xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โขงสีครามวิปริต เขื่อนจุดกำเนิดหายนะ กลืนมหานทีแห่งชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ต้นตอของวิกฤตลุ่มแม่น้ำโขงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เป็นผลกระทบจากสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนในสาธารณรัฐประชาชนจีน และเขื่อนใน สปป.ลาว ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อพื้นที่แม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งไหลเลาะเลียบผ่าน 8 จังหวัดในประเทศไทย ตั้งแต่ภาคเหนือบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ จ.เชียงราย และไหลเข้าสู่บริเวณแก่งผาไดในลาว ก่อนไหลเข้าสู่ภาคอีสานของไทย เริ่มที่ อ.เชียงคาน จ.เลย แล้วไหลเข้าสู่ จ.หนองคาย จ.บึงกาฬ จ.นครพนม จ.มุกดาหาร จ.อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

ตั้งแต่ปี 2562 ลุ่มแม่น้ำโขงในเมืองไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างผิดธรรมชาติ สัญญาณอันตรายแรก การเปลี่ยนเป็นสีครามน้ำใส ที่เรียกว่า   “Hungry Water Effect” หรือ “ปรากฏการณ์น้ำหิว” ซึ่งเป็นน้ำที่ถูกกักมาหลังเขื่อนและไหลช้า ตะกอนจะตกอยู่ในอ่างเก็บน้ำท้ายเขื่อนหมด น้ำที่ปล่อยออกมาจะเป็นน้ำใสไม่มีตะกอน มวลน้ำก้อนนี้หิวตะกอน เมื่อผ่านตลิ่งผ่านท้องน้ำตรงไหนก็ดึงเอาตลิ่งออกมา เกิดการกัดเซาะตลิ่งและพื้นท้องน้ำมากกว่าปกติ

ห้วงเวลาเดียวกันระดับน้ำแห้งขอดหนักสุดในรอบ 100 ปี โดยระดับน้ำต่ำสุดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1 เมตร ทำให้แก่งหินโผล่ขึ้นกลางแม่น้ำ เกิดหาดทราย สันดอนทรายกลางแม่น้ำโขงเป็นบริเวณกว้าง การลดลงของน้ำอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พืชธรรมชาติของสัตว์น้ำตายอย่างรวดเร็ว สัตว์น้ำเล็กและตัวอ่อนตายเกลื่อนเพราะไม่สามารถหนีได้ทัน เริ่มส่งผลกระทบผู้คนริมฝั่งแม่น้ำโขง ความมั่นคงทางอาหาร อาชีพดั้งเดิมของชุมชน ประมงพื้นบ้าน ทำไร่ทำนา ฯลฯ

 น.ส.ศิราณี งอยจันทร์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครพนม เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำโขงในช่วง 2 -3 ปี ที่ผ่านมาว่า มีความเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติเป็นอย่างมาก น้ำโขงลดระดับเร็วตั้งแต่ช่วงฤดูฝน ซึ่งปกติฤดูในทุกปีจะเป็นฤดูน้ำหลากที่ปลาน้ำโขงจะขึ้นไปวางไข่ต้นน้ำในลำน้ำสาขา คือ ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ลำน้ำก่ำ แต่เมื่อน้ำโขงปริมาณน้ำต่ำ โอกาสที่ปลาจะขึ้นไปวางไข่ ขยายพันธุ์ยาก ทำให้มีการวางไข่ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง

 ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนของประเทศเพื่อนบ้าน สู่การวิจัยพบว่าการขยายพันธุ์ในลำน้ำโขง ทำให้ปริมาณการเติบโตของปลาลดลงเกินครึ่ง เพราะมาจากปัจจัยของสภาพแวดล้อม ยิ่งในปีนี้ปริมาณน้ำโขงต่ำ เกิดการตกตะกอน ทำให้แพงตอนในน้ำรวมถึงสาหร่ายตาย ปลาน้ำโขงไม่มีอาหาร จากการสำรวจในช่วงปีที่ผ่าน พบว่าปลาน้ำโขงเดิมมีอยู่ประมาณ 1,000 กว่าชนิด แต่ปัจจุบันเริ่มสูญพันธุ์หายากกว่า 100 ชนิด อาทิ ปลาบึก ปลายี่สกไทย ปลานวลจันทร์ ปลานาง ปลาโจก ปลากาดำ หรือปลาอีตุ๊ ส่วนใหญ่จะเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีราคาแพง ประมาณกิโลกรัมละ 150 -200 บาท เป็นที่ต้องการของตลาด และมีระยะเวลาการขยายพันธุ์ช้า พ่อพันธุ์แม่พันธ์ต้องอายุ 3 - 4 ปี ขึ้น ถึงจะสามารถขายพันธุ์ได้ ทำให้เริ่มสูญพันธุ์ บวกกับสภาพน้ำโขงเปลี่ยนแปลง ระบบนิเวศน์ถูกทำลาย สิ่งที่ตามมาคือ รายได้ จากอาชีพประมง เศรษฐกิจด้านประมงลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ 

 ขณะที่ระดับน้ำโขงแถบสามเหลี่ยมทองคำ จ.เชียงราย ชายแดนไทย-พม่า-สปป.ลาว แห้งขอดลงจนมองเห็นหาดทรายผุดขึ้นมาตามจุดต่างๆ เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่แทบจะไม่สามารถแล่นในน้ำโขงได้ แม้แต่เรือเล็กก็ต้องใช้ความระมัดระวัง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการลดการระบายน้ำออกจากเขื่อนให้กับคนเดินเรือของศูนย์ควบคุมแม่น้ำล้านช้าง เขื่อนจี่งหง เขตปกครองตนเองชนชาติไต สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ในสาธารณรัฐประชาชนจีน

เช่นเดียวกับใน จ.หนองคาย ปริมาณน้ำโขงลดลงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยวันละ 0.22 เมตร มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจนเห็นสันดอน และโขดหินในแม่น้ำโขงเกิดตะไคร่น้ำสีเขียวเกาะตามโขดหิน น้ำน้อยไหลช้าผิดไปจากเดิมโดยตามปกติแล้วน้ำโขงจะมีสีขุ่นแดงเป็นสีอิฐและไหลแรง นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้น เป็นอุปสรรคในการทำประมงพื้นบ้าน นอกจากจับปลาในแหล่งธรรมชาติได้ยาก ปลาในกระชังเลี้ยงยังตายได้ง่ายขึ้น

ย้อนกลับไป 5 ม.ค. 2564 กระทรวงทรัพยากรน้ำ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ส่งเอกสารถึงสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แห่งราชอาณาจักรไทย ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงของฝ่ายไทย แจ้งให้ทราบเรื่องการปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนจิ่งหงในมณฑลยูนนาน ใกล้ชายแดนจีน-พม่า ห่างจาก จ. เชียงรายประมาณ 340 กม. โดยเนื้อหาระบุถึงการระบายน้ำของเขื่อนจิ่งหงว่าจากที่เคยระบายน้ำวันละ 1,904 ลบ.ม./วินาที เมื่อเข้าสู่ช่วงวันที่ 5 - 24 มค. 2567 เขื่อนจะระบายน้ำลดลงเหลือวันละ 1,000 ลบ.ม./วินาที เพื่อบำรุงรักษาสายส่งโครงข่ายระบบไฟฟ้า เมื่อแล้วเสร็จจึงจะปรับเพิ่มการระบายน้ำและเข้าสู่สถานะการทำงานปกติ

ต่อมา กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศแจ้งเตือนเรื่อง “ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงจากลดการระบายน้ำของเขื่อนจิ่งหง” ประกาศแจ้งเตือนและประเมินระดับน้ำในแม่น้ำโขงสรุปได้ว่า ระหว่างวันที่ 2 - 4 ม.ค. 2564 ระดับน้ำโขงช่วงเหนือเขื่อนไซยะบุรีในพื้นที่ สปป.ลาว และบริเวณสถานีเชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จะลดลง 60 ซม. และระหว่างวันที่ 5 - 28 ม.ค. 2564 มีแนวโน้มลดลงประมาณ 30 ซม. ขณะที่แม่น้ำโขงช่วงท้ายเขื่อนไซยะบุรีในพื้นที่ สปป.ลาว บริเวณสถานีเชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย สถานีหนองคาย สถานีนครพนม สถานีโขงเจียม ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงประมาณ 30 ซม. ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนไซยะบุรี

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMC) เปิดเผยว่าสืบเนื่องจากเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทางรัฐบาลของจีนได้แจ้งเตือนว่าจะมีการลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ จนถึงวันที่ 24 ม.ค. 64 ก่อนระดับน้ำจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่ภายหลังจากที่ สทนช. ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด พบว่า หลังจากวันที่ 25 ม.ค. 64 เป็นต้นมา อัตราการปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหงยังไม่กลับคืนสู่อัตราเดิม
 
เดือนที่ผ่านมาในช่วงวันที่ 9-15 ก.พ. 64 ปริมาณน้ำที่สถานีจิ่งหง วัดได้ที่ 1,010-1,064 ลบ.ม./วิ ทำให้ปัจจุบันมีปริมาณน้ำที่สถานีเชียงแสน 1,028-1,058 ลบ.ม./วิ (ระดับน้ำ 1.88-1.92 ม.) ซึ่งยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยสถานีเชียงแสนที่ 1,540 ลบ.ม./วิ (ระดับน้ำ 2.26-2.82 ม.) หรือต่ำกว่าประมาณ 500 ลบ.ม./วิ (ระดับน้ำ 0.38 ม.)
ทั้งนี้ แม้ว่ากระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้ชี้แจงว่า ปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนจิ่งหง ณ ปัจจุบัน ที่ 1,000 ลบ.ม./วิ มีค่าเป็น 2 เท่า ของการไหลตามธรรมชาติ (Natural flow) แต่อัตราการไหลที่สถานีจิ่งหง ควรเพิ่มเป็นประมาณ 1,600-1,700 ลบ.ม./วิ จึงจะสามารถทำให้ปริมาณน้ำและระดับน้ำที่สถานเชียงแสน กลับเข้าสู่สภาวะน้ำเฉลี่ย ในช่วงเดือน มี.ค. เป็นต้นไปได้

จากกรณีดังกล่าว สทนช. หารือกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อประสานแจ้งไปยังกระทรวงน้ำจีนทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ตามกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) สาขาทรัพยากรน้ำ เพื่อขอความร่วมมือในการกลับมาปล่อยน้ำในระดับปกติ และแบ่งปันแผนรายไตรมาสที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อระดับน้ำไปยังประเทศสมาชิก MLC รวมถึงประสานกระทรวงการต่างประเทศของจีนรับทราบถึงปัญหาสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้น พร้อมเร่งรัดให้ฝ่ายจีนพิจารณาดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม ระดับน้ำในลุ่มน้ำโขงลดลงอย่างรวดเร็วจนอยู่ในระดับที่น่าเป็นกังวล คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ชี้ว่าการลดลงของระดับน้ำดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหง สาธารณรัฐประชาชนจีน

ทั้งนี้ สทนช. ได้เสนอประเด็นต่อกระทรวงการต่างประเทศในฐานะรัฐบาลไทย เร่งประสานไปยังประเทศจีน เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหากรณีน้ำแม่น้ำโขงในปัจจุบัน เพื่อปกป้องประชาชนริมแม่น้ำโขงให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยเสนอ 3 ประเด็น ประกอบด้วย

1. การแจ้งเตือนข้อมูล ล่วงหน้า 2 สัปดาห์ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอัตราการระบายน้ำที่ 400 ลบ.ม./วิ เพื่อเป็นการแจ้งหน่วยงานในพื้นที่และประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อวางแผนต่อการเปลี่ยนแปลงการขึ้นลงระดับน้ำ

2. การขอให้เขื่อนจิ่งหง มีอัตราการระบายน้ำจากเขื่อนในเดือน ก.พ. 1,600 ลบ.ม./วิ และ มี.ค. 1,900 ลบ.ม./วิ

3. การปล่อยน้ำจากตัวเขื่อนจิ่งหงในแต่ละวัน ไม่ควรเปลี่ยนอัตราการระบายมากกว่า 400 ลบ.ม./วิ ภายใน 1 วัน เนื่องจากความเร็วดังกล่าวจะมีผลต่อระดับน้ำบริเวณท้ายน้ำ โดยเฉพาะ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ทำให้ระดับน้ำขึ้นลงภายใน 1 วัน ซึ่งเป็นความผันผวนของระดับน้ำที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตริมฝั่ง เช่น การเลี้ยงปลาในกระชัง การพังของตลิ่ง หรือกิจกรรมทางด้านประเพณี วัฒนธรรม เป็นต้น 
 
กลุ่มรักษ์เชียงคาน รายงานว่าช่วงที่น้ำโขงแห้งครั้งนี้ พืชชนิดหนึ่งที่ถูกค้นพบเพียงแห่งเดียวที่ริมน้ำโขงในเขต อ.เชียงคานคือ Crptocoryne Loeiensis เมื่อปี 2554 และถูกจัดให้อยู่ในพืชเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ ของ IUCN ได้โผล่พ้นน้ำ กระจายอยู่รอบๆ ท้องน้ำ โขดหิน ริมตลิ่งของ อ.เชียงคาน

เกิดภาวะน้ำโขงใส มีสาหร่ายสีเขียว หรือ เทา เป็นปรากฎการณ์สาหร่ายบลูม ไปตลอดเขต อ.เชียงคาน อ.ปากชม อ.สังคม เมื่อน้ำลดระดับลงอย่างรวดเร็ว พบว่าส่าหร่ายเหล่านี้แห้งตามหาดหินและแก่งหิน ซึ่งระดับน้ำที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ชาวประมงจับปลาไม่ได้ มีเทาสาหร่ายเกิดหนาแน่นมาก สาหร่ายมักติดกับอวนของคนหาปลา ทำให้อวนหนักมากจนยกไม่ขึ้น

 แต่เดิม “แม่น้ำโขง” เป็น “มหานทีแห่งชีวิต” มีความอุดมสมบูรณ์และความหลายหลายทางชีวภาพสูงมากแห่งหนึ่งของโลก มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ การคมนาคม การท่องเที่ยว เป็นบ่อเกิดทางวัฒนธรรม จบจนการก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขงนำสู่การล่มสลายของระบบนิเวศและวิถีชีวิต

รัฐบาลไทยต้องทบทวนแก้ปัญหาวิกฤตแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน 


กำลังโหลดความคิดเห็น