xs
xsm
sm
md
lg

ลาม10จังหวัด คลัสเตอร์ตลาดปทุมฯ จุฬาฯทดลองวัคซีน พ.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ศบค. เผยไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 150 ราย สะพึงคลัสเตอร์ “ตลาดพรพัฒน์” ปทุมธานี ยอดสะสม 359 ราย กระจายไป 9 จังหวัด ชี้มีความเสี่ยงพบผู้ป่วยเพิ่ม อาลัย “คุณหมอปัญญา” คลินิกดังมหาสารคาม แพทย์คนแรกของประเทศที่เสียชีวิตจากโควิด

วานนี้ (18 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศประจำวันว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 150 ราย เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 142 ราย มาจากการตรวจในระบบเฝ้าระวังและบริการ 38 ราย จากการค้นหาคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 104 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) 8 ราย แอฟริกาใต้และบาห์เรน ประเทศละ 2 ราย ปากีสถาน, บังกลาเทศ, สาธารณรัฐยูกันดา และไนจีเรีย ประเทศละ 1 ราย และมีผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 249 ราย

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 25,111 ราย เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 22,446 ราย ติดเชื้อค้นหาคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 14,256 ราย ผู้เดินทางจากต่างประเทศ 2,665 ราย สถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 2,056 ราย ส่วนผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มอีก 249 ราย รวมเป็น 23,946 ราย กำลังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 1,083 ราย โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 82 ราย โดยรายละเอียดผู้ป่วยยืนยันสะสมระลอกใหม่ตั้งแต่ 15 ธ.ค. 63 - 18 ก.พ.64 อยู่ที่ 20,874 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 5,727 ราย ค้นหาคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 14,256 ราย ผู้เดินทางจากต่างประเทศ 891 ราย ผู้ป่วยรักษาหาย 249 ราย สะสมหายป่วยแล้ว 19,769 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 1,083 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 22 ราย

พญ.อภิสมัย กล่าวถึงกรณีที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานข้อมูลการระบาดกลุ่มก้อน (Cluster) เชื่อมโยงตลาดพรพัฒน์ จ.ปทุมธานีด้วยว่า ยอดสะสมระหว่างวันที่ 9-16 ก.พ. 64 จพนวน 359 ราย ยพบรายงานในผู้ป่วย 10 จังหวัด ประกอบด้วย ปทุมธานี 332 ราย, นครนายก 7 ราย, กทม. 4 ราย, เพชรบุรี 4 ราย, สมุทรปราการ 3 ราย, สระบุรี 3 ราย, พระนครศรีอยุธยา 2 ราย, อ่างทอง 2 ราย, นครราชสีมา 1 ราย และนนทบุรี 1 ราย ทั้งนี้เคสที่เริ่มต้นเป็นหญิงพม่า อายุ 31 ปี รับจ้างขายผัก เริ่มป่วยวันที่ 31 ม.ค. 64 ด้วยอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส เก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อ 6 ก.พ. 64 ผลตรวจพบเชื้อ 7 ก.พ. 64 จนทำให้เกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดปทุมธานี และกระจายในอีกหลายจังหวัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน เวลาประมาณ 07.00 น. เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อ คุณวีโร เอ็งเต็กตึ้ง (มูลนิธิคุณวีโรกุศลสงเคราะห์) ได้โพสต์ข้อความไว้อาลัย นพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ ซึ่งเป็นผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 18 ของการระบาดระลอกใหม่ของ จ.มหาสารคาม ซึ่งติดเชื้อภายหลังจากตรวจผู้ป่วยโควิด-19 คลัสเตอร์กลุ่มงานเลี้ยงสังสรรค์โต๊ะแชร์

ต่อมาได้มีการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก จากผู้ใช้ชื่อ Natthawarot Hanphanitphan ซึ่งเป็นบุตรชายของนายแพทย์ผู้เสียชีวิต ได้กล่าวไว้อาลัยต่อบิดา โดยมีข้อความว่า “คุณพ่อผมเสียแล้วครับช่วงตี 1 กว่าๆ ผมรักป๊านะ ผมรู้สึกมหัศจรรย์ที่ได้อยู่ใกล้ๆ คุณพ่อ ทุกคนรักและเคารพคุณพ่อ ป๊าเป็นคนที่น่าทึ่ง ป๊าคือฮีโร่ของผม ผมโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นลูกป๊า ขอบคุณที่ดูแลผมมาตลอด สอนผมให้เป็นคนที่ดี น้ำตาผมไหลจนได้ ขอให้ป้าไปสู่สวรรค์นะครับ ทุกๆ คนรักป๊านะครับ”

หลังจากโพสต์ถูกแชร์ออกไป ได้มีผู้คนในโลกโซเชียลได้เห็นและเข้ามาแสดงความความเสียใจและร่วมไว้อาลัยกันจำนวนมาก

ด้าน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ได้เปิดเผยรายละเอียดการเสียชีวิตของ นพ.ปัญญา ว่า นพ.ปัญญา มีโรคประจำตัว คือ มะเร็งต่อมลูกหมาก ไขมันในเลือดสูง ถุงลมปอดโป่งพอง เป็นโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยดูแลตัวเองมาตลอด โดยการเปิดคลินิกเพื่อรักษาผู้ป่วยทั่วไป และผู้ป่วยไตเทียม พร้อมเปิดเผยไทม์ไลน์การป่วยของ นพ.ปัญญา ว่าเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ได้ทำการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อระลอกใหม่ รายที่ 11 ต่อมาวันที่ 19 ม.ค. ผู้ป่วยติดเชื้อระลอกใหม่ รายที่ 9 มาตรวจรักษาด้วยอาการไอ ไม่มีไข้ ก่อนที่วันที่ 25 ม.ค. ผู้ป่วยติดเชื้อระลอกใหม่ รายที่ 2 มาตรวจรักษาด้วยอาการไข้สูง จึงได้แนะนำให้ไปรับการรักษาต่อ คลินิกโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ที่ รพ.สุทธาเวช วันที่ 28 ม.ค. ช่วงเย็นทราบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อระลอกใหม่ รายที่ 2 ที่มาให้ตรวจรักษาในวันที่ 25 ม.ค. เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล จึงปิดคลินิกและกลับบ้านพัก แยกห้องนอน เริ่มกักตัวเอง

วันที่ 29 ม.ค. เข้ารับการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1รพ.สุทธาเวช แจ้งผลการตรวจ ไม่พบเชื้อ วันที่ 31 ม.ค. มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อครั่นตัว คล้ายจะเป็นไข้ วันที่ 1 ก.พ.เข้ารับการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 มีไข้ เข้ารับการรักษาที่ ตึกเฉพาะโรค โรงพยาบาลมหาสารคาม ผลตรวจยืนยันพบเชื้อ วันที่ 2 ก.พ. 64 เข้ารับการรักษาที่ รพ.มหาสารคาม ผลเอ็กซเรย์พบว่าปอดยังไม่อักเสบ ทีมแพทย์จึงรักษาตามอาการ และให้ยาฆ่าเชื้อไวรัส ซึ่งตอนแรก นพ.ปัญญามีอาการดีขึ้น

วันที่ 3 ก.พ. 64 อาการทรุดลง มีไข้ ปอดอักเสบ มีอาการไตวาย ต้องฟอกเลือด วันที่ 7 ก.พ. 64 มีอาการปอดอักเสบ ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ อาการทรุดลงเรื่อยๆ จนต้องส่งไปรักษาต่อที่ รพ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ทั้งปอด ไต ตับ ทำงานแย่ลง วันที่ 16 ก.พ. 64 เริ่มมีการติดเชื้อในกระแสเลือดจากเชื้อรา บ่งบอกว่าผู้ป่วยมีภูมิต้านทานไม่ดี ระบบปอดทำงานแย่ลง ปอดทำงานหนักขึ้น ระบบหัวใจเต้นผิดจังหวะและหัวใจล้มเหลว จนวันที่ 18 ก.พ. 64 นพ.ปัญญา เสียชีวิต คณะแพทย์ลงความเห็นว่าเสียชีวิตจากโควิด-19 และมีภาวะแทรกซ้อนจากระบบหายใจ-หลอดเลือดล้มเหลว

อีกด้าน ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการ รพ.จุฬาฯ, ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีนคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ, นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารโรงพยาบาลจุฬาฯ ร่วมกันแถลงข่าวความก้าวหน้าล่าสุดของการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 (จุฬาฯคอฟ19) และความพร้อมในการทดสอบในอาสาสมัครมนุษย์ เฟส 1

โดย ศ.นพ.เกียรติ เปิดเผยว่า หลังการรายงานผลการทดลองในหนูและลิงสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในระดับสูง ป้องหนูไม่ให้ป่วยได้ 100% ยับยั้งไม่ให้เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดได้ 100% เมื่อได้รับวัคซีน 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ คาดว่าจะผลิตเสร็จเพื่อนำมาทดลองในอาสาสมัครได้ประมาณต้นเดือน พ.ค.นี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตวิจัยในคนจากคณะกรรมการการวิจัยในมนุษย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถึงจะเปิดรับสมัครอาสาสมัครผ่านเว็บไซต์ของจุฬาลงกรณ์ เบื้องต้นจะแบ่งการทดลองในคนออกเป็น ระยะ ที่ 1 กลุ่มตัวอย่างอายุ 18-55 ปี 36 คน และอายุ 65-75 ปี เป็นผู้มีร่างกายแข็งแรง ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เสร็จประมาณต้นกรกฎาคม จากนั้น จะเริ่มทดลองระยะ 2 ต่อไป ซึ่งจะใช้อาสาสมัคร 300-600 คน โดยร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

“วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็นปกติคือ 2-8 องศาเซลเซียส และอย่างน้อย 1 เดือน ขณะนี้กำลังรอผลวิจัยที่ 3 เดือน ดังนั้นการขนส่งกระจายวัคซีนไปยังต่างจังหวัดทั่วประเทศจึงสามารถทำได้อย่างสะดวก ขณะเดียวกัน ทีมวิจัยยังมีการพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 เพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ ซึ่งจุดเด่นของวัคซีนชนิด mRNA นั้นสามารถปรับปรุงให้เข้ากับเชื้อโรคได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำวัคซีนสูตรค็อกเทล คือป้องกัน 3 สายพันธุ์” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

ด้าน นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้เราสามารถปิดช่องว่างจากการที่มีวัคซีนในประเทศได้ แต่ก็อยากจะปิดท้าย ด้วยการผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่ศึกษาวิจัยในประเทศไทยนั่นก็คือวัคซีนจากจุฬาฯ ถ้ายังผลิตไม่ได้ ก็จะไม่มีความมั่นคง การเจรจาซื้อจากต่างประเทศต้องใช้กำลังภายในมาก อยากให้ประเทศไทยมีสิ่งที่สามารถให้เราพึ่งพาตนเองได้ นั่นคือวัคซีนจากจุฬาฯ ที่จะสำเร็จในเวลาอันใกล้ และอีกหลาย ๆ โครงการของไทย หากคืบหน้าเป็นไปอย่างที่ต้องการ ก็ต้องมีการคิดหาวิธีสนับสนุนต่อไป.


กำลังโหลดความคิดเห็น