xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

การเรียนภาษาจีนในสมัยก่อน (3)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 ปกหนังสือชื่อ  อี่ว์เหวิน  ตำราที่ใช้ตอนเรียนพิเศษ
คอลัมน์ : ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

การเรียนภาษาจีนในสมัยก่อนของผมจากที่เล่ามาโดยตลอดนี้สรุปแล้วมีอยู่สองทางคือ เรียนที่โรงเรียนทางหนึ่ง กับเรียนพิเศษอีกทางหนึ่ง  และโดยที่ผมได้จากบ้านเกิดที่ปัตตานีมานานหลายสิบปีแล้วจึงไม่รู้ว่า เดี๋ยวนี้การเรียนในทางที่สองยังมีอยู่หรือไม่ ถ้ามีแล้วผมก็สงสัยว่า ครูผู้สอนสอนในแบบเก่าหรือแบบใหม่

แบบใหม่ของผมหมายถึงการสอนภาษาจีนเป็นภาษาที่สองดังที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งผมเดาว่าน่าจะเป็นแบบนี้ เพราะครูสอนภาษาจีนแบบเก่าในสมัยผมนั้นได้ล้มหายตายจากไปนานหลายสิบปีแล้ว
ย้อนกลับมาสมัยผมอีกครั้งหนึ่ง ว่าที่ผมประทับใจใน โรงเรียนจ้องฮั้ว  ที่ผมได้เรียนอยู่ห้าปีนั้น ยังมีอะไรที่ยังอยู่ในความทรงจำอยู่อีกบ้าง ผมคิดว่าเรื่องหนึ่งน่าจะเป็นครูภาษาจีนคนแรกของผม ซึ่งพวกเราเด็กๆ รู้จักและเรียกท่านว่า  ครูจวง 

 ครูจวงเป็นครูประจำชั้นฝ่ายจีนตอนที่ผมอยู่ ป.เตรียม และถ้าจำไม่ผิด รู้สึกว่าครูจวงน่าจะเป็นครูใหญ่ฝ่ายจีนด้วยเช่นกัน ส่วนครูประจำชั้นฝ่ายไทยคือ ครูอนงค์ ซึ่งผมถือว่าเป็นครูคนแรกของผมที่สอนให้ผมรู้จัก ก.ไก่ ข.ไข่ ก่อนที่จะโตเป็นตัวเป็นตนแล้วมานั่งเล่าเรื่องภาษาจีนอยู่ในขณะนี้ 

ตอนที่มีครูจวงเป็นครูคนแรกนั้น ท่านอยู่ในวัยกลางคนแล้ว ตอนนั้นผมยังเด็กเกินกว่าที่จะตั้งคำถามว่า เหตุใดทางโรงเรียนจึงให้ครูที่อยู่ในวัยนั้นมาสอนชั้น ป.เตรียม แต่ตอนนี้ที่ผมเป็นผู้ใหญ่แล้วจึงมีความเข้าใจมากขึ้น และเห็นว่าทางโรงเรียนจัดครูสอนมาถูกแล้ว

กล่าวคือ ในบรรดาครูสอนภาษาจีนทั้งหมดในโรงเรียนขณะนั้น ครูจวงเป็นหนึ่งในครูไม่กี่คนที่ออกเสียงภาษาจีนกลางได้ตรงมาก หรือเรียกแบบภาษาปากว่า เป๊ะมาก การให้ครูแบบนี้มาสอนเด็กแรกเข้ามาเรียนจึงมีความสำคัญมาก
เพราะดังที่ผมบอกไปแล้วว่า เด็กนักเรียนที่ส่วนใหญ่แม้จะเป็นลูกจีน แต่ก็เป็นจีนที่พูดภาษาถิ่นในครอบครัว (เป็นภาษาที่หนึ่ง) ไม่ได้พูดจีนกลางแต่อย่างไร การได้ฟังภาษาจีนกลางที่ออกเสียงได้ตรงและแม่นยำมีความสำคัญมาก ทั้งนี้เพราะแรกที่ได้ยินในขณะที่ยังเป็นเด็กนั้น เสียงที่ได้ยินจะอยู่ในความจดจำของเด็กได้ดี คล้ายๆ กับการตอกเสาเข็มลงไปให้ฐานแข็งแรง

เมื่อเลื่อนชั้นเรียนสูงขึ้นไปแล้วบังเอิญได้เรียนกับครูที่ออกเสียงได้ไม่ตรง เด็กจะก็จะแยกแยะได้ถึงความแตกต่าง ประเด็นนี้ผมได้เล่าไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ครูส่วนใหญ่ในเวลานั้นเป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่มีภูมิลำเนาเดิมในเมืองจีนที่มิได้พูดจีนกลาง ดังนั้น ที่จะให้ออกเสียงจีนกลางได้ตรงจึงไม่ได้มีกับทุกคน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมมีประเด็นที่จะทำความเข้าใจด้วยว่า ทุกวันนี้แม้จีนแผ่นดินใหญ่จะกำหนดให้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาราชการ และทำให้คนจีนต้องเรียนด้วยภาษาจีนกลางทั้งประเทศจนสามารถพูดจีนกลางได้ก็ตาม แต่ทางหากไม่นับคนจีนปักกิ่งหรือทางภาคเหนือที่พูดจีนกลางมาตรฐานแล้ว ที่เหลือนอกจะพูดโดยมีเสียงถิ่นปนอยู่เสมอ ชั่วอยู่แต่ว่าจะปนมากปนน้อยเท่านั้น ซึ่งก็คือเหน่อนั้นเอง

บางส่วนของเนื้อหาด้านในของหนังสือ อี่ว์เหวิน
ในขณะเดียวกัน คนจีนทั่วไปที่เหน่อมากเหน่อน้อยก็ไม่ได้หมายความว่าเหน่อจนเห็นได้ชัด คือถ้าไม่ตั้งใจฟังให้ดีๆ แล้วก็จะไม่รู้และเห็นว่ามันก็คือภาษาจีนกลางดีๆ นี่เอง
อย่างผมมีเพื่อนชาวจีนอยู่คนหนึ่งที่รู้จักกันมากว่า 30 ปีและเป็นคนซื่อชวน (เสฉวน) โดยทั่วไปแล้วเวลาสนทนากับผมก็พูดภาษาจีนกลางปกติเหมือนคนจีนทั่วไป แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งเรากำลังคุยเรื่องของกินอยู่นั้น เพื่อนคนนี้ได้พูดถึงทุเรียนที่เมืองไทยด้วยภาษาจีนขึ้นมา

ฟังตอนแรกๆ ก็ไม่สู้กระไร แต่พอฟังไปเรื่อยๆ ก็สะดุดว่าเพื่อนกำลังพูดถึงทุเรียนหรืออะไรกันแน่?

 เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า คำว่าทุเรียนในภาษาจีนกลางจะออกเสียงว่า หลิวเหลียน แต่เพื่อนผมคนนี้ออกเสียงว่า หนิวเหนียน คือออกเสียงเป็น น หนู ไม่ใช่ ล ลิง อย่างที่ควรจะเป็น ตอนแรกที่ฟังยังไม่รู้สึกสะดุด แต่พอฟังมากเข้าจึงรู้ว่าเพื่อนออกเสียงผิด จึงได้ถามไป 

เพื่อนยิ้มน้อยๆ แล้วบอกว่า ผมหูไว จากนั้นก็เล่าว่า คนพื้นถิ่นซื่อชวนที่เป็นบ้านเกิดของเขานั้นออกเสียงเพี้ยนเช่นนั้นจริงๆ คล้ายๆ กับคนไทยปักษ์ใต้บางกลุ่มที่ไม่สามารถออกเสียง ง งู ได้ โดยจะออกเป็น ฮ ฮู ประมาณนั้น

ทีนี้มาว่ากันถึงเสียงเหน่อต่อ ด้วยความที่ผมไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ ผมจึงไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วที่จีนก็มีการแบ่งเสียงภาษาจีนกลางเหมือนกัน โดยมีอยู่คืนหนึ่งขณะที่ผมนั่งดูโทรทัศน์อยู่ในห้องพักที่โรงแรมในจีนอยู่นั้น รายการที่ผมดูเป็นรายการเกี่ยวกับการพูดการจาภาษาจีนกลาง

ตอนเปิดดูใหม่ๆ ผมไม่ได้คิดอะไรมาก คือทดลองดูว่ามันเกี่ยวอะไรกับภาษาจีนกลาง ถ้าดูไม่รู้เรื่องก็เปลี่ยนไปช่องอื่นก็เท่านั้น แต่พอดูไปสักพัก คนที่เป็นพิธีกรก็พูดถึงภาษาจีนกลางของหนึ่งในผู้ร่วมรายการ (ซึ่งมีอยู่หลายคน) ว่า ภาษาจีนกลางที่เขาพูดนั้นเป็นภาษาที่เรียกว่า  เยี่ว์ยอี่ว์  คือภาษาจีนกลางในถิ่นเยี่ว์ย

 ถิ่นเยี่ว์ยก็คือถิ่นกว่างตง (กวางตุ้ง) และเป็นหนึ่งในถิ่นเดิมของชาวจีนโพ้นทะเลในไทย และคำว่า เยี่ว์ย (Yue) นี้คือชื่อชนชาติดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในกว่างตง ก่อนที่ทัพจีนจากทางภาคเหนือจะยกมาตีแล้วยึดครองเมื่อราวสองพันปีก่อน จากนั้นทั้งเจ้าของถิ่นเดิมกับผู้ยึดครองก็อยู่ร่วมกันมาจนถึงทุกวันนี้ 

พออยู่กันมาจนถึงยุคที่จีนให้ใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาราชการ คนจีนในถิ่นนี้จึงพูดจีนกลางกันทั่ว แต่เป็นจีนกลางที่มีสำเนียงเฉพาะเป็นของตนเอง และสำเนียงนั้นจะเรียกว่าเป็นจีนกลางถิ่นเยี่ว์ยหรือเยี่ว์ยอี่ว์ดังกล่าว

เหตุฉะนั้น ตอนที่เด็กๆ อย่างพวกเราได้ครูจวงเป็นครูจีนคนแรกจึงมีความหมายมาก แต่ที่ผมมีความทรงจำกับครูจวงเป็นพิเศษก็เพราะท่านเอ็นดูผมเป็นพิเศษ

เช่น ครั้งหนึ่งท่านจัดสอบโดยให้นักเรียนออกมาให้เขียนภาษาจีนบนกระดานหน้าชั้น วิธีคือ ครูจวงจะอ่านภาษาจีนให้นักเรียนคนนั้นฟัง แล้วให้นักเรียนคนนั้นเขียนคำที่ท่านอ่านลงบนกระดาน เขียนผิดเขียนถูกอย่างไรก็ให้คะแนนไปตามนั้น

ครั้นถึงรอบของผม พอเขียนเสร็จครูจวงก็ดึงผมไปโอบ แล้วพูดชื่นชมด้วยรอยยิ้มของผู้ใหญ่ที่เอ็นดูเด็ก ซึ่งจนถึงตอนนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมท่านจึงเอ็นดูผมเป็นพิเศษ ทั้งที่ตอนที่ผมออกไปเขียนนั้น ผมเขียนผิด ถ้าจะให้เดาก็น่าจะอยู่ตรงที่ว่า คำที่ครูจวงอ่านให้ผมเขียนนั้นยาวกว่าของนักเรียนทุกคน นั่นคือ มีอยู่ถึงห้าคำ ในขณะที่นักเรียนคนอื่นเขียนกันคนละสองหรือสามคำเท่านั้น

ผมจำได้ว่าคำที่ครูจวงให้ผมเขียนนั้นคือคำว่า   เม่ยเม่ยหวันชี่เชอ ซึ่งแปลว่า น้องสาวกำลังเล่นรถยนต์ (ที่เป็นของเล่น) และที่ผมเขียนผิดคือ ผมไม่ได้เขียนขีดสองขีดในคำว่า เม่ยเม่ย ส่วนผลการสอบในครั้งนั้นผมสอบได้ที่สองโดยได้ 80 คะแนน

คือถูกหักไป 20 คะแนนจากการเขียนผิดไปสองคำที่เป็นคำเดียวกัน สรุปแล้วถูกหักไปคำละ 10 คะแนน
หลังจากจบชั้น ป.เตรียมไปแล้วก็ปิดเทอม พอเปิดเทอมใหม่ขึ้น ป.หนึ่ง ผมยังเห็นครูจวงสอนอยู่อีกปีสองปี ท่านก็ลาออกไป และตั้งแต่ชั้น ป.สองถึง ป.สี่ ผมจำไม่ได้อีกเลยว่าใครคือครูประจำชั้นฝ่ายจีน จำได้แต่ครูประจำชั้นฝ่ายไทยดังที่ผมได้เอ่ยชื่อท่านไปแล้วก่อนหน้านี้

และก็ดังที่ผมได้เล่าไปแล้วเช่นกัน ว่าหลังจากจบ ป.สี่ ผมก็เรียนพิเศษภาษาจีนต่อในตอนเย็นหลังเลิกเรียนจากโรงเรียน เรียนไปจนถึงผมจบชั้น ม.ศ.สองของโรงเรียนก็ไม่ได้เรียนอีกเลยเพราะพ่อได้ลาจากโลกไป อันที่จริงผมควรจะจบบทความแต่เพียงเท่านี้ ถ้าไม่ใช่เพราะผมได้พูดถึงพ่อขึ้นมา

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า พ่อมีส่วนอย่างมากในการกำหนดให้ลูกๆ เรียนภาษาจีน โดยพ่อไม่ได้ทำเพียงเท่าที่ผมได้เล่าไป หากยังทำด้วยวิธีอื่นอีกด้วย และหนึ่งในวิธีอื่นก็คือ การบอกรับหนังสือการ์ตูนภาษาจีนให้ลูกๆ ได้อ่านกันในครอบครัว ซึ่งเป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่ง

หนังสือที่ท่านรับนี้ตีพิมพ์ในฮ่องกงและมีชื่อว่า เอ๋อร์ถงเล่อหยวน  แปลพอได้ความว่า สวนสนุกของเด็กๆ หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เป็นสี่สีตลอดทั้งเล่ม เนื้อหาข้างในมีทั้งสาระความรู้ คติสอนใจ และนิทานหรือวรรณกรรม โดยวรรณกรรมนั้นจะย่อให้สั้นลงและง่ายต่อความเข้าใจสำหรับเด็ก

ที่สำคัญ มีวรรณกรรมตะวันตกด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้เด็กๆ ก็จะรู้คำทับศัพท์ภาษาตะวันตกในรูปของภาษาจีนไปด้วย ซึ่งบางคำก็ไม่ง่ายและต้องคิดอยู่นานกว่าจะรู้ เช่นคำว่า เป้ยตัวเฟิน กับ หลู่ปินซุ่น ก็คือ เบโทเฟน กับ โรบินสัน ตามลำดับ เป็นต้น

พ่อเลิกบอกรับหนังสือชุดนี้หลังจากที่พวกเราโตเป็นวัยรุ่น ทุกวันนี้ที่บ้านยังเก็บรักษาหนังสือชุดนี้เอาไว้ เขียนมาถึงตรงนี้เห็นทีผมจะต้องไปเอาหนังสือชุดนี้มาดูอีกครั้ง เผื่อมีอะไรที่พอจะเล่าสู่กันฟังได้บ้าง

นี่คือเรื่องราวการเรียนภาษาจีนในสมัยก่อนของผมและของลูกจีนหลายๆ คน ซึ่งปัจจุบันไม่มีวิธีสอนหรือเรียนเช่นว่าอีกแล้ว โดยหลังจากที่ผมไม่ได้เรียนอีกแล้วนั้น ชีวิตก็พลิกผันไปตามกระแสสังคมที่เกิดขึ้นในขณะหนึ่งๆ กระแสดังกล่าวได้พัดพาเอาภาษาจีนของผมคืนครูไปแทบจะหมดสิ้น

กว่าจะรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ผมก็มายืนอยู่ในโลกของวิชาการเสียแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น