ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ข่าวคราวการขายหุ้นบิ๊กลอตกว่าหมื่นล้านของ “เพชร โอสถานุเคราะห์” แห่งโอสถสภา สร้างความฮือฮาในแวดวงธุรกิจและสังคมไม่น้อย โดยเฉพาะเป้าหมายที่ต้องการขายหุ้นออกไปคราวนี้ เพราะต้องการทุ่มเททรัพยากรไปในโครงการด้านศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา เพื่อวางรากฐานให้ประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้า นับเป็นความคิดก้าวล้ำยิ่งกว่านักการเมืองที่พร่ำเพ้อมาทำงานรับใช้ชาติบ้านเมืองเสียอีก อย่างไรก็ดี การขายหุ้นครั้งนี้มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย เพราะต้องไม่ลืมว่า เขาคือ “ทายาทโอสถสภา” และกลายเป็นปริศนาดังอื้ออึงถึงเหตุผลที่แท้จริงว่า มีอะไรที่ “มากไปกว่านี้” หรือไม่
การขายหุ้นบิ๊กลอตที่เป็นข่าวใหญ่ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขอให้ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวการซื้อขายหลักทรัพย์ Big Lot จำนวน 762,718,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 25.39 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัท ได้รับการแจกแจงรายละเอียดจากนางวรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ OSP ว่า ผู้ถือหุ้นของบริษัท 2 ราย ในกลุ่ม Orizon ได้แก่ Orizon Limited และนายเพชร โอสถานุเคราะห์ ได้ขายหุ้นของบริษัท ที่ถืออยู่โดยรวมจำนวน 381.35 ล้านหุ้น คิดเป็น 12.69% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัท แบ่งเป็นสัดส่วนของ Orizon Limited ขาย 261.06 ล้านหุ้น คิดเป็น 8.69% และนายเพชร ขายหุ้นที่ถือออกมาทั้งหมด 120.29 ล้านหุ้น คิดเป็น 4% ของทุนจดทะเบียน
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้รับแจ้งจาก นายนิติ โอสถานุเคราะห์ ได้ซื้อหุ้น OSP เพิ่มเติมเป็นจำนวน 215,000,000 หุ้น คิดเป็น 7.16% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว และมีนักลงทุนรายอื่นๆ ได้ซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ เป็นจำนวน 166,359,000 หุ้น คิด 5.53% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทฯ ภายหลังการซื้อขายหุ้นจำนวนดังกล่าว ทำให้กลุ่ม Orizon ลดสัดส่วนการถือหุ้นจาก 833,695,700 หุ้น หรือ 27.75% เหลือ 425,336,700 หุ้น หรือ 15.06% ขณะที่นายนิติ ถือหุ้นเพิ่มจาก 500,030,000 หุ้น หรือ 16.65% เป็น 715,030,000 หุ้น หรือ 23.80%
จากการคำนวณราคาเฉลี่ยของการซื้อขายที่หุ้นละ 33 บาท จะทำให้กลุ่ม Orizon ได้รับเงินจากการขายหุ้นครั้งนี้ 12,585 ล้านบาท
กลุ่ม Orizon ได้แจ้งเพิ่มเติมถึงวัตถุประสงค์ของการขายหุ้นครั้งนี้ เนื่องจากมีความสนใจที่จะอุทิศทรัพยากรของตนไปใช้ในโครงการอื่นๆ ซึ่งมุ่งหมายไปที่โครงการด้านศิลปะวัฒนธรรมและการศึกษาให้มากขึ้น เพื่อจะได้ช่วยวางรากฐานของวงการศิลปะ วัฒนธรรม และการศึกษาของประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการสนับสนุน
สำหรับผู้ถือหุ้นกลุ่ม Orizon เป็นกลุ่มบุคคลที่กระทำการร่วมกัน หรือ acting in concert ประกอบด้วย ผู้ถือหุ้น 7 คน ได้แก่ Orizon Limited, นายรัตน์ โอสถานุเคราะห์, นายเพชร โอสถานุเคราะห์, นายภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์,นายภูรี โอสถานุเคราะห์, นายคฑา โอสถานุเคราะห์ และนายนาฑี โอสถานุเคราะห์
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่บริษัทฯ ได้รับแจ้งมาทราบว่า ยังไม่มีผู้ถือหุ้นรายใดมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์หรือ Tender Offer แต่อย่างใด และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท โครงสร้างคณะผู้บริหาร โครงสร้างการจัดการ โครงสร้างและนโยบายการดำเนินธุรกิจของ บริษัทฯ แต่อย่างใด บริษัทฯ ยังคงดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อขยายธุรกิจให้แข็งแกร่งและมั่นคงในประเทศไทยและในภูมิภาค สร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้น ควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่ได้แจ้งจำนวนหุ้นอีก 381 ล้านหุ้น ว่าใครเป็นผู้ขายและใครเป็นผู้ซื้อ
การเทขายหุ้นคราวนี้ของทายาทโอสถสภาที่ได้ชื่อว่า “อินดี้” ที่สุดของตระกูล นับเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชายคนนี้ที่แม้ไม่ได้เป็น “ผู้วิเศษ” แต่มีความพิเศษให้เซอร์ไพรส์ในเส้นทางชีวิตนับตั้งแต่รุ่นหนุ่มจวบจนถึงวันนี้
เพชร เป็นบุตรชายของ สุรัตน์ – ปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ เขาร่ำเรียนระดับประถมในเมืองไทยก่อนจะไปต่อระดับมัธยมศึกษาที่สหรัฐอเมริกา หลังจบแล้วกลับมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ผู้เป็นบิดาเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมา แต่เรียนอยู่เพียงแค่สองปีก็กลับไปเรียนด้านบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด ที่มหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นอิลินนอยส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อเรียนจบแล้วเขากลับมาช่วยงานครอบครัวอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนออกทำธุรกิจโฆษณาตั้งบริษัทสปา แอดเวอร์ไทซิ่ง ตามความชอบคิดสร้างสรรค์ และยังทำสื่อทั้งนิตยสารสำหรับผู้หญิง และรายการโทรทัศน์ “ผู้หญิงวันนี้”
ความเป็นศิลปินที่มีอยู่ในสายเลือด ยังถูกถ่ายทอดผ่านบทเพลงอย่างที่รู้กันดีว่านักร้อง นักดนตรี ที่ชื่อ เพชร โอสถานุเคราะห์ ฝากชื่อเสียงไว้ในวงการเพลงไม่น้อย เขามีผลงานแต่งเพลงที่ติดหูอย่าง “หมื่นฟาเรนไฮต์” ที่ วงไมโคร ขับร้อง ก่อนที่จะทำอัลบั้มแรกชุด “ธรรมดา ... มันเป็นเรื่องธรรมดา” ที่มีเพลงดังอย่าง “เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)” ในปี 2530 และกลับเข้าวงการเพลงอีกครั้งหลังจากหายหน้าไปร่วม 20 ปี เพื่อทำงานเพลงอีกครั้ง ในปี 2550 ได้ออกผลงานอัลบั้มที่สอง “Let's Talk About Love” เขายังบอกด้วยความติดตลกเมื่อคราวให้สัมภาษณ์สื่อว่า ตั้งใจจะออกอัลบั้มใหม่ทุก 20 ปี ซึ่งชุดที่ 3 คงออกตอนที่เพชร อายุ 80 ปี ถ้าวันนั้นเขายังคงมีชีวิตอยู่
ศิลปินอินดี้ที่ชื่อ เพชร นอกจากจะมีผลงานเพลง มีงานเขียนทั้งเรื่องสั้นและนิยายที่ตอนนี้นอนอยู่ในลิ้นชัก ยังไม่มีแรงบันดาลใจให้ทำต่อแล้ว เขายังรักในงานศิลปะ ซึ่งมีชิ้นงานสะสมอยู่มากกว่า 600 ชิ้น โดยผลงานที่มักหยิบยกขึ้นมาโชว์บ่อยที่สุด คือ งานศิลปะภาพวาดของ Sarah Morris ศิลปินชาวอเมริกัน ที่เป็นภาพวาดขนาดใหญ่มากประดับไว้ในห้องทำงานที่โอสถสภา นัยหนึ่งบ่งบอกว่านี่เป็นการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปจากความต้องการในวัยหนุ่มที่ขอเรียนต่อสายอาร์ตแต่พ่อแม่ไม่ยินยอม เพราะความที่เป็นครอบครัวธุรกิจ เขาจึงต้องเรียนบริหารธุรกิจตามที่ครอบครัวต้องการ
เล่นบท “ศิลปินนักร้องนักดนตรี” อยู่พักใหญ่ๆ พอล่วงถึงปี 2552 เพชรก็มาสวมบท “ศิลปินนักการศึกษา” เข้ามาเป็นปรับโฉมมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ผู้พ่อก่อตั้งให้เป็น Creative University หรือ มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ ตามแนวคิดเปิดกว้าง โดยปักธงวางเป้าไม่หยุดนิ่งในการพัฒนา เมื่อการศึกษาในโลกสมัยใหม่หลายคนอาจมองเป็นวิกฤตมหาวิทยาลัย แต่ “อธิการบดีอินดี้” กลับมอง “Education Disruption คือโอกาส” มีการปรับทิศทาง ยกเครื่องการเรียนการสอนสาขาวิชาใหม่ๆ รับโลกยุคดิจิทัล พร้อมกับประกาศจุดยืน “โลกเปลี่ยนการศึกษาต้องเปลี่ยน”
การทุ่มเทให้กับงานด้านการศึกษา และมองเห็นอนาคตของประเทศชาติว่าหากการศึกษาซึ่งเป็นรากฐานของประเทศยังย่ำอยู่กับที่ ประเทศไทยคงก้าวทันโลกได้ยาก นี่เป็นเบื้องหลังความคิดอ่านเทขายหุ้นเพื่อหันมาโฟกัสในงานด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม อย่างที่แจ้งเหตุผลในการขายหุ้นต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ
ในการให้สัมภาษณ์สื่อถึงเรื่องอนาคตของการศึกษา “ท่านอธิการบดี” มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งอาจารย์และนักศึกษาบางคนเรียกสั้นๆ ว่า “พี่เพชร” บอกว่า เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ทำให้อนาคตไม่แน่นอน ตลาดงานไม่สนใจปริญญา แต่สนใจคนที่ทำงานได้จริงมากกว่า ความรู้ก็ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนแต่มีอยู่ทั่วไปที่คนรุ่นใหม่ค้นหาด้วยตัวเองจากโลกดิจิทัล มหาวิทยาลัยที่ปรับตัวไม่ทันต่างทยอยปิดตัวลง ส่วนบริษัทเอกชนเปิดคอร์สสอนเฉพาะทางของตนเอง
สถานการณ์เช่นนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ มองว่าเป็นวิกฤต แต่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มองว่านี่คือโอกาสที่จะพัฒนาให้ล้ำสมัยอย่างต่อเนื่อง ด้วยการยกเครื่องระบบนิเวศทั้งหมดขององค์กรให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อตอบสนองอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้เป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของประเทศ ในการผลิตเด็กให้ตอบโจทย์อนาคตโลก เพราะศาสตร์ที่จำเป็นต่อชีวิตไม่ใช่ศาสตร์เพียงด้านใดด้านหนึ่ง แต่จะเป็นการบูรณาการข้ามศาสตร์ทลายกำแพงคณะไปสู่การบริหารงานรูปแบบ Open Platform
ในระหว่างที่ “อธิการบดีอินดี้” คุมทิศทางของมหาวิทยาลัยกรุงเทพอยู่นั้น อีกบทบาทที่สำคัญเขาจำเป็นต้องกลับมานำทัพอาณาจักรธุรกิจโอสถสภา อย่างเต็มตัว เมื่อปี 2558 เมื่อ รัตน์ โอสถานุเคราะห์ ผู้เป็นน้องชายมีปัญหาสุขภาพขอลาออกจากตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ การเข้ามาคุมทัพของเพชร ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ด้วยการนำพาโอสถสภาก้าวออกจากกรงกรอบธุรกิจครอบครัวสู่บริษัทมหาชน
“ฟอร์บส์ ไทยแลนด์” ฉบับเดือนตุลาคม 2561 เล่าถึงยุคที่ทายาทรุ่น 4 เพชร โอสถานุเคราะห์ ขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.โอสถสภา ในปี 2558 อย่างเป็นทางการแทนบทบาทที่อยู่เบื้องหลังมาตั้งแต่ปี 2526 ว่าเขาได้เริ่มปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ในปีถัดมา พร้อมกับแปรสภาพบริษัทจากธุรกิจครอบครัวจาก “ห้างขายยาเต๊กเฮงหยู” ที่เติบใหญ่เรื่อยมาตลอด 127 ปี สู่กิจการมหาชน โดยเสนอขายหุ้นให้ประชาชนเป็นครั้งแรกหรือไอพีโอ ไม่เกิน 506.75 ล้านหุ้นในวันที่ 17 ตุลาคม 2561 พร้อมกับความมุ่งมั่นขยายธุรกิจไปสู่ระดับภูมิภาค และเชื่อมโยงจากเอเชียสู่ยุโรปและอเมริกา
ขณะเดียวกัน เพชร ก็ดึงผู้บริหารมืออาชีพเข้าเสริมทัพ “เรามีทีมเวิร์กที่ดี ผมพูดได้เต็มปากว่าเราเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีทีมเวิร์กดีที่สุดในประเทศไทย และ (คณะกรรมการ) หลายคนมีประสบการณ์ระดับโลก ไม่ใช่แค่ระดับประเทศ” เพชร เล่าอย่างเชื่อมั่นในทีมเวิร์กพร้อมเขย่าโครงสร้างทุกระดับ ปรับโฟกัสธุรกิจดาวเด่นใหม่เพื่อการเติบโตในอนาคต แต่รายได้หลักจากเครื่องดื่มชูกำลัง ยังเป็นธงนำ
หลังจากออกหน้านำทัพโอสถสภาได้ 5-6 ปี เมื่อปี 2563 เพชร ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ ด้วยปัญหาด้านสุขภาพ โดยมาดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ และตั้ง นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร และ นายธนา ไชยประสิทธิ์ หนึ่งผู้บริหารรุ่นที่ 4 ของตระกูลโอสถานุเคราะห์ รักษาการซีอีโอ
การปรับโครงสร้างและนำบริษัทเข้าตลาดฯ ของ เพชร ส่งผลให้โอสถสภาเติบโตต่อเนื่อง โดยบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดจากกลุ่มเครื่องดื่มให้พลังงานสูงสุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 55.6% และกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มฟังค์ชั่นนัลดริ้งค์ยังทำสถิติส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดตลอดกาลที่ 38.6% โดยช่วง 9 เดือนของปี 2563 โอสถสภา มียอดขายเติบโตกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3% ส่วนกำไรสุทธิรวมกว่า 2,600 ล้านบาท เติบโต 8.9% จากภาพรวมตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่าราว 9 แสนล้านบาท ในปี 2563 โดยตลาดเครื่องดื่มชูกำลังมูลค่า 21,000 ล้านบาท โอสถสภามีส่วนแบ่งตลาด 54.4%
ขณะที่กลุ่มโอสภาโลดแล่นต่อไปในวงการธุรกิจจากทุนชาติสู่ทุนข้ามชาติ “เพชร โอสถานุเคราะห์” อดีตซีอีโอทายาทสุดอินดี้ของ “เจ้าสัวสุรัตน์” ย้อนทวนเส้นทางชีวิตกลับมาทุ่มเทสร้างฝันในโลกของศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา ซึ่งเป็นภารกิจสร้างรากฐานสำคัญของประเทศอีกครั้ง ซึ่งก็คงต้องจับตากันต่อไปว่า ผู้ชายคนที่ไม่ใช่ผู้วิเศษคนนี้จะเดินตามรอยฝันของตนเองอย่างไม่มีอะไรมากไปกว่าอัลบั้มเพลงชุดแรกของเขาที่ชื่อ “ธรรมดา ... มันเป็นเรื่องธรรมดา”