ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เกิดวิกฤตอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สำหรับ “อุตสาหกรรมยาสูบ” ที่แทบจะ “ล้มครืน” หลังจากปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ปี 2560 โดยเฉพาะกับ “การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.)” กระทั่งต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จากที่เคยส่ง “กำไร” เข้ารัฐในแต่ละปีจำนวนมหาศาล กลับกลายเป็น “ขาดทุน” อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ล่าสุดเตรียมคลอดแผนกู้วิกฤตเร่งด่วน ด้วยการเสนอ “โครงภาษีใหม่” เปิดช่องออกบุหรี่ใหม่ซองละ 50 - 55 บาท สู้บุหรี่เถื่อน แย่งส่วนแบ่งตลาดคืน และที่น่าสนใจก็คือประกาศรุก “ตลาดกัญชง-กัญชา” กับเขาด้วย
อย่างไรก็ดี “แผนฟื้นฟูองค์กร” ของ ยสท.ได้ก่อให้เกิดคำถามทำนองว่า บุหรี่ขายไม่ออก นักสูบลดลง ประชาชนสุขภาพดีขึ้น เป็นเรื่องน่ายินดีไม่ใช่หรอกหรือ เพราะเมืองไทยมีแคมเปญรณรงค์ลดละเลิกบุหรี่อย่างต่อเนื่อง แต่ทำไม จู่ๆ หน่วยงานรัฐจึงเตรียมออกผลิตภัณฑ์บุหรี่ราคาถูก ดึงดูดเงินในกระเป๋าอมสิงห์อมควัน แถมราคาถูกยิ่งเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการนับสูบหน้าใหม่ ใคร่สงสัยว่าทำไมนโยบายบุหรี่ไทยลักลั่นถึงเพียงนี้
กล่าวสำหรับอุตสาหกรรมยาสูบ ผลพวงการปรับโครงสร้างภาษีปี 2560 กรมสรรพสามิตออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตขึ้นภาษียาสูบเป็น 2 อัตรา คือ บุหรี่ไม่เกินซองละ 60 บาท เสียภาษี 20 % ส่วนซองละ 60 บาทขึ้นไป เสียภาษี 40 % รวมทั้ง อัตราตามปริมาณอีกมวนละ 1.2 บาท สำหรับบุหรี่ทุกราคา แต่ผลที่ตามคือภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ บุหรี่ไทยราคาสูงขึ้นและเสียภาษีต่อซองเพิ่มขึ้นทุกยี่ห้อ แต่จำหน่ายได้น้อยลง ขณะที่บุหรี่นอกราคาถูกลงและขายได้มากขึ้น
กลายเป็นความพิลึกพิลั่นมาตรการภาษีปล่อยให้บุหรี่นอกลดราคา นักสูบหันไปซื้อบุหรี่นอก ซึ่งจากเดิมราคาจำหน่ายซองละประมาณ 70 บาท ตามหลัดต้องเสียภาษี 40 % แต่ลดราคาเหลือ 60 บาท เพื่อจ่ายภาษี 20 % เกิดความย้อนแย้งขึ้น ทั้งๆ ที่บุหรี่เป็นสินค้าอันตรายต่อสุขภาพ รัฐต้องสร้างกลไกกำหนดราคาให้สูง เป็นแนวทางส่งเสริมให้คนลดละเลิกบุหรี่ รวมถึงเป็นการควมคุมการเข้าถึงของนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเยาวชน
การปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่สอดรับกับแนวคิดขององค์การอนามัยโลก เสนอว่าการขึ้นราคาบุหรี่มีประสิทธิภาพสูงในการลดความต้องการการใช้ยาสูบ โดยการเพิ่มราคาบุหรี่ 10 % จะลดความต้องการสูบบุหรี่ได้ 4 % ในประเทศมีรายได้สูง ส่วนในประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง จะลดความต้องการสูบบุหรี่ได้ 5 % แต่เกิดปัญหาลักลั่นในอุตสาหกรรมยาสูบ
มุมมองเชิงวิชาการนโยบายรัฐปล่อยให้บุหรี่นอกลดราคาขัดต่อหลักเศรษฐศาสตร์ ข้อสำคัญการปรับโครงสร้างภาษีจะต้องไม่ทำให้ราคาจำหน่ายบุหรี่ลดลง ทว่า กรมสรรพสามิตไม่กำหนดพิกัดอัตราภาษีไม่บัญญัติให้คงราคาเดิมหรืออย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่าราคาเดิมไว้ก่อนบังคับใช้ เปิดช่องให้บุหรี่นำเข้าลดราคาลงได้
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างภาษียาสูบดังกล่าวส่งผลกระทบอุตสาหกรรมยาสูบทั้งระบบ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจยาสูบชาวไร่ยาสูบได้รับผลกระทบอย่างหนัก การรับซื้อใบยาสูบที่ลดลงฮวบ ยาสูบ ถูกตัดโควตาไปเกือบ 50% รายได้ลดลงกว่าพันล้านบาท เนื่องจากมีการนำเข้าบุหรี่นอกเพิ่มมากขึ้น
ต้องยอมรับว่าโครงสร้างภาษีดังกล่าวกระทบโดยตรงกับ “การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.)” หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ซึ่งทำหน้าที่ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายบุหรี่สำเร็จรูป โดยผลิตบุหรี่ทั้งสิ้น 18 ตรา นำรายได้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐสูงเป็นลำดับที่ 6 ของรัฐวิสาหกิจไทย
การยาสูบฯ ประสบภาวะวิกฤตรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผลกระทบจากโครงสร้างภาษีทำให้ราคาบุหรี่สูงขึ้น ยอดขายและกำไรลดลง นักสูบส่วนหนึ่งหันสูบบุหรี่นออกที่ราคาถูกลง รวมทั้ง หัดไปใช้บริการยาเส้นที่มีราคาถูกกว่า อย่างไรก็ดี จากเดิมการยาสูบฯ มีกำไรจากการขายบุหรี่ 7 บาทต่อซอง แต่อัตราภาษีปัจจุบัน กำไรเพียง 67 สตางค์ต่อซอง ปรับลดลงฮวบฮาบ
อ้างอิงข้อมูลจาก thaipublica.org ระบุว่าก่อนปรับโครงสร้างภาษี ปี 2560 การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) มีรายได้รวม 68,176 ล้านบาท กำไรสุทธิ 9,343 ล้านบาท ส่งรายได้ให้กระทรวงการคลัง (ไม่นับรวมค่าภาษีอื่น) 5,173 ล้านบาท หลังปรับโครงสร้างภาษี ปี 2561 โรงงานยาสูบมีรายได้รวม 51,566 ล้านบาท กำไรสุทธิเหลือ 843 ล้านบาท ส่งรายได้เข้าคลัง 50 ล้านบาท เฉพาะปีแรกปีเดียวรายได้ลดลง 16,610 ล้านบาท กำไรสุทธิลดลง 8,500 ล้านบาท เงินรายได้นำส่งคลังลดลง 5,123 ล้านบาท
ทั้งนี้ รายได้รวมของโรงงานยาสูบมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เดียวกัน ยสท. พยายามปรับลดค่าใช้จ่ายลงอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อความอยู่รอดขององค์การ แต่ถ้าเข้าไปดูรายจ่ายหลักของ ยสท. ประมาณ 90% เป็นค่าใช้จ่ายด้านภาษีและเงินบำรุงกองทุนต่างๆ ซึ่ง ยสท. มีหน้าที่นำส่งตามกฎหมาย ไม่สามารถตัดทอนได้ ดังนั้น ยสท. จึงจำเป็นต้องปรับลดโควตารับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรลง 50% เป็นระยะเวลา 3 ปี ติดต่อกันด้วย
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้การยาสูบฯ ดิ้นสุดแรง ล่าสุด ประกาศรุกตลาดกัญชง-กัญชา ร่วมสังฆกรรมพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ร่วมมือกับสถาบันวิจัยหรือสถานศึกษาในไทย เร่งเครื่องวิจัยและพัฒนาการเพาะปลูกและพัฒนาพืชกัญชงและกัญชาเพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ ตลอดจนผลักดันกฎหมายเพื่อส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบให้สามารถปลูกพืชกัญชงและกัญชาเสริมได้ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนระหว่างตีความขอบเขตอำนาจหน้าที่ของการยาสูบฯ โดยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงเดือน เม.ย. 2564 หลังจากนั้นจะมีการออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ต่อไป
โดยก่อนหน้านี้ การยาสูบฯ พยายามลดค่าใช้จ่ายและสร้างรายได้จากช่องทางอื่นๆ ด้วย อาทิ การร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ที่โรงงานผลิตยาสูบ จ.พระนครศรีอยุธยา ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าถึงปีละ 19 ล้านบาท หรือ การนำที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย หนองคาย ออกประมูลเช่าสร้างรายได้ โดยคาดปี 2564 จะมีกำไร 600 - 700 ล้านบาท และปี 2565 จะมีกำไรเกิน 1,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบให้การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดวงเงินกู้ระยะสั้น (Credit Line) วงเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินงานและรองรับค่าใช้จ่ายต่างๆ จากกรณีที่ยอดจำหน่ายบุหรี่ในปีงบประมาณ 2564 ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
โดยประเมินว่า หากยอดจำหน่ายบุหรี่ลดลงร้อยละ 50 (จำหน่ายได้ 10,058 ล้านมวน) จะส่งผลให้ ยสท. มีเงินสดคงเหลือติดลบและขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งที่ผ่านมารายได้ของ ยสท. ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต รวมทั้ง นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดการบริโภคยาสูบของประชาชนในประเทศ ซึ่งมีผลให้ยอดจำหน่ายบุหรี่ลดลงต่อเนื่อง
ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ซึ่งจะมีการปรับจาก 2 อัตรา คือ 20% และ 40% เป็นจัดเก็บที่อัตราเดียว 40% กำลังมีผลบังคับในเดือน ต.ค. 2564 การยาสูบฯ ออกมาประกาศชัดว่าได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ และอาจจะต้องปิดโรงงานเลยทีเดียว
“โครงสร้างภาษีปัจจุบัน ทำให้ ยสท.ยังมีฐานะแข็งแกร่ง 100% ปี 2563 มีกำไรกว่า 900 ล้านบาท เพราะนโยบายรัดเข็มขัด ลดค่าใช้จ่าย แต่ถ้าขยับภาษีอัตราเดียวที่ 40% ยาสูบก็จะขายไม่ได้ ต้องปิดโรงงานไปเลย เพราะต้องเป็นการขึ้นราคาบุหรี่ เพื่อหาเงินมาจ่ายภาษี คงอยู่ไม่ได้” นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ผู้ว่าการการยาสูบฯ กล่าว
นอกจากนี้ การยาสูบฯ มีแผนเตรียมออกบุหรี่ใหม่ ในราคาซองละ 50 - 55 บาท เพื่อจำหน่ายภายในปี 2564 เนื่องจากต้องการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด โดยปัจจุบันจากโครงการอัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ที่มี 2 เทียร์ คือ 20% และ 40% ทำให้ขายบุหรี่ในราคาถูกสุดได้ 60 บาทต่อซอง ซึ่งเหลือกำไรเฉลี่ยซองละ 0.50 บาทเท่านั้น จากเดิมที่เคยมีกำไรเฉลี่ยที่ 6 บาทต่อซอง การยาสูบฯ จำเป็นต้องรักษาส่วนแบ่งตลาดกลับมาให้ได้ ปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดลดลงเหลือ 56% จากเดิมที่ 79%
ผู้ว่าการการยาสูบฯ กล่าวทิ้งท้ายว่าการลดราคาบุหรี่จะช่วยเรื่องควบคุมบุหรี่เถื่อน ซึ่งจากภาษีบุหรี่ปัจจุบันทำให้บุหรี่มีราคาสูง แต่คนไม่ได้เลิกสูบ และหันไปสูบบุหรี่เถื่อนมากขึ้น จากเดิมมีสัดส่วนเพียง 20% ของบุหรี่ทั้งระบบ ก็เพิ่มขึ้นเป็น 24% และปีที่ผ่านมาก็เพิ่มเป็น 29% ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ใหม่ ต้องหากผ่านความเห็นชอบโดยกรมสรรพสามิต การยาสูบฯ เตรียมออกบุหรี่ราคาถูกสู่ท้องตลาดทันที
ขณะที่ นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่ากรมสรรพสามิตกำลังเร่งสรุปโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ครอบคลุม 4 เรื่องหลัก คือ 1.การดูแลเกษตรกร 2.สุขภาพของประชาชน 3.ปราบปรามบุหรี่เถื่อน และ 4.การจัดเก็บรายได้ของกรม เพื่อให้ทันใช้บังคับในวันที่ 1 ต.ค. 2564 โดยกระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิต อยู่ระหว่างกำลังเร่งดำเนินการ
การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่แบบใหม่ที่กำลังจะประกาศใช่วงปลายปีนี้ เป็นการชี้ชะตาอุตสาหกรรมยาสูบเมืองไทย และนโยบายภาษีบุหรี่ครั้งนี้รัฐพลาดไม่ได้อีกแล้ว.