คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
คราวที่แล้วได้เล่าถึงนักเรียนวชิราวุธที่เข้ารัฐศาสตร์ จุฬาฯที่เป็นลูกศิษย์ผมไปหลายคนอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาเล่นรักบี้ให้คณะและ/หรือมหาวิทยาลัย สมัยท่านอาจารย์ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ท่านก็เล่นรักบี้ให้คณะ อาจารย์ชัยอนันต์ก็เช่นกัน ดังที่อาจารย์เล่าว่า แต่อาจารย์ชัยอนันต์โชคดีที่ไม่เป็นอะไรไป แต่อาจารย์ประพันธ์พงศ์ท่านเกิดอุบัติเหตุในขณะเล่นถึงกับต้องทำการผ่าตัด และผลออกมาทำให้ขาข้างหนึ่งท่านเดี้ยงไปจวบจนทุกวันนี้ ส่วนรุ่นหลังๆ ผมยังไม่ได้ยินว่า โอ.วี. สิงห์ดำคนไหนต้องประสบเคราะห์กรรมอย่างท่าน
ที่จริงอาจารย์ชัยอนันต์ไม่ได้เล่นรักบี้อย่างเดียว แต่แกเล่นกีฬาไปเสียเกือบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นประเภทใช้ไม้ตี (เทนนิส) ใช้มือเปล่า (บาสเกตบอล) ใช้เท้าแต่สวมสตั๊ด (ฟุตบอล) หรือแม้กระทั่งซอยสองเท้า (วิ่งเร็ว) ผมเชื่อว่าอาจารย์ไม่ได้โม้ เพราะถ้าโม้ แกคงไม่กล้ากล่าวอ้างไว้ในหนังสือชีวประวัติของแก เพราะเพื่อนๆก็คงจะเปิดโปง แต่ผมก็นึกภาพไม่ออกจริงๆว่า หุ่นอย่างอาจารย์จะเล่นกีฬาได้หลายประเภทขนาดนั้น โดยเฉพาะวิ่งเร็ว !
แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นและเป็นไปได้สำหรับนักเรียนโรงเรียนประจำอย่างวชิราวุธ เพราะมีเวลาว่างมาก แถมสนามและอุปกรณ์กีฬาก็ถือว่าอุดมสมบูรณ์กว่าโรงเรียนอื่นๆ โอกาสที่จะเล่นกีฬาเป็นหลายประเภทจึงไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์มากนัก
สำหรับโรงเรียนประจำ นอกจากกีฬาแล้ว แน่นอนว่ารวมทั้งเรื่องดนตรีด้วย อาจารย์ชัยอนันต์เล่าว่าแก “เล่นดนตรีประเภทอม” หมายถึง แกอมเครื่องดนตรีไว้เฉยๆ หรือถ้าเป่า ก็ “ไม่ได้เป่ามากนักเพราะจำโน้ตไม่ค่อยได้” และแกก็อมอยู่สองอย่าง นั่นคือ French Horn และ Trombone ในวงโยธวาทิต อันเป็นที่มาของรูปนี้ที่ผมได้จากพี่หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน นั่นเอง
คราวก่อนโน้น ถ้ายังจำกันได้ ผมได้เล่าถึงข้อสงสัยของผมที่มีต่อชื่อเล่นของ พิสิตฐ์ศักดิ์ สุพรรณเภสัช ที่อาจารย์ชัยอนันต์เรียกว่า “หรวด” ทั้งๆที่คุณพ่อคุณแม่ของ “หรวด” ตั้งชื่อเล่นให้ลูกท่านว่า “ปิ๋ม” และมีน้องๆชื่อ แป๊ด ป๋อมและต่าย และผมสันนิษฐานว่า คนที่ตั้งชื่อให้พิสิตฐ์ศักดิ์ว่า “หรวด” ก็น่าจะเป็นอาจารย์ชัยอนันต์นั่นเอง (ถ้าอยากรู้ว่าอะไรคือมูลฐานของสมมุติฐาน ให้ลองย้อนกลับไปอ่านตอนก่อนๆเอง) ซึ่งผมเองก็ยังคิดไปเลยว่า จริงๆแล้ว อาจารย์ชัยอนันต์น่าจะเข้าร่วมเป็นวงศาฯกับพี่น้องตระกูลสุพรรณเภสัชที่วชิราวุธได้อย่างเนียนๆ เพราะอาจารย์มีชื่อเล่นว่า “ปิ๋ง” และมีน้องชายชื่อ “ปาน” หรืออาจารย์ชัยสิริ สมุทวนิช ที่ผมเคยเชิญท่านมาสอบวิทยานิพนธ์ของ รุจภัทร ฐอสุวรรณ นิสิตปริญญาโทที่ทำเรื่อง “แนวคิดเรื่องมิคสัญญี : ศึกษาจากคัมภีร์โบราณทางพุทธศาสนาในฐานะเป็นจุดเริ่มต้น” เพราะท่านอาจารย์ชัยสิริมีความรู้ความเชี่ยวชาญในความคิดทางการเมืองไทยและพุทธศาสนา ไม่ทราบท่านยังจำได้หรือเปล่าว่าเคยกรุณามาเป็นกรรมการวิทยานิพนธ์ให้ผม เพราะผ่านมายี่สิบปีแล้ว !
ลำพังชื่อเล่น ปิ๋ม (พิสิษฐ์ศักดิ์ สุพรรณเภสัช) ปิ๋ง (ชัยอนันต์ สมุทวนิช) แป๊ด (พ.ต.อ. ประจักษ์ศิลป์ สุพรรณเภสัช) ปาน (ชัยสิริ สมุทวนิช) และป๋อม (พล.ต.อ. อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช) สามารถทำให้คนเข้าใจว่าเป็นพี่น้องกัน
แต่ไปๆมาๆ ชื่อเล่นที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งให้อาจารย์ชัยอนันต์กลับไม่ได้ขึ้นต้นด้วย “ป. ปลา” เหมือน “ป. ปลา ใน ปาน” ของอาจารย์ชัยสิริ !!
ผมว่าต้องมีใครเล่นตลกกับผมแล้ว ???
เพราะผมเพิ่งพบความจริงว่า อาจารย์ชัยอนันต์ แท้จริงมีชื่อเล่นว่า “แดง” แต่มีคนตั้งชื่อเล่นให้แกใหม่ว่า “ปิ๋ง”
จากปากของอาจารย์ชัยอนันต์ เล่าว่า พ่อ-แม่-ย่าเรียกแกว่า ‘ตาแดง’ แต่เมื่อเข้าโรงเรียน อายุแค่ 5 ขวบ ตัวเล็กกระจิริด เพื่อนคนหนึ่งบอกแกว่า ‘ไอ้นี้ตัวปิ๋งเดียว’ แกก็ยังนึกไม่ออกจนบัดนี้ว่า ‘ปิ๋ง’ มันแปลว่าเล็กได้อย่างไร เป็นอันว่า แกก็กลายเป็นไอ้ปิ๋งของเพื่อนๆจนไม่มีใครรู้ว่าแกชื่อแดง จนบัดนี้ ลูกศิษย์ที่ชอบข้ามรุ่น นับแกเป็นพี่ก็เรียกแกว่าพี่ปิ๋งบ้าง เสี่ยปิ๋งบ้าง
ลูกศิษย์ที่อาจารย์กล่าวถึงนี้ ผมว่า หนึ่งในนั้นน่าจะได้แก่อาจารย์ ธเนศ (ตู่ วงศ์ยานนาวา สิงห์ดำรุ่น 28 ศาสตราจารย์แห่งรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และเป็นศิษย์เก่าร่วมโรงเรียนกับผมด้วย) เพราะจำได้ว่า เขาชอบเรียกอาจารย์ชัยอนันต์ว่า “เฮียปิ๋ง” ซึ่งผมได้ยินเขาเรียกครั้งแรกตอนที่ทั้งผมและเขากำลังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสันอันเป็นสถาบันที่อาจารย์ชัยอนันต์จนปริญญาโทและเอก ตอนแรกที่ได้ยินธเนศ ตู่พูดถึงคนที่ชื่อ “เฮียปิ๋ง” ผมก็งงๆจนต้องถามว่า เขาหมายถึงใคร จนเขาบอกว่า “อ้าว ! มึงไม่รู้หรือว่า อาจารย์ชัยอนันต์ชื่อเล่นชื่อ ปิ๋ง”
ตอนนี้ ถ้าผมมีโอกาส ผมจะลองพูดถึง “พี่แดง” ดู แล้วถ้าเขาถามว่าใคร ผมจะถือโอกาสตอบกลับบ้างว่า “อ้าว ! มึงไม่รู้หรือว่า อาจารย์ชัยอนันต์ไม่ได้ชื่อเล่นชื่อปิ๋ง แต่ชื่อแดง”
อาจารย์ที่มีชื่อเล่นว่า “แดง” ที่ผมรู้จักนี่ยังอีกมีอย่างน้อยสองคน เท่าที่นึกได้กะทันหันตอนนี้ หนึ่งคือ อาจารย์ประพันธ์พงศ์ สอง อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (ศาสตราจารย์แห่งรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศิษย์เก่าร่วมโรงเรียนเดียวกับผมอีกเช่นกัน)
การรู้ชื่อเล่นของอาจารย์ชัยวัฒน์นี่ผมถือว่าเป็นเรื่องของโชคชะตามากๆ เพราะแม้ว่าผมรู้จักแกมานาน แต่ก็ไม่เคยทราบเลยว่าแกมีชื่อเล่นว่าแดง และก็ไม่เคยได้ยินใครเรียกแกว่าแดง มาวันหนึ่ง มีลูกศิษย์ปริญญาโท ภาควิชาการปกครอง ภาคพิเศษ (ภาคที่เรียนตอนค่ำๆเพื่อให้คนทำงานได้มาเรียน) เขาเป็นมุสลิม และพอคุยไปคุยมาอีท่าไหนก็ไม่รู้ ไปโยงถึงอาจารย์ชัยวัฒน์ได้ (น่าจะเป็นเพราะเป็นมุสลิมด้วยกัน) คุยถึงอาจารย์ชัยวัฒน์อยู่ดีๆ ลูกศิษย์คนนั้นก็เปลี่ยนไปพูดถึงคนชื่อแดงหรือพี่แดงขึ้นมา ผมเลยถามว่า “พี่แดงไหน ? ใครคือพี่แดง” เขาก็บอกผมคล้ายๆกับที่ ธเนศ ตู่ บอกผมเลยว่า “อ้าว ! อาจารย์ไม่รู้หรือว่า อาจารย์ชัยวัฒน์ชื่อเล่นชื่อแดง”
การที่คนมา “อ้าว ทำไมไม่รู้...” นี่ มันคล้ายกับจะบอกว่า นึกว่าสนิทกับพี่แดงหรือเฮียปิ๋งนะ อ้อ..ตกลง ไม่รู้ แปลว่าไม่สนิทนะ....อะไรทำนองนี้
หลังจากผมได้ข้อมูลลับที่เทพีแห่งโชคชะตามอบให้ผ่านลูกศิษย์คนนั้น เมื่อผมได้มีโอกาสพบอาจารย์ชัยวัฒน์ ผมก็เลยบอกแกไปว่า “อาจารย์ชื่อเล่นชื่อแดงหรือครับ ?” แกตกใจมาก เหมือนผมไปรู้ความลับบ้านแตกอะไรสักอย่างของแกเลยทีเดียว แกกล่าวด้วยเสียงเคร่งเครียดว่า “แล้วคุณไปรู้มาได้ยังไง ?”
อะไรกัน ??!! แค่ชื่อเล่นเนี่ยนะ มันเป็นความลับอะไรต้องปกปิดซ่อนเร้นกันหนักกันหนา (เห็นท่าผมจะต้องสืบสาวราวเรื่องในประเด็นนี้เสียแล้ว)
ผมก็บอกแกไปตามตรงว่ามีลูกศิษย์บอก และแถมบอกแกไปอีกว่า ลูกศิษย์คนนี้เคยพยายามจีบน้องสาวแกด้วย แต่ “นก” ! เลยไม่ได้เป็นน้องเขยของพี่แดง
และเมื่อรู้ชื่อเล่นของอาจารย์ชัยวัฒน์แล้ว ผมก็เลย (เถิด) ตีสนิทสอบถามเรื่องราวของบรรพบุรุษแกซึ่งแกก็ดี ก็เล่าให้ฟังว่าที่บ้านทำธุรกิจอะไร แต่กำชับผมว่า อย่าไปเที่ยวบอกใคร (อะไรกันๆ)
เรื่องชื่อเล่นนี่ พวกนักเรียนวชิราวุธคงซาบซึ้งดี เพราะอาจารย์ชัยอนันต์บอกว่า “นักเรียนประจำทุกคนจะต้องมีชื่อที่เพื่อนตั้งให้” และเวลาอาจารย์เจอเด็กๆรุ่นลูกรุ่นหลาน ก็มักจะถูกถามว่า “คุณลุงครับ ตอนอยู่โรงเรียนมีสมญานามว่าอะไรครับ”
อาจารย์ชัยอนันต์ก็คงตอบไปอย่างไม่ต้องปกปิดว่า “เพื่อนลุงเขาเรียกลุงว่า ปิ๋ง” หรืออาจารย์โกศัลย์ (รองศาสตราจารย์ ดร. จากออกฟอร์ด) ก็คงไม่อายที่จะบอกว่า “ลุงชื่อแพะ”
หรืออย่าง รศ. ดร. ศุภมิตร ปิติพัฒน์ อดีตหัวหน้าภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ แกก็คงไม่ได้อายหรือปิดบังอะไรว่า แกมีชื่อเล่นว่า “ติ๋ม” ที่วชิราวุธ เพราะดูแกจะพอใจให้เรียก “ติ๋ม” มากกว่า “อ้น” ที่เป็นชื่อเล่นที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งให้ด้วยซ้ำ หรือเพื่อนสนิทของแกคนหนึ่งที่วชิราวุธที่ชื่อ “ซินดี้” แกให้ผมเรียกแกว่า ซินดี้
แต่ถ้าใครมาถามผม ผมจะไม่มีวันบอกเลย มีคนถามหลายครั้งแล้วว่า ชื่อเล่นที่โรงเรียนผมชื่ออะไร ปกติผมไม่ใช่คนไม่อายกับเรื่องตัวเอง และก็รับมือกับอะไรๆได้อยู่ แต่ไอ้เรื่องชื่อเล่นสองชื่อที่ไอ้เพื่อนสองตัวมันตั้งให้นั้น ผมรับไม่ได้จริงๆ และจริงๆแล้ว มันก็ไม่ได้เป็นชื่อที่แพร่หลายในหมู่เพื่อนๆด้วย มีแต่ไอ้มันสองคนนี่แหละที่เพียรเรียกผมด้วยชื่อมันตั้งให้ มีตั้งสองชื่อ !
ผมบอกไม่ได้จริงๆ ขอเก็บเป็นความลับให้มันตายไปกับผม (เหมือนที่ผู้นำทหารที่ชอบทำรัฐประหารชอบพูดว่า มีคนอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหารของตน และจะขอให้เป็นความลับที่ตายไปกับการตายของเขา)
ทุกวันนี้ ไอ้เพื่อนสองคนนี้มันยังมีชีวิตอยุ่ และยังลอยนวลลอยหน้าลอยตาใส่ผมทุกครั้งในงานเลี้ยงรุ่น ผมกำลังลุ้นว่า ระหว่างไอ้มันสองตัวนี้กับผม ชื่อเล่นสองชื่อของผมจะตายไปกับมันทั้งสองหรือกับผมก่อนกัน (รักมึงสองตัวนะ ไอ้อิ๊บอ๋าย !)
คงเดาได้นะครับว่า ผมหวังอย่างไหน !