xs
xsm
sm
md
lg

บทบาทกลุ่มยุทธศาสตร์ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"


การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นเวทีการแสดงทางการเมืองที่สำคัญอย่างหนึ่งของระบอบการเมืองแบบรัฐสภา เป็นกลไกการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่ได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างสูง เป็นเวทีที่สร้างโอกาสสร้างตัวตนและการเป็นที่รู้จักของสาธารณะมากขึ้นให้แก่นักการเมืองหน้าใหม่หลายคนโดยเฉพาะฝ่ายค้าน ขณะเดียวกันก็เป็นเวทีให้นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลแสดงบทบาทพิทักษ์ผู้นำของตนเองเพื่อแสดงความภักดี เป็นเวทีทดสอบความสามารถในการต่อสู้กันในเรื่องแนวทางในการบริหารประเทศผ่านการนำเสนอความคิดและข้อมูล เป็นเวทีแห่งการใช้วาจาเชือดเฉือนกันไปมาอย่างเข้มข้น และเป็นเวทีที่ทำให้ประชาชนได้รับรู้ความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมของนักการเมืองมากขึ้นด้วย

 โครงสร้างของเวทีอภิปรายประกอบด้วยระเบียบที่เป็นทางการคือ รัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุม และบรรทัดฐานการปฏิบัติที่ไม่เป็นทางการอย่างเช่น แบบแผนการลำดับการอภิปราย แบบแผนการประท้วง แบบแผนการใช้ภาษา และแบบแผนการลงมติ เป็นต้น โครงสร้างเหล่านี้เป็นกรอบกำหนดการแสดงบทบาทและการปฏิบัติของกลุ่มยุทธศาสตร์แต่ละกลุ่มซึ่งประกอบด้วย ประธานที่ประชุม ผู้ประสานหรือวิปของรัฐบาลและฝ่ายค้าน ผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจ ผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ กลุ่มนักประท้วง และ กลุ่มส.ส.ที่เป็นผู้ฟัง  

โดยปกติกลุ่มยุทธศาสตร์เหล่านี้มีแนวโน้มแสดงบทบาทภายใต้โครงสร้าง ระเบียบและบรรทัดฐาน แต่ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้แสดงแต่ละคนต่างมีเจตจำนงอิระบางระดับของตนเอง ดังนั้นการแสดงบทบาทของพวกเขาหาได้ดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามเงื่อนไขเชิงโครงสร้างเสียทั้งหมด หากแต่เป็นการตัดสินใจเชิงปฏิสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้าง สถานการณ์เฉพาะหน้าที่เผชิญ และเจตจำนงของปัจเจกบุคคล ยิ่งกว่านั้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจมิได้เกิดขึ้นภายในระบบปิด หากแต่เป็นระบบเปิด ซึ่งทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้แสดงในเวทีและบริบทภายนอกที่เป็นผู้ดูการแสดงด้วย และภายใต้สังคมที่มีการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสังคมออนไลน์แบบสองอย่างแพร่หลายในยุคปัจจุบัน อิทธิพลของบริบทภายนอกก็มีผลต่อการแสดงบทบาทของกลุ่มยุทธศาสตร์ก็ยิ่งมีมากขึ้นตามไปด้วย

 ตรรกะหลักของการอภิปรายไม่ไว้วางใจคือ รัฐบาลที่มีจากประชาชน ย่อมต้องถูกตรวจสอบจากตัวแทนของประชาชน และเมื่อตัวแทนของประชาชนรับรู้ ข้าใจ และวินิจฉัยว่ารัฐบาลไร้วิสัยทัศน์ ขาดประสิทธิภาพและส่อแววทุจริตในการบริหารประเทศ ซึ่งความเสียหายแก่สังคมอย่างไม่อาจประมาณได้ ตัวแทนประชาชนที่เป็นฝ่ายค้านก็ย่อมไม่ไว้วางใจรัฐบาล และมีเป้าประสงค์เปลี่ยนแปลงผู้บริหารประเทศ พวกเขาก็ใช้การอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งเป็นเครื่องมือเชิงโครงสร้างที่ชอบธรรมเพื่อดำเนินให้บรรลุเป้าประสงค์  

ฐานคติหรือความเชื่อพื้นฐานที่ทำให้เกิดความคิดว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลคือ ความมีเหตุผลเชิงศีลธรรมของปัจเจกบุคคลที่เป็น ส.ส. ซึ่งทำให้การตัดสินใจอยู่บนฐานข้อมูล หลักฐานและค่านิยมที่ยึดผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ฐานคิดแบบนี้ได้รับการกำหนดลงในโครงสร้างที่เป็นทางการอย่างรัฐธรรมนูญ

แต่ในโลกความเป็นจริง โครงสร้างที่เป็นทางการมีพลังในการกำหนดการปฏิบัติในเวทีการอภิปรายต่ำกว่าแบบแผนและบรรทัดฐานที่ไม่เป็นทางการของระบบพรรคและระบบพวก ดังนั้น หากนำเรื่องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมาเป็นตัวชี้วัด ประสิทธิผลของการอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงมีค่อนข้างต่ำ แต่การที่นักการเมืองฝ่ายค้านยังใช้กลไกนี้อยู่เสมอ ก็ย่อมแสดงว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเครื่องมือในการตอบสนองเป้าหมายอื่น ๆ อีกหลายประการ นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนั่นเอง

ประธานในที่ประชุมไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใดได้รับการคาดหวังว่า ต้องแสดงบทบาทที่เป็นกลาง ใช้ข้อบังคับอย่างเคร่งครัด และสามารถควบคุมการประชุมได้อย่างราบรื่น เครื่องมือที่ประธานใช้เป็นหลักคือ การทำความตกเบื้องต้นกับสมาชิกก่อนการอภิปราย การปฏิบัติและวินิจฉัยที่อิงกับข้อบังคับการประชุม การกล่าวตักเตือนในกรณีที่ผู้อภิปรายกล่าววาจาหรือปฏิบัติเบี่ยงเบนจากข้อบังคับ การสั่งให้ผู้อภิปรายถอนคำพูด การสั่งห้ามไม่ให้พูดในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง การสั่งพักการประชุม และการสั่งให้สมาชิกบางคนที่ฝ่าฝืนข้อบังคับและไม่ฟังการตักเตือนให้ออกจากที่ประชุม ส่วนบทบาทที่ไม่เป็นทางการคือ การแสดงออกถึงความเป็นกลางในการลงมติด้วยการงดออกเสียง

อย่างไรก็ตามประเด็นที่ประธานมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอคือความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะระหว่างการปฏิบัติหน้าที่นั้น ไม่ว่าประธานยึดถือหลักการนี้อย่างเคร่งครัดและเชื่อว่าการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองเป็นกลางเพียงใดก็ตาม แต่ในการปฏิบัติจริง มีความเป็นไปได้ที่แสดงอคติออกมาโดยไม่รู้ตัว รวมทั้งความเป็นกลางไม่มีมาตรฐานเชิงภววิสัยที่ชัดเจน ดังนั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่ย่อมตีความแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามหากการปฏิบัติใดที่มีความโน้มเอียงเด่นชัดว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไปและทำอย่างต่อเนื่อง ผู้คนส่วนใหญ่ก็ย่อมวินิจฉัยโดยอาศัยสามัญสำนึกได้ไม่ยากนักว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นกลาง และผลลัพธ์ก็คือการถูกวิพากษ์วิจารณ์และการเสื่อมลงของความน่าเชื่อถือนั่นเอง

กลุ่มที่สองคือผู้ประสานงานหรือวิปฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการร่วมกันกำหนดระยะเวลาการประชุม มีการกำหนดจำนวนวันและเวลาที่ใช้ในการอภิปราย เช่น ในการอภิปรายครั้งนี้กำหนดเวลาสี่วัน และมีการกำหนดเวลาการอภิปรายของฝ่ายค้านและรัฐบาลว่าแต่ละฝ่ายได้เวลาในการอภิปรายกี่ชั่วโมง เมื่อแบ่งเวลากันแล้ว แต่ละฝ่ายต่างก็ยึดเป็นแนวปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งละเมิดแนวปฏิบัติ ความขัดแย้งก็มักเกิดขึ้นเสมอ

นอกกำหนดเวลาแล้ว ผู้ประสานงานของแต่ละฝ่ายยังมีการกำหนดลำดับของตัวบุคคลที่อภิปรายและแจ้งให้อีกฝ่ายและประธานรับทราบเพื่อยึดถือเป็นแนวปฏิบัติด้วย ผู้ประสานงานยังมีบทบาทสำคัญในการเจรจาต่อรองเพื่อหาข้อยุติยามมีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างการอภิปรายอีกด้วย แต่หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ก็จะนำไปสู่การแตกหัก และมีการปฏิบัติเชิงปรปักษ์เกิดขึ้น เช่น ฝ่ายรัฐบาลอาจเสนอให้ปิดประชุมทันที และฝ่ายค้านอาจใช้วิธีการเดินออกจากที่ประชุม

กลุ่มยุทธศาสตร์ที่กล่าวได้ว่าเป็นตัวเอกของเวทีการอภิปรายไม่ไว้วางใจคือ กลุ่มส.ส.ฝ่ายค้านที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อภิปราย ในสถานการณ์ที่มีพรรคกฝ่ายค้านหลายพรรคในปัจจุบัน แต่ละพรรคต่างก็คัดเลือกผู้มีทักษะในการคิด การพูด และการนำเสนอที่โดดเด่นเป็นผู้อภิปราย ตามบรรทัดฐานของการอภิปราย ผู้ที่ได้รับเลือกเสมอคือ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน ส่วนสมาชิกอื่น ๆ นั้นเป็นไปตามการพิจารณาในแต่ละพรรค

สำหรับเวลาในการอภิปรายนั้นมีการแบ่งกันโดยใช้จำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคเป็นหลัก แต่ใช้อย่างยืดหยุ่นและเปิดโอกาสให้พรรคที่มีส.ส.น้อย แต่มีบุคคลที่มีความสามารถและทักษะการพูดได้เวลาอภิปรายตามสมควร สำหรับหัวหน้าพรรคมักได้รับเวลาอภิปรายมากกว่าสมาชิกปกติ และสมาชิกบางคนอาจได้เวลามากกว่าสมาชิกคนอื่น ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อตกลงร่วมในแต่ละครั้ง

ผู้อภิปรายได้รับความคาดหวังว่าต้องแสดงให้สมบทบาทของการเป็นฝ่ายค้าน นั่นคือการวิพากษ์รัฐบาลอย่างแหลมคม พรั่งพร้อมด้วยหลักการ เหตุผลอันชอบธรรม และหลักฐานที่หนักแน่น มีการจัดโครงสร้างลำดับเนื้อหาการอภิปรายอย่างเป็นระบบ ไม่สับสนและง่ายต่อการติดตาม สามารถถ่ายทอดข้อมูลหรือหลักคิดทางวิชาการที่สลับซับซ้อน และเป็นนามธรรมสูงด้วยรูปแบบการนำเสนอที่เห็นภาพอย่างชัดเจน และการใช้ภาษาที่เงียบง่ายและกระชับซึ่งคนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ทันที และมีการตอกย้ำประเด็นสำคัญเป็นระยะ นอกจากความสามารถในการอภิปรายเนื้อหาแล้ว ผู้ฟังบางส่วนคาดหวังในลีลาหรือท่วงทำนองการอภิปรายด้วย ซึ่งประกอบด้วยจังหวะการพูด โทนเสียงที่ดุเดือดเข้มข้น สีหน้าท่าทางที่จริงจัง การใช้คำที่หวือหวาชวนติดตาม และไหวพริบในการรับมือและตอบโต้สถานการณ์

สำหรับผู้อภิปรายที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคมคือ ผู้อภิปรายที่มีข้อมูลน้อยหรือข้อมูลเก่า มีการใช้วาทศิลป์มากกว่าเนื้อหาสาระ การอภิปรายวนเวียนซ้ำซาก การกล่าวหาผู้อื่นโดยใช้ข้อมูลเท็จ การใช้คำหยาบและคำที่ไม่เหมาะสมกับบริบท การอภิปรายเชิงเล่นละครแบบไม่จริงจังกับบทบาทในการตรวจสอบ การอภิปรายถ่วงเวลาเพื่อช่วยเหลือบุคคลในรัฐบาล และการอภิปรายที่ใช้แต่ลีลาหรือการแสดงออกด้วยภาษากายที่ไม่เหมาะสม

ในการอภิปรายแต่ละครั้ง หากผู้อภิปรายกระทำได้ตามที่สังคมคาดหวัง พวกเขาก็จะได้รับความนิยม ความชื่นชมและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของประชาชน กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะกลายเป็นดาวสภา ซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อเส้นทางอาชีพการเมืองในอนาคต ส่วนผู้อภิปรายคนใดที่แสดงบทบาทตรงข้ามกับความคาดหวังของสังคม ก็มักถูกวิจารณ์และเป็นที่ดูถูกของกลุ่มผู้ฟังที่ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด พวกเขามีแนวโน้มจะเลือนหายไปจากความทรงจำที่ดีของสังคม และอาจถูกมองว่าเป็นนักการเมืองน้ำเน่า

ในด้านผู้ถูกอภิปรายซึ่งก็คือ บุคคลที่ดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหาร อันได้แก่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เป็นเป้าหมายของการอภิปรายในแต่ละครั้งซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหา และต้องดำเนินปกป้องและตอบโต้ข้อกล่าวหา ความคาดหวังของสังคมคือ ผู้ถูกอภิปรายต้องสามารถควบคุมอารมณ์ได้และมีวุฒิภาวะในการรับมือและตอบสนองข้อกล่าวหาด้วยความสุขุมเยือกเย็น สามารถแสดงเหตุผล ข้อมูลและหลักฐานที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนและตรงกับประเด็นที่ถูกกล่าวหา ไม่เบี่ยงเบนประเด็นหรือเลี่ยงการตอบคำถาม และไม่ตอบโต้ด้วยเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาระของประเด็นที่กำลังอภิปราย

การตอบการอภิปรายที่ไม่ตรงกับความคาดหวังของสังคมคือ การตอบแบบน้ำท่วมทุ่ง มุ่งใช้ภาษาเชิงวาทศิป์มากกว่าสาระ การตอบไม่ตรงประเด็นหรือเบี่ยงประเด็น การใช้ข้อมูลเท็จหรือการใช้ความจริงเพียงครึ่งเดียว การตอบโต้โดยอาศัยตรรกะวิบัติหรือโจมตีลักษณะส่วนตัว การแสดงออกถึงอารมณ์ฉุนเฉียวบ่อยครั้งเกิน และการใช้หน่วยงานอื่นตอบโต้แทน หากผู้ตอบแสดงบทบาทไม่สอดคล้องกับความคาดหวังของสังคม พวกเขาก็จะเผชิญกับการเสื่อมลงของความนิยมและความน่าเชื่อถือ

 ในเวทีของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กลุ่มที่มีบทบาทสำคัญอีกกลุ่มคือ กลุ่มนักประท้วง กลุ่มนี้ทำหน้าที่ปกป้องผู้นำรัฐบาลหรือผู้นำพรรคตนเองที่ถูกอภิปราย พวกเขาใช้การประท้วงเพื่อหยุดยั้งหรือขัดจังหวะการอภิปราย และฉวยโอกาสตอบโต้ผู้อภิปราย นักประท้วงทำงานอย่างแข็งขันและประท้วงบ่อยครั้งหากฝ่ายค้านอภิปรายแล้วมีผลกระทบโดยตรงกับผู้นำรัฐบาลหรือรัฐมนตรีที่เป็นเป้าของการอภิปราย 

 กลุ่มคนเหล่านี้มักมีบุคลิกพิเศษบางอย่างและมีความทะเยอทะยานทางการเมืองสูง หวังใช้การแสดงบทบาทในการปกป้องผู้นำเป็นบันไดสร้างชื่อเสียงและการยอมรับจากผู้นำ ซึ่งจะทำให้พวกเขามีโอกาสได้รับการตอบแทนด้วยการมอบตำแหน่งที่สูงขึ้นในอนาคต แต่สังคมเบื่อหน่ายและอิดหนาระอาใจกับพฤติกรรมของนักประท้วงในสภายิ่งนัก และการที่กลุ่มนี้แสดงบทบาทมากจนเกินพอดี จะทำให้ภาพลักษณ์ของสภาผู้แทนราษฎรเสื่อมลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

สำหรับกลุ่มส.ส.ที่เป็นผู้ฟัง มีบทบาทสำคัญคือการลงมติหลังการอภิปรายเสร็จสิ้นลง แบบแผนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือ การลงมติของส.ส.เป็นไปตามมติพรรคและตามฝ่ายที่สังกัด ซึ่งไม่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม ทำให้ระบบประชาธิปไตยด้อยคุณค่าลงไปและเพิ่มความตึงเครียดแก่ระบบมากขึ้น

 สังคมคาดหวังให้การลงมติของ ส.ส.เป็นไปด้วยเจตจำนงอิสระ ตัดสินใจบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมที่ยึดถือประโยชน์ของประเทศมากกว่าประโยชน์ของพรรคและฝ่าย หากสามารถทำได้ก็จะทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังและมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น และส่งผลดีต่อการพัฒนาระบอบประชาธิไตยในภาพรวมด้วย 


กำลังโหลดความคิดเห็น