasis ซึ่งดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีกลไกตามธรรมชาติที่ว่านี้เลย ทำให้อยู่ไม่รอด
หากเป็นเช่นนั้นไดโนเสาร์ที่ชื่อพรรคประชาธิปัตย์ก็จะต้องสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้อย่างแน่นอน
ประการที่สาม แม้ภายหลังการเลือกตั้งแล้วทุกวันนี้ ประชาชนยังงงว่านายอภิสิทธิ์มีบทบาทอย่างไรในพรรคประชาธิปัตย์กันแน่ หรือพรรคประชาธิปัตย์คือพรรคของนายอภิสิทธิ์และนายชวน หลีกภัย
และหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันนั้นเป็นเด็กหรือร่างทรงของนายอภิสิทธิ์หรือไม่
และนโยบายทุกอย่างของพรรคประชาธิปัตย์ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายอภิสิทธิ์หรือแม้กระทั่งนายชวน หลีกภัยหรือไม่
ข้อนี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไปไหนไม่ได้เลย และตำแหน่งทางการตลาดดังกล่าวนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าไม่อาจจะวางใจพรรคประชาธิปัตย์ได้เลยเพราะน่าจะมีการแตะมือกับพรรคล้มเจ้าอยู่เป็นเนืองนิตย์ ภาพในอดีตที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังหลอกหลอนประชาชนอยู่
โดยที่กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันอาจจะไม่ได้รู้เรื่องเลยก็ได้ แต่ประชาชนก็คงคิดว่าพวกเดียวกัน เหมือนกัน เคยแตะมือพวกพรรคล้มเจ้าเหมือน ๆ กัน ไว้อาจจะไว้วางใจได้เลย
ภาพลักษณ์แย่ ๆ แบบนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ยังสลัดไม่ออกไปเลยแม้แต่น้อย
กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบันหรือแม้กระทั่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เองในปัจจุบันก็ไม่ได้มีบทบาทที่เข้มแข็งในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ทำให้ประชาชนไม่ได้ไว้ใจ
และในบางครั้งก็มีจอมหลักการประชาธิปไตยในพรรคประชาธิปัตย์บางคนแสดงความเป็นลิเบอร่านซ่านแตกออกมาอย่างชัดเจนโดยเฉพาะผู้อาวุโสในพรรคบางคนซึ่งต่อต้านเผด็จการทหารหรือต่อต้านการสืบทอดอำนาจไม่เคยหยุด ข้อนี้สร้างภาพงงงวยให้กับมหาชนและแฟนคลับดั้งเดิมของพรรคประชาธิปัตย์เป็นอันมากว่าตกลงพรรคประชาธิปัตย์จะเอาอย่างไรกันแน่กับความไม่ชัดเจนเหล่านี้
กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันก็ยังไม่สามารถสลัดออกจากเงาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เลย ซึ่งความนิยมในตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้นเสื่อมทรามลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากท่าทีของนายอภิสิทธิ์ที่ไม่ชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีที่ไม่ชัดเจนในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เพราะไปจับมือกับนักการเมืองล้มเจ้าบางส่วนทำให้ประชาชนก็ย่อมเกิดความคลางแคลงใจในพรรคประชาธิปัตย์อย่างมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้
ปัจฉิมลิขิต
สิ่งที่ข้าพเจ้าอยากจะเห็นก็คือ
หนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์ต้องทำความเข้าใจภูมิทัศน์การเมืองไทยเสียใหม่
สอง ต้องปรับเปลี่ยนอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคซึ่งยังสืบทอดมาตั้งแต่เริ่มต้นจัดตั้งพรรคโดยนายควง อภัยวงศ์ เมื่อ 70 ปีก่อน แต่ไม่สอดคล้องกับภูมิทัศน์การเมืองไทยในปัจจุบันเสียแล้ว หากยังไม่คิดปรับปรุงแก้ไขเลยก็จะสูญพันธุ์ไปในที่สุด
สาม กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบันต้องอดทนต่อการแซะ การทะเลาะเบาะแว้งกันภายในพรรค และปัญหาสารพัดภายในพรรค จัดว่าเป็นผู้ที่มีเวรกรรมน่าสงสารต้องมากอบกู้ภาพลักษณ์ของพรรคที่เสียหายไปอย่างหนักจากการกระทำที่ตนไม่ได้ก่อ (ในวงเล็บอาจจะก่อไว้ด้วยก็ได้อันนี้ข้าพเจ้าไม่สามารถยืนยันได้) แต่มีภาระอันหนักอึ้งที่จะต้องแก้ไขปัญหาของพรรคให้กลับมาเป็นพรรคการเมืองที่จะเป็นหลักของบ้านเมืองต่อไปได้คิดจะทำอย่างจริงจัง
สี่ สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องแสดงให้ชัดเจนก็คือต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ การมีตำแหน่งที่ตั้งทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ที่ชัดเจนในสายตาประชาชน ต้องไม่มีบทบาทที่กำกวม ต้องไม่เล่นการเมืองมากจนเกินไปอย่างในอดีตที่เคยทำมา ในขณะเดียวกันอาจจะต้องลดบทบาทในความเป็นลิเบอร่านซ่านแตกลง เช่น อาจจะต้องลดบทบาทในการต่อต้านกองทัพหรือเผด็จการทหารลง เพราะไม่น่าจะสอดคล้องกับบทบาทในการเป็นพรรคการเมืองกษัตริย์นิยมซึ่งประชาชนต้องการได้ ซึ่งหากพรรคประชาธิปัตย์คือหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบันไม่แสดงบทบาทเหล่านี้ให้ชัดก็เท่ากับไม่สามารถสลัดภาพเดิม ๆ ออกไปได้และจะทำให้ประชาชนเกิดความคลางแคลงใจไม่รู้จบ
ห้า พรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบัน ขอความกรุณาลดอัตตาลง และโปรดฟังด้วยเถิดว่าบทความนี้เขียนโดยคนที่เคยรักพรรคประชาธิปัตย์ ดังที่ได้เขียนบทความแด่คนที่ฉันเคยรักพรรคประชาธิปัตย์ https://mgronline.com/daily/detail/9640000035636 มาแล้วส่วนจะฟังหรือไม่ก็แล้วแต่ หรือจะออกมาด่าถล่มทลายอีกก็จะไม่สนใจอะไรใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะถือว่าได้พูดไปแล้ว
คนเราถ้าโกรธและเกลียดจริง ๆ จะไม่พูดอะไรเลยและจะฆ่าคนคนนั้นให้ตายจากใจ ไม่ว่าจะเป็นจะตาย จะทุกข์จะร้อน จะให้ดิ้นตายต่อหน้าก็จะเหมือนมองไม่เห็น ไม่สนใจ ไม่ว่ากล่าว ไม่ช่วยเหลือ ไม่พูดถึงใด ๆ ทั้งสิ้น ถือว่าไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รับรู้ ไม่มีตัวตน ขอฝากไว้เท่านี้
กึ่งเหลืองกึ่งร่านอาการพรรคสีฟ้า คือสาเหตุของความพ่ายแพ้ย่อยยับ ต้องกลับใจให้ชัดหรือไม่?