xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ก้าวแรก “ไทยฮับแมลงโลก” ส่ง “จิ้งหรีด” รุกตลาด 3 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - อย่าเพิ่งเบิ่งตาค้าง เพราะนี่คือเรื่องจริงไม่อิงนิยาย แถมยังมีมูลค่าระดับ “หมื่นล้าน” อีกต่างหาก เมื่อ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ประกาศเร่งเครื่องนโยบาย “ฮับแมลงโลก” รับเทรนด์อุตสาหกรรมอาหารใหม่ (Novel Food) พร้อมประเดิมเปิดตลาดด้วย “จิ้งหรีด” ส่งผลิตภัณฑ์แปรรูปเจาะตลาดโลก 3 หมื่นล้านล้านบาท โดยคู่ค้ารายใหญ่ก็คือ “เม็กซิโก”  
สำหรับนโยบายดังกล่าว สอดรับแนวทางขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO : Food and Agriculture Organization) ที่ประกาศให้  “แมลงเป็นแหล่งอาหารในอนาคตของโลก”  ซึ่งทาง FAO คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ของโลกซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนเพิ่มขึ้น 30% ภายใน 15 ปีข้างหน้า

ขณะที่ประเทศไทยเดินเครื่องนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 อย่างเต็มกำลัง โดยมีโต้โผใหญ่ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ผลักดันสุดลิ่มตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตโปรตีนจากแมลงหรือ “ฮับแมลงโลก”

 ทั้งนี้ ข้อมูลด้านโภชนาการจากผลการวิจัยเรื่องอาหารแห่งอนาคต (Future Food) และอาหารใหม่ (Novel Food) ระบุว่า “แมลง” เป็นสุดยอดของแหล่งอาหาร หรือ Super food ประเภทโปรตีน มีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ทั้งแคลเซียม ซิงค์ วิตามินบี 2 บี 12 ในปริมาณสูง มี โอเมกา 3 6 9 รวมทั้งไฟเบอร์ ซึ่งเป็นไฟเบอร์จากสัตว์เพียงชนิดเดียว ช่วยปรับสมดุลในลำไส้ นอกจากนี้ยังมีกรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกายอีกกว่า 10 ชนิด  

ขณะเดียวกัน องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้ส่งเสริมให้แมลงเป็นอาหารสำหรับคนทั่วโลก ทั้งนี้ ตามข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร พบว่าประเทศไทยมีแมลงที่มีคุณค่าอาหารอย่างน้อย 194 ชนิด อาทิ จิ้งหรีด จิ้งโกร่ง ตั๊กแตน หนอน และดักแด้ไหม  ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยนับเป็นตลาดหลักในการส่งออกแมลงไปขายทั่วโลกอยู่แล้ว

 ข้อมูลจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ระบุว่าตลาดแมลงรับประทานได้ทั่วโลกมีอัตราขยายตัว 23.8% ระหว่างปี 2018-2023 และคาดว่าในปี 2023 จะมีมูลค่า 37,900 ล้านบาท ขณะที่ตลาดส่งออกของไทย ปีละ 1,000 ล้านบาท กำลังการผลิต 4,000 ตัน ส่งออกรูปแบบสด แช่เเข็ง แปรรูปทอด คั่ว โดยเฉพาะที่นิยมมากสุด คือ นำไปทำเป็นแป้งผสมอาหาร ทั้งเบเกอรี่ พาสต้า สำหรับผลิตภัณฑ์แมลงที่ได้รับความนิยมในตลาดโลกมีหลายชนิด ทั้งในรูปแบบแมลงทั้งตัวและในรูปแบบอาหารแปรรูป เช่น แมลงผง โปงตีนเชค โปรตีนบาร์ เครื่องดื่ม เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนตลาดสูงสุดคือแมลงผง ร้อยละ 24 


อย่างไรก็ดี ในบรรดาแมลงทั้งหมด “จิ้งหรีด” เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดเป็น “ดาวรุ่ง” ขึ้นแท่นเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่เพื่อสร้างรายได้แก่ประเทศและเกษตรกรของไทย

ประเทศไทยมีศักยภาพในการเพาะเลี้ยงแมลงในเชิงพาณิชย์ ภาครัฐจึงได้มีการส่งเสริมเกษตรกรไทยเลี้ยงจิ้งหรีด ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรกำลังขยายการส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดโดยมีฟาร์มจิ้งหรีดกว่า 20,000 ฟาร์ม รวมทั้ง มีบริษัทสตาร์ทอัพหลายบริษัทที่ทำการแปรรูปจิ้งหรีดทั้งแบบผงและแบบเต็มตัว

ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดนโยบายให้ประเทศไทยเป็น “ฮับแมลงโลก” หรือ ผู้ส่งออกสินค้าจิ้งหรีดหลักของโลกตั้งเป้าหมายในการพัฒนาตั้งแต่การผลิต การแปรรูปและการตลาดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เพื่อสนับสนุนฟาร์มจิ้งหรีด และอุตสาหกรรมอาหารใหม่ (Novel Food) ในการเจาะตลาดโลก 3,000 ล้านบาท

ล่าสุด วันที่ 12 ก.พ. 2564 ประเทศเม็กซิโกได้ประกาศอนุญาตการนำเข้าผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดจากไทยเป็นทางการ โดยได้ประกาศข้อกำหนดด้านสุขอนามัยสัตว์ (Zoosanitary Requirement Sheet หรือ HRZ) สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผงแป้งจิ้งหรีดสายพันธุ์สะดิ้งจากไทย ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ในการผลักดันสินค้าแมลงกินได้ของไทยสู่ตลาดโลก

ต่อมา 19 มีนาคม 2564 เม็กซิโกได้ขยายขอบข่ายสินค้าที่อนุญาตการนำเข้าเพิ่มเติมอีก 2 รายการ ได้แก่ จิ้งหรีดปรุงสุก (Cooked cricket) และจิ้งหรีดแช่แข็ง (Frozen cricket) โดยได้ประกาศข้อกำหนดด้านสุขอนามัยสัตว์ (Zoosanitary Requirement Sheet หรือ HRZ)

สำหรับสายพันธุ์จิ้งหรีดที่ไทยได้รับอนุญาตส่งออกไปยังเม็กซิโก คือ จิ้งหรีดทองแดงลาย หรือสะดิ้ง (Acheta domesticus) เท่านั้น ในส่วนผลิตภัณฑ์ที่เม็กซิโกอนุญาตนำเข้า ได้แก่ จิ้งหรีดผง จิ้งหรีดปรุงสุก และ จิ้งหรีดแช่แข็ง โดยมีเงื่อนไขต้องเลี้ยงในฟาร์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP (การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด หรือ มกษ. 8202-2560) สินค้าต้องไม่มีการปนเปื้อนโปรตีนจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง ต้องได้ใบรับรองสุขอนามัย (health certificate) จากกรมปศุสัตว์ประกอบการส่งออก


เบื้องหลังความสำเร็จต้องยกความดีความชอบให้ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมปศุสัตว์ หลังจากรับลูกนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ผลักดันให้ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าจิ้งหรีดหลักของโลก จัดทำข้อมูลทางเทคนิคและเจรจากับสำนักงานแห่งชาติด้านสุขอนามัยความปลอดภัยและคุณภาพของการเกษตรและอาหารของเม็กซิโก (Servicio Nacional de Sanidad, Inocuidady Calidad Agroalimentaria หรือ SENASICA) เพื่อเปิดตลาดผลิตภัณฑ์จิ้งหรีด

เรียกว่าสร้างความความเชื่อมั่นทั้งระบบการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของการผลิตจิ้งหรีดไทยตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงโรงงาน รวมทั้งมาตรการด้านสุขอนามัยและกระบวนการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก่อนการส่งออก นำสู่การเปิดตลาดเม็กซิโกอนุญาตการนำเข้าผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดจากประเทศไทย เปิดทางยกระดับอาหารภูมิปัญญาพื้นบ้านสู่ตลาดโลก กระตุ้นเศรษฐกิจไทย สร้างรายได้แก่เกษตรกร

 นายอลงกรณ์ พลบุตร  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การนำเข้าบนเว็บไซต์ทางการของ SENASICA ถือเป็นความสำเร็จของการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ถือเป็นการขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าจิ้งหรีดหลักของโลก “ฮับแมลงโลก” นอกจากเปิดตลาดเม็กซิโกสำเร็จแล้ว กลุ่มบริษัทใหญ่ของญี่ปุ่นให้ความสนใจและประสานงานมาเพื่อขอหารือเรื่องการนำเข้าผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดผงของไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

ตามที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประกาศเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารใหม่ (Novel Food) “แมลงเป็นแหล่งอาหารในอนาคตของโลก” ถือเป็นโอกาสของไทยซึ่งมีศักยยภาพในการผลิตและแปรรูปจิ้งหรีดป้อนตลาดโลก มกอช. จึงได้ผลักดันการเปิดตลาดใหม่และขยายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์จิ้งหรีด

นอกจากนี้ มกอช. ได้เสริมสร้างศักยภาพแก่เกษตรกรผู้ผลิตจิ้งหรีดของไทยเข้าสู่ระบบมาตรฐานมาอย่างต่อเนื่องโดยการอบรมให้ความรู้ทางเทคนิคแก่เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีด เกี่ยวกับข้อกำหนด คู่มือการตรวจประเมิน ขั้นตอนการยื่นขอการรับรอง การจัดทำคู่มือปฏิบัติงานประจำฟาร์ม และการจดบันทึกข้อมูลในแบบฟอร์มฯ เพื่อให้เกษตรกรมีความพร้อมในการยื่นขอการรับรองมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีดจากกรมปศุสัตว์ รวมทั้ง ขยายการส่งเสริมให้ความรู้ไปยังเกษตรกรกลุ่มอื่นและเกษตรกรรายย่อยเพื่อส่งเสริมอาชีพเลี้ยงจิ้งหรีดและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และผลกระทบจากภัยแล้งและการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) เป็นมาตรฐานทั่วไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อความปลอดภัยของผลิตผลจากจิ้งหรีด โดยมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจรับรองตามมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด

สำหรับผู้ที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดไปยังเม็กซิโกต้องดำเนินการตามข้อกำหนด ดังนี้ 1) ผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดจะต้องผลิตจากจิ้งหรีดที่เลี้ยงในฟาร์มที่ได้การรับรองมาตรฐาน “การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด หรือ มกษ. 8202-2560” โดยเกษตรกรขอการรับรองได้ที่กรมปศุสัตว์ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด 2) ผลิตภัณฑ์จะต้องมีแหล่งกำเนิดในประเทศไทย

3) โรงงานแปรรูปจะต้องผ่านการตรวจรับรองจากกรมปศุสัตว์ว่ามีกระบวนการแปรรูปให้มีความปลอดภัยต่อการบริโภคของมนุษย์ และมีความสอดคล้องกับกฎระเบียบของเม็กซิโก ได้แก่ มีการนำหลักสุขลักษณะที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Hygienic practice: GHP) ไปปฏิบัติใช้ตลอดกระบวนการผลิต และมีมาตรการป้องกันผลิตภัณฑ์จากการปนเปื้อนของโปรตีนของสัตว์เคี้ยวเอื้องหรือจากแมลงชนิดอื่นที่ไม่ใช่จิ้งหรีด

และ 4) ก่อนการส่งออกจะต้องยื่นขอใบรับรองสุขอนามัย (Health certificate) กับกรมปศุสัตว์ เพื่อใช้แสดงประกอบการนำเข้า ณ ด่านนำเข้าของเม็กซิโก และ (5) สินค้าต้องนำเข้าผ่านด่านที่กำหนดเท่านั้น (ด่านนำเข้าสำหรับสินค้า ที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิปกติ จำนวน 16 ด่าน และสินค้าแช่เย็นจำนวน 9 ด่าน)


 นายพิศาล พงศาพิชณ์  เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่าเป็นโอกาสที่ดีของเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยที่จะสร้างรายได้จากการส่งออกจิ้งหรีดไปต่างประเทศ โดยเม็กซิโกมีความต้องการนำเข้าจิ้งหรีดไม่แพ้ตลาดอื่นที่อยู่ใกล้เคียงอย่างสหรัฐอเมริกาและแคนาดา และในเชิงวัฒนธรรมแล้วผู้บริโภคชาวเม็กซิโกยังมีความคุ้นเคยกับการบริโภคแมลงเป็นอย่างดีอีกด้วย

กล่าวสำหรับจุดขายของจิ้งหรีดเป็นทางเลือกในการบริโภคโปรตีน บวกกับกระแสความนิยมในการบริโภคโปรตีนเพื่อดูแลสุขภาพ เป็นเทรนด์ต่อเนื่องมากว่า 3 ปี ทำให้จิ้งหรีดเป็นหนึ่งในโปรตีนจากแมลงที่น่าจับตาเช่นเดียวกับเวย์โปรตีน (Whey) จากนมวัว ซึ่ง  “รศ.ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล”  ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (FIN) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์แมลงผงได้รับความสนใจในตลาดโลกมากกว่าแบบแมลงทั้งตัว (Whole Insect) รูปแบบผงสามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารต่างๆ เพื่อเพิ่มโปรตีนได้ง่าย เช่น โปรตีนเชค โปรตีนบาร์ พาสต้า ขนมปัง และขนมขบเคี้ยว

สำหรับประเทศเม็กซิโก เป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากชาวเม็กซิกันนิยมบริโภคแมลงในรูปแบบที่หลากหลาย มีการยอมรับการบริโภคผลิตภัณฑ์จากแมลงที่สูงที่สุดในโลก และมีอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดจำนวนมาก จึงมีความต้องการนำเข้าจิ้งหรีดเพื่อบริโภคและใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปต่อเนื่องเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ โปรตีนสกัดเข้มข้น โปรตีนบาร์ เส้นพาสต้า ขนมขบเคี้ยว ช็อกโกแลต

นอกจากนี้ภาครัฐยังยกระดับมาตรฐานการผลิตการแปรรูปและการตลาดรวมทั้งส่งเสริมสตาร์ทอัพไทย จัดตั้ง “ศูนย์เทคโนโลยีแมลง” ภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC : Agritech and Innovation Center) โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กับอีกอย่างน้อย 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยอื่นๆ

เพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ กระบวนการผลิต การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งแบบสด แช่แข็ง ทอด คั่ว หรือบรรจุกระป๋อง รวมถึงทำเป็นผงบด เพื่อเป็นส่วนผสมในการทำ เบเกอรี่ และแปรรูปเป็นแป้งจำพวกเส้นพาสต้า โปรตีนบาร์ ผงแป้ง ขนมขบเคี้ยว และprotein shakes

โดยกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา เอเชียตะวันออก ละตินอเมริกา แอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างให้ความสนใจต่อการบริโภคเป็นอย่างมาก ซึ่งตลาดส่งออกไทยไปต่างประเทศได้รับความนิยมและขยายตัวอย่างรวดเร็วเติบโตถึงร้อยละ 23 ต่อปี โดยเฉพาะ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม การเปิดตลาดผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดไปเม็กซิโกได้สำเร็จ ถือเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมจิ้งหรีดและแมลงกินได้ของไทยเข้าสู่ตลาดมาตรฐานสูงที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องความปลอดภัยอาหารตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่มาตรฐานการเพาะเลี้ยง การแปรรูป ไปจนถึงการส่งออก และเป็นใบเบิกทางสำหรับต่อยอด การการขยายตลาดและขอบเขตผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมสำหรับจิ้งหรีดและแมลงประเภทอื่นที่มีศักยภาพเพิ่มเติมไปยังเม็กซิโก

การเปิดตลาดผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดไปเม็กซิโก เป็นประตูสู่ภูมิภาคละตินอเมริกาที่มีการยอมรับการบริโภคสินค้าแมลงกินได้ในระดับสูง และนำไปสู่การขยายตลาดไปในภูมิภาคอเมริกาเหนือต่อไปได้ในอนาคต

 ถือว่าก้าวแรกของประเทศไทยสู่ “ฮับแมลงโลก” ไปได้สวยทีเดียว. 



กำลังโหลดความคิดเห็น