ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - รัฐบาลเตรียมทุ่มงบจากเงินกู้ที่เหลืออยู่กว่า 2 แสนล้านต่ออายุโครงการเยียวยาภาครัฐ “คนละครึ่ง-เราชนะ” เฟส 3 แน่ ในเดือนพฤษภาคมนี้ หลังสิ้นสุด “เราชนะ-ม.33เรารักกัน” ขู่ฟันไม่เลี้ยงร้านค้า-ผู้ได้รับสิทธิ์ทุจริต ส่วน “เที่ยวด้วยกัน-ทัวร์เที่ยวไทย” ที่หวังปั๊มเงินสะพัดยังหวั่นโควิด-19 ระบาดใหม่ซ้ำ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งสัญญาณเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าจะเดินหน้าต่อสำหรับโครงการเยียวยาภาครัฐที่ได้ใจมวลมหาประชาชน ทั้งโครงการ “คนละครึ่ง” และ “เราชนะ” แต่ก็ยังมีข้อห่วงกังวลถึงเรื่องการทุจริตในโครงการที่จะต้องจัดการขั้นเด็ดขาด ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้แย้มผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา หลังเรียกทีมงานมาปรึกษาหารือ
นอกจากการพูดคุยถึงมาตรการฟื้นฟูและรักษาสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs รวมถึงมาตรการ soft loan และ asset warehousing แล้ว ในวันนั้น นายกรัฐมนตรี ยังติดตามผลการดำเนินโครงการ “เราชนะ” และโครงการ “คนละครึ่ง” และพิจารณาดำเนินการต่ออายุในเฟสต่อไป
“ปัจจัยสำคัญคือยังตรวจพบว่ามีการโกงเกิดขึ้น ทั้งในส่วนของบุคคลและผู้ประกอบการ รัฐบาลจะหาหนทางแก้ไข รวมไปถึงการดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด เราต้องไม่ยอมให้คนส่วนน้อยมาทำลายสิ่งดีๆ ของคนส่วนใหญ่ในช่วงวิกฤตนี้ครับ #รวมไทยสร้างชาติ” ถ้อยแถลงจากเพจเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-O-Cha
หลังเปิดไฟเขียวต่ออายุโครงการ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับนโยบายมาเวิร์กต่อแต่ขอดูรายละเอียดของโครงการ “คนละครึ่ง” และ “เราชนะ” เฟส 3 ว่าจะอุดช่องโหว่ช่องว่างอย่างไรจากข้อค้นพบว่ามีการเอาเปรียบเรื่องการใช้จ่ายของประชาชนที่เข้าร่วมโครงการก่อนจะเสนอรัฐบาลพิจารณาต่อไป ยังไม่ต้องรีบเพราะเวลานี้ยังมีโครงการเราชนะ และโครงการ ม.33 เรารักกัน ที่รัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชนมีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอยู่
“ผมไม่สบายใจกับวิธีการทุจริตของร้านค้าในมาตรการของรัฐที่ออกมาช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน มันเสียความรู้สึก จึงต้องทำให้รัดกุมมากขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่ชอบและอยากให้เกิด แต่มีคนส่วนน้อยเอาเปรียบคนอื่น ดังนั้น ก่อนออกโครงการใหม่จะต้องมีการประเมินให้รอบคอบกว่าโครงการที่แล้ว ขอให้อดใจรออีกนิดหนึ่ง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าว
การตรวจสอบทุจริตในโครงการดังกล่าวข้างต้นนั้น นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลัง ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องอุทธรณ์สำหรับโครงการคนละครึ่ง และคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการเราชนะอย่างจริงจัง รวมทั้งร่วมมือกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากพบกระทำความผิดจริงจะดำเนินการระงับสิทธิแอปพลิเคชันถุงเงิน เครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย
การต่ออายุโครงการคนละครึ่งและเราชนะ น่าจะออกมาช่วงไหน และจะเอางบจากไหน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง คาดว่าโครงการจะออกมาหลังจากโครงการเราชนะ และม.33เรารักกัน สิ้นสุดลงในปลายเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งหมายถึงโครงการคนละครึ่งอาจจะเว้นว่างไปประมาณเดือนสองเดือนหลังจบโครงการในสิ้นเดือนมีนาคม 2564 ส่วนที่มาของงบจะใช้เงินงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินในฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่มีวงเงินเหลืออยู่กว่า 2 แสนล้านบาท
สศค. ประเมินผลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ทั้งคนละครึ่งและเราชนะ ว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งปี 2564 ได้ประมาณ 0.8% ส่วนเป้าหมายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งเป้าเศรษฐกิจปีนี้โต 4% ต้องดูว่าจะมีมาตรการใหม่ๆ ออกมาเพิ่มเติมอีกหรือไม่ หรือจะบูทการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก
สำหรับผลการดำเนินโครงการเราชนะ ณ วันที่ 23 มีนาคม 2564 มีผู้ได้รับสิทธิในโครงการ รวมทั้งสิ้นจำนวน 32.4 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 150,319 ล้านบาท ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 1.2 ล้านกิจการ
นอกจากแผนต่ออายุโครงการ “คนละครึ่ง” และ “เราชนะ” เพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว ในส่วนของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่ซบเซาอย่างหนัก คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา เห็นชอบมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ โดยอนุมัติโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 3 และ โครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย”
โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 3 ได้ขยายสิทธิ์เพิ่มอีก 2 ล้านสิทธิ์ เพิ่มเติมจากเดิม 6 ล้านสิทธิ์ซึ่งเต็มแล้ว ภายใต้กรอบวงเงินที่เหลืออยู่ 5,700 ล้านบาท โดยคุณสมบัติผู้ได้รับสิทธิ์ในเฟส 3 จะเหมือนกับโครงการระยะที่ 1 และ 2 แต่มีแนวทางการป้องกันการทุจริตเพิ่มเติมเข้ามา เช่น การป้องกันการสวมสิทธิด้วยระบบสแกนใบหน้า และการยืนยันตัวตนของผู้ใช้สิทธิที่สาขาธนาคารกรุงไทย ระยะเวลาการใช้สิทธิ์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2564
ส่วนรายละเอียดอื่นๆ เช่น ปรับเกณฑ์การใช้สิทธิ์ E-Voucher เหลือ 600 บาท/วัน จากเดิมกำหนดที่ 900 บาท/วัน ในวันธรรมดา และ 600 บาท/วัน ในวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนการเดินทางท่องเที่ยว ต้องเป็นการท่องเที่ยวข้ามจังหวัดเท่านั้น
การเข้มงวดเพื่อป้องกันการทุจริตในโครงการที่มีปัญหามาก่อนหน้าโดยมีการแจ้งจับกันทั่วประเทศนั้น รอบนี้รัฐบาลออกข้อกำหนดให้ผู้ขอใช้สิทธิ์จะต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและจองที่พักล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน เพื่อให้ทางแบงก์กรุงไทยส่งข้อมูลให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อตรวจสอบว่ามีการจองที่มีความผิดปกติหรือไม่
ส่วนการเข้าใช้บริการจะต้องสแกนใบหน้าซึ่งจะมาพร้อมกับข้อมูลจีพีเอส ส่วนผู้ประกอบการเดิมที่เคยเข้าร่วมโครงการ จะต้องเข้าไปยืนยันการร่วมโครงการใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ ททท.ตรวจสอบ พร้อมส่งข้อมูลห้องพักที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อตรวจสอบว่าแต่ละแห่งมีจำนวนห้องเท่าไหร่ ขณะที่ทางโรงแรมจะต้องส่งจำนวนห้อง ช่วงราคาห้องสูงสุด-ต่ำสุดให้ ททท. เพื่อตรวจสอบด้วยเช่นกัน
สำหรับโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” ขยายกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมระดับอายุมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยรัฐบาลจะสมทบเงิน 40% หรือไม่เกิน 5,000 บาทต่อคน ให้ออกเดินทางท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์นำเที่ยวในราคาแพคเกจขั้นต่ำ 12,500 บาท ในวันธรรมดา ประมาณ 1 ล้านสิทธิ์ โดยกำหนดให้บริษัททัวร์รับคนเข้าร่วมโครงการได้จำนวน 1,000 คนต่อ 1 บริษัท รวมบริษัททัวร์ประมาณ 300 ราย ระยะเวลาดำเนินโครงการ เดือนพฤษภาคม –สิงหาคม 2564 สามารถเข้าไปตรวจสอบโปรแกรมการท่องเที่ยวได้ที่เว็บไซต์ ททท. พร้อมกับเลือกโปรแกรมท่องเที่ยว ติดต่อบริษัทนำเที่ยว และชำระเงินโดยผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เท่านั้น
ความอื้อฉาวด้วยปัญหาทุจริตในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน มีการแจ้งเอาผิดโรงแรม-ร้านค้า ที่เข้าร่วมโครงการ เป็นระยะ โดยลอตแรกทางกองปราบปราม ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในจังหวัดภูเก็ตและชัยภูมิ ส่วนลอตสอง ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ททท. ได้แจ้งความเอาผิดผู้กระทำผิดทุจริตโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่ตรวจพบเพิ่มกระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 934 แห่ง แบ่งออกเป็นโรงแรม 448 แห่ง และร้านค้า 486 แห่ง ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ โซนแหล่งท่องเที่ยว ภาพรวมมูลค่าความเสียหายทั่วประเทศคาดว่าอยู่ที่ 1,700 ล้านบาท สำหรับรูปแบบการโกง จะคล้ายกับผู้กระทำผิดในลอตแรก คือ การสวมสิทธิ์ การจองห้องพักเข้าพักในโรงแรมราคาถูก แต่ไม่ได้เข้าพักจริง การตั้งราคาสูงเพื่อรับเงินทอน ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ช่องโหว่โครงการในการทุจริต
นอกจากมาตรการช่วยเหลือประชาชนชาวรากหญ้าให้มีเงินจับจ่ายใช้สอย และช่วยเหลือธุรกิจการท่องเที่ยวแล้ว ในส่วนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งอยู่ในหลายภาคส่วนธุรกิจ รัฐบาลได้ออกแพกเกจอุ้มเช่นกัน โดย ครม. มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงินรวม 350,000 ล้านบาท
มาตรการอุ้มเอสเอ็มอี รอบนี้ ประกอบด้วย มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่เอสเอ็มอี หรือสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 250,000 ล้านบาท และมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง หรือเรียกสั้นๆ ว่า “มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้” วงเงิน 100,000 ล้านบาท พร้อมกับมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องและผิดนัดชำระหนี้
โครงการต่างๆ ที่ออกมากระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ฝันอยากเห็นจีดีพีปีนี้โตถึง 4% แต่สำหรับแบงก์ชาติ ยังไม่กล้าเพ้อถึงขนาดนั้น ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. ระบุว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.05% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
กนง. ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 3.0 % และ 4.7 % ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ โดยขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 3.2% และ 4.8% ตามลำดับ จากการปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยว และผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 แต่ได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวเร็วตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเพิ่มเติม