xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อ้าแขนรับ “วัคซีนโควิด” “บิ๊กตู่” ไม่ปิดกั้นใครใคร่นำเข้า “หมอหนู” ฝันสิ้นปีบูมท่องเที่ยวไฮซีซั่นส์ทันแน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มาช้าแต่มาแล้วสำหรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากซิโนแวคของจีนนำร่อง 200,000 โดส ส่วนแอสต้าเซเนก้าของอังกฤษ 117,600 โดส ก็มาแล้วเช่นกัน โดย คาดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะประเดิมฉีดวัคซีนเอสตร้าเซเนก้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่น และย้ำไม่ปิดกั้นเอกชนนำเข้า “หมอหนู” เชื่อมั่นออเดอร์แอสตร้าเซเนก้า 61 ล้านโดส พร้อมฉีดให้ประชาชนคนไทยภายในสิ้นปีนี้รับบูมท่องเที่ยวไฮซีซั่นส์ทันแน่ 

ถึงจะมีเสียงบ่นกันขรมว่ารัฐบาลไทย จัดหาวัคซีนมาฉีดป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ล่าช้า และรอการผลิตวัคซีนของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ภายใต้ความร่วมมือของแอสตร้าเซเนก้าแห่งอังกฤษเป็นด้านหลักซึ่งต้องใช้เวลาและจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม แต่สุดท้ายวัคซีนก็มาแล้ว โดยเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ นำทีมรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากจีน ภายใต้สโลแกน “วัคซีนโควิด-19 คืนรอยยิ้มประเทศไทย” จำนวน 2 แสนโดส และในวันเดียวกัน แอสตร้าเซเนก้า ก็ส่งมอบวัคซีนจำนวน 117,600 โดส ซึ่งเป็นวัคซีนที่อยู่ในจำนวน 26 ล้านโดส ตามแผนการนำเข้าเป็นที่เรียบร้อย

ถ้าหากเป็นไปตามแผนเรียกความเชื่อมั่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นผู้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนที่สามารถฉีดได้ในผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะประเดิมฉีดวัคซีนของซิโนแวค เช่นเดียวกันกับผู้นำหลายประเทศทั่วโลกที่เป็นผู้รับฉีดวัคซีนเข็มแรกของประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่มีบางส่วนหวั่นวิตกจะผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

ในโอกาสที่เดินทางไปรับวัคซีนลอตแรก นายกรัฐมนตรี ยังบอกชัดเจนด้วยว่า ไม่ปิดกั้นเอกชนนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งตอนนี้มีการติดต่อเจรจาเพื่อนำวัคซีนเข้ามาเพิ่มมากขึ้น นั่นหมายความว่า โอกาสที่จะมีการนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยช่องทางอื่นเช่นก่อนหน้านี้ที่มีกระแสเรียกร้องจากโรงพยาบาลเอกชนขอนำเข้ามาฉีดให้กับลูกค้าที่มีอำนาจจ่าย หรือแม้แต่องค์การปกครองท้องถิ่น (อปท.) ที่ต้องการนำเข้ามาฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่เพื่อเรียกความเชื่อมั่นโดยเฉพาะหัวเมืองท่องเที่ยวหลัก ก็อาจได้รับการพิจารณา แต่การนำเข้ามาต้องผ่านกระบวนการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อ.ย.) และติดตามผลได้

 “....ได้ให้กระทรวงสาธารณสุข ประกาศออกไปว่าหากมีเอกชนรายใดสามารถที่จะนำวัคซีนเข้ามา ขอให้มีหลักฐานมาแสดงให้เห็น ยินดีจะให้ความร่วมมือในการดำเนินการฉีดให้แก่ประชาชนเพิ่มมากขึ้น วันนี้ไม่ได้ปิดกั้นใครทั้งสิ้น ....” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในวันที่วัคซีนซิโนแวคลอตแรกมาถึงประเทศไทย และย้ำต้องจัดหาเพิ่มเติมให้เพียงพอเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชนทั้งประเทศ เพราะการผลิตวัคซีนของไทยยังมีขีดความสามารถจำกัดอยู่ 

 อีกเรื่องที่นายกฯ ย้ำก็คือ “.... ผมไม่อยากให้สังคมมีความขัดแย้งกันอีกในเรื่องวัคซีน เราต้องมีความเป็นหนึ่งเดียวในการที่จะแก้ปัญหาประเทศของเรา .... “ เป็นการสื่อสารจากนายกรัฐมนตรีไปถึงกลุ่มก้าวหน้า พรรคก้าวไกล ที่ออกมาขย่มรัฐบาลเรื่องการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล่าช้าและไม่โปร่งใสเพื่ออุ่นเครื่องก่อนศึกอภิปรายครั้งล่าสุด 

วัคซีนซิโนแวค เป็นวัคซีนจากบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด บริษัทผู้ผลิตยาและชีวเภสัชภัณฑ์สัญชาติจีน ที่เชี่ยวชาญการวิจัย พัฒนา ผลิตและจำหน่ายวัคซีนป้องกันโรคระบาด เมื่อทำการส่งมอบให้รัฐบาลไทยแล้ว จะมีการจัดเก็บไว้ที่คลังสำรองวัคซีนโควิด-19 องค์การเภสัชกรรม (คลังศรีเพชร DKSH) ระดับอุณหภูมิที่ 2- 8 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกันวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า โดยบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด รับผิดชอบดูแลในการจัดเก็บ บรรจุ และกระจายวัคซีนภายใต้มาตรฐานสากล

สำหรับวัคซีนซิโนแวค รัฐบาลไทยสั่งซื้อลอตพิเศษจากรัฐบาลจีน โดย  นายหยาง ซิน อุปทูตรักษาการ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย  บอกว่า วัคซีนลอตแรกที่จีนส่งมายังไทยและจะตามมาอีกในลอตที่สองและสามนั้น เป็นวัคซีนชนิดแรกที่ประเทศไทยได้นำเข้าและไทยยังเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่นำเข้าวัคซีนจากจีนโดยช่องทางพาณิชย์ สะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายจีนได้ปฏิบัติอย่างจริงจังต่อคำมั่นสัญญาของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ว่าวัคซีนจีนจะต้องเป็นสินค้าสาธารณะทั่วโลก และยังสะท้อนความมุ่งมั่นของรัฐบาลจีนในการเร่งสร้างอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ รวมถึงมิตรภาพอันแนบแน่นระหว่างไทยและจีนที่มีมาช้านาน จีนยินดีที่จะร่วมมือกับฝ่ายไทยต่อไปเพื่อเอาชนะโควิด-19 และทำให้รอยยิ้มคืนสู่ประเทศไทยโดยเร็ว

ส่วนวัคซีนเอสตร้าเซเนก้านั้น  นพ.นคร เปรมศรี  ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เดิมแอสตร้าเซเนก้า กำหนดส่งมอบวัคซีนให้กรมควบคุมโรค ประมาณเดือนมิถุนายนปีนี้ โดยประเทศไทยจะได้รับวัคซีนที่ผลิตจากโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ จำนวน 61 ล้านโดส โดยการทยอยส่งมอบ แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ ทำให้ไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้วัคซีนเพื่อฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 และเพื่อใช้ป้องกันการเกิดอาการป่วยรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคสูง ทำให้ไทยได้รับวัคซีนเร็วกว่ากำหนดเดิม โดยวัคซีนที่ส่งมอบดังกล่าวมาจากสายการผลิตในระดับโลกของแอสตร้าเซเนก้า

วัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าได้รับการอนุมัติทะเบียนแบบมีเงื่อนไขเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินเพื่อการสร้างภูมิคุ้มกันในประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไปจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 ถือเป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดแรกที่ได้รับการอนุมัติทะเบียนแบบมีเงื่อนไขในประเทศไทย และยังได้รับอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก

 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ได้รับการรับรอง Emergency Use Listing (EUL) จากองค์การอนามัยโลก ซึ่ง EUL เป็นขั้นตอนในการประเมินวัคซีนในภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขโดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้สามารถใช้ผลิตภัณฑ์วัคซีนได้ในวงกว้าง เนื่องจากระบบควบคุมกำกับของบางประเทศอาจไม่มีความพร้อมและไม่มีมาตรฐานเพียงพอ จึงให้ใช้การอ้างอิงจาก EUL ได้ โดยการประเมินจะทำโดยผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก ซึ่งภายหลังจากมีการใช้วัคซีนในวงกว้างยังไม่พบการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากการใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแต่อย่างใด 

หลังพิธีรับวัคซีนซิโนแวคลอตแรกกันอย่างเอิกเกริก นายอนุทิน ชาญวีรกูล ย้ำอีกครั้งว่า รัฐบาลมีนโยบายฉีดวัคซีนให้กับทุกในประเทศไทยตามความสมัครใจเพื่อเสริมสร้างระบบป้องกันโรคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจำนวน 200,000 โดส ที่เข้ามาเป็นลอตแรก จากนั้นอีก 800,000 โดส จะเข้ามาในเดือนมีนาคม และอีก 1 ล้านโดส ในเดือนเมษายน 2564 รวมทั้งสิ้น 2 ล้านโดส

สำหรับแผนการฉีดวัคชีนโควิด-19 ระยะแรก จะฉีดให้กลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 ในเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2564 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและข้มงวด, พื้นที่ควบคุมสูงสุด, พื้นที่ควบคุม และพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมใน 18 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร, กรุงเทพมหานคร (ฝั่งตะวันตก), ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรปราการ, ตาก (แม่สอด), นครปฐม, สมุทรสงคราม, ราชบุรี, ชลบุรี, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย), เชียงใหม่, กระบี่, ระยอง, จันทบุรี, ตราด และเพชรบุรี

ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีน ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า, อสม., เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย, ประชาชนทั่วไป และแรงานที่มีอายุ 18-59 ปี เน้นผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วน โดยให้แพทย์เป็นผู้ประเมินและคัดเลือกจากฐานข้อมูลการเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล

นายอนุทิน ยังให้ความเชื่อมั่นว่า จะได้รับวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าอีก 61 ล้านโดส ฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายระยะที่ 2 ในเดือนมิถุนายน – ธันวาคม 2564 พร้อมกับตั้งเป้าหมายว่า หลังการปูพรมฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงแล้ว จะสามารถเปิดประเทศในปลายปี 2564 เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและปกป้องสุขภาพประชาชนได้

สำหรับการฉีดวัคซีนทั้งสองจะมีความแตกต่างกัน โดยวัคซีนของซิโนแวค เข็ม 1 กับเข็ม 2 ฉีดห่างกัน 2-4 สัปดาห์ โดยฉีดในกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุ 18-59 ปี ส่วนวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า เข็ม 1 เข็ม 2 จะฉีดห่างกัน 10-12 สัปดาห์ สามารถฉีดในคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ในกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่สีแดงและสีส้มรวม 9 จังหวัด เป็นการปิดช่องว่างในกลุ่มสูงอายุที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคไม่ได้ ซึ่งวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า จะฉีดให้ 5 หมื่นคนก่อน ส่วนที่เหลือเก็บเป็นเข็มสองเผื่อลอตสองเข้ามาไม่ทัน

 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน  โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยถึงแผนบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 พ.ศ. 2564 โดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขว่า วัคซีนโควิดซิโนแวค ที่นำเข้าจำนวน 2 ล้านโดส เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2564 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 200,000 โดส มีนาคม 2564 จำนวน 800,000 โดส, เมษายน 2564 จำนวน 1,000,000 โดส

ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จะเข้าประเทศไทย 2 รอบ รอบแรก 26 ล้านโดส เดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2564 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ มิถุนายน 2564 จำนวน 6,000,000 โดส, กรกฎาคม 2564 จำนวน 10,000,000 โดส, สิงหาคม 2564 จำนวน 10,000,000 โดส และรอบสอง จำนวน 35 ล้านโดส ระหว่างเดือนกันยายน – ธันวาคม 2564 แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้ กันยายน 2564 จำนวน 10,000,000 โดส, ตุลาคม 2564 จำนวน 10,000,000 โดส, พฤศจิกายน 2564 จำนวน 10,000,000 โดส และธันวาคม 2564 จำนวน 5,000,000 โดส

คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้วางเป้าหมายการฉีดวัคซีนโควิดไว้ 3 ลำดับ ลำดับแรกเพื่อลดอัตราการป่วยและตาย โดยจะฉีดให้ประชากรกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยรุนแรงและเสียชีวิตหากติดเชื้อในกลุ่มผู้สูงอายุเกินกว่า 60 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ลำดับสอง เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ จะฉีดให้กลุ่มบุคลการทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย และเป้าหมายลำดับสามเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม จะฉีดให้กลุ่มประชาชนทั่วไป แรงงานในภาคธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม




 ท่ามกลางบรรยากาศยินดีต้อนรับวัคซีนของประเทศไทย จู่ๆ ก็มีรายงานจากสื่อเดนมาร์ก เผยแพร่ข่าวโดยอ้างว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งข้อสงสัยตลาดนัดจตุจักร เป็นแหล่งแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนจะแพร่ไปยังอู่ฮั่น ประเทศจีน ทำให้ทาง WHO ออกมาระบุผ่านเว็บไซต์ ในวันพฤหัสบดี (24 กุมภาพันธ์) ว่า ได้รวบรวมคณะผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจการสืบหาต้นกำเนิดของไวรัสซึ่งก่อโรคโควิด-19 คณะผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย นักวิทยาศาสตร์อิสระ ซึ่งหนึ่งในนั้นได้ถูกสื่อยกคำพูดไปอ้างอิงอย่างไม่ถูกต้อง โดยกล่าวว่าประเทศไทยเป็นต้นกำเนิดของไวรัส WHO ยืนยันว่าขณะนี้ไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าต้นกำเนิดของไวรัสอยู่ในประเทศไทย และบทความที่มีข้อความบิดเบือนดังกล่าวได้รับการแก้ไขแล้ว  

ขณะที่ประเทศไทย หวั่นเกรงว่าวัคซีนโควิด-19 ที่จัดหาได้ล่าช้าจะทำให้สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ฟื้นตัวได้ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน หันไปมองประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ประชาชนญี่ปุ่นกลับลังเลที่จะรับฉีดวัคซีนด้วยเหตุกลัวว่าจะส่งผลข้างเคียง

รัฐบาลญี่ปุ่นได้รับวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์สำหรับฉีดให้ประชาชนเกือบ 420,000 คนแล้ว และบุคลากรทางการแพทย์ได้ทยอยเข้ารับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก ถัดจากนั้นในเดือนมีนาคม บรรดาผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวจะเข้ารับวัคซีน เป็นกลุ่มต่อมา โดยรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนให้ได้ราวร้อยละ 80 ของประชากรทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่สำหรับโรคโควิด-19

 อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจของสำนักข่าวเกียวโด เมื่อวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กลับพบว่า ประชาชนที่สุ่มสำรวจร้อยละ 63.1 ยินดีที่จะรับการฉีดวัคซีน แต่อีกร้อยละ 27.4 ระบุว่าจะไม่รับวัคซีน โดยกลุ่มผู้หญิงวัย 40-50 ปีเป็นกลุ่มที่ปฏิเสธการรับวัคซีนมากที่สุด 
ผลการสำรวจอีกชิ้นหนึ่งโดยบริษัทวิจัย Ipsos พบว่า ญี่ปุ่นรั้งท้ายในอันดับที่ 4 ในเรื่องความเต็มใจของประชาชนที่จะรับวัคซีน โดยประเทศที่ประชาชนลังเลที่จะฉีดวัคซีนมากที่สุด คือ รัสเซีย ฝรั่งเศส แอฟริกาใต้ และญี่ปุ่น

ผลสำรวจ พบว่า ชาวญี่ปุ่นเพียงร้อยละ 19 เต็มใจอย่างยิ่งที่จะรับวัคซีน และร้อยละ 26 จะรับวัคซีนในทันทีที่พร้อม ส่วนประชาชนส่วนใหญ่ยังบอกว่าขอรอดูสถานการณ์ก่อน โดยเหตุผลสำคัญคือกังวลผลข้างเคียงจากวัคซีน ซึ่งการรับหรือปฏิเสธวัคซีนแตกต่างกันตามเพศและอายุ ผู้ชายอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นกลุ่มที่เต็มใจรับวัคซีนสูงที่สุดถึงร้อยละ 72 ขณะที่กลุ่มผู้หญิงวัย 40-50 ปีเป็นกลุ่มที่ปฏิเสธการรับวัคซีนมากที่สุดถึงร้อยละ 40.9

ญี่ปุ่นสั่งซื้อวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์และโมเดิร์นนาของสหรัฐที่มีประสิทธิภาพ 95% และวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกาของอังกฤษที่มีประสิทธิภาพ 70% คาดว่าประชาชนทั่วไปจะได้รับวัคซีนในเดือนพฤษภาคม เป็นต้นไป

ญี่ปุ่นเคยมีประวัติผลข้างเคียงจากวัคซีนหลายกรณี ที่ทำให้รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพมาจนถึงทุกวันนี้ วัคซีนโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) ถูกเพิกถอนการใช้งานในปี 2536 จากความกังวลว่าอาจทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ในปี 2554 วัคซีน 2 ตัวสำหรับเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และปอดบวม ถูกระงับการใช้หลังจากทำให้เด็ก 4 คนเสียชีวิต

ในปี 2556 กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น ระงับการส่งเสริมการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หลังพบว่ามีผลข้างเคียง เช่น อาการปวดเรื้อรัง ทั้ง ๆ ที่วัคซีนชนิดนี้ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกว่าปลอดภัย และยังตั้งเป้าให้เด็กหญิงทั่วโลกร้อยละ 90 ได้รับวัคซีนนี้ก่อนอายุ 15 ปีในช่วงทศวรรษ 2020-2030

ประสบการณ์ผลกระทบจากวัคซีนในอดีต และทัศนะของชาวญี่ปุ่นที่ระแวดระวังต่อการใช้ยาต่าง ๆ อยู่แล้ว ทำให้การการสร้างความมั่นใจให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะถึงแม้จะมีวัคซีนมากมาย แต่หากจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนมีไม่มากเพียงพอ ประสิทธิภาพในการป้องกันการระบาดก็จะไม่เกิดขึ้นได้

เวลานี้ทั่วโลก พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้วมากกว่า 112 ล้านราย และเสียชีวิตแล้วกว่า 2.5 ล้านราย ขณะที่รัฐบาลชาติต่างๆ กำลังแย่งชิงกันเพื่อเข้าถึงวัคซีนตัวใดก็ตามที่มีประสิทธิภาพต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

 ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก ( WHO) ระบุว่า จนถึง ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 อยู่ 3 ชนิด คือ วัคซีนชนิด mRNA, ไวรัสเวคเตอร์ และวัคซีนเชื้อตาย ที่พัฒนาโดย 7 บริษัท ได้แก่ บริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค, โมเดอร์นา, ออกซ์ฟอร์ด/แอสตราเซเนกา, สปุตนิก วี, ซิโนฟาร์ม, ซิโนแวค และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซึ่งได้รับการอนุมัติให้ฉีดกับประชาชนในหลายประเทศแล้ว 

ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) เปิดเผยรายงาน ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ว่า ขณะนี้มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ถูกส่งไปยังประเทศต่างๆ แล้วจำนวน 82,114,370 โดส และมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 65,032,083 โดส โดยประเทศที่มีการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนแล้วอย่างน้อย 1 โดส จนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 เช่น สหรัฐอเมริกา ฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว 44.54 ล้านคน, สหราชอาณาจักร 17.92 ล้านคน, ตุรกี 6.11 ล้านคน, บราซิล 6 ล้านคน, อิสราเอล 4.54 ล้านคน, เยอรมนี 3.52 ล้านคน, ชิลี 3.04 ล้านคน, ฝรั่งเศส 2.6 ล้านคน และอินโดนีเซีย 1.27 ล้านคน

 เมื่อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ถูกแจกจ่ายและฉีดให้กับประชากรโลกส่วนใหญ่แล้ว จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับชนชาวโลก และเมื่อนั้นน่านฟ้าจะเปิดกว้าง ความหวังฟื้นเศรษฐกิจ ฟื้นชีวิตคืนสู่ปกติสุขจะกลับมาอีกครั้ง 



กำลังโหลดความคิดเห็น