xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.พ่ายเลือกซ่อมนครศรีฯ พลิกโฉมภาคใต้ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นเวทีหาเสียงครั้งแรก
เมืองไทย 360 องศา

ในตอนแรกว่าจะรอดูผลการพิจารณาจากศาลอาญาว่าจะมีคำสั่งให้ประกันตัว 18 แกนนำม็อบสามนิ้ว ที่ทางอัยการนำตัวส่งฟ้องศาลในหลายข้อหาหนัก เมื่อวันที่ 8 มีนาคม แต่ก็เห็นว่าศาลคงใช้เวลาในการพิจารณานาน เนื่องจากมีจำเลยที่ส่งฟ้องจำนวนหลายคน เอาเป็นว่าขอยกยอดไปวันถัดไป เพราะถึงอย่างไร ยังมีเรื่องที่ต้องพูดถึงมากมาย อีกทั้งก็น่าจะคาดเดาได้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าระดับ “แกนนำมีชื่อ”เหล่านั้น จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกมาระหว่างการพิจารณาคดีหรือเปล่า

แต่ขณะเดียวกันที่น่าพิจารณาและน่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ ผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 3 ที่ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ คือ นายอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ สามารถเอาชนะผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายพงศ์สินธุ์ เสนพงศ์ โดยเอาชนะกว่า 4 พันคะแนน

แน่นอนว่า แม้จะเป็นเพียงการเลือกตั้งซ่อม แต่สำหรับพื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ถือว่าเป็นฐานเสียงหลักของพรรคประชาธิปัตย์มาช้านาน และ สาเหตุของการเลือกตั้งซ่อมคราวนี้ก็เป็นผลมาจากการสิ้นสภาพส.ส.ของ นายเทพไท เสนพงศ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ อันเนื่องมาจากมีส่วนร่วมทุจริตการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อหลายปีก่อน และครั้งนี้ก็ได้ส่งน้องชายลงสมัครแทน และพ่ายการเลือกตั้งดังกล่าว

อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า สนามเลือกตั้ง “เมืองคอน”หรือ นครศรีธรรมราชมีความน่าสนใจ เพราะจะกลายเป็นตัวชี้วัดทางการเมืองในอนาคตได้อีกด้วย โดยเฉพาะผลทางการเมืองกับทั้งสองพรรค คือพรรคพลังประชารัฐที่ชนะการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ และพรรคประชาธิปัตย์ ที่ครองพื้นที่นี้มานาน รวมไปถึงอีกหลายจังหวัดในภาคใต้ ถือว่าเป็นพื้นที่ฐานเสียงหลักมาช้านาน

ดังนั้น หากโฟกัสพิจารณาเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์จากผลการเลือกตั้งซ่อมถือว่า“เสียหายหนัก” เพราะนอกจากต้องสูญเสียที่นั่ง ส.ส.ให้ต้องลดไปอีก 1 เสียง ส่งผลสะเทือนทางการเมืองจากเดิมที่ว่า“หนัก”อยู่แล้ว ยิ่งเข้าขั้นสาหัสกว่าเดิมอีก

เพราะหากพิจารณาย้อนกลับไปเมื่อครั้งเลือกตั้งใหญ่คราวที่แล้ว ที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถกวาดส.ส.ได้แบบยกจังหวัด แต่เป็นครั้งแรกที่ต้องแบ่งที่นั่งให้กับพรรคพลังประชารัฐ พรรคน้องใหม่ที่เพิ่งตั้งมา (ในตอนนั้น) ไม่ถึงปี ถึง 3 ที่นั่ง และล่าสุดเมื่อรวมกับผลการเลือกตั้งซ่อมทำให้ พรรคพลังประชารัฐมี ส.ส.เพิ่มมาอีก 1 คน รวมเป็น 4 คน กลายเป็นมีจำนวน ส.ส.ในจังหวัดคนละครึ่งกับประชาธิปัตย์

และผลจากการเลือกตั้งดังกล่าว ยังเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า ภาคใต้ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ และประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่ภาคใต้อีกต่อไป เพราะก่อนหน้านี้ก็มีพรรคอื่น เช่น พรรคภูมิใจไทย ก็สามารถตีฐานที่ พัทลุง แตกเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะมีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่มี ส.ส.จากพรรคอื่น เช่น พรรคประชาชาติ ก็ตาม แต่นั่นอาจไม่ถือว่าเป็นพื้นที่หลักสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเป็นพื้นที่พิเศษ และไม่ได้ผูกขาดมาตั้งแต่ต้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  หาเสียงช่วยลูกพรรค
แต่สำหรับพื้นที่ภาคใต้บนๆ ขึ้นมาตั้งแต่จังหวัดสงขลา มาจนถึงชุมพร จนกระทั่งแม้แต่ประจวบคีรีขันธ์ นี่แหละที่เป็นยุทธศาสตร์ กับพรรคเก่าแก่พรรคนี้ ที่ในอดีตมีการพูดว่า แค่“ส่งเสาไฟฟ้า”ลงไปก็ได้รับเลือกนั่นแหละ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามันฮอตแค่ไหน

ที่ผ่านมาหากพิจารณาเปรียบเทียบกัน ถือว่าผลจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ ถดถอยลงมาอย่างชัดเจนที่สุด ซึ่งหากให้วิเคราะห์กันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าสาเหตุมาจาก“ทำตัวเอง”ทั้งสิ้น ทั้งการเดินยุทธศาสตร์การเมืองผิดพลาด ความแตกแยกภายใน รวมไปถึงถูกค่อนขอด ในทำนองว่า “ย่ำอยู่กับที่”ไม่มีอะไรใหม่ ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ สารพัด จนกลายมาเป็นเสียพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะฐานเสียงทางภาคใต้ นอกเหนือจากพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ที่ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา"สูญพันธุ์" เป็นครั้งแรก

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ งานนี้ยังถือว่า“กระแสลุงตู่”ยังเป็นแรงส่งในพื้นที่มีพลังอยู่เช่นเดิม เพราะหากไม่ปฏิเสธก็ต้องยอมรับว่าผลการเลือกตั้งใหญ่คราวที่แล้ว หากไม่ได้กระแสแบบนี้มาช่วยก็คงยากที่ ส.ส.หน้าใหม่ของพรรค จะเข้าวินได้ถึง 3 คน และสำหรับนายอาญาสิทธิ์ ที่เพิ่งชนะเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ คราวที่แล้วก็แพ้ นายเทพไท เสนพงศ์ อย่างฉิวเฉียด จนต้องล้างตากันใหม่

อีกทั้งเมื่อพิจารณาผลการเลือกตั้งที่ออกมาแบบนี้ มันก็ย่อมส่งผลให้พื้นที่ภาคใต้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ นั่นคือ จะกลายเป็นพื้นที่“แข่งขัน”กันอย่างเข้มข้น โดยที่ไม่มีพรรคใดผูกขาดเหมือนในอดีตที่พรรคประชาธิปัตย์เคยทำมาก่อน เพราะเท่าที่เห็นตอนนี้ มีการแข่งขันกัน 3 พรรค นั่นคือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และที่น่าจับตาไม่น้อยก็คือ พรรคภูมิใจไทย ที่ปัจจุบันเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกันทั้งนั้น

ดังนั้น หากมองในมุมบวกก็น่าจะถือว่าเป็นเรื่องดี ที่จะได้มีการแข่งขันทางการเมือง แข่งกันเสนอนโยบายเพื่อประชาชนเพื่อการพัฒนาเป็นทางเลือก ขณะเดียวกันสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ถึงเวลาในการทบทวนตัวเอง ว่ามีอะไรผิดพลาด เป็นเพราะตัวบุคคล แนวทางที่ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายหรือไม่ แต่ในภาพรวมสำหรับภาคใต้เป็นทิศทางที่เปลี่ยนโฉมหน้าไปไกลแน่นอน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น