พรรคประชาธิปัตย์กำลังก้าวย่างขึ้นปีที่ 75 ในเดือนเมษายนที่จะถึง เป็นพรรคเก่าแก่ที่สุดที่ยังดำเนินการอยู่ และเป็นพรรคที่มีสมาชิกมากที่สุดในประเทศไทย และเปรียบตัวเองเหมือนกับแมลงสาบที่มีอายุยั่งยืนยาวนาน
พรรคประชาธิปัตย์แม้จะเกิดขึ้นมาในฐานะพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม แต่มีแนวคิดทางการเมืองเป็นแบบเสรีนิยม โดยมีฐานเสียงเดิมเป็นคนชั้นกลางในเมือง คนวัยทำงาน คนสูงวัย มีฐานเสียงอยู่ในกรุงเทพมหานคร และภาคใต้ อาจพูดได้ว่าในอดีตพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคของปัญญาชน ที่มองว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายเทพ ที่มีอุดมการณ์และจุดยืนทางการเมืองเข้มข้น ไม่ใช่พรรคของกลุ่มพ่อค้าหรือขุนศึก
ในอดีตสมาชิกของพรรคจะประกอบไปด้วยนักการเมืองฝีปากเอกเต็มไปหมด มีภาพลักษณ์ที่ดีเป็นที่นิยมเลื่อมใสศรัทธาของผู้คนจำนวนมาก
ถ้าถามว่า พรรคประชาธิปัตย์วันนี้มีจุดยืนอย่างไร มีอุดมการณ์อย่างไร และใครบ้างที่เป็นสมาชิกของพรรคที่มีความโดดเด่นเป็นที่นับถือศรัทธาได้บ้าง ก็อาจต้องใช้เวลาคิดอยู่ครึ่งค่อนวัน หรือถ้าถามว่าอะไรคือจุดขายของพรรคประชาธิปัตย์วันนี้ ก็คงยากที่จะมีคนตอบได้
ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาบอกวันนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีฐานเสียงในกรุงเทพฯ อีกต่อไป และไม่ใช่พรรคขวัญใจของคนใต้ที่ส่งใครก็ได้รับเลือก จนเปรียบเปรยตัวเองแล้วถูกคู่แข่งนำมาย้อนกลับว่าเป็นการดูถูกคนใต้ว่า ส่งเสาไฟฟ้าลงคนใต้ก็เลือก แต่วันนี้ความคิดแบบนั้นคงหายไปหมดแล้ว เพราะครั้งที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์เสียที่นั่งภาคใต้ให้กับพรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทยจำนวนมาก
ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุดนายชวน หลีกภัย ได้มาบรรยายในหลักสูตรทางการเมืองของสถาบันพระปกเกล้า ผมได้พูดกับนายชวนว่าการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคจะสูญเสียที่นั่งให้กับพรรคภูมิใจไทยและพลังประชารัฐหลายที่นั่ง นายชวนไม่เชื่อสิ่งที่ผมพูด โดยอธิบายว่า ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งพรรคประชาธิปัตย์จะได้คะแนนจากคนใต้ถึง 80% แล้วสุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์ก็พ่ายแพ้อย่างย่อยยับในหลายเขตจริงๆ
และเลือกตั้งซ่อมที่นครศรีธรรมราชที่ผ่านมาก็พ่ายแพ้เสียที่นั่งให้กับพรรคพลังประชารัฐอีก
ความที่เป็นพรรคผูกขาดในภาคใต้ จนกระทั่งเชื่อมั่นว่าส่งเสาไฟฟ้าคนใต้ก็เลือกนั้น อาจทำให้พรรคประชาธิปัตย์มั่นใจว่า อย่างไรคนใต้ก็ไม่ทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ และทำให้ภาคใต้เป็นพรรคที่ถูกทอดทิ้งจากการพัฒนาเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นที่มีการแข่งขันทางการเมืองสูง ต่างกับที่พรรคชาติไทยทำในจังหวัดสุพรรณบุรีที่เขาผูกขาด ต่างจากเนวินทำที่บุรีรัมย์ ฯลฯ
แม้แต่จังหวัดตรังบ้านนายชวน ส.ส.ผูกขาด และนายกรัฐมนตรีสองสมัย ก็ไม่ได้รับการพัฒนามากไปกว่าการปล่อยให้เมืองเติบโตไปตามยถากรรม วันนี้จังหวัดกระบี่พัฒนาล้ำหน้าไปกว่าจังหวัดตรังมาก สิ่งที่เรามักได้ยิน ส.ส.ประชาธิปัตย์ในอดีตพูดกับคนใต้ก็คือ ส.ส.มีหน้าที่ในการออกกฎหมาย เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อตอบคำถามว่า ทำไมถึงไม่สามารถนำความเจริญให้มาสู่ท้องถิ่นที่ตัวเองเป็นผู้แทนได้
และบังเอิญคนใต้ก็เป็นคนเข้าใจการเมือง จึงบอกตัวเองว่าสิ่งที่ผู้แทนพูดเช่นนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว
คนใต้เป็นคอการเมืองแบบเข้มข้นอยู่แล้ว แม้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ทำอะไรมากให้กับท้องถิ่นก็พอใจบทบาทในสภาฯ ในฐานะพรรคการเมืองฝีปากกล้า เป็นพรรคที่กล้าต่อสู้กับฝ่ายทหาร และท้าชนกับเผด็จการ ถ้าพูดแบบตัดจบสั้นๆ ก็ต้องบอกว่า วันนี้ภาพเหล่านั้นไม่มีในพรรคประชาธิปัตย์เลย
วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีอะไรโดดเด่น การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์อาจจะโชคร้ายที่ถูกคนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นขาเก่ากันทอดทิ้ง เพราะคนที่ไม่เอาพรรคฝั่งทักษิณอยากให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์จึงมีคะแนนที่ตกต่ำมาก หลายเขตตกลงไปเป็นที่ 3 หรือ กระทั่ง 4 อย่างที่ไม่เคยตกต่ำเช่นนี้มาก่อนเลย แม้จะเคยแพ้พรรคประชากรไทยหรือพรรคพลังธรรมมา แต่ก็ไม่ได้พ่ายแพ้แบบย่อยยับเช่นนี้
บางคนอาจจะโทษอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ประกาศนโยบายไม่ร่วมรัฐบาลกับพล.อ.ประยุทธ์ทำให้ถูกทอดทิ้งจากคนกรุงเทพฯ แต่ผมคิดว่าถ้าประกาศสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์คนก็ไปเลือกพรรคพลังประชารัฐอยู่ดี และถ้าทำเช่นนั้นก็ยิ่งจะขัดแย้งกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์อย่างรุนแรง หากไม่สนับสนุนหัวหน้าพรรคตัวเองแต่ไปสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ซึ่งเป็นการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร
ในภาคใต้การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้งเพียง 22 ที่นั่งจาก 51 ที่นั่ง และเพิ่งจะเสียที่นั่งในการเลือกตั้งซ่อมให้พรรคพลังประชารัฐจึงเหลือเพียง 21 ที่นั่ง เป็นการตกต่ำที่สุดในการเลือกตั้ง ส.ส.ในภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์
บางคนอาจมองว่า พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยพ่ายแพ้สูญเสียที่นั่งหลายที่ในภาคใต้ให้พรรคกิจสังคม ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ด้วยนโยบายเงินผัน สุดท้ายก็กลับมาเป็นขวัญใจของคนใต้ได้อีก พรรคประชาธิปัตย์เคยพ่ายแพ้พรรคประชากรไทยและพรรคพลังธรรมในกรุงเทพฯ แต่ต่อมาคนกรุงเทพฯ ก็กลับมาเลือกพรรคประชาธิปัตย์อีก ดังนั้นวันหน้าก็น่าจะกลับมาได้อีก
ผมกลับมองว่าครั้งนี้การกลับมาของพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ง่ายเหมือนในอดีตแล้ว พูดตรงๆ คือ พรรคประชาธิปัตย์วันนี้ไม่มีอะไรเป็นจุดขายเลย ใครคือขุนพลของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีความโดดเด่นและประชาชนฝากความหวังได้ นโยบายและอุดมการณ์ที่โดดเด่นคืออะไร บอกไปวันนี้แทบจะไม่เห็นเลย
อย่าว่าแต่อะไรเลยเมื่อก่อนคนจะจดจำนักการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ได้ว่ามีใครบ้าง เพราะล้วนแล้วแต่เป็นดาวฤกษ์ในตัวเอง แต่วันนี้มีใครบ้างที่เป็นที่จดจำและศรัทธา
รวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ ครั้งที่ผ่านมา หลายคนก็มีคำถามต่อการกล่าวหาของพรรคฝ่ายค้านต่อรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ แม้กระทั่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ก็มีข้อกังขาที่ไม่สามารถตอบให้กระจ่างชัด
ถ้าถามว่าตอนนี้มีจุดยืนอะไรบ้างที่พรรคประชาธิปัตย์จะเรียกศรัทธากลับคืนมา แม้จะไม่สามารถจะสร้างศรัทธาได้เหมือนกับในอดีตก็ตาม เท่าที่มองเห็นก็คือ เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศเป็นสัญญาไว้ในการเลือกตั้งนั่นแหละ
แต่การหนุนแก้รัฐธรรมนูญก็ยิ่งขัดใจกองเชียร์ลุงตู่ แต่ขัดใจแล้วจะกระไร เพราะพวกนั้นเขาก็ไม่เลือกประชาธิปัตย์อยู่ดี
ตอนที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ยังไม่รู้เลยว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติว่ารัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้หรือไม่ ถ้าศาลบอกว่าแก้ไขไม่ได้ หรือบอกแก้ได้แต่ต่อมาถูก ส.ว.ตีตกไม่ให้แก้เพราะมีเสียง ส.ว.ไม่ถึง 84 คน ตรงนี้เป็นโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องแสดงจุดยืน เพราะจะเห็นได้ว่าพรรคแกนนำรัฐบาลนั้นมีจุดยืนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่
ถ้าแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้แล้วพรรคประชาธิปัตย์จะทำอย่างไร หรือยังหวังว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะยินยอมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในรายมาตรา ซึ่งถ้ามีจุดยืนที่แจ่มชัดก็พอจะกู้ศรัทธากลับมาได้บ้าง
บอกตรงๆ วันนี้มองไม่เห็นเลยว่า พรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาเป็นพรรคการเมืองใหญ่อย่างในอดีตได้อย่างไร และเชื่อเลยครับว่า ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคจะยิ่งดิ่งเหวลงกว่านี้
ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan