ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชที่สังคมกังขาว่าเป็นนอมินีบริษัทสารเคมียักษ์ใหญ่ระดับโลก ฟ้องร้องแกนนำเครือข่ายต่อต้านสารเคมีเกษตรอันตรายเพื่อหวังปิดปาก ทว่ากลับให้ผลในทางตรงกันข้าม เพราะ “ไบโอไทย” เปิดหน้าท้ารบ ขณะที่ “ไทยแพน” เผยแพร่ “พาราควอต เปเปอร์” แฉเบื้องหลังบรรษัทสารพิษซินเจนทาที่อ้างว่า “พาราควอตเป็นสารกำจัดวัชพืชที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเมื่อใช้ตามที่ระบุไว้บนฉลาก” นั้น เป็น “รายงานประดิษฐ์” เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นหลัก
ศึกสารพิษเกษตรข้ามทศวรรษเดือดขึ้นอีกครั้ง เมื่อระยะเวลาผ่อนผันให้ครอบครองสารเคมีเกษตรอันตราย 2 ชนิด คือ พาราควอตกับคลอร์ไพริฟอส สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติให้สารดังกล่าวเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ห้ามการผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 แต่ผ่อนผันจนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้เครือข่ายสนับสนุนให้มีการใช้สารเคมีเกษตรดังกล่าว เคลื่อนไหวยื่นฟ้องคณะกรรมการวัตถุอันตรายและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อศาลปกครอง โดยอ้างว่ามติคำสั่งห้ามดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรมหาศาล
ไม่เพียงการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเท่านั้น เครือข่ายสนับสนุนการใช้สารเคมีเกษตร พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ยังเดินหน้าฟ้องร้อง นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ อดีตผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย แกนนำเครือข่ายต่อต้านสารเคมีเกษตรดังกล่าวด้วย โดยหวังให้เครือข่ายฯ หยุดการเคลื่อนไหวต่อต้านและเผยแพร่ข้อมูลเชิงลบต่อบริษัทผู้ผลิตสารเคมี
ทว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดจากมูลนิธิชีววิถี ผ่านเพจ “BIOTHAI” กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม โดยเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา ไบโอไทย ออกมาแฉว่า “ในขณะที่บริษัทซินเจนทาฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้มีการยกเลิกการแบนพาราควอต นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ซึ่งคัดค้านการแบนพาราควอตและสารพิษอื่น ได้ยื่นฟ้อง นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ อดีตผอ.มูลนิธิชีววิถี กรณีวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีสมาคมฯบางแห่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืช รวมทั้งกรณีที่เพจ BIOTHAI โต้แย้งข้อมูลของสมาคมฯว่า ไกลโฟเซตไม่ควรจัดว่ามีพิษระดับต่ำ เพราะสารดังกล่าวได้รับการจัดชั้นเป็นสารน่าจะก่อมะเร็งชั้น 2A จาก WHO อีกทั้งในสหรัฐมีการฟ้องร้องจนบริษัทผู้ผลิตต้องชดเชยค่าเสียหายมหาศาลแก่ผู้รับสัมผัสสารพิษดังกล่าว เป็นต้น
“ในฐานะนายกสมาคม มองว่าเรื่องข้อมูลทางวิชาการสามารถขัดแย้งกันได้อย่างมีเหตุผล ไม่ใช่มาทำลายหรือดิสเครดิตสมาคมอื่น ด้วยการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น เพื่อปกป้องมูลนิธิจึงต้องดำเนินคดีกับนายวิฑูรย์ และไบโอไทย ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามกฎหมายอาญา และ ความผิดตาม ม.16 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ยืนยันว่า 3 สารเคมีที่ถูกแบนอยู่นั้น ปัจจุบันยังไม่มีสารอื่นทดแทน”นางจรรให้สัมภาษณ์หลังเดินทางไปแจ้งความดำเนินคดี
อย่างไรก็ตาม ในคำฟ้องของนางจรรยา กลับระบุข้อความตอนหนึ่ง โดยยอมรับว่า “สมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชน ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ เช่น การจัดพิมพ์เอกสาร โปสเตอร์ และวารสารวิชาการ การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นการสนับสนุนในรูปแบบของการซื้อพื้นที่โฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ และพื้นที่จัดบู้ธนิทรรศการในการประชุมวิชาการ นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยด้านวัชพืช ทั้งจากบริษัทเอกชน และ หน่วยงานรัฐ”
“หากคำฟ้องของนางจรรยา และสมาคมฯมีเจตนาจะต้องการปิดปาก หวังไม่ให้ไบโอไทยพูดความจริง พวกเขาคงจะผิดหวัง เพราะเราจะยังคงพูดความจริงเกี่ยวกับพิษภัยของสารพิษกำจัดศัตรูพืช รวมทั้งความสัมพันธ์กับและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพวกเขาต่อไป” เนื้อความที่เผยแพร่ในเพจไบโอไทย
ไบโอไทย ระบุว่า หลังจากนางจรรยา มณีโชติ และสมาคมวิทยาการวัชพืช ได้แจ้งความในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตามมาตรา 16 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต่อนายวิฑูรย์ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562 ศาลนัดไต่สวนคดีครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน 2564 นี้
ในวันแจ้งความดำเนินคดีต่อนายวิฑูรย์นั้น นางจรรยา กล่าวว่า มูลนิธิชีววิถีที่มีนายวิฑูรย์ เป็นประธาน ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อสำนักหนึ่งว่า สมาคมวิทยาการวัชพืชฯ มีเอกชนเข้ามาร่วมเป็นบอร์ดบริหารซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะบอร์ดของมูลนิธิฯ ทุกคนเป็นข้าราชการ อีกทั้งไบโอไทย ยังได้นำข้อความที่สมาคมวัชพืชฯ โพสต์ใน Facebook ว่า “ไม่มีรัฐบาลไหนในโลกใบนี้ที่จะแบนสารแถบสีน้ำเงินแบบไกลโฟเซต แต่เสนอสารทดแทนแถบสีเหลืองแบบกลูโฟซิเนต” พร้อมใส่สัญลักษณ์กากบาทข้อความ และระบุข้อความว่า “แถบสีน้ำเงินไกลโฟเซตคือสารก่อมะเร็ง แถบสีเหลืองพาราควอต มีสารพิษมากกว่าที่เคยแบนแล้ว 43 เท่า” และนำไปลงใน Facebook ของเพจมูลนิธิไบโอไทย ทั้งที่การโพสของสมาคมฯ ไม่ได้กล่าวถึงสารพาราควอตแต่อย่างใด จนทำให้สมาคมฯ ได้รับความเสียหาย
หลังถูกแจ้งความ นายวิฑูรย์ เดินหน้าแฉต่อโดยตั้งข้อสังเกตกรณี “สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย” ได้จัดประชุมใหญ่ และจัดการเสวนาในหัวข้อ “ก้าวต่อไปอย่างไร เมื่อเกษตรกรไทยไร้พาราควอต” เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2563 ว่า สมาคมนี้เดิมมีบทบาทในเชิงวิชาการ ส่วนใหญ่อาจารย์ภาควิชาพืชไร่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาเป็นกรรมการและนายกสมาคมฯ แต่ตอนนี้เริ่มมีกรรมการที่มาจากบริษัทขายสารเคมี และมีบทบาทที่เริ่มไม่เป็นวิชาการ ทั้งยังรับทุนวิจัยจากบริษัทสารเคมีเกษตรอีกด้วย
“.... สมาคมฯ ได้รับทุนวิจัยจากบริษัทซินเจนทา เจ้าของที่ผลิตพาราควอต เพราะฉะนั้นก็อาจจะกล่าวได้ว่า สมาคมนี้ไม่ได้ยืนอยู่บนฐานวิชาการจริง ๆ แต่มามีบทบาทสนับสนุนบริษัท ซินเจนทา ซึ่งเป็นเจ้าของพาราควอต ซึ่งเรามีหลักฐานอยู่ ....” นายวิฑูรย์ กล่าวเชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์ของบริษัทสารเคมีฯกับสมาคมฯ
นอกจากจะไม่หยุดแล้ว ไบโอไทย ยังขุดเรื่องที่ถูกกดดันให้ยุติบทบาทเผยแพร่ความจริงกรณีปัญหาสารพิษ ผลกระทบของเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว ตลอดจนการตีแผ่อิทธิพลของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติออกมาตีแผ่ให้เห็นว่า ไม่ได้มีเฉพาะการฟ้องของสมาคมวัชพืช ซึ่งได้รับงบสนับสนุนจากบรรษัทสารเคมีข้ามชาติเท่านั้น หากแต่มีความพยายาม “ปิดปาก” ไบโอไทยมาก่อนหน้านี้ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ โดยได้ยกกรณีที่ถูกกดดันมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
เช่นเมื่อเดือนกันยายน 2561 อดีตอธิบดีของหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ของผู้เคลื่อนไหวคัดค้านการแบนไกลโฟเซต ร่วมกับบริษัทข้ามชาติมอนซานโต้/ไบเออร์ ผู้ประสานงานของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มเครือข่ายเกษตรและอาหารปลอดภัย” ได้ทำหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ “ยับยั้งการกระทำของ BIOTHAI” อีกทั้งได้สำเนาหนังสือดังกล่าวยังได้จัดส่งไปยัง นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธาน “คณะกรรมการแก้ปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง” ไปพร้อมกันด้วย โดยมีเจตนาเพื่อยับยั้งการทำงานของไบโอไทยที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสารพิษกำจัดศัตรูพืชรวมทั้งเปิดโปงผู้อยู่เบื้องหลังการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.เกษตรยั่งยืนที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ สมาคมค้าสารพิษ และเขารวมอยู่ด้วย
นอกจากนั้น เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ยังเผยแพร่ “พาราควอตเปเปอร์” แฉอันตรายของพาราควอตและเบื้องหลังของซินเจนทา ว่า “ .... ไม่มีใครทราบแน่นอนว่ามีคนตายเพราะสารพิษชนิดนี้มากขนาดไหน นับตั้งแต่ บริษัท Imperial Chemical Industries (ICI) ของอังกฤษวางตลาด Gramoxone เป็นครั้งแรกในปี 2505 แต่ข้อมูลของศาสตราจารย์ Michael Eddleston ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับโลกเกี่ยวกับพิษของสารกำจัดศัตรูพืชแห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ระบุว่ามีอย่างน้อยหลายหมื่นคน
ในตอนแรกการเสียชีวิตเหล่านี้กระจุกตัวอยู่ในสหราชอาณาจักรและยุโรปตะวันตก แล้วก็กระจายไปหลายประเทศเมื่อมีการเปิดตลาดพาราควอตไปทั่วโลก เช่น ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 ในประเทศญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คนต่อปี ประเทศต่างๆรวมทั้งศรีลังกา เกาหลีใต้ ไต้หวันและจีนมีผู้เสียชีวิตปีละหลายร้อยคน มีการบันทึกพิษร้ายแรงในประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ตรินิแดด บราซิล คอสตาริกา มาเลเซียแอฟริกาใต้ ฟิจิ และอินเดีย เป็นต้น
ไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบัน มีประเทศต่างๆมากถึง 60 ประเทศแล้วที่แบนพาราควอต เช่น ศรีลังกา มาเลเซีย จีน บราซิล และประเทศไทย โดยสถิติในประเทศศรีลังการะบุว่าอัตราการเสียชีวิตของพาราควอตอยู่ที่ 65% ซึ่งสูงกว่า "สารเคมีกำจัดวัชพืชอื่น” ซึ่งมีอัตราการป่วยแล้วเสียชีวิตระหว่าง 4% ถึง 8%
ซินเจนทาอ้างว่า พาราควอตเป็น “สารกำจัดวัชพืชที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเมื่อใช้ตามที่ระบุไว้บนฉลาก” โดยหลังยุค 70 ซินเจนทาได้ผสมสารและกลิ่นรวมทั้งยา “emetic” เพื่อทำให้อาเจียน อีกทั้งอ้างว่าความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เป็น “ สิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเรา” แต่นั่นไม่ใช่เรื่องจริง เนื่องจากการฟ้องร้องในสหรัฐอเมริกา ทำให้มีการเปิดเผยเอกสารภายในของบริษัทจำนวนมหาศาล ที่ชี้ให้เห็นว่าเห็นว่าซินเจนทา/ไอซีไอรู้มานานหลายทศวรรษแล้วว่า “emetic” ในกรัมม็อกโซนไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากพิษ
นักวิทยาศาสตร์ของบริษัทบอกซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า ปริมาณของ emeticใน กรัมม็อกโซนนั้นต่ำเกินไปที่จะป้องกันพิษร้ายแรงได้ และผู้ที่เปิดเผยเรื่องนี้ต่อสาธารณะคือ Jon Heylings นักพิษวิทยาอาวุโสและศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ด้านพิษวิทยาที่ Keele University อดีตนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานกับซินเจนทามานานเกือบ 3 ทศวรรษ และพยายามที่จะพัฒนาสูตรพาราควอตที่ปลอดภัยกว่า แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท
จอน ได้ประกาศต่อสาธารณะ เพื่อยืนยันว่าเขาได้บอกกลุ่มผู้นำในบริษัทมากว่า 3 ทศวรรษแล้วว่า พาราควอตที่ขายในหลายประเทศทั่วโลกนั้น มีความปลอดภัยน้อยมากๆ กว่าที่ควรจะเป็น ผลิตภัณฑ์พาราควอตที่ใช้รหัส PP796 ซึ่งผสมสารทำให้อาเจียนเพื่อป้องกันการดูดซึมไปสู่ระบบเลือดและร่างกายนั้น มีปริมาณน้อยเกินไปที่จะกระตุ้นให้เกิดการอาเจียนในคนส่วนใหญ่ปัญหาที่ถูกปิดบังมานานหลายทศวรรษเกิดขึ้นเพราะรายงานภายในบริษัทที่ถูก “ประดิษฐ์” ขึ้น โดยนักพิษวิทยา ICI ที่เสียชีวิตแล้วชื่อ ไมเคิล โรส (Michael Rose) ได้จัดการข้อมูลจากการทดลองทางคลินิกขนาดเล็กเพื่อชี้ให้เห็นอย่างผิดๆ ว่ามนุษย์มีความไวต่อ PP796 มากกว่าสัตว์ทดลองทั้งสามชนิดที่ได้รับการทดสอบ
จอน พบปัญหาในรายงานดังกล่าว ในปี 1990 เขาทำบันทึกหลายฉบับต่อผู้บังคับบัญชาของเขา และบอกว่างานของโรส มี “ความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง” แต่จนถึงทุกวันนี้ซินเจนทายังคงผลิต Gramoxone ที่มีความเข้มข้นเท่ากับ PP796 ตั้งแต่ยุค 70
มีทางเลือกสำหรับบริษัทในการผลิตพาราควอตในรูปแบบอื่น แต่บทความขนาดยาวเรื่อง The Paraquat Papers: How Syngenta’s bad science helped keep the world’s deadliest weedkiller on the market ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ Unearthed และอีกหลายบทความที่เผยแพร่ในสื่อหลักๆ เช่น The Guardian เป็นต้น ระบุว่าซินเจนทาไม่เลือกรูปแบบดังกล่าวเพราะเหตุผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นหลัก ......
การออกมาเคลื่อนไหวของเครือข่ายที่สนับสนุนการใช้สารเคมีเกษตร นอกจากสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย แล้ว ยังมี เครือข่ายการใช้เคมีปลอดภัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน แห่งประเทศไทย (NSCU) ที่ประกาศชัดจะฟ้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดย นายชัยภัฏ จันทร์วิไล ประธาน NSCU ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า NSCU และสมาคมวิทยาการวัชพืชฯ และภาคเกษตร กำลังรวบรวมข้อมูลทางวิชาการและผลกระทบต่อภาคเกษตรจากการแบน 3 สารพิษ เพื่อฟ้องต่อศาลปกครอง เนื่องจากเห็นว่าดำเนินการขัดต่อรัฐธรรมนูญและการพิจารณาแบนสารพิษไม่สอดรับกับหลักสากล
ประธาน NSCU กล่าวอ้างว่า การแบน 3 สารดังกล่าวโดยเฉพาะพาราควอตมีผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างมากเพราะผลผลิตลดลงจากพืชประธานถูกแย่งสารอาหารและน้ำโดยวัชพืช ประมาณการว่าผลผลิตจะหายไปจากพืชเศรษฐกิจหลักจำนวน 97 ล้านตัน คิดเป็นรายได้เกษตรกรที่จะหายไปกว่า 2 แสนล้านบาท ยังไม่รวมการส่งออก และรัฐต้องใช้เงินอุดหนุน ฯลฯ การที่เกษตรกรต้องหันไปใช้กลูโฟซิเนตแทนพาราควอตต้องใช้ในปริมาณที่มากกว่า และราคาสูงกว่าส่งผลให้ต้นทุนเกษตกรเพิ่มขึ้นและยังเป็นสารตกค้างในดิน
ขณะที่ นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมฯจะระดมทุนทำวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของพาราควอตซ้ำอีกครั้ง โดยจะตั้งคณะทำงานที่มีการดึง third party เข้าร่วม โดยจะขอสนับสนุนทุนวิจัยจากรัฐ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เน้นการวิจัยที่เป็นประเด็นทั้งสารตกค้าง โรงหนังเน่า ฯลฯ
นอกจากคดีที่กลุ่มหนุนสารพิษฟ้องกลุ่มต้านสารพิษ ยังมีคดีที่บริษัทซินเจนทา ยื่นฟ้องต่อรัฐบาลไทย และไบโอไทย ได้นำเครือข่าย เข้าร้องสอดต่อคดีดังกล่าว โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีจำกัดศัตรูพืช มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธิชีววิถี (BioThai) เข้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอเป็นผู้ร้องสอดในคดีที่บริษัท ซินเจนทา คอร์ป โปรเทคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและนำเข้าสารพาราควอต ยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรมและพวกรวม 5 ราย ต่อศาลปกครอง เพื่อให้เพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่แบนสารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส
ทางเครือข่ายฯ ให้เหตุผลในการร้องสอดว่า เพื่อประโยชน์ในการสู้คดีของหน่วยงานรัฐ และปกป้องประชาชนให้ปลอดภัยจากสารเคมีเกษตรอันตรายดังกล่าว ซึ่งบริษัทซินเจนทาฯ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นั้นเป็นประเทศที่มีการยกเลิกใช้สารเคมีดังกล่าวมากว่า 20 ปีแล้ว แต่บริษัทกลับมาเรียกร้องให้มีการยกเลิกประกาศแบนสารเคมีดังกล่าวในประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก
สงครามแบนสารพิษเกษตรอันตรายยังไม่จบ การฟ้องร้องดำเนินคดีก็เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ที่จะต้องพิสูจน์ “ความจริง” กันต่อไป และเป็นมหากาพย์ที่ไม่จบลงง่ายๆ โดยเฉพาะฝั่งเครือข่ายต่อต้านสารพิษประกาศสู้ยิบตา ที่สำคัญคือเวลานี้ฟากฝั่งนักการเมืองที่นกรู้กระแสสังคม ต่างหลบฉากไม่มีใครกล้าออกหน้ามายกเลิกมติแบนสารพิษให้เห็นในระยะเวลาอันใกล้อย่างแน่นอน