ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การรื้อถอนและติดตั้งแท่นก๊าซฯในแหล่งเอราวัณจนป่านนี้ยังอลวนอลเวงไม่จบ บริษัทลูกของปตท.สผ. (PTTEP) ผู้ได้รับสัมปทานใหม่ โอดยังเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นขุดเจาะใหม่เพื่อผลิตก๊าซฯตามสัญญาไม่ได้ ขณะที่เชฟรอน (Chevron) สร้างภาพสวยเดินหน้าส่งมอบงานตามสัญญา เคลมเพิ่งบรรลุข้อตกลงด้านไอทีที่เป็นแค่เศษเสี้ยว ส่วนงานใหญ่รื้อถอนแท่นขุดเจาะซึ่งอยู่ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการต้องสู้กันอีกหลายยก แถมกั๊กยังไม่ให้ PTTEP ED เข้าพื้นที่
การคว้าชัยชนะในการประมูลแหล่งก๊าซฯทั้งเอราวัณและบงกช ซึ่งกลุ่มปตท.สผ. เฉือนคมกลุ่มเชฟรอน-โททาล ขาดลอยนั้น เป็นไปตามคาดว่าจะมีปัญหาเรื่องการส่งมอบแท่นขุดเจาะก๊าซฯ และการเข้าพื้นที่ของรายใหม่ตามมา การเจรจาตลอดระยะเวลาปีกว่าๆ ยังไม่บรรลุข้อตกลง ทำให้ ปตท.สผ.หวั่นๆ ว่าการเข้าพื้นที่แหล่งก๊าซเอเราวัณได้ล่าช้ากว่ากำหนดอาจจะส่งผลกระทบต่อการผลิตก๊าซฯ ตามสัญญา ซึ่งก่อนหน้าก็มีข่าวว่า อาจมีปัญหาดึงราคาค่าไฟฟ้าให้พุ่งสูงขึ้นเพราะโรงไฟฟ้าของไทยเกือบ 70% ใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิง กระทั่งกระทรวงพลังงาน ต้องออกมารับประกันไม่มีปัญหาเตรียมแผนสำรองไว้เรียบร้อยแล้ว
ล่าสุด PTTEP ออกมาย้ำอีกครั้งว่าได้เตรียมแผนรับมือกรณีเข้าพื้นที่ขุดเจาะก๊าซฯ ในแหล่งเอราวัณเพื่อติดตั้งแท่นขุดเจาะใหม่ไม่ได้ โดยเตรียมดึงก๊าซฯจากแหล่งบงกชและแหล่งอาทิตย์ รวมทั้งนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี เข้ามาเสริม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาช่วงเปลี่ยนผ่าน
ตามที่ นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า หลังจาก บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (PTTEP ED) บริษัทลูกของ ปตท.สผ. ชนะการประมูลในโครงการ G1/61 หรือแหล่งเอราวัณ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 บริษัทได้เตรียมความพร้อมเข้าผลิตก๊าซฯ ตามสัญญาในระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC ในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งที่ผ่านมาได้เจรจากับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เพื่อให้ประสานงานการเจรจากับผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณปัจจุบันคือ เชฟรอน แต่กระทั่งบัดนี้บริษัทยังไม่สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้
ซีอีโอของ ปตท.สผ. ยืนยันความพร้อมเข้าติดตั้งแท่นผลิตใหม่ 8 แท่น หากเชฟรอนอนุญาตให้เข้าพื้นที่ได้ และการติดตั้งแท่นดังกล่าวจะไม่รบกวนการดำเนินงานของเชฟรอน โดยบริษัทเตรียมงบลงทุนสำหรับโครงการเอราวัณในปี 2564-2568 ไว้ที่ 400 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เพื่อติดตั้งแท่นและขุดเจาะหลุมผลิตเพิ่ม
“หากบริษัทฯ ไม่สามารถเข้าพื้นที่ในแหล่งเอราวัณได้เชื่อว่าจะส่งกระทบต่อกำลังการผลิตก๊าซตามสัญญา PSC ที่ระบุไว้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เนื่องจากผู้รับสัมปทานปัจจุบันไม่ได้เจาะหลุมผลิตเพิ่มเติม ทำให้กำลังการผลิตก๊าซลดลง ปตท.สผ.จึงเตรียมแผนรองรับโดยจะเร่งผลิตก๊าซจากแหล่งบงกชและแหล่งอาทิตย์เพิ่มมากขึ้นคิดเป็น 80% ของก๊าซที่หายไปจากแหล่งเอราวัณ และจัดหาจากการนำเข้า LNG ที่เหลืออีกราว 20%” นายพงศธร กล่าวอย่างมั่นใจช่วงเปลี่ยนผ่านไม่มีปัญหา
สำหรับแหล่งอาทิตย์ มีพร้อมที่จะผลิตเพิ่มขึ้นได้ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จากกำลังการผลิตตามสัญญา (DCQ) 220 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และผลิตจริง 250 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ส่วนแหล่งบงกช มีกำลังการผลิตตาม DCQ 870 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน แต่ผลิตจริง 940 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน
แหล่งเอราวัณ มีการผลิตก๊าซฯ ในปี 2563 อยู่ที่ 1.2 พันล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน แต่เมื่อเชฟรอน ผู้รับสัมปทานปัจจุบันไม่ได้เจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมทำให้ปริมาณก๊าซฯ แหล่งเอราวัณลดลงไป คาดว่าปี 2565 ปริมาณการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณ จะหายไป 200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จากสัญญา PSC แหล่งเอราวัณต้องผลิตก๊าซฯ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งปริมาณก๊าซฯ ที่หายไปนี้ ปตท.สผ.จะใช้เวลา 1-2 ปี จึงจะสามารถกลับมาผลิตได้ตามสัญญาหลัง ปตท.สผ. เข้าไปดำเนินการ
ที่ผ่านมา PTTEP ED กับเชฟรอนฯ ได้ลงนามข้อตกลงเข้าพื้นที่ระยะที่ 1 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 เพื่อให้ ปตท.สผ.อีดี เข้าสำรวจพื้นที่ แต่เมื่อเข้าสู่การเจรจาข้อตกลงเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 เพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิตและเจาะหลุมผลิต เชฟรอนไม่ยินยอมให้ ปตท.สผ. เข้าดำเนินการ แม้ว่า ปตท.สผ.อีดี จะทำข้อตกลงขอเข้าพื้นที่ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 โดยยอมรับเงื่อนไขเข้าพื้นที่เช่น รับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดที่อาจเกิดจากการทำงานของ ปตท.สผ.อีดี ก็ตาม
หลังจากที่ ซีอีโอ ปตท.สผ. ออกมาบอกกล่าวถึงปัญหาที่อาจทำให้การผลิตก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณไม่เป็นไปตามแผน ทางบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ก็ออกมาแถลงว่า เชฟรอนบรรลุข้อตกลงความร่วมมือเทคโนโยลีสารสนเทศกับบริษัท ปตท.สผ. อีพี เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน ในการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศนอกชายฝั่งสำหรับการเป็นผู้ดำเนินงานแหล่งเอราวัณในเดือนเมษายน 2565 โดย PTTEP ED ได้เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณเพื่อเริ่มสำรวจและวางแผนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในกลางเดือนมีนาคม 2564
เชฟรอน ยังอธิบายต่อสังคมว่า ยังคงทำงานร่วมกับ ปตท.สผ. และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ อย่างต่อเนื่องเพื่อประสานความร่วมมือในการส่งมอบแหล่งเอราวัณในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งที่ผ่านมามีความคืบหน้าที่สำคัญ เช่น เตรียมการสำหรับถ่ายโอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมและข้อมูลการดำเนินงานในการบริหารแหล่งเอราวัณ ส่วนความร่วมมือด้านการคัดเลือกและถ่ายโอนบุคลาการทั้งพนักงานบนฝั่ง นอกฝั่ง และพนักงานรับเหมาทั้งหมด คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี 2564 นี้ และสัญญาว่าจะมุ่งมั่นส่งมอบแหล่งเอราวัณให้ลุล่วงภายในเดือนเมษายน 2565
จบถ้อยแถลงของเชฟรอนยังไม่ทันไร ซีอีโอของ ปตท.สผ. ก็ยันกลับอีกครั้งว่า ปตท.สผ.ยังเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นขุดเจาะก๊าซใหม่ในแหล่งเอราวัณยังไม่ได้ ที่ว่าเชฟรอนกับปตท.สผ. บรรลุข้อกลงร่วมกันนั้นเพียงแค่ข้อตกลงเตรียมความพร้อมด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศนอกชายฝั่งเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้มีผลทำให้ ปตท.สผ.เข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งหลุมผลิตและเจาะหลุมผลิตก๊าซฯ เพื่อให้สามารถผลิตก๊าซฯตามสัญญา PSC แต่อย่างใด
“ปตท.สผ.ยังคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างจริงใจจากผู้รับสัมปทานปัจจุบัน ร่วมกับการประสานงานจากหน่วยงานรัฐที่จะช่วยให้สามารถผลิตก๊าซฯ ให้ประเทศได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต” นายพงศธร กล่าว
ถอดความหมายจากคำกล่าวของซีอีโอ ปตท.สผ. ก็เห็นนัยแล้วว่าที่ผ่านมา การเจรจากับเชฟรอนนั้นเป็นเช่นไร และแม้เวลานี้ บริษัทเชฟรอนฯ และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังอยู่ระหว่างการเจรจาการส่งมอบงานส่วนสำคัญอีกหลายส่วน เช่น การถ่ายโอนแท่นหลุมผลิตปัจจุบันและข้อมูลการดำเนินงาน แต่ความคืบหน้าของการเจรจาเป็นไปอย่างเชื่องช้า อีกทั้งเชฟรอน ยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการในส่วนของการรื้อถอนแท่นขุดเจาะก๊าซอีกด้วย
ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเตรียมเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ หลังจากที่ เชฟรอนแห่งสหรัฐอมเมริกา บริษัทแม่ของเชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยในประเด็นปัญหาการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ ที่จะหมดสัญญาในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งนายสราวุธ ยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวทำให้มีความเสี่ยงในการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าและจะกระทบการผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2562 ทางเชฟรอน สหรัฐอเมริกา ได้ระงับกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่จะยื่นฟ้องต่อรัฐไทยเอาไว้ชั่วคราว เพื่อให้มีการเจรจาหาข้อยุติระหว่างกันภายใน 180 วัน หรือภายในเดือนมีนาคม 2563 ตามที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในสมัยนั้นร้องขอ แต่การเจรจาไม่เป็นผลเนื่องจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังยืนยันที่จะปฏิบัติตามกฎกระทรวง เรื่องกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมพ.ศ. 2559 ภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่ให้เชฟรอนวางหลักประกันที่จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมทั้งหมด ทั้งในส่วนที่รัฐรับโอนมาใช้ประโยชน์ต่อ จำนวน 142 แท่น และส่วนที่รัฐไม่ได้รับโอนอีก 49 แท่นด้วย
ในส่วนที่รัฐบาลไม่ได้รับโอน 49 แท่น ทางเชฟรอน ไม่มีปัญหาในการรับภาระรื้อถอนเองทั้งหมด ส่วนที่เป็นปัญหาที่เชฟรอนฯ ยื่นร้องต่ออนุญาโตตุลาการคือ ส่วน 142 แท่น เพราะไม่สามารถตกลงกับกระทรวงพลังงาน ได้ว่าจะต้องวางเงินค่ารื้อถอนในสัดส่วนเท่าใด เพราะเชฟรอนมองว่าแม้ใช้ประโยชน์มานาน 40 ปี แต่ ปตท.สผ. เข้ามาใช้ประโยชน์ต่ออีก 10-20 ปีดังนั้นสัดส่วนการจ่ายก็ควรจะน้อยลง แต่รัฐกลับให้จ่ายก่อนและจ่ายเต็ม โดยคิดเป็นเงินที่ต้องจ่ายสูงถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4.8 หมื่นล้านบาท
การต่อสู้ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการกับเชฟรอน ครม.ได้อนุมัติงบดำเนินการไว้แล้ว 450 ล้านบาท โดยมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งได้ตั้งคณะทำงาน ทีมกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ และทีมอนุญาโตตุลาการฝ่ายไทยไว้สู้คดีแล้ว แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมเปิดช่องเจรจาหาข้อยุติ
การเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการเพื่อไกล่เกลี่ยในประเด็นที่เชฟรอนเห็นไม่ตรงกันกับรัฐเรื่องค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นเอราวัณที่รัฐรับโอนมาเพื่อใช้ประโยชน์ต่อนั้น นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่ากระทรวงฯ ได้เตรียมขั้นตอนต่างๆ ไว้เพื่อสู้คดีแล้ว รวมทั้งการเตรียมพร้อมรับมือหากการผลิตก๊าซไม่เป็นไปตามแผน ก็พร้อมจะนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ขอให้มั่นใจไม่ขาดแคลนแน่นอน
ก่อนหน้านี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ออกเอกสารคำชี้แจงในเรื่องเกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2563 สรุปรวมความได้ว่า เชฟรอนร่วมทำงานกับรัฐบาลไทยเพื่อส่งมอบแท่นขุดเจาะก๊าซฯ ที่ยังใช้ประโยชน์ได้ในแหล่งเอราวัณให้รัฐบาลอย่างปลอดภัยหลังสัมปทานสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2565 ทั้งนี้ ข้อตกลงในสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมได้ระบุไว้ว่าผู้รับสัมปทานมีหน้าที่รับผิดชอบการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่จะมิได้ส่งมอบให้แก่รัฐบาลแต่เพียงเท่านั้น ซึ่งเชฟรอนมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามข้อผูกพันดังกล่าว การที่บริษัทฯ ได้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการอีกครั้ง เพื่อให้ได้รับความชัดเจนเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่จะส่งมอบให้กับรัฐบาลภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง
กระบวนการรื้อถอนแท่นที่เข้าสู่อนุญาโตตุลาการก็ว่ากันไป ส่วนการเข้าพื้นที่ของ ปตท.สผ.ในฐานะโอเปอเรเตอร์รายใหม่เพื่อติดตั้งแท่นผลิตจำนวน 8 แท่น ที่ ปตท.สผ. กำหนดไว้กลางปี 2564 ก็ต้องหาเดินหน้าเพื่อให้แผนการผลิตก๊าซฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้หากเชฟรอน จะมาเล่นตุกติกไม่ให้ ปตท.สผ. เข้าพื้นที่ติดตั้งแท่น และทำให้เกิดความล่าช้าก็น่าจะก่อให้เกิดคำถามจากสังคม
สำหรับการการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรื้อถอนแท่นผลิตที่รัฐรับโอนมา และ ปตท.สผ. นำมาใช้ประโยชน์ต่อนั้น ซีอีโอ ปตท.สผ. พูดชัดว่า จะรับตามสัดส่วนเฉพาะที่ใช้ประโยชน์ ซึ่งยังไม่ได้มีการคำนวณตัวเลขที่ชัดเจนออกมา
ความอลวนอลเวงในช่วงเปลี่ยนผ่านจะมีความซับซ้อน ต่อรองผลประโยชน์กันอย่างไรก็ตามแต่ ขออย่าให้กระทบกระเทือนถึงต้นทุนค่าพลังงานให้เป็นภาระประชาชนคนไทยต้องแบกรับ