xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คนแซ่จวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ : ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล


ผมเคยเล่าไว้ในบทความเรื่อง  “การเรียนภาษาจีนในสมัยก่อน”  ว่า ครูสอนภาษาจีนคนแรกของผมคือครูที่แซ่จวง หรือที่พวกเราเด็กๆ เรียกกันว่า  ครูจวง ที่นอกจากจะทำให้ผมคิดถึงท่านขึ้นมาแล้วก็ยังเกิดความสงสัยว่า คนแซ่จวงในอดีตมีใครที่มีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวขานกันบ้าง

ก็เลยลองค้นๆ ดูแล้วนำมาเขียนเป็นเรื่อง  “คนแซ่จวง”  ขึ้นมา

การค้นของผมเริ่มจากหนังสือเรื่อง สืบกำเนิด 225 แซ่ ที่รวบรวมโดย  บุญศักดิ์ แสงระวี (นามแผง)  หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อักษรวัฒนาและไม่ได้ระบุปีที่พิมพ์ แต่เท่าที่ดูจากข้อมูลของสำนักพิมพ์ที่ให้หมายเลขโทรศัพท์ไว้ในเล่ม ก็พบว่า หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ตั้งแต่ที่หมายเลขโทรศัพท์ในกรุงเทพฯ ยังไม่ได้มีเลข 02 นำหน้า

แสดงว่า หนังสือเล่มนี้คงพิมพ์ก่อนปี 2544 เพราะเป็นปีที่เริ่มใช้หมายเลข 02 นำหน้าตัวเลขเจ็ดหลักเดิม พอเพิ่ม 02 นำหน้าเลยทำให้หมายเลขโทรศัพท์ในกรุงเทพฯ มีเก้าหลักมาจนทุกวันนี้ เรื่องไม่ระบุปีที่ตีพิมพ์หนังสือของบางสำนักพิมพ์นี้เป็นปัญหาในสมัยก่อน เดี๋ยวนี้พบน้อยลงแล้ว

หนังสือเล่มดังกล่าวได้ระบุข้อความในวงเล็บว่า (เท่าที่พบในประเทศไทย) ก็แสดงว่า แซ่ของคนจีนย่อมมีมากกว่า 225 แซ่ การค้นของผมจึงเทียบเคียงกับอีกเล่มหนึ่งที่เป็นภาษาจีนคือ  ไป่เจียซิ่ง หรือที่แปลว่า ทำเนียบร้อยแซ่ ของทางจีนแผ่นดินใหญ่อีกทอดหนึ่ง ถ้าเป็นเล่มนี้แล้วจะมีแซ่ที่ถูกรวบรวมไว้มากกว่า 500 แซ่

อนึ่ง คำว่า ทำเนียบร้อยแซ่ ในที่นี้ไม่ได้หมายความตามตัวอักษร เพราะคำว่า  ร้อย ยังหมายถึงว่ามากหรือจำนวนมาก คล้ายกับไทยที่ใช้คำว่า ห้าร้อย ร้อยในที่นี้จึงหมายถึงจำนวนมาก

จากข้อมูลข้างต้นทำให้รู้ว่า คำว่า จวง คำนี้มีความหมายหลากหลาย คือหมายถึง (1) พืชพันธุ์งอกงาม (2) เคร่งครัด เคร่งขรึม (3) ทางหลวง (4) หมู่บ้าน บ้านพัก (5) เรือกสวนไร่นา (6) ร้านรวง (7) ชื่อสกุลของบุคคล หรือที่เราเรียกว่า แซ่

จากนั้นก็ให้ข้อมูลต่อไปว่า แซ่จวงนี้มีที่มาสามทาง ซึ่งผมขอเรียบเรียง ปรับเปลี่ยน และเพิ่มเติมข้อมูลเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้มากขึ้น ดังนี้

 ทางแรก  บรรพชนของแซ่นี้ถือกำเนิดมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว (ก.ค.ศ.1046-221) ราชวงศ์นี้จัดอยู่ในยุคต้นประวัติศาสตร์ (prehistory) ของจีน โดยที่มาของแซ่มาจากชื่อของขุนนางชั้นสูงคนหนึ่งที่มีชื่อว่า อู่จวง  มีตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาไต้แห่งรัฐซ่ง (ซ่งไต้กง, ปกครอง ก.ค.ศ.799-766) ต่อมาลูกหลานของขุนนางผู้นี้ได้นำคำในพยางค์หลังคือ จวง มาเป็นแซ่

 ทางที่สอง ในยุคชุนชิวหรือยุควสันตสารท (ก.ค.ศ.770-476)) อันเป็นยุคที่ราชวงศ์โจวเกิดความแตกแยก ผู้ปกครองรัฐต่างๆ นับร้อยรัฐต่างตั้งตนเป็นใหญ่และทำศึกในระหว่างกัน ในยุคนี้มีกษัตริย์ของรัฐฉู่องค์หนึ่งชื่อว่า จวง (จีนจะเรียกว่า ฉู่จวงหวัง ซึ่งแปลได้ว่า กษัตริย์จวงแห่งรัฐฉู่) ลูกหลานในชั้นหลังจึงนำชื่อดังกล่าวมาเป็นแซ่ของตน

 ทางที่สาม  ในสมัยราชวงศ์ฮั่น (ก.ค.ศ.202-ค.ศ.220) จักรพรรดิองค์หนึ่งคือ  ฮั่นหมิงตี้  (ค.ศ.28-75) ทรงมีชื่อเดิมว่า  หลิวจวง เมื่อเป็นเช่นนี้ตามธรรมเนียมในสมัยนั้น จึงห้ามมิให้บุคคลที่มีชื่อหรือแซ่ที่ตรงกับชื่อหรือแซ่ของจักรพรรดิใช้ชื่อหรือแซ่ของตน หาไม่แล้วจะเท่ากับว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากเหตุนี้ คนแซ่จวงในสมัยนั้นจึงหยุดใช้แซ่ของตนแล้วหันไปใช้แซ่ใหม่ว่า  เอี๋ยน จนเมื่อฮั่นหมิงตี้สวรรคตแล้วจึงได้กลับมาใช้แซ่จวงตามเดิม แซ่จวงจึงถูกใช้ต่อเนื่องนับแต่นั้นมา

จากที่มาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า จวงเป็นแซ่ที่ถือกำเนิดไม่ต่ำกว่า 2,500 ปี นับว่าเป็นแซ่ที่มีความเป็นมายาวนานมากแซ่หนึ่งของจีน ยาวนานขนาดนี้ก็ย่อมต้องมีคนในแซ่นี้ที่มีชื่อเสียงไปในทางที่ดีงามเป็นธรรมดา คนแซ่จวงที่มีชื่อเสียงเท่าที่ข้อมูลดังกล่าวยกมาให้เห็นเป็นตัวอย่างก็เช่น

 จวงโจว เป็นชื่อของนักปราชญ์ในยุคจ้านกว๋อหรือยุครัฐศึก (ก.ค.ศ.475-221) อันเป็นยุคที่ต่อจากยุควสันตสารทดังที่กล่าวไปข้างต้น และเป็นยุคที่จีนมีความแตกแยกเช่นกัน จวงโจวจะรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า จวงจื่อ 

ประวัติของจวงจื่อมีปรากฎอยู่ใน สื่อจี้ (บันทึกประวัติศาสตร์)  ซึ่งเป็นตำราประวัติศาสตร์เล่มแรกของจีนที่เขียนขึ้นโดย ซือหม่าเชียน (ก.ค.ศ.206-ค.ศ.220) ได้กล่าวถึงจวงจื่อสั้นๆ ว่า จวงจื่อ (ประมาณ 369-286 ปีก่อน ค.ศ.) มีชื่อตัวว่า โจว เกิดที่เมืองเหมิ่ง ซึ่งมิอาจระบุได้แน่ชัดว่าปัจจุบันคือเมืองใด แต่เป็นไปได้ว่าน่าจะอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำเหลืองในมณฑลเหอหนัน

จวงจื่อเคยรับราชการเป็นเจ้าพนักงานในสวนต้นรักของเมืองเหมิ่ง ตำแหน่งนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า “สวนต้นรัก” นั้นคือชื่อสถานที่หรือเป็นชื่อป่าที่เต็มไปด้วยต้นรัก แต่ที่ดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับกันก็คือ จวงจื่อเป็นบุคคลร่วมสมัยเดียวกับเมิ่งจื่อ (ก.ค.ศ.372–289 หรือ ก.ค.ศ.385–303) นักปราชญ์อีกคนหนึ่งที่อยู่ในสายลัทธิขงจื่อ

จากประวัติเพียงเล็กน้อยดังกล่าว ปมสำคัญกลับอยู่ที่เมืองเหมิ่งอันเป็นบ้านเกิดของจวงจื่อ ซึ่งมีผู้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า หากเป็นเช่นนั้นจริงก็แสดงว่าจวงจื่อเป็นชาวรัฐซ่ง ที่น่าสนใจก็เพราะรัฐซ่งคือดินแดนที่ราชวงศ์โจวได้มอบให้แก่วงศานุวงศ์และราษฎรของราชวงศ์ซาง (ประมาณ ก.ค.ศ.1600–1046) ภายหลังจากที่ราชวงศ์โจวโค่นล้มราชวงศ์ซางได้สำเร็จ เพื่อที่ชาวซางจะได้มีที่ทางที่จะสืบทอดพิธีสักการะบรรพชนที่เรืองนามของตนต่อไป

อนึ่ง ราชวงศ์ซางเป็นราชวงศ์ที่สองของยุคต้นประวัติศาสตร์จีน โดยราชวงศ์แรกคือเซี่ย ราชวงศ์ที่สามคือโจว จากที่มีอยู่สามราชวงศ์

จากเหตุดังกล่าว ชาวซางที่อาศัยอยู่ในรัฐซ่งจึงยังรักษาวัฒนธรรมของตนเอาไว้ได้ แต่ด้วยภูมิหลังนี้เช่นกันที่ทำให้รัฐซ่งมิใช่รัฐที่เข้มแข็ง และยิ่งในยุครัฐศึกด้วยแล้วรัฐนี้มักจะถูกรุกรานแย่งยึดจากรัฐทรงอิทธิพลอื่นๆ อยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า ที่มาของคนแซ่จวงมักจะผูกพันกับรัฐนี้ด้วยเช่นกันดังได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ชาวรัฐซ่งจึงมักถูกดูหมิ่นถิ่นแคลนจากรัฐทรงอิทธิพลที่มีเชื้อสายราชวงศ์โจว ดังจะเห็นได้จากวรรณกรรมปลายสมัยราชวงศ์โจวที่ให้ภาพลักษณ์ “ราษฎรแห่งซ่ง” ว่าเป็นดังพวกบ้านป่าเมืองเถื่อนที่โง่เง่าเต่าตุ่น

สภาพเช่นนี้ย่อมนำมาซึ่งความหดหู่สิ้นหวังแก่ชาวซางในฐานะราษฎรของรัฐซ่ง และย่อมสะท้อนให้เห็นถึงภูมิหลังทางความคิดของจวงจื่อไปด้วย คือเป็นความคิดที่เต็มไปด้วยการตั้งคำถามและไม่ผูกพันยึดติดกับเรื่องราวทางโลก และทำให้หลักคิดของจวงจื่อสังกัดสำนักลัทธิเต้า

แต่ด้วยเหตุที่ข้อมูลเกี่ยวกับจวงจื่อมีน้อยมาก ผู้วิเคราะห์จึงออกตัวว่า อาจเป็นการดีกว่าที่จะไม่พยายามอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อหาเหตุเชื่อมโยงภูมิหลังของจวงจื่อกับหลักคิดของเขา ซึ่งแม้จะออกตัวเช่นนั้น แต่ข้อวิเคราะห์นี้ก็มีความสมเหตุสมผลอยู่ในตัว โดยเฉพาะแรงจูงใจที่ทำให้จวงจื่อเลือกที่จะหันมาสมาทานลัทธิเต้า

ในฐานะนักคิดสำนักเต้ายุคหลังเหลาจื่อ จวงจื่อก็ไม่ต่างไปจากนักคิดสำนักอื่นในชั้นหลังที่ได้พัฒนาหลักคิดของสำนักเต้าให้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่งจนมีความโดดเด่นเฉพาะตัว และในกรณีจวงจื่อนี้ความโดดเด่นจะเห็นได้จากปกรณ์ที่มีชื่อว่า  จวงจื่อ นั้นเอง

ปกรณ์เล่มนี้ที่เป็นฉบับสมบูรณ์มีผู้แปลเป็นไทยแล้วคือ  คุณสุรัตน์ ปรีชาธรรม โดยใช้ชื่อหนังสือว่า  จวงจื่อ  จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์เมื่อปี 2554 ที่ว่าเป็นฉบับสมบูรณ์ก็เพราะว่า ก่อนหน้าที่จะมีฉบับแปลเล่มนี้ได้เคยมีผู้แปลเป็นไทยมาก่อน แต่เป็นการแปลโดยหยิบยกเฉพาะบางตอนมาแปลเท่านั้น ซึ่งในด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า ในไทยเองก็มีผู้สนใจหลักคิดของจวงจื่อกันไม่น้อยไปกว่าหลักคิดของขงจื่อเลย

คนแซ่จวงคนต่อมาคือ  จวงเซิง  เป็นขุนนางในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) เคยเป็นขุนนางที่ดูแลงานด้านประวัติศาสตร์หลวง เป็นคนที่เปิดเผยตรงไปตรงมา

อีกคนคือ  จวงเย่ฮว๋าง เป็นจิตรกรในสมัยราชวงศ์หมิง มีฝีมือในทางเขียนภาพบุคคล ดอกไม้ในกระถางและผีเสื้อ ภาพที่ชื่อ  ผีเสื้อร้อยตัว  เป็นภาพที่มีชื่อเสียงภาพหนึ่งของจิตรกรผู้นี้

สุดท้ายผมอดไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึงครูจวงของผมอีกครั้ง แต่เป็นการกล่าวถึงในแบบที่ไม่ให้ซ้ำกับที่เคยกล่าวไปแล้ว ว่านอกจากครูจวงจะเป็นครูที่พูดภาษาจีนกลางได้ตรงมากแล้ว ท่านยังมีบุคลิกในแบบครูสมัยก่อน หมายความว่าสมัยนี้หาครูแบบนี้ได้ยาก

กล่าวคือ ครูจวงเป็นครูที่เอาใจใส่ในการเรียนการสอนภาษาจีนอย่างมาก ท่านเป็นคนตัวสูงโปร่งและสง่างาม ศีรษะเถิกเล็กน้อย ใบหน้าเริ่มมีรอยย่นจากอายุที่มากขึ้น ท่านมักใส่เสื้อเชิ๊ตแขนยาวแล้วถกแขนเสื้อขึ้นสองสามพับ ในยามปกติท่านชอบยืนเท้าสะเอวแล้วพูดคุย บางช่วงที่คุยแล้วยิ้ม เราจะเห็นลักยิ้มของท่านด้วย เป็นครูที่มีความรักและความเมตตาให้กับนักเรียนเสมอ

นั่นเป็นภาพจำของผมที่มีต่อครูจวงที่ยังติดตามาจนทุกวันนี้

ในเมืองไทยผมเคยพบคนแซ่จวงอยู่เหมือนกัน แต่จำไม่ได้แล้วว่าเป็นใครหรือในโอกาสใด จำได้แต่ว่าเป็นคนแซ่จวงที่เป็นคนดี แต่จะถึงกับถูกบันทึกเอาไว้ในฐานะผู้มีชื่อเสียงที่คุณูปการหรือไม่นั้น ผมไม่อาจทราบได้ และจนถึงขณะที่เขียนบทความนี้ผมยังไม่เห็นว่าจะมีคนแซ่จวงคนใดที่จะถูกพูดถึงในแง่นั้น

 แต่ถ้าเป็นคนแซ่จวงที่ถูกพูดในแง่ที่มีปัญหาแล้วอาจจะมีได้ในขณะนี้ เพราะจวงที่ผมพูดถึงอยู่นี้เป็นจวงในภาษาจีนกลาง ภาษาจีนแต้จิ๋วคือ แซ่จึง 


กำลังโหลดความคิดเห็น