ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถึงกับต้องใช้คำว่า “ปรากฏการณ์พระมหาเทวีเจ้า” กันทีเดียว สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยชั่วโมงนี้
เพราะเต็มไปด้วยความพิศวงงงงวยที่อยู่ๆ “เธอ” ก็โด่งดังเป็นพลุแตกไปทั่วฟ้าเมืองไทย หลังจากบรรดากลุ่มแฟนคลับวัยรุ่นที่เรียกกันว่า “เยาวรุ่น” พร้อมใจกันไปต้อนรับการมาเยือนกรุงเทพมหานครโดยรถไฟจน “หัวลำโพงแตก” ก่อนที่เจ้าหล่อนจะเดินทางไปยังห้างดังกลางเมืองและเกิดเดจาวู “สยามพารากอนแตก” ด้วยบรรดาแฟนนานุแฟนพากันแห่แหนมารอเจอแน่นขนัดเช่นเดียวกัน ทำให้ รปภ.ของห้างถึงขั้นต้องเข้ามาช่วยดูแลความเรียบร้อย เพราะไม่ว่าพระมหาเทวีเจ้าจะเดินไปยังจุดใด บรรดาแฟนคลับต่างเดินเกาะติดไม่ห่าง พร้อมมอบช่อดอกไม้ให้ด้วย
แถมปลุกกระแสให้ปังปุริเยเข้าไปอีกเมื่อ นายอัลลัน แมคคินนอน เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย โพสต์ภาพชวน “เที่ยวออสเตรเลียทิพย์” (ทิพย์ ศัพท์แสลงแปลว่า มโน, ไม่มีอยู่จริง) ระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามรอยเน็ตไอดอล พระมหาเทวีเจ้า แห่งเมืองทิพย์
ปั่นกระแสต่อในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อจู่ๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกลาโหม สั่งได้เปิดสไลด์ภาพ #พระมหาเทวี ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในโซเชียลมีเดีย เพื่อให้บรรดารัฐมนตรีรู้กระแสทางสังคมในปัจจุบัน
เรียกว่า นาทีนี้เรียกว่าแทบไม่มีใครไม่รู้จักชื่อ “พระมหาเทวีเจ้า แห่งเมืองทิพย์” หรือ “แม่หญิงลี” เน็ตไอดอลจากเพจเฟซบุ๊ก VEEN ผู้สร้างปรากฏการณ์มหัศจรรย์เกิดขึ้น
จากเดิมที่ “พระมหาเทวีเจ้า แห่งเมืองทิพย์” หรือ “แม่หญิงลี” เป็นรู้จักเฉพาะกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) เป็นผู้สร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ เรียกได้ว่า “ขายขำ” เป็นตัวของตัวเอง ก้าวข้ามการถูกบูลลี่ มีจังหวะจะโคนเล่นกับกระแสสังคม คาแรกเตอร์ชัดเป็นจุดเด่น จนกลายมาเป็น “เน็ตไอดอลคนล่าสุด” มีผู้ติดตามเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดเพจ VEEN มีผู้ติดตามยอดไลค์ทะลุครึ่งล้านไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งๆ ที่เพิ่งเปิดเพจเมื่อช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมานี้นี่เอง
สำหรับ “พระมหาเทวีเจ้า แห่งเมืองทิพย์” หรือ “แม่หญิงลี” มีชื่อจริงว่า “นายบุหงาวลัย คงขวัญ” หรือ “ชาติ” เป็นชาวอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี เริ่มต้นดังมาจากคลิปวีนเหวี่ยง โดยมีเพื่อนนักปั่น “เมญ่า ลินดา” หรือ “อีทิพย์” เพื่อนสาวผู้ชอบยั่วแหย่แม่หญิงลีให้ระเบิดอารมณ์ ซึ่งผลลัพธ์นำมาซึ่งความตลกขบขัน คนดูรู้สึกสนุกสนาน ที่สำคัญต้องยอมรับว่าความเข้าขาตามประสาเพื่อนสาว ทำให้คนดูถูกอกถูกใจกดไลค์ติดตามเพจ VEEN กันเป็นจำนวนมาก
“แม่หญิงลี” มีความเป็นนักสื่อสารการตลาด จะเห็นว่ามีการสร้างคำสร้างความแปลกใหม่เป็นสีสันโดนใจผู้คน เช่นคำว่า “ทิพย์” ที่สื่อถึงการ “มโน” หรือ “สิ่งที่ไม่มีอยู่จริง” จนกลายเป็นรากศัพท์นำไปล้อกับศัพท์อื่นๆ เป็นต้นว่า เมืองทิพย์ เที่ยวทิพย์ แฟนทิพย์ เป็นต้น รวมทั้ง วลีเด็ดติดปาก อาทิ โอเคนัมเบอร์วัน, ความส๊วยยย, เรามันเทสวัยรุ่น, นะน้องนะ, กูจะบ้าตายรายวัน, จึ๋งมากแม่ ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งชื่อกลุ่มแฟนคลับว่า “เยาวรุ่น” ผสมมาจาก “เยาวชน” กับ “วัยรุ่น” ซึ่งตามหลักจิตวิทยาเป็นการถือเป็นการสร้าง Sense of Belonging หรือจิตใต้สำนึกที่รู้สึกถึงการมีส่วนร่วม ให้ผู้ติดตามหรือแฟนๆ รู้สึกเป็นเจ้าของพร้อมจะเคียงข้าง คล้ายๆ กับ ชื่อกลุ่มของศิลปินเกาหลี เช่น ARMY ของบอยแบนด์ BTS หรือ LUVIES ของเกิร์ลกรุ๊ป RED VELVET หรือของศิลปินไทย เช่น นุช ชื่อเรียกแฟนคลับของ เป๊ก ผลิตโชค เป็นต้น
อย่างไรก็ดี แม่หญิงลีวางคาแรกเตอร์เป็น “เจ้านางขี้วีน” โดยได้แรงบันดาลใจจากละครเรื่อง เพลิงพระนาง ที่มีนักแสดงนำสาวสวยมากฝีมืออย่าง อั้ม - พัชราภา ไชยเชื้อ รับบทเป็น เจ้านางอนัญทิพย์ และ ยุ้ย - จีรนันท์ มะโนแจ่ม รับบทเป็น พระมหาเทวีเจ้าเสกขรเทวี
แม่หญิงลีมักคัฟเวอร์เป็นทั้งพระมหาเทวีเจ้าเสกขรเทวี กับเจ้านางอนัญทิพย์ สลับไปมาคาแรกเตอร์ย้อนแย้งเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน กระทั่ง มีการอวยยศขึ้นเป็น “พระมหาเทวีเจ้าแห่งเมืองทิพย์” มองผิวเผินเป็นเพียงเรื่องตลก แต่ขณะเดียวกันด้วยความที่แอบแฝงนัยทางชนชั้นสูงศักดิ์ ซึ่งอุปโลกน์ขึ้นมาเรียกขาน ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ มีการวิเคราะห์ไปถึงขั้นที่ว่า ปรากฎการณ์พระมหาเทวีเจ้าแห่งเมืองทิพย์เป็นเย้ยหยันมาตรฐานทางสังคม จึงทำให้อกถูกใจถูกจริตวัยรุ่นที่มีความขบถเป็นอย่างมาก รวมไปถึงบรรดาม็อบสามนิ้วที่ประกาศจุดยืนไม่เอาสถาบันกษัตริย์ ซึ่งฉวยโอกาสเข้ามาเป็นสาวกเพื่อระบายความคิดทางการเมืองกันอย่างสนุกสนาน
นอกจากนี้ แม่หญิงลีได้ทลายกำแพงค่านิยมความสวยงามแบบฉบับเน็ตไอดอล สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในโซเชียลฯ เมืองไทย ด้วยความเป็นตัวเองความศรัทธาในตัวเอง แชร์ไลฟ์สไตล์ที่เรียบง่ายผ่านการไลฟ์สดกิจกรรมต่างๆ สร้างความตลกขบขัน ไม่ปรุงแต่ง มีความเป็นธรรมชาติ ผ่อนคลายอุณภูมิการเมือง และความตึงเครียดจากสถานการณ์โรคระบาด
สำหรับปรากฎการณ์พระมหาเทวีเจ้าในแง่มุมการตลาด “ผศ.ดร.ธเนศ ศิริกิจ” ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาการวางแผนกลยุทธ์การตลาด ให้ความเห็นว่าไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ หากเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วมากมาย เป็นเทรนด์การตลาดออนไลน์ เรียกว่า Influencer marketing เพียงแต่กระแสดังกล่าวเป็นการสร้างการตลาดที่ “แตกต่าง” อย่างที่ไม่มีใครทำให้เกิดขึ้นมาก่อน เพราะไม่รู้ว่าแตกต่างแล้วประสบความสำเร็จหรือไม่
พระมหาเทวีเจ้า หรือ แม่หญิงลี แห่งเพจ VEEN อาจทำเพื่อเป็นกิมมิคแต่บังเอิญความต่างไปโดนใจกลุ่มคนบางกลุ่ม จนเกิดกระแสรีวิวบอกต่อ เรียกว่าเป็น Micro Influencer เป็นกลุ่มเล็กๆ พูดคุยกันว่ากระแสไหนโดน ซึ่งคำว่า Influencer, Net Idol หรือ Blogger เหล่านี้เรียกว่า Influencer marketing ในยุคปัจจุบัน พวกเขาเป็นผู้ชักนำกลุ่มลูกค้าเป็นผู้นำสินค้าไปถึงผู้บริโภค เมื่อเกิด Influencer ขึ้นมา โปรดักส์ต่างๆ จะดูช่วงนี้คนไหนอยู่ในกระแส Macro Influence จับผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ได้ เป็นการช่วงชิงโอกาสแม้ไม่ได้เป็นกระแสระยะยาวก็ตาม
อย่างไรก็ดี พระมหาเทวีเจ้าเป็นผู้จุดประกาย Influencer ใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องหน้าสวยงามเพียงอย่างเดียว เป็นบทพิสูจน์ว่าคนในยุคปัจจุบันให้ความสนใจในเรื่องความต่างเป็นความแปลกใหม่
ส่วนถามว่ากระแสพระมหาเทวีเจ้าอยู่ได้นานหรือเปล่า?
ผศ.ดร.ธเนศ ตอบว่า ขึ้นอยู่กับจะสามารถจะพัฒนาคอนเทนใหม่ๆ ขึ้นมาได้หรือเปล่า กระแสดังกล่าวเหมือนกับกระแสละครไทยเรื่องหนึ่งที่มีการใช้คำว่า “ออเจ้า” ซึ่งเป็นคำโบราณที่มีมานานแล้ว เพียงแต่ถูกนำมาใช้ใหม่ เกิดกลายเป็นกระแสติดปากในช่วงหนึ่ง
ขณะที่การโหนกระแสขายเสื้อยืดอิงการเมือง ถามว่ามีผลกระทบต่อชื่อเสียงในฐานะ Influencer หน้าใหม่หรือไม่ ก็ต้องย้อนกลับไปที่กลุ่มเป้าหมายแฟนคลับที่เรียกว่า “เยาวรุ่น” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่ยวัยเรียนไปจนถึงวัยเริ่มทำงาน มีความคิดเห็นทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกัน การคอลเอาท์ของพระมหาเทวีเจ้าเป็นไปได้ว่าเป็นเพียงการจับกระแส เพราะแสดงออกหลังแฟนคลับเรียกร้อง เรียกว่า รู้กลุ่มเป้าหมาย เป็นการเอาใจกระแสเสียมากกว่า
ด้าน “ผศ.เสริมยศ ธรรมรักษ์” หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิเคราะห์ปรากฎการณ์ที่ส่งผลให้แม่หญิงลีโด่งดังเปรี้ยงปร้างว่าด้วยคาแรกเตอร์ของเจ้าตัวซึ่งดูเป็นคนตลก คอนเทนต์มีความบันเทิงนำเสนอเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน บวกกับการสร้างคาแรคเตอร์ 3 ส. ได้แก่ “สารรูป” ภาพจำอย่างบุคลิคภาพ คนที่เป็นเน็ตไอดอลไม่จำเป็นต้องสวยหล่อเพียงอย่างเดียว คาแรคเตอร์ที่ชัดเป็นจุดขาย อัตลักษณ์การแต่งตัว เสื้อผ้าหน้าผม รูปร่างหน้าตา มีการใช้ศัพท์เฉพาะ เยาวรุ่น นะน้องนะ ไหว้สา เป็นสิ่งที่นำไปสู่การสื่อสารตัวตน “สาระ” เรียกว่าแบรนด์ที่ดีมีดีเอ็นเอที่ชัด เห็นคนนี้แล้วนึกถึงอะไร เช่นความเรียวติดดินเป็นกันเอง สิ่งเหล่านี้ถ่ายทอดผ่านไลฟ์สไตล์ในแต่ละวัน ร้องเพลง อาหารการกิน รวมถึง การวีน และ “สารแน” ในที่นี้ไม่ใช้คำหยาบแต่เป็นการสื่อสารตัวตนของเขาให้เป็นที่รู้จัก มีการสื่อสารผ่านโซเชียลฯ หลายลักษณะ
“ปรากฎการณ์พระมหาเทวีเจ้า” ฉีกทุกขนบแบรนด์บุคคลซึ่งไม่จำเป็นต้องสวยหล่อเลิศ คาแรกเตอร์ที่มีความเรียวติดดินเป็นเสน่ห์ ซึ่งเจ้าตัวพูดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้เพราะถูกบูลลี่ ยิ่งโดนบูลลี่ยิ่งดังคนยิ่งรู้จัก แถมยังยิ้มรับการบูลลี่อีกต่างหาก ที่สำคัญเธอมีคาแรกเตอร์เฉพาะเลียนแบบยาก ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นแบบนั้นได้ ปัจจัยเหล่านี้เสริมให้ดังปังปุริเยแบบฉุดไม่อยู่ ส่วนจะยืนยาวนานแค่ไหน ต้องจับตาดูการสื่อสารคอนเทนต์นับจากนี้เพราะเป็นบทพิสูจน์ว่าจะยืนหนึ่งในวงการ Influencer ได้ต่อไปยาวๆ หรือไม่”ผศ.เสริมยศให้ความเห็น
อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า ความโด่งดังไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน สำหรับ “พระมหาเทวีเจ้า แห่งเมืองทิพย์” หรือ “นายบุหงาวลัย คงขวัญ” เพราะตัวเธอเริ่มต้นทำคลิปตั้งแต่ปี 2558 ผ่านช่องทางออนไลน์ จนเป็นที่รู้จักทั้งในนาม แม่หญิงลี, เจ๊อย่าวีน, น้องเฟิร์น 28, น้องแพรว, บังลี ก่อนดังเปรี้ยงเป็นที่รู้จักในนาม พระมหาเทวีเจ้า
ต้องยอมรับว่า ทีมเพจ VEEN ได้ปลุกกระแส “พระมหาเทวีเจ้า แห่งเมืองทิพย์” โดยเฉพาะการสื่อสารในโลกออนไลน์ของได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ดังที่เห็นจากปรากฎการณ์แฟนคลับที่เรียกว่า “เยาวรุ่น” ไปรอรับที่สถานีรถไฟหัวลำโพงและสยามพารากอน หลังจากทางเพจได้อัพเดทการเดินทางมายันกรุงเทพฯ ปลุกกระแสด้วย #พระมหาเทวีเจ้าสะเด็ด จนขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ติด Top 5 ทวิตเตอร์ประเทศไทย ตอกย้ำด้วยการไปออกรายการข่าวดังอย่างโหนกระแส จนเกิดกระแสของพระมหาเทวีเจ้ายืนหนึ่ง ได้รับความสนใจเป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีก
ความดังเปรี้ยงปร้างของ “พระมหาเทวีเจ้า” เกิดจากการปั่นกระแสในโซเชียลฯ จวบจบนตอนนี้สร้างแบรนด์ดิ้งโกยรายได้จากชื่อเสียง แว่วว่าค่าตัวในการรับงานรีวิวสินค้าไว้ที่การถ่ายรูปคู่สินค้า 1 รูป ราคา 9,500 บาท หากเป็นอัลบั้มอยู่ที่ 16,000 บาท ส่วนคลิปขนาดสั้นจะอยู่ที่ 12,000 บาท นอกจากนี้ มีการเปิดขายเสื้อยืดที่เจาะตลาดม็อบสามนิ้วในราคาตัวละ 299 บาท
กระแสของ “พระมหาเทวีเจ้า แห่งเมืองทิพย์” ลามไปถึงวงการภาพยนตร์โดย พชร์ อานนท์ ผู้กำกับ ได้คว้าตัวเจ้าหล่อนมาเป็นแสดงสมทบในภาพยนต์เรื่องใหม่ “หอแต๋วแตกแหกโควิด” ส่วนค่าตัวอยู่ที่วันละ 10,000 - 15,000 บาท รวมคิว 10 วัน เป็นเงินราวๆ 2 แสนบาท ซึ่งเธอก็รับเล่น เพราะอยากได้เงินมาดวงตาของแม่ที่เป็นต้อกระจกและมีก้อนเนื้อมะเร็งที่สะโพก
ถึงตรงนี้ ปฏิเสธไม่ได้เป็นนาทีโกยของ “พระมหาเทวีเจ้า” อย่างแท้ทรู และต้องบอกว่า เมื่อปั่นกระแสกันมาแรงสุดๆ คงต้องยกให้ “พระมหาเทวีเจ้า แห่งเมืองทิพย์” เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่จำต้องบันทึกเอาไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของไทยกันเลยทีเดียว