ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เมื่อศรัทธาความเชื่อกลายเป็นป๊อบคัลเจอร์ (Pop Culture) หรือวัฒนธรรมร่วมสมัย แบรนด์สตรีทแฟชั่นชื่อดังระดับโลก Supreme (ซูพรีม) ครีเอตแจ๊กเก็ต Blessings Ripstop Shirts “ยันต์หลวงพ่อคูณ” เกจิดังของเมืองไทย เป็นการคอลแลปแฟชั่นกับความเชื่อจนสร้างความฮือฮาทั่วโลกออนไลน์
และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แบรนด์สตรีท Supreme รุกตลาก “สายมู” สร้างสรรค์แฟชันไอเทมจากศรัทธาความเชื่อเครื่องรางของขลัง ไม่กี่ปีก่อน Supreme หยิบยกศาสนาพราหม์นำภาพเคารพของเทพฮินดู เช่น พระศิวะ พระพิฆเนศ ฯลฯ มาสกรีนลายลงบนแจ๊กเก็ต รวมทั้ง พวงกุญแจรูปพระพิฆเนศ จนสร้างความฮือฮาในวงการแฟชั่นมาแล้ว
ล่าสุดเซอร์ไพร์เมืองไทยเมืองพุทธ Supreme คอลเลกชันฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน (Spring/Summer) 2021 เปิดตัวแจ๊กเก็ต Blessings Ripstop Shirts มีลวดลายปักยันต์หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เกจิอาจารย์ชื่อดังที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนชาวโคราชตลอดจนคนไทยทั่วประเทศ
สำหรับเนื้อผ้าที่ใช้ผลิตแจ๊กเก็ตเป็นผ้าริปสต็อป (Ripstop) แขนยาว ทอด้วยเส้นใยพิเศษ ทำให้เมื่อเกิดรอยฉีกขาดแล้ว รอยดังกล่าวจะไม่ขาดจนขยายเป็นรูใหญ่ ด้านหน้าจะมีดีเทลกระดุมทั้งสิ้น 5 เม็ด กระเป๋า 3 จุด ที่หน้าอกปักคำว่า Supreme เป็นตัวเขียน ด้านหลังปักยันต์บนตัวเสื้อมากมาย แต่โดดเด่นที่สุดคือ ยันต์หลวงพ่อคูณ รุ่น มงคลปริสุทโธ (2536) สีเหลืองโดดเด่นสะดุดตา โดยมีให้เลือกด้วยกันถึง 3 สี ได้แก่ สีดำ ลายพราง และสีน้ำเงิน ส่วนราคายังไม่ได้มีการเปิดเผยออกมา
และได้รับการยืนว่าเป็นไม่ใช่ fake news เพราะคอลเลกชันนี้มีการโพสต์บนออฟฟิเชียลเว็ปไซต์ www.supremenewyork.com แถมคาดกันว่าเสื้อเชิ้ต Supreme x ยันต์หลวงพ่อคูณ จะกลายเป็นแรร์ไอเทม ราคาพุ่งพรวดในอนาคตอย่างแน่นอน
สตรีทแบรนด์ Supreme แหวกแนวด้วยการผสานระหว่างสายแฟชั่นกับสารมู ซึ่งยันต์เป็นสัญลักษณ์ตามความเชื่อทางไสยศาสตร์ โดยเฉพาะหยิบนำยันต์หลวงพ่อคูณเกจิดัง ผู้เป็นที่เคารพศรัทธาในมืองไทยมามิกซ์แอนด์แมทช์สร้างสรรค์แฟชั่นไอเทม ย่อมสร้างเสียงฮือฮาแบบสุดๆ
อย่างไรก็ดีเป็นทราบโดยทั่วกันว่า หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ หรือ พระเทพวิทยาคม อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ได้รับฉายาจากเหล่าลูกศิษย์ที่ยกย่องให้เป็น “เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด” เนื่องมาจากการที่หลวงพ่อคูณนำเงินทั้งหมดที่ได้จากการประกอบพิธีสร้างวัตถุมงคล หรือการบริจาคจากลูกศิษย์ทั้งปวงไปบริจาคต่อเพื่อสร้างสาธารณประโยชน์นานาประการให้แก่สังคมไทย ทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน และถนนหนทาง ฯลฯ ทั้งนี้ ท่านละสังขารเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2558 ณ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา แม้มรณภาพไปแต่คุณงามความดียังคงอยู่ในใจของศิษยานุศิษย์เสมอมา
แต่มิวายเกิดประเด็นดรามา แม้ยันต์หลวงพ่อคูณไม่ได้จดลิขลิทธิ์ทางการค้า ดังนั้น การที่แบรนด์สตรีทแฟชั่น Supreme นำลวดลายมาสร้างสรรค์แจ็กเก็ตคงไม่ถือว่าผิดเสียทีเดียว
นายธวัชชัย แสนประสิทธิ์ ไวยาวัจกรวัดบ้านไร่ และเป็นกำนันตำบลกุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เปิดเผยถึงกรณีแบรนด์เสื้อดังนำรูปของหลวงพ่อคูณไปติดบนเสื้อเพื่อออกมาจำหน่าย ความว่า ในฐานะไวยาวัจกรวัดและคณะกรรมการวัดบ้านไร่ ยังไม่เคยได้รับหนังสือขออนุญาตการจัดทำเสื้อดังกล่าวเลย ซึ่งในความเป็นจริงหากจะมีการจัดทำเสื้อโดยใช้ภาพของหลวงพ่อคูณติดลงไปในเสื้อ ตามมารยาทแล้วผู้จัดทำเสื้อควรจะต้องมีการบอกกล่าวเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ หรือต้องมีการขออนุญาตคณะกรรมการวัดบ้านไร่ก่อน
ขณะเดียวกัน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้นำประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นข้าหารือกับทางนายณรงค์ ทรงอารมณ์ เพื่อขอให้พิจารณาสั่งการทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทผู้ผลิตยี่ห้อดังกล่าวเพื่ออธิบายถึงความไม่เหมาะสม พร้อมกับทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เนื่องจากมีการโฆษณาผ่านทางสื่อออนไลน์ด้วย จึงต้องทำหนังสือขอให้ทางดีอีเอสตรวจสอบ
เพราะตามธรรมเนียมปฏิบัติ ภาพวัตถุมงคล รูปพระสงฆ์ที่มีคนศรัทธาจำนวนมาก เช่น หลวงพ่อคูณ จะต้องได้รับการอนุญาตจากทางวัดต้นสังกัดเสียก่อน
ในประเด็นนี้ พระครูปลัดกวีวัฒน์ รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวขออนุโมทนาที่แบรนด์ดังกล่าวได้นำรูปหลวงพ่อคูณไปติดไว้ด้านหลังของเสื้อคอลเลกชั่นใหม่ ด้วยทางแบรนด์น่าจะพิจารณาแล้วเห็นว่าหลวงพ่อคูณเป็นพระที่มีผู้เคารพศรัทธาจำนวนมาก
แต่ประการสำคัญขอให้มีวิจารณญาณในการบริโภค เพราะพระพุทธศาสนาเน้นเรื่องของปัญญาต้องมาพร้อมกับศรัทธา ไม่ใช่ว่าหามาใส่แล้ว กลายเป็นเสื้อเกราะ ป้องกันภัย ป้องกันกระสุน ขอให้ลูกศิษย์หลวงพ่อคูณมีสติ และมีวิจารณญาณ อยากให้นึกถึงคำสอนหลวงพ่อคูณที่ว่า “ถ้าประมาทเมื่อใดก็ตายเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นทำอะไรทุกอย่าง ทำให้ดี อย่าได้ประมาท อย่าผัดผ่อน ถ้าประมาทแล้วนึกได้ทีหลังจะเสียใจ”
ในส่วนของดรามาที่เกิดขึ้นนั้น คงต้องติดตามกันว่าจะลงเอยเช่นไร แต่เชื่อเหลือเกินว่าสายแฟชั่น สายมู จะได้ครอบครองแจ๊กเก็ต Supreme x ยันต์หลวงพ่อคูณ ในเวลาอีกไม่นาน เตรียมเงินรอได้เลย
อ้างอิงงานวิจัย Marketing in the Uncertain World การตลาดของคนอยู่เป็น ของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า คนไทยกว่า 52 ล้านคนในปัจจุบันมีความเชื่อเรื่องโชคลาง ทั้งการพยากรณ์ โหราศาสตร์ ดูลายมือ ไพ่ยิปซี การบูชาพระเครื่องวัตถุมงคล ใส่เสื้อผ้าสีมงคล แสวงหาตัวเลขมงคล และเรื่องเหนือธรรมชาติ
อย่างไรก็ดี ในเมืองไทยภาคธรุกิจจับกระแสเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องโชคลางขลัง สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เอาใจตลาด “สายมู" หรือ “มูเตลู” แถมยังเป็นธุรกิจเติบโตสวนกระแสโควิด-19 ในรอบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเครื่องลางของขลังจากเกจิดังหรือวัดดังต่างๆ ขับเคลื่อนพุทธพาณิชย์เบ่งบานตลอดหลายปีที่ผ่านมา
เช่น หน้ากากผ้าลงยันต์ ของ หลวงพี่น้ำฝน วัดไผ่ล้อม หรือ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จังหวัดนครปฐม “นะ ปัดตลอด” หน้ากากผ้าลงยันต์ด้านนอกพิมพ์ยันต์มงกุฎพระพุทธเจ้า ยันต์พระเจ้า 5 พระองค์ ยันต์หัวใจพระรัตนตรัย (อิ สวา สุ) ยันต์ครูหลวงพ่อพูล (ยันต์เมตตา) ยันต์ นะ อดทน ยันต์ นะ ปัดตลอด ยันต์หัวใจธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ท้าวเวสสุวรรณ พุทธ โธ เพื่อเป็นกำลังใจในการต่อสู้กับสภาวะการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส
สติกเกอร์ยันต์เกราะเพชร วัดเถรพลาย อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี สติกเกอร์ขนาด 9x9 เซนติเมตร ประกอบด้วย ยันต์ตรีนิสิงเห 4 มุม 4 ทิศ ลงอักขระคาถาสำคัญ ใช้ป้องกันภัยอันตรายและโรคภัยไข้เจ็บ มีท้าวเวสสุวรรณ เทพเจ้าแห่งยักษ์ผู้คุ้มครองและดูแลโลกมนุษย์ และยันต์เกราะเพชร ใช้ป้องกันสิ่งอัปมงคลเข้าตัว ฯลฯ รวมถึง เครื่องประดับแนวมูเตลู ที่เชื่อว่าเป็นเครื่องรางของขลังปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายที่ได้รับความนิยม ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
เมื่อแบรนด์สตรีทแฟชั่นระดับโลก มิกซ์แอนด์แมทช์ “แฟชั่น” กับ “ความเชื่อ” เข้าด้วยกัน จะธรรมดาได้อย่างไร คงต้องจับดูไปพร้อมๆ กันว่า หลังปล่อยคอลเลกชัน “Supreme x ยันต์หลวงพ่อคูณ” ฟีดแบคจะดีแค่ไหน!?