xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช (7) : “หรวด” ของอาจารย์ชัยอนันต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร 
ท่านผู้อ่านที่ไม่รู้จักอาจารย์ชัยอนันต์ และสงสัยว่า ทำไมผมต้องเขียนเรื่องอาจารย์ชัยอนันต์ คำตอบมีหลากหลายมาก จะขอเรียบเรียงดังนี้นะครับ ตอนสมัยมัธยมปลาย (พ.ศ. 2518-2519) ผมเริ่มสนใจจะเรียนรัฐศาสตร์ ด้วยเหตุผลสองประการคือ เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ส่งอิทธิพลให้ผมสนใจการเมือง และคุณแม่ผมก็ไปลงเล่นการเมืองท้องถิ่น (สมาชิกสภาเขตปทุมวัน สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ กรุงเทพมหานคร)

และในช่วงนี้เองที่ประชาธิปไตยเบิกบาน คุณแม่ผมก็ชอบเอาเอกสารหนังสือที่เป็นความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับประชาธิปไตย รัฐสภามา รวมทั้งเทปคาสเซทที่บันทึกคำบรรยายของนักการเมืองที่ทรงความรู้ของพรรคประชาธิปัตย์มาฟังที่บ้าน ผมก็เลยพลอยสนอกสนใจไปด้วย (ได้ฟังคำบรรยายของอาจารย์ ไชยวัฒน์ ไตรยสุนันท์ เป็นต้น) และเลยเถิดไปถึงขนาดไปร้านหนังสือแถวสยามสแควร์ ซึ่งมีร้านดีๆ เช่น ดวงกมล โอเดียนสโตร์ ฯ และผมก็ได้เห็นหนังสือหลายเล่มที่เขียนโดยคนชื่อ “ชัยอนันต์ สมุทวนิช” พลิกๆดู ก็อ่านรู้เรื่องอยู่ คนเขียนเขียนให้อ่านไม่ยาก ก็เลยประทับใจ และสงสัยใคร่รู้ว่า “ชัยอนันต์ สมุทวนิช”  เป็นใคร ?

ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 มีรุ่นพี่โรงเรียนผมมีบทบาทสำคัญ เช่น ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กนก วงศ์ตระหง่าน บวร ยสินทร อภัยชนม์ วัชรสินธุ์ ฯ ทางโรงเรียนได้เชิญรุ่นพี่มาคุยที่หอประชุมให้พวกนักเรียนรุ่นหลังได้ฟัง ผมก็ประทับใจ อยากจะมีบทบาทอย่างพี่ๆ เขา เพราะน่าภาคภูมิใจที่ร่วมกันเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง
 
การที่คุณแม่เข้าไปเล่นการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ จำได้ว่ามีนักการเมืองหลายท่านมาที่บ้าน เช่น ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ดร. เจริญ คันธวงศ์ คุณดำรง ลัทธพิพัฒน์  ฯ ท่านเหล่านี้มีบุคลิกที่โดดเด่นน่าประทับใจมาก ทั้งการพูดจา อัธยาศัยและความรู้วิชาการและปัญหาของบ้านเมือง ทำให้ผมแอบนึกใฝ่ฝันเป็นนักการเมืองกับเขาอยู่เหมือนกัน 
 
ในช่วงปี พ.ศ. 2519 ผมได้มีโอกาสไปร่วมสร้างห้องสมุด อันเป็นกิจกรรมของค่ายอาสาพัฒนาของโรงเรียน โดยเดินทางไปหมู่บ้านเลิงแสง ตำบลกุดขอนแก่น อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ไปอยู่ที่นั่นเป็นเดือน และจากประสบการณ์ชนบทในหมู่บ้านเลิงแสงที่ไม่มีไฟฟ้า ประปา ไม่มีถนนเข้าหมู่บ้านและชาวบ้านที่น่ารักจิตใจดี ทำให้ผมเบนเข็มอนาคต โดยต้องการจะเรียนรัฐศาสตร์เพื่อจบออกมาแล้วสมัครสอบเป็นปลัดอำเภอ โดยหวังว่าจะได้ไปช่วยชาวบ้าน (คิดตามวัยขณะนั้น) และที่ๆจะไปเรียนคือ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เพราะอยู่ใกล้บ้าน (บ้านผมอยู่สะพานเหลือง หลังสถานีตำรวจปทุมวันขณะนั้น)

และจากการตั้งใจจะไปเรียนรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ทำให้ผมจำได้ว่า ปกหลังหนังสือเกี่ยวกับการเมืองและประชาธิปไตยที่เขียนโดย  “ชัยอนันต์ สมุทวนิช” มีข้อมูลว่า ชัยอนันต์ สมุทวนิช เป็นศาสตราจารย์สอนอยู่ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ทำให้ผมตื่นเต้นและหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะสอบเข้าได้ 
 
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า อาจารย์ชัยอนันต์อยู่ในการรับรู้ของผมมาตั้งแต่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย และหลังจากที่ได้เข้าไปแล้ว ก็ใจจดใจจ่อจะเรียนกับท่าน และคุณแม่ผม (ซึ่งไม่รู้จักอาจารย์ชัยอนันต์เป็นการส่วนตัว) ก็บอกผมว่า อาจารย์ชัยอนันต์เป็นคนเก่ง (ไม่รู้แม่ไปฟังจากที่ไหนมา ?)

อาจารย์ชัยอนันต์ และ อาคารสำราญราษฏร์บริรักษ์ที่มีห้องทำงานของท่าน
และหลังจากที่ได้เข้ารัฐศาสตร์ จุฬาฯแล้ว ผมก็ได้เรียนกับท่าน และได้รับรู้การมีส่วนร่วมทางการเมืองของท่าน ท่านไม่ชอบรัฐประหารและไม่ชอบให้ทหารแทรกแซงการเมือง และท่านก็เป็นเช่นนี้มาโดยตลอด ไว้มีโอกาสจะค่อยๆ เล่าให้ฟัง

เอาเป็นว่า สำหรับผม อาจารย์เป็นบุคลาธิษฐานทั้งทางวิชาการและทางการเมือง ขนาดเวลาผมไปเรียนต่อปริญญาโท ก็เลือกที่จะไปเรียนที่เดียวกับที่ท่านจบมา

ก่อนจะเล่าเรื่อ “หรวด สุพรรณเภสัช ของอาจารย์ชัยอนันต์”  ผมขอเล่าประสบการณ์การไปทำค่ายอาสาพัฒนาไว้สักหน่อย เพราะมีส่วนเชื่อมโยงกับเรื่อง “หรวดของอาจารย์ชัยอนันต์” อยู่บ้าง 
การไปค่ายฯ ทำให้ผมได้รู้จักและใช้ชีวิตกิน นอน กับนักเรียนต่างรุ่น ทำให้ผมได้สนิทสนมหรือรู้จักกับรุ่นพี่และรุ่นน้องที่ห่างกัน จริงๆ แล้ว แม้ห่างกันปีเดียว ก็ไม่ค่อยจะรู้จักกันอยู่แล้ว แต่นักเรียนที่ไปค่ายฯ มีหลายรุ่นมาก และมีที่เคยไปค่ายฯ และกลับมาเยี่ยมค่ายฯ ปัจจุบัน การไปค่ายฯ ครั้งนั้น ทำให้ผมได้รู้จักรุ่นน้องหลายรุ่นที่ชื่อ  จอบ หรือ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รุ่นพี่ที่มาเยี่ยมค่ายที่ชื่อ  พจนา จันทรสันติ ไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์ (พระไพศาล วิสาโล) 

 แต่การรู้จักสนิทสนมกันเพียงเดือนเดียว แม้ว่าจะมีความสำคัญยิ่ง แต่ก็คงเทียบไม่ได้กับนักเรียนวชิราวุธอย่างอาจารย์ชัยอนันต์และพิสิตถ์ศักดิ์ สุพรรณเภสัช (รุ่นพี่อาจารย์ชัยอนันต์ปีหนึ่ง) ที่รู้เห็นหน้ากันตั้งแต่เด็ก และมาสนิทกันตอนโตขึ้นมาหน่อย จากการที่ทั้งสองเป็นนักเรียนคณะเดียวกัน นั่นคือ คณะพญาไท และสนิทกันมากขนาดอาจารย์ชัยอนันต์เรียกรุ่นพี่อย่างหรวดว่า  “ไอ้หรวด” 

ที่โรงเรียนผมก็ไม่นิยมเรียกรุ่นพี่ว่า พี่ แต่จะเรียกชื่อเฉยๆ แต่ถ้าสนิทกัน แน่นอนว่า จะขึ้นต้นด้วย ไอ้ หรือมีคำตามไอ้อย่างสนิทปาก รุ่นพี่ผมหนึ่งปี ผมไม่เคยเรียกใครว่า ไอ้ เลย ยกเว้นคนเดียวที่ผมบังเอิญเกิดไปสนิทด้วย มันก็เลยเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาด เพราะไม่นานมานี้ ผมได้ไปร่วมงานเลี้ยงกับรุ่นพี่หนึ่งปี ในขณะที่ผมเรียกคนอื่นๆว่า พี่ แต่พอหันมาเจอรุ่นพี่คนนั้น ก็จะเรียก “ไอ้นะ” ทันที (ธนะ)

 รุ่นนี้มี “นะ” ที่โดดเด่นอยู่สองคนในสายตาผม หนึ่งคือ ไอ้นะ สอง คือ สันธนะ ประยูรรัตน์ 

อาจารย์ชัยอนันต์เล่าเรื่อง “ไอ้หรวด” ไว้เยอะ และอาจจะเยอะกว่าที่เล่า หากไม่เกิดเหตุเสียก่อน ท่านผู้อ่านที่ติดตามข้อเขียนนี้ คงจำได้ว่า อาจารย์ชัยอนันต์มีเพื่อนนามสกุล “สุพรรณเภสัช”  ถึงสามคน คนโตคือ หรวด คนรองคือ แป๊ด (พ.ต.อ. ประจักษ์ศิลป์) และป๋อม (พล.ต.อ. อชิรวิทย์) และมีคนสงสัยว่า ในเมื่อน้องชายสองคนชื่อ แป๊ดและป๋อม เหตุไฉนพี่ชายดันชื่อ “หรวด” ?

 สาเหตุที่พิสิตถ์ศักดิ์ชื่อ “หรวด” เพราะคุณพ่อเขาเป็นตำรวจ และคาดว่าเมื่อเพื่อนๆ รู้ว่ามีพ่อเป็นตำรวจก็เลยเรียกเขาว่า “หรวด” ตามอาชีพของพ่อโดยปริยาย ทำให้สงสัยว่า เพื่อนคนอื่นๆของอาจารย์ชัยอนันต์ไม่มีพ่อเป็นตำรวจอีกแล้วหรือ นอกจากพิสิตถ์ศักดิ์ ? ถ้ามี แล้วทำไมเจาะจงเรียกเขาว่า “หรวด” อยู่คนเดียว เพราะตัวอาจารย์ชัยอนันต์เองก็มีพ่อเป็นตำรวจด้วยเหมือนกัน ??!! น่าสงสัยจริงๆว่า ในบรรดานักเรียนวชิราวุธ ใคร ? เป็นคนตั้งชื่อเล่นให้พิสิตถ์ศักดิ์ว่า “หรวด” 

และเมื่อน้องๆ ของหรวด อย่างแป๊ดและป๋อมเข้าวชิราวุธ ทำไมไม่เรียก “หรวด” ด้วย เช่น “หรวดน้อย” “หรวดเล็ก” เป็นต้น เพราะอย่างที่โรงเรียนผม วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ถูกเพื่อนๆ ตั้งชื่อเล่นให้ว่า จอบ” น้องชายของเขาก็กลายเป็น “จอบน้อย” ไปโดยปริยาย และบรรดาพี่สาวของวันชัย ก็ถูกเรียกว่า “จอบ" ไปด้วย โดยพ่วงเพศสภาพตามเข้าไป เช่น “จอบหญิง” (ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์) และรวมไปถึง  วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์  ที่มีชื่อเล่นจริงๆ ว่า “มด” แต่ด้วยอิทธิพลจากโรงเรียนอัสสัมฯ ก็ทำให้เธอต้องเป็น “จอบหญิง” ไปด้วย แต่จะต้องมีกำกับไว้ไม่ให้สับสันกับลัดดาวัลย์ นั่นคือ จอบหญิง-มดหรือจอบหญิงวนิดา และจอบหญิง-ลัดดาวัลย์ 

ในกรณีของพิสิตถ์ศักดิ์ที่ถูกเพื่อนวชิราวุธตั้งชื่อให้ว่า “หรวด” เพราะมีคุณพ่อเป็นตำรวจ ถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตที่ผมได้ยินการตั้งชื่อแบบนี้ เพราะที่ผ่านมา จะได้ยินการตั้งชื่อเพื่อนว่า “หมอ” หรือ “ไอ้หมอ”  เพราะมีพ่อมีอาชีพเป็นหมอ แล้วก็นึกไม่ออกแล้วว่า จะมีชื่อเล่นอะไรอีกที่ตั้งขึ้นตามอาชีพของบิดา

และก็น่าแปลกที่ทำไมไม่ตั้งชื่อเล่นเพื่อนที่พ่อเป็นทหารว่า  “หารหรือไอ้หาร”  แต่ที่แน่ๆคือ เพื่อนคนไหนที่ถูกเพื่อนเรียกบ่อยๆ ว่า   “ไอ้ห่า” คงไม่เกี่ยวกับอาชีพของบิดา เพราะยังนึกไม่ออกว่าอาชีพห่านั้นเป็นยังไง ???!!! แต่น่าจะเกี่ยวกับความน่ารักของเจ้าตัวโดยตรงมากกว่า

เรื่องพ่อเพื่อนนี้ เป็นเรื่องปกติที่เพื่อนๆ นักเรียนด้วยกันจะสนใจและกล่าวถึง โดยเฉพาะการเอาชื่อพ่อมาเรียกเป็นชื่อเพื่อน นอกเหนือไปจากการเอาอาชีพพ่อมาตั้งชื่อเล่นเพื่อนแล้ว อาจารย์ชัยอนันต์ก็เป็นหนึ่งในนักเรียนปกติเหล่านั้น อาจารย์ได้เล่าต่ออีกว่า พ่อของหรวดคือ  พล.ต.ต. สิทธิศักดิ์ สุพรรณเภสัช 

เป็นตำรวจรุ่น “12 ธันวาคม 2483” อันเป็นรุ่นเดียวกันกับ  พล.ต.ต.ชนะ สมุทวณิช  คุณพ่อของอาจารย์ชัยอนันต์ มิน่าเล่า อาจารย์ถึงได้สนิทสนมกับหรวดและน้องๆในตระกูลนี้ และจากการที่พ่อเป็นเพื่อนกัน อาจารย์ก็เลยรู้เรื่องครอบครัวของหรวดโดยละเอียด และได้เล่าไว้ด้วยว่า พ่อของหรวด ชื่อเดิมคือ ศรีสิทธิ์ และมีสมญานามว่า  “แหลม”  เพราะมีความคิดหลักแหลม !

อาจารย์ไปรู้ได้อย่างไรว่า พ่อของหรวดมีสมญานามว่า แหลม เพราะมีความคิดหลักแหลม ? ตอบได้เลยว่า อาจารย์ต้องรู้มาจากคุณพ่อของอาจารย์ที่เป็นเพื่อนตำรวจรุ่นเดียวกับพ่อของหรวด ทำให้ผมเกิดความรู้สึกอุตริอยากจะเดาว่า คนที่ตั้งชื่อให้พิสิตถ์ศักดิ์ว่า หรวด ก็คือ อาจารย์ชัยอนันต์เองนั่นแหละ (โอ วี ที่รู้ความจริงช่วยยืนยันและให้ข้อมูลที่ถูกต้องด้วยนะครับ)

ทำไมผมถึงเดาว่าเป็นอาจารย์ชัยอนันต์ ? เพราะอาจารย์ชัยอนันต์ทราบจากพ่อตัวเองว่า พ่อของพิสิตถ์ศักดิ์มีสมญานามว่า แหลม อาจารย์ชัยอนันต์เลยนึกอยากจะเรียกชื่อพิสิตถ์ศักดิ์ให้เกี่ยวข้องกับชื่อบิดาของเขา เมื่อเพื่อนๆพ่อเรียกพ่อว่า แหลม อาจารย์ก็นึกตั้งชื่ออะไรให้พิสิตถ์ศักดิ์ขึ้นมา แต่นึกอะไรไม่ออกที่จะให้ไปคล้องกับ แหลม นอกจากอาชีพของแหลม นั่นคือ ตำรวจ พิสิตถ์ศักดิ์จึงกลายเป็น “หรวด” ด้วยประการฉะนี้ 

นอกจากอาจารย์จะเล่าเรื่องพ่อของหรวดแล้ว ยังเล่าเรื่องแม่อีก โดยสาธยายว่า คุณแม่ของหรวดชื่อ  พิสุทธิ์ศรี  (อ้า ! ที่มาของชื่อพิสิตถ์ศักดิ์ คือ เอาชื่อพ่อและแม่มาผสมกันและแปลงตัวสะกดนิดหน่อยนั่นเอง พ่อชื่อ สิทธิศักดิ์ ชื่อเดิมศรีสิทธิ์ แม่ชื่อ พิสุทธิ์ศรี ลูกคนโตเลยเป็น พิสิตถ์ศักดิ์ !) คุณแม่เป็นบุตรีคนเล็กของเจ้าคุณโทณวณิกมนตรี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง (อำมาตย์เอก พระยาโทณวณิกมนตรี [วิสุทธิ์ โทณวณิก] เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม และเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารศรีนคร คุณพิสุทธิ์ศรีมีพี่สาวที่อาจารย์ชัยอนันต์เรียกว่า ป้าใหญ่ ป้าใหญ่เป็นภรรยาคุณหมอสมาน มันตราภรณ์ (ศาสตราจารย์นายแพทย์ สมาน มันตาภรณ์ บิดาแห่งศัลยกรรมทรวงอกของประเทศไทย หรือที่ผมเข้าใจก็คือ เป็นหมอผ่าตัดหัวใจคนแรกของประเทศไทย) 

แปลว่า หรวด มีพ่อที่มีความคิดหลักแหลมจนเป็นที่ยกย่องของเพื่อนๆ และเป็นหลานตาเจ้าคุณโทณวณิกมนตรี อดีตรัฐมนตรีคลังที่มีความรู้ความสามารถอย่างยิ่ง คงไม่แปลกที่เขาจะฉลาดอัจฉริยะจนอาจารย์ชัยอนันต์ต้องเขียนไว้ว่า  “พิสิตถ์ศักดิ์เป็นใคร ผมอยากให้เรารู้จักเขา..”  

และอย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า อาจารย์ชัยอนันต์ได้เล่าเรื่อง “ไอ้หรวด” ไว้เยอะ และอาจจะเยอะกว่าที่ได้เล่าไป หากไม่เกิดเหตุเสียก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น