xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“คลับเฮาส์” ดาบสองคม ขนาด “ทักษิณ” ยังเลิ่กลั่ก ภัยร้าย “รัฐฯ0.4” แก้ไม่ตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ป้อมพระสุเมรุ

ผู้จัดการสุดสัปดาห์
– กลายเป็นกระแสฮอตฮิตติดเทรนด์

 แอปพลิเคชันคลับเฮาส์ (Clubhouse)  แพลตฟอร์มสื่อสารที่ถูกกล่าวขวัญถึงทั่วโลกมาจนถึงประเทศไทยในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จนขณะนี้ยอดดาวน์โหลดในประเทศไทยทะยานขึ้นอันดับ 1 ในหมวดโซเชียลเนตเวิร์คกิ้งของแอปสโตร์

แถมได้เรตติ้งถึง 4.8 จากคะแนนเต็ม 5 เหนือกว่าแอปฯ ดังเจ้าเก่าทั้งแมสเซนเจอร์, ไลน์ หรือเฟซบุ๊ก เสียอีก

Clubhouse เป็นแอปฯ ที่เปิดพื้นที่เสรี (Free Speech) ให้ผู้ใช้ได้พูดคุยกันอย่างเปิดกว้าง เป็นการสนทนารูปแบบเรียลไทม์พูดคุยกันด้วยเสียงเท่านั้น ลักษณะคล้าย ๆ กึ่งวิทยุสื่อสาร กึ่งห้องประชุมออนไลน์

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังใช้งานได้เฉพาะผู้ใช้โทรศัทพ์มือถือระบบปฏิบัติการแบบ iOS เท่านั้น และต้องได้รับคำเชิญจากคนที่ใช้แอปฯ อยู่แล้วเท่านั้น จึงจะสามารถเข้าใช้งานได้ ตามข้อมูลเชิงเทคนิค Clubhouse มีมาตรการรักษาความเป็นส่วนตัวในระดับหนึ่ง เนื่องจากไม่มีทางเลือกให้คนอัดเสียงบทสนทนาเอาไว้ได้ แต่ไม่วายเกิดกรณีแอบอัดเสียงสนทนาไปเผยแพร่

ทั้งนี้ ผู้ใช้งาน Clubhouse สามารถเข้าไปฟังในห้องต่างๆ ซึ่งจะมีโฮสต์ที่แลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆ ให้ได้ฟังกัน คล้ายกับผู้ฟังไปร่วมงานเสวนาที่เปิดเป็นสาธารณะได้ สามารถนั่งฟังเฉยๆ หากต้องการแสดงความเห็น สามารถกด  “ยกมือขึ้น”  พูดร่วมกับโฮสต์คนอื่นๆ ได้ ส่วนห้องสนทนามีหลากหลาย ไม่เฉพาะเรื่องการเมืองเท่านั้น ยังมีห้องเกี่ยวกับเทคโนโลยี การตลาด การเงิน เกม ดนตรี ฯลฯ

 จุดเด่นของแอปฯคลับเฮาส์ คือ การสื่อสารผ่านเสียง โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกห้องหรือกลุ่มที่ตัวเองสนใจ เพื่อเข้าไปฟัง ลักษณะคล้ายการฟังวิทยุ แต่สามารถสนทนาโต้ตอบได้ เหมือนการประชุมออนไลน์ ซึ่งแต่ละห้องหรือแต่ละกลุ่มจะมี “ผู้สร้างห้อง” หรือ “Modurator” เป็นผู้กำหนดหัวข้อ พร้อมทำหน้าที่กำกับและดำเนินรายการ 

โดยมีรูปแบบการพูดคุยก็มีทั้งการเปิดโอกาสให้พูดคุยกันเองภายใต้หัวข้อ หรือมีวิทยากรหรือผู้สนทนาหลัก แล้วเปิดโอกาสผู้เข้าฟังกดไอคอนรูปมือแทนการยกมือ เพื่อให้ผู้ดูแลห้องรู้ว่า ต้องการแสดงความคิดเห็นหรือร่วมสอบถาม จากนั้นผู้สร้างห้องจะอนุญาตให้พูด ซึ่งผู้ที่เข้าฟังทั้งหมดจะได้ยินที่เราพูด

แต่ที่เด็ดที่สุดของแอปฯ เห็นจะเป็นการที่มี  “เซเลปบริตี้” จากแวดวงต่างๆมาเข้าร่วมการพูดคุย และสามารถสอบถามพูดคุยได้แบบโอเพ่น ทำให้ผู้ฟังมีความรู้สึก Exclusive สามารถใกล้ชิดแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลเหล่านั้นได้โดยตรง ที่อาจไม่สามารถสัมผัสได้จากงานสัมมนา รายการโทรทัศน์ หรือวิทยุ

แอปฯ คลับเฮ้าส์ได้รับการพูดถึงไม่นาน ไม่เพียงแต่ Influrencer ผู้มีชื่อเสียงหลากหลายวงการที่เริ่มหันมาทดลองใช้แอปฯ คลับเฮ้าส์นำกระแสกันแล้ว ยังน่าสังเกตว่ายังเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมากในหมู่  “นักการเมือง”  

 ที่แห่แหนเข้ามาเปิดบัญชีและร่วมสนทนาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานกลุ่มสร้างไทย, “เสี่ยทริป” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, “เฮียอ๋อย” จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่มีแนวโน้มว่ากำลังตั้งพรรคการเมืองใหม่ 

 รวมไปถึง “ประธานเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า, “อาจารย์ป๊อก” ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการกลุ่มก้าวหน้า และ “น้องช่อ” พรรณิการ์ วานิช แนวร่วมกลุ่มก้าวหน้า หรือฝั่งผู้ชุมนุมทางการเมือง ก็มีบัญชีของ “ไผ่ ดาวดิน” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา แกนนำคณะราษฎร 2563 เป็นต้น 

ส่วนเงื่อนไขที่สำคัญที่หลายคนมองว่าเป็น “จุดด้อย” เห็นจะเป็นการต้องใช้เวลาในการร่วมรับฟังแต่ละห้อง-แต่ละหัวข้อไม่น้อย เพราะแทบทุกห้องวางรูปแบบเป็นการเสวนายาว

จะว่าเป็นแอปฯที่มาสนอง “คนขี้เหงา” ก็คงไม่แบบ

 คนหนึ่งที่ดูไม่ให้ความสนใจแอปฯ นี้เท่าไร ไม่พ้น “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เมื่อถูกถามถึงแอปฯดัง ก็ตอบทันทีว่า “ไม่มีเวลา” 

แต่สาเหตุที่ “นายกฯตู่” ไม่ให้ความสนใจแอปฯ นี้ คงไม่ใช่เพียงข้อจำกัดเรื่องเวลาซะทีเดียว เพราะการที่มีคำถามถึงแอปฯดังไปเข้าหูก็เพราะค่ำคืนก่อน “เฮียโทนี” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โผล่ไปเข้าร่วมวงสนทนาใน “คลับเฮ้าส์”

โดย “ทักษิณ” ใช้ชื่อแฝงว่า  “Tony Woodsome”  เป็นชื่อที่เคยใช้สมัยไปเรียนต่อที่เมืองนอก

ทั้งนี้ เมื่อนักข่าวถามไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ความว่า นายกฯ จะเล่นแอปฯ Clubhouse หรือไม่? ก็ได้คำตอบว่า “ผมไม่มีเวลาขนาดนั้น แต่ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตาม ซึ่งเป็นการติดตามกฎหมาย ในเมื่อทุกคนเข้าไปฟังได้ ก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปฟังได้ เพื่อที่จะได้ชี้แจงให้ถูกต้องกรณีที่มีการบิดเบือน”

จากนั้นนักข่าวยิงคำถามที่นายทักษิณ ถามไว้ใน Clubhouse ทำไมเวลาเอ่ยชื่อตนท่านนายกฯ ถึงต้องโมโหทุกครั้ง? พล.อ.ประยุทธ์ ออกอาการหงุดหงิดทันที พร้อมตอบกลับว่า “ผมไม่ได้ฟัง คนผิดกฎหมายอยู่ต่างประเทศจะฟังทำไม ชอบฟังนักนะคนผิดกฎหมายเนี่ย ทำลายกฎหมาย ให้เครดิตกันอยู่ได้” 

ต้องยอมรับว่า การที่ “ทักษิณ” โผล่เข้าไปร่วมในคลับเฮ้าส์ในวันนั้นเป็นการสร้างปรากฏการณ์ให้กับแอปฯอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเมืองไทย ไม่เพียงแต่ห้องสนทนาที่ “ทักษิณ” ไปร่วมวงจะเต็มเอี้ยด ตามจำนวนสูงสุด 8 พันยูสเซอร์แล้ว

ยังมีการเปิดห้องเพื่อถ่ายทอดเสียงอีกเกือบ 10 ห้อง และมีการนำไปแชร์ในแพลตฟอร์มอื่นๆ อีก รวมๆ มีคนร่วมฟัง “ทักษิณ” พูดสดๆ วันนั้น ไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนเลยทีเดียว

เนื้อหาการพูดคุยส่วนใหญ่เป็นการสอบถาม “ทักษิณ” ถึงนโยบายที่เคยประสบความสำเร็จในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2543-2548 ก่อนที่จะถูกรัฐประหารในปี 2549 โดยมี “สายเชลียร์” ซึ่งเป็นคนของพรรคไทยรักไทย-เพื่อไทย มาคอยตั้งคำถาม  “หวานเจี๊ยบ”  ให้ “เจ้านาย”  ตอบ โดยหวังให้โชว์วิชั่นข่มรัฐบาลปัจจุบัน

 ทว่าก็มี “นอกสคริปต์” ถามในเรื่องที่ “ทักษิณ” ตอบไม่ได้ เช่น กรณีเหตุการณ์กรือเซะ และตากใบ ในปี 2547 สมัยรัฐบาลไทยรักไทย ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และเป็นเหตุที่ทำให้ความรุนแรงในภาคใต้ปะทุขึ้นอีกครั้ง จนมาถึงปัจจุบัน 

 ไม่น่าเชื่อว่าคนไหวพริบดีอย่าง “ทักษิณ” จะตอบเรื่องนี้ว่า “จำไม่ค่อยได้” จนถูกตั้งเป็นเทรนด์ในทวิตเตอร์ว่า “#ตากใบจำไม่ได้” 

จากนั้นก็ยังมีคำถามถึง “ระบบการเมือง” ซึ่ง “ทักษิณ” ก็เน้นไปที่กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ก็ถูกถามต่อว่า ในมุมคนรุ่นใหม่ปัจจุบันแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่พอ คนรุ่นใหม่อยากเสนอ “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” ด้วย

ทำเอา “ทักษิณ” ผู้เก่งกล้าสามารถถึงกับ “เดดแอร์” ไม่ได้ตอบคำถาม

เป็น  “หมอมิ้ง” นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุรีย์เดช อดีตเลขาธิการนายกฯ ของ “ทักษิณ” ต้องออกตัวตอบแทนว่า “เรื่องปฏิรูปสถาบันฯ คุณทักษิณ อยู่นอกประเทศคงไม่ได้ลึกซึ้งกับปัญหาขณะนี้” ซึ่งในส่วน นพ.พรหมมินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า

เช่นเดียวกับคำถามจากผู้สื่อข่าวจากบีบีซีไทยเกี่ยวกับ  “มาตรา 112”// ทำเอา “ทักษิณ” ไม่ขอตอบดื้อๆ ก่อนออกตัวแบบ “เลิ่กลั่ก” ว่า  “เราไว้คุยกันเรื่องอื่นดีกว่า ไว้ผมไปลอนดอน แล้วได้คุยกัน” 

ทำเอาหลังจบอีเว้นท์ “ทักษิณ” กับคลับเฮ้าส์ ก็มีคนโพสต์ถามในทำนองว่า “ป่านนี้ทักษิณคงลบแอปฯ ทิ้งไปแล้ว”

เป็นกรณีศึกษาชั้นดีว่า การสื่อสารผ่านแอปฯคลับเฮ้าส์เป็น “ดาบสองคม” ที่ขนาดคนระดับ “ทักษิณ” ยัง “ไปไม่เป็น”

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีอุบัติเหตุ หรือโดน “อำนาจ” แทรกแซงการใช้ “แอปฯคลับเฮ้าส์” เชื่อแน่ว่าจะกลายเป็นพื้นที่สำคัญในการสื่อสารทางการเมือง รวมทั้งการเคลื่อนไหวของ “แก๊งล้มเจ้า” เพราะมีการนำประเด็น “สถาบันพระมหากษัตริย์” ไปวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายในแอปฯที่ว่า

 ผู้นำก็ไม่ใช่ใครที่ไหน “เจ๊วิน เกียวโต” ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ แห่งตลาดหลวงฯในเฟซบุ๊กนั่นเอง 

หรือในวันที่ “ทักษิณ” ร่วมวงคลับเฮ้าส์แล้ว แต่ “ประยุทธ์” เพิ่งเริ่มเล่นแอปฯ Tictok เป็นประเด็นที่ถูกแซวหนัก
ด้วยกระแสนิยมของ Clubhouse ในเมืองไทย กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองใช้กันอย่างแพร่หลาย จนทำให้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ที่วันนี้กลายเป็น “อดีต” ออกโรงเตือนการใช้แอปฯ Clubhouse ในการแสดงความคิดเห็น การให้ข้อมูลที่เข้าข่ายบิดเบือน สร้างความเสียหาย อาจนำไปสู่การกระทำความผิดทางกฎหมาย มีความผิดตามกฎหมาย ทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2563 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ภารกิจของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง จึงไม่เพียงแต่การแก้เกมสื่อสารทางการเมืองเท่านั้น ยังต้องพิทักษ์ปกป้อง “สถาบันเบื้องสูง” อย่างไรในสมรภูมิเทคโนโลยีที่ไปไกลเกินกว่า “ไอโอทหาร” จะตามทัน

กลายเป็นโจทย์ยากของ “รัฐทหาร 0.4” ในการรับมือกับ “ฝ่ายตรงข้าม 4.0”

อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า สิ่งเกิดขึ้นกับคลับเฮ้าส์มิใช่เป็นกรณีแรก หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ก็เคยมีแอปฯ ในทำนองนี้มาก่อน นั่นก็คือ   “Telegram” 

สำหรับคลับเฮ้าส์นั้น เวลานี้ถูกแบนในประเทศจีนเป็นที่เรียบร้อย เนื่องจากแอปฯ ดังกล่าวมีการเปิดห้องสนทนาพูดคุยกันในประเด็นอ่อนไหวทางการเมืองอย่างเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวัน และเรื่องค่ายกักกันในซินเจียง ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียมีท่าทีว่าจะแบน Clubhouse เพราะไม่ได้ลงทะเบียน ตามกฎระเบียบของอินโดนีเซียบังคับให้แพลตฟอร์มเทคโนโลยีใดๆ ต้องลงทะเบียนเป็นผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic System Operator : PSE) ในการขออนุญาตดำเนินการ อาจโดนแบนเพราะนำเสนอเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

ขณะที่อีกหนึ่งแอปพลิเคชั่นสะเทือนความมั่นคงระดับชาติที่โดนรัฐบาลนานาชาติแบนมากที่สุดอย่าง  “Telegram”  แอปฯ ส่งข้อความที่มีการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวสูง จุดเด่นคือมีการเข้ารหัสและการเก็บข้อมูลไว้บนคลาวด์

เป็นแอปฯ ยอดนิยมของบรรดาผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลในหลายประเทศ ที่ต้องการส่งข้อความลับในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล อาทิ ม็อบในฮ่องกง ช่วงปี 2562 – 2563 ยิ่งไปกว่านั้น ยังถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือหลักในการส่งต่อแผนและแนวทางการก่อวินาศกรรมของกลุ่มก่อการร้าย Islamic State หรือไอเอส

สำหรับประเทศไทย Telegram ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มเยาวชนปลดแอก ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 เป็นช่องทางกระจายข้อมูลข่าวสารการชุมนุมทางการเมือง จนทำให้รัฐบาลไทยสั่งระงับการใช้งานแอปฯ ดังกล่าวในเวลาต่อมา

แอปฯ Telegram กลายเป็นช่องทางสื่อสารสำคัญของม็อบต่อต้านรัฐบาล รวมทั้ง กลุ่มก่อการร้าย กลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ ทำให้รัฐบาลหลายประเทศได้สั่งแบน อาทิ อิหร่าน จีน บาห์เรน อินโดนีเซีย ปากีสถาน รัสเซีย อินเดีย ฯลฯ ด้วยเหตุผลถูกนำมาใช้ไม่เหมาะสมคุกความความมั่นคงในประเทศ

 สำหรับ Telegram ถูกแบนไปแล้วในหลายประเทศรวมทั้งไทยด้วย แต่ในส่วนของ Clubhouse ยังน่าติดตามว่าจะมีความเป็นไปเช่นไร โดยเฉพาะเมื่อถูกโยงประเด็นร้อนๆ ทั้งเรื่องการเมืองทั้งเรื่องสถาบัน ท้ายที่สุดจะเป็นเพียงแอปฯ ดาวรุ่งที่โดนรัฐสกัดร่วงหรือไม่? 


กำลังโหลดความคิดเห็น