ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับถอยหลังเส้นตายยื่นแผนฟื้นฟูฯ การบินไทยต่อศาลล้มละลายกลางในอีกไม่กี่วันข้างหน้า จังหวะนี้จึงเห็นการเร่งมือเขย่าโครงสร้างองค์กรใหม่ เออร์ลีรีไทร์ “ร่วมใจจาก” ก๊อกสอง ซ้ำยังมีรายการน้ำลดตอผุดสุดมั่วในแดนสนธยาบินไทยที่โกงกระทั่ง “ความตาย” ขณะที่สถานการณ์อุตสาหกรรมการบินของไทยและโลกซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนส่งให้การบินไทยฟื้นตัวหรือไม่ยังอยู่ในอาการโคม่า โดย บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) หั่นเป้าเที่ยวบินปีนี้ลงอีก 25% จากพิษไวรัสโควิด-19 ลุ้นรอวันฟื้นตัวอย่างน้อยอีก 3 ปีข้างหน้า
ใกล้กำหนดเส้นตายยื่นแผนฟื้นฟูการบินไทยต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 2 มีนาคม 2564 นี้ คณะจัดทำแผนฟื้นฟูฯ ต่างเร่งเครื่องปรับโฉมโครงสร้างองค์กรใหม่ไปพร้อมๆ กันกับการปรับโครงสร้างหนี้ และปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ เพื่อให้เจ้าจำปีที่เคยได้ชื่อว่าเป็นสายการบินแห่งชาติ เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนยกเครื่องใหม่หมดคราวนี้ ส่วนที่พนักงานการบินไทย ลุ้นระทึกและตัดสินใจยากมากที่สุดก็คือ จะได้อยู่สู้ต่อไป หรือจำใจอำลาจาก
อย่างที่รู้กันว่า การบินไทยใหญ่เทอะทะ มีภาวะหนี้สินขาดทุนสะสมพะรุงพะรังหลักหมื่นล้านมาหลายปี จนในที่สุดต้องประกาศล้มละลายและเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูใหม่ งานใหญ่งานแรกที่ต้องลงมีดก็คือการเฉือนความเทอะทะให้มีความคล่องตัว ดังนั้น เป้าหมายการลดจำนวนบุคลากรทุกระดับตั้งแต่ฝ่ายบริหารลงมาจนถึงพนักงานระดับล่างจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน
ที่ผ่านมาคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้อนุมัติหลักการให้ดำเนินการโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร และออกประกาศเมื่อเดือนตุลาคม 2563 กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนเข้าร่วมโครงการตามแพลน A และ แพลน B โดยมีพนักงานที่เข้าร่วมโครงการจำใจจากตามแพลน A จำนวน 1,918 คน มีผลให้ลาออกตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ส่วนพนักงานที่เข้าร่วมโครงการลาหยุดระยะยาว 6 เดือน (LW20) ตามแพลน B มีจำนวน 2,699 คน
ล่าสุด นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ประกาศโครงสร้างองค์กรใหม่ โครงสร้างสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ ที่จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 และเปิดให้พนักงานเข้าร่วมโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร เป็นรอบที่ 2 โดยมีแพคเกจให้เลือก 2 รูปแบบ คือ Plan B (MSP B) และ Plan C (MSP C)
ตามประกาศข้อกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครโครงการ MSP B ต้องเป็นพนักงานที่ได้รับอนุมัติให้เข้าโครงการลาระยะยาว LW20 และโครงการ MSP C คือ พนักงานที่มีความประสงค์สมัครใจลาออกเพิ่มเติม โดยพนักงานที่เข้า MSP B จะมีผลการลาออกวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 สำหรับผลประโยชน์ตอบแทนเทียบเท่าค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ทำงานน้อยกว่า 120 วัน ไม่ได้เงินตอบแทน / ทำงานครบ 120 วัน แต่น้อยกว่า 1 ปี รับค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน / ทำงานครบ 1 ปี แต่น้อยกว่า 3 ปี รับค่าชดเชย 90 วัน/ ทำงานครบ 3 ปี แต่น้อยกว่า 6 ปี รับค่าชดเชย 180 วัน/ ทำงานครบ 6 ปี แต่น้อยกว่า 10 ปี รับ 240 วัน และทำงานครบ 10 ปี แต่น้อยกว่า 20 ปี รับ 300 วัน ส่วนที่ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป รับค่าจ้างสุดท้าย 400 วัน
นอกจากนั้น ยังมีเงินตอบแทนพิเศษ 4 เดือน ของเงินเดือนสุดท้าย เงินสำหรับวันหยุดพักผ่อนที่ไม่ได้ใช้ เงินบำเหน็จหรือเงินสำรองเลี้ยงชีพ ชำระรายงวดรวม 4 งวด และกำหนดจ่ายเงินค่าตอบแทนในโครงการ MSP B แบ่งจ่ายเป็นงวด เริ่มงวดแรกตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ส่วน MSP C จ่ายงวดแรกเดือน กันยายน 2564
นอกจากนั้น ยังมีสิทธิประโยชน์บัตรโดยสาร โดยพนักงานที่ได้รับการอนุมัติทั้ง 2 โครงการทุกช่วงจะได้รับบัตรโดยสาร สำรองที่นั่งไม่ได้ หรือต้องรอหลังจากที่มีที่นั่งว่างแล้ว ทั้งสิ้นรวม 20 ใบ (ไป-กลับ) สำหรับทั้งเส้นทางบินภายในประเทศไทย สำหรับเส้นทางบินต่างประเทศไม่เกิน 15 ใบ (ไป-กลับ) โดยต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการออกบัตรโดยสารรวมทั้งภาษีต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการออกบัตรโดยสารด้วยตนเอง และบริษัทฯ สงวนสิทธิ์ที่จะยกเลิก เรียกคืน หรือระงับการใช้ตามที่เห็นสมควร
ปัจจุบัน การบินไทยมีพนักงานอยู่ประมาณ 1.5 หมื่นคน คาดว่าจะมีพนักงานเข้าร่วมโครงการเออร์ลีรีไทร์ทุกแพกเกจทั้ง A, B และ C รวมแล้วประมาณ 5 พันคน แต่ทั้งนี้ต้องดูตัวเลขสุดท้ายว่าจะมีพนักงานสมัครใจขอรับชดเชยสูงสุด 400 วัน แถมเงินพิเศษอีก 4 เดือน เพื่อไปสร้างชีวิตใหม่ทั้งหมดเป็นจำนวนเท่าไหร่ เพราะบริษัทฯ ไม่ได้กำหนดเป้าจะเอาออกกี่คน แต่รอดูผู้สมัครใจเข้าร่วมเป็นหลัก
สำหรับแผนฟื้นฟูการบินไทย นอกจากปรับโครงสร้างองค์กร ลดจำนวนบุคลากรทุกระดับแล้ว ยังมีแผนการปรับปรุงฝูงบิน และเส้นทางการบินตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งขณะนี้คณะผู้จัดทำแผน กำลังอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตตามสภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรมการบินของโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
กล่าวโดยรวมแล้ว ในอนาคตอันใกล้ทั้งสถานการณ์ปัจจุบันของบริษัท ปริมาณการเดินทางที่ยังลดลงทั่วโลก การบินไทยจึงยังไม่มีการปรับขยายฝูงบินตามที่มีกระแสข่าวร่ำลือกัน มีแต่การเจรจาต่อรองกับผู้ให้เช่าและดูแลเครื่องบินเพื่อปรับลดราคาค่าเช่าลง รวมทั้งปรับลดรายจ่ายอื่นๆ ที่บริษัทต้องรับภาระตามสัญญาเดิม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารฝูงบิน รวมทั้งการวางแผนปรับปรุงฝูงบินในระยะยาว ที่จะบรรจุในแผนการฟื้นฟูกิจการต่อไป
ขณะที่แผนฟื้นฟูการบินไทยกำลังเดินหน้าไปตามไทม์ไลน์ ชะตาอนาคตของพนักงานนอกจากจะอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญแล้ว ในรายที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานการบินไทย ยังมีปัญหาซ้ำเติมเข้ามาโดยขบวนการโกง “ความตาย”
ตามที่ นายวีรยุทธ ทวนคง พนักงานการบินไทย และสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ แจ้งความและเข้าพบ พ.ต.ท.ทรงพล หมอกกลั่น รอง ผกก.สอบสวน กก.1.บก.ป. ว่าได้พบความผิดปกติของจำนวนสมาชิกที่มาแจ้งเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในแต่ละปี จึงตรวจสอบจนพบว่ามีสมาชิกสมาคมบางรายหัวใสรวมกลุ่มตั้งเป็นขบวนการทำใบมรณบัตรปลอมขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ยื่นเรียกรับเงินค่าช่วยเหลือทำศพกับทางสมาคม ทั้งที่ยังไม่ได้เสียชีวิตจริง และยังคงทำงานเป็นพนักงานของบริษัท การบินไทยอยู่ จากการตรวจสอบย้อนหลังไปถึงปี 2556 พบมีผู้กระทำผิดในลักษณะดังกล่าวถึง 26 คน รวมมูลค่าความเสียหายเป็นเงินกว่า 14 ล้านบาท จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย
วกกลับดูสถานการณ์อุตสาหกรรมการบินของไทยและของโลก ที่จะเป็นปัจจัยชี้วัดการฟื้นตัวของการบินไทยตามแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งขณะนี้คณะผู้จัดทำแผนกำลังอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์นั้นยังอยู่ในภาวะไม่สู้ดีนัก จากรายงาน บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. ล่าสุด คณะกรรมการ ทอท. มีมติปรับลดประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศ ระหว่างปีงบประมาณ2564-2567 ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทยและทั่วโลก
ทอท. คาดว่าปีงบประมาณ 2564 ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, แม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ภูเก็ต และหาดใหญ่ จะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 335,459 เที่ยวบิน ลดลงจากการประมาณการครั้งก่อน (พฤศจิกายน 2563) 25.0% และน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด) 62.6% และมีผู้โดยสารรวม 31.90 ล้านคน ลดลงจากการประมาณการครั้งก่อน (พฤศจิกายน 2563) 33.4% และน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด) 77.5%
สำหรับปีงบประมาณ 2565 จะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 547,226 เที่ยวบิน และผู้โดยสารรวม 73.17 ล้านคน ปีงบประมาณ 2566 จะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 824,915 เที่ยวบิน และผู้โดยสารรวม 128.85 ล้านคน และปีงบประมาณ 2567 มีปริมาณเที่ยวบินรวม 923,925 เที่ยวบิน และผู้โดยสารรวม 146.40 ล้านคน หรือคาดว่าปริมาณการจราจรทางอากาศจะกลับสู่ระดับเดียวกับปี 2562 ในปี 2567 สอดคล้องกับคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ และ S&P Global โดยประมาณการนี้ ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่มีการเปิดน่านฟ้าอย่างไม่มีเงื่อนไข เช่น ไม่มีการกักกันตัว ในเดือนธันวาคม 2564 แต่หากมีการเปิดประเทศอย่างมีเงื่อนไข ทอท.จะต้องประเมินเงื่อนไขจากการเปิดประเทศอีกครั้ง
เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย (ทอท.) หรือ AOTแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม-ธันวาคม2563) สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ว่า ทอท.มีผลขาดทุนสุทธิ 3,441.98 ล้านบาท ลดลง 146.93% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ7,334.72 ล้านบาท ส่วนรายได้ไตรมาส 1 ปี 2564 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ 2,740.13 ล้านบาท ลดลง 89.99% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่16,104 ล้านบาท
ด้านปริมาณการจราจรทางอากาศของสนามบิน 6 แห่งของ ทอท. ช่วงไตรมาส 1 มีจำนวน 104,366 เที่ยวบินลดลง 53.50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นเที่ยวบินในประเทศ 89,433 และเที่ยวบินระหว่างประเทศ14,903 เที่ยวบิน
ภาพโดยรวมของอุตสาหกรรมการบินของไทยและโลกที่ยังอยู่ในอาการโคม่าอีกนาน สะท้อนอนาคตการบินไทยภายใต้แผนฟื้นฟูใหม่ต่อให้เด็ดขนาดไหนก็ยังคงหนีไม่พ้นสภาพลูกผีลูกคน