xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

การเรียนภาษาจีนในสมัยก่อน (2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ : ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล


ตั้งแต่ชั้น ป.เตรียมจนถึง ป.สี่ เป็นเวลาห้าปีที่ผมเรียนที่  โรงเรียนจ้องฮั้ว นั้น ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีและน่าประทับใจช่วงหนึ่งของชีวิต เพราะถึงแม้จะยังเด็ก แต่ผมก็จำเรื่องราวหลายเรื่องในโรงเรียนได้ดีจนทุกวันนี้

 เรื่องหนึ่งที่จำได้คือ ผมรู้สึกว่าพวกเราเรียนวิชาที่เป็นภาษาจีนที่สอนโดยครูจีนพอๆ กับวิชาที่เป็นภาษาไทยที่สอนโดยครูไทย หรือบางทีอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ แต่สัดส่วนการสอนที่ว่านี้ถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายในขณะนั้น เพราะสอนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 

ที่ผมรู้เรื่องนี้ก็เพราะว่า มีอยู่ปีหนึ่งจู่ๆ ทางโรงเรียนก็แจ้งว่า วันนั้นเวลานี้ ครูจีนที่สอนวิชานั้นๆ จะงดสอน โดยจะแทนด้วยวิชาที่สอนโดยครูไทย พวกเราแม้จะฟังรู้เรื่อง แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเป็นเฉพาะวันนั้น จะว่าครูจีนเจ้าของวิชาไปทำธุระนอกสถานที่ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็น่าจะให้ครูจีนท่านอื่นมาสอนแทนก็ได้ ซึ่งการสอนแทนในลักษณะนี้ก็เคยกันทำมาก่อนแล้ว

พอวันนั้นมาถึงพวกเราก็ถึงบางอ้อ...

เพราะวันนั้นมีคนแต่งชุดข้าราชการมาที่โรงเรียน การมีข้าราชการมาที่โรงเรียนเช่นนี้เป็นเรื่องที่แปลกตาสำหรับพวกเรา เพราะโรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนเอกชน การมีข้าราชการมาที่โรงเรียนแสดงว่าต้องมีอะไรแน่ๆ

กล่าวคือ วันนั้นเป็นวันที่ทางศึกษาธิการจังหวัดได้ส่งข้าราชการมาตรวจโรงเรียน คือมาตรวจว่า ทางโรงเรียนมีสัดส่วนการเรียนการสอนภาษาจีนกับภาษาไทยอย่างไร เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ กฎหมายนี้มาจากนโยบายควบคุมการเรียนการสอนภาษาจีนไม่ให้มีสัดส่วนมากกว่าภาษาไทย

ผมจำได้ว่า ตลอดเวลาห้าปีที่ผมเรียนที่โรงเรียนนี้นั้น ผมรู้สึกว่าผมได้เรียนวิชาที่เป็นภาษาจีนมากกว่าวิชาที่เป็นภาษาไทย ซึ่งแสดงว่าโรงเรียนของพวกเราฝืนกฎหมาย ครั้นพอถึงวันที่โรงเรียนจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ ทางโรงเรียนจึงงดสอนวิชาที่เป็นภาษาจีนแล้วให้สอนวิชาที่เป็นภาษาไทยแทน

ตอนนั้นพวกเรายังเด็กเกินกว่าที่จะเข้าใจ เช่น ไม่เข้าใจว่าทำไม่ไม่ให้ครูจีนท่านอื่นมาสอนแทนครูจีนเจ้าของวิชาดังที่ผมได้กล่าวไปแล้วข้างต้น หรือไม่เข้าใจว่าเมื่อถึงวันที่มีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่มาที่โรงเรียนนั้น ทำไมครูจีนจำนวนหนึ่งจึงหายไปจากโรงเรียน

 เมื่อโตขึ้นผมจึงเข้าใจว่า ที่ให้ครูไทยมาสอนแทนครูจีนก็ดี หรือการที่ครูจีนหายไปจำนวนหนึ่งก็ดี เป็นเพราะต้องการให้เจ้าหน้าที่ที่มาตรวจสอบได้เห็นว่า สัดส่วนการเรียนในสองภาษาเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และครูจีนก็ไม่ได้มีมากไปกว่าครูไทย (เพราะได้หลบออกไปจากโรงเรียนชั่วคราวแล้ว) 

นอกจากข้อจำกัดดังกล่าวแล้ว ตำราก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งเช่นกัน

ตำราที่โรงเรียนใช้สอนนั้น เป็นตำราที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซีย ตำรานี้เป็นภาษาจีนล้วน ไม่มีภาษาอื่นมาปะปน ดังนั้น แต่ละบทในตำราจึงมีจำนวนคำของภาษาจีนมากมาย ยิ่งชั้นเรียนที่สูงขึ้นจำนวนคำก็จะยิ่งมากขึ้น

จากลักษณะตำราดังกล่าวทำให้ครูผู้สอนสอนโดยการอ่านตัวบทให้นักเรียนฟัง ขณะที่อ่านไปอยู่นั้น หากสะดุดคำใดที่เป็นศัพท์ใหม่ที่นักเรียนไม่เคยรู้มาก่อน ครูก็จะเขียนสัญลักษณ์แทนคำอ่านคำนั้นบนกระดานให้นักเรียนคัดลอกเสียงอ่านนั้นลงในตำราของตน

 สัญลักษณ์ที่ใช้ในเวลานั้นเรียกว่า จู้อินฝูเฮ่า 

เมื่อบอกคำอ่านแล้ว ครูก็จะอธิบายความหมายของศัพท์คำนั้นให้นักเรียนได้เข้าใจ จนเมื่ออ่านจนจบบทแล้ว ครูก็จะอธิบายเนื้อหาโดยสรุปให้นักเรียนฟังอีกครั้งหนึ่ง เนื้อหาในแต่ละบทจะแตกต่างกันไป แต่จะแตกต่างกันอย่างไรนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับว่าตำรานั้นอยู่ในชั้นเรียนใด ยิ่งชั้นเรียนที่สูงขึ้น ความแตกต่างก็ยิ่งเห็นชัดขึ้น

เช่น ตอนที่เรียนชั้น ป.หนึ่งหรือสอง ตำราจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่ก็นิทานขนาดสั้น แต่พอชั้น ป.สี่ ตำราจะมีนิทาน สารคดี เรื่องเล่าชีวิตผู้คนที่สมมติขึ้นมา ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

ตอนที่เรียนนั้น พวกเราเด็กๆ ไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรเกี่ยวกับความยากง่ายของตำรา คือจะเข้าใจว่าแต่ละบทของตำราย่อมมีศัพท์ให้ต้องท่องจำเป็นธรรมดา โดยหารู้ไม่ว่าตำราที่เรียนอยู่นั้น ที่จริงแล้วเป็นตำราที่ผิดกฎหมาย เพราะมิใช่ตำราของกระทรวงศึกษาฯ หรือที่กระทรวงศึกษาฯ รับรอง แต่หากกล่าวในแง่คุณภาพแล้ว ตำราของเพื่อนบ้านจะดีกว่า แต่ยากกว่า

ผมเคยเห็นตำราของกระทรวงศึกษาฯ ตอนที่ผมเรียนอยู่ชั้น ป.สี่ โดยไปเห็นของเพื่อนรุ่นน้องที่เรียนอยู่ชั้น ป.สอง ตำรานั้นมีภาษาไทยประกอบเป็นคำอธิบาย และแต่ละบทจะมีภาษาจีนอยู่เพียงไม่กี่คำ พอเห็นแล้วก็รู้สึกว่า ตำราที่ผมใช้อยู่ยากกว่ามากมายหลายเท่า แต่ก็ทำให้รู้ไปด้วยว่า ตอนนั้นทางโรงเรียนเริ่มนำตำราของกระทรวงศึกษาฯ มาใช้สอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว แต่ใช้โดยวิธีให้ไล่เรียนตั้งแต่ชั้น ป.เตรียมก่อน

เมื่อชั้น ป.เตรียมรุ่นนั้นก้าวขึ้นชั้น ป.หนึ่งก็ใช้ตำราของกระทรวงฯ แล้วไล่เรียนเช่นนี้เรื่อยไปถึงชั้น ป.สี่ รุ่นหลังๆ ที่ตามมาก็เรียนเช่นนี้โดยตลอด ส่วนรุ่นที่เรียนตำราที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างผมก็จะค่อยๆ หดหายไป จนถูกแทนที่ด้วยตำราของกระทรวงฯ ในที่สุด

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ตำราที่ผมใช้เรียนนั้นยากกว่าตำราของกระทรวงฯ มากนัก ตอนที่เห็นตำราของกระทรวงนั้น ผมพลิกดูปราดเดียวก็รู้เรื่องหมดแล้ว ถ้าให้ผมย้อนกลับไปเรียนอีกครั้งหนึ่ง รับรองว่าผมสอบได้ที่หนึ่งแน่ๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อครูอธิบายเนื้อหาในตำราแล้ว ครูก็จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างต่อไปนี้คือ ให้นักเรียนทั้งชั้นอ่านบทนั้นตั้งแต่ต้นจนจบ หรือชี้ให้นักเรียนคนใดคนหนึ่งออกมาอ่านหน้าชั้น อย่างหลังนี้ครูจะใช้วิธีชี้เอา วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้ผลกว่าวิธีแรก เพราะจะได้รู้ว่านักเรียนอ่านออกเสียงถูกหรือไม่

แต่ข้อเสียคือ ไม่สามารถทำได้ครบทุกคนเพราะมีเวลาสอนที่จำกัด

แม้ผมจะเห็นว่า ตำราที่ผมเรียนสมัยเด็กจะยากกว่าตำราของกระทรวงก็ตาม แต่เมื่อมาคิดดูอีกทีก็พบว่า ตำราที่ผมเรียนก็ดี หรือวิธีที่ครูสอนก็ดี ล้วนเหมาะที่จะใช้กับเด็กนักเรียนที่เป็นลูกจีน และต้องเป็นลูกจีนที่ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาที่หนึ่งในครอบครัวด้วย คือเวลาอยู่ที่บ้านจะไม่ใช้ภาษาไทยในการสื่อสารหรือใช้น้อยมาก แต่จะใช้ภาษาจีนเป็นหลัก โดยเฉพาะกับพ่อแม่ที่พูดภาษาไทยไม่ได้หรือพูดได้ไม่ดี

 ทั้งนี้โดยละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า ภาษาจีนที่เป็นภาษาที่หนึ่งนี้มิใช่ภาษาจีนกลาง แต่เป็นภาษาจีนถิ่น จะเป็นถิ่นไหนก็ขึ้นอยู่กับภูมิหลังของบุพการีว่ามาจากถิ่นไหนในจีน ซึ่งก็คือมาจากมณฑลกวางต่ง (กวางตุ้ง) ฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) หรือไห่หนัน (ไหหลำ) ซึ่งเป็นถิ่นที่มาของภาษาพูดห้าสำเนียงคือ จีนแต้จิ๋ว จีนฮกเกี้ยน จีนกวางตุ้ง จีนแคะหรือฮากกา และจีนไหหลำ 

การมีภูมิหลังเป็นจีนแล้วใช้ภาษาจีนเป็นภาษาที่หนึ่งในครอบครัวนี้ ทำให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาในตำราได้ง่าย แต่ตำราเหล่านี้จะไม่เหมาะกับนักเรียนที่ไม่มีภูมิหลังเช่นว่า คือถ้าเด็กไทยมาเรียนและใช้ตำราที่ว่าแล้วก็จะนับว่ายากและติดข้างจะเป็นทุกข์ไม่น้อย เพราะต้องมาฟังครูสอนเป็นภาษาจีนโดยที่ตนแทบไม่เข้าใจอะไรเลย

เพราะฉะนั้นแล้วผมจึงไม่เข้าใจว่า ทำไมจึงมีเด็กไทยมาเรียนด้วย เพราะเรียนยังไงๆ ก็เรียนได้ไม่ดี แถมยังเสียเปรียบนักเรียนที่เป็นลูกจีนอีกด้วย และที่ไม่เข้าใจเลยก็คือ มีเด็กมุสลิมมาเรียนด้วย ซึ่งก็ยิ่งทุกข์หนัก เพราะมุสลิมพูดภาษายาวีเป็นภาษาที่หนึ่งในครอบครัว ครั้นมาเรียนภาษาจีนก็ยิ่งเข้าใจยากและเป็นทุกข์

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ผมเรียนจบชั้น ป.สี่แล้ว ทางบ้านก็หาที่เรียนภาษาจีนให้ผมใหม่ ซึ่งก็คือ การเรียนพิเศษหลังเลิกเรียนจากโรงเรียน เวลานั้นมีครูจีนที่รับสอนภาษาจีนในตอนเย็นหรือค่ำอยู่ไม่กี่ท่าน ทางบ้านหาครูให้ผมได้เรียนอยู่ปีสองปีแล้วมาลงตัวที่ครูท่านหนึ่งซึ่งเป็นจีนแคะหรือฮากกา ครูท่านนี้คือ  ครูหลี่ แต่เป็นคนละ หลี่กับที่โรงเรียนที่ผมเรียนและได้เอ่ยชื่อไปก่อนหน้านี้แล้ว

ครูหลี่มีนักเรียนมาเรียนพิเศษอยู่สิบกว่าคน เวลาสอนจะนั่งสอนและมีวิธีสอนไม่ต่างกับครูที่สอนในโรงเรียน เวลามีคำศัพท์ใหม่ก็จะหันหลังเอียงๆ ไปทางกระดานทั้งที่นั่งอยู่ แล้วเขียนสัญลักษณ์คำอ่านลงบนกระดาน พวกเราที่เป็นนักเรียนก็จดตาม
ส่วนตำราที่ใช้เรียนก็ยากขึ้น ในหนึ่งบทจะมีตัวอักษรนับร้อยตัว เนื้อหาก็ยากขึ้นและหลากหลายมากขึ้น เช่น มีเรื่องสั้นของหลู่ซวิ่น (ค.ศ.1881-1936) นักคิดนักเขียนในยุคสมัยใหม่ของจีน หรือชีวิตและงานของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (ค.ศ.1879-1955) เป็นต้น
ผมเรียนพิเศษอยู่หลายปี ตอนที่เริ่มเรียนผมอยู่ชั้น ป.หก และเลิกเรียนตอนที่จบชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 2 หรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า ม.ศ.สอง ที่เลิกเรียนก็เพราะตอนที่ปิดภาคเรียนฤดูร้อนของปีนั้น พ่อซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวได้ลาจากโลกไป ผมและพี่น้องจึงต้องช่วยกันทำมาหากิน จนทำให้ผมต้องหยุดเรียนภาษาจีนไปด้วยอย่างน่าเสียดาย

 ฤดูร้อนปีนั้นคือต้นปี 2516 พอถึงเดือนตุลาคมปีเดียวกันก็เกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองขึ้นในไทย  


กำลังโหลดความคิดเห็น