คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ที่วชิราวุธวิทยาลัย อาจารย์ชัยอนันต์ (ปิ๋ง) มีเพื่อนนามสกุล “สุพรรณเภสัช” ถึงสามคน คนแรกเป็นเพื่อนรุ่นพี่ปีนึงคือ พิสิตถ์ศักดิ์ (หรวด) อีกคนเป็นเพื่อนรุ่นน้องสามปีคือ อชิรวิทย์ (ป๋อม/ พลตำรวจเอกอชิรวิทย์) ซึ่งผมได้กล่าวถึงทั้งสองท่านไปบ้างแล้ว และอีกคนหนึ่งในตระกูลสุพรรณเภสัชที่เป็นเพื่อนอาจารย์ชัยอนันต์คือ แป๊ด (พันตำรวจเอกประจักษ์ศิลป์ สุพรรณเภสัช) ซึ่งอ่อนกว่าอาจารย์ชัยอนันต์หนึ่งปี และถ้าเรียงตามลำดับอาวุโสก็จะได้ดังนี้คือ หรวด ปิ๋ง แป๊ด...เว้นไปสองปี ป๋อม
ที่จริง อาจารย์ชัยอนันต์ก็ดูจะเข้ากลุ่มกับแป๊ดและป๋อมได้ดีเลย เพราะชื่อเล่นของอาจารย์สอดคล้องกับแป๊ดและป๋อม ปิ๋ง แป๊ด ป๋อม ทำให้น่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่า แล้วทำไมชื่อเล่นของพี่ชายของแป๊ดและป๋อมกลับไม่ใช้ ป ปลา แต่กลายเป็น หรวด ไปได้ ?!
เรื่องมันมีที่มา แต่ก่อนจะเผย อยากจะพูดถึงการที่พี่น้องสามคนมาอยู่โรงเรียนประจำเดียวกันก่อนฟังจากที่อาจารย์ชัยอนันต์เล่าถึงเพื่อนสามคนที่เป็นพี่น้องกันและไปอยู่โรงเรียนประจำด้วยกันแล้ว รู้สึกดี ที่ว่ารู้สึกดีคือ พี่น้องสามคนน่าจะรู้สึกดีที่ไปโรงเรียนประจำด้วยกัน ลองคิดถึงความรู้สึกของนักเรียนประถมตัวเล็กๆ ที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่โรงเรียนประจำลำพังตัวคนเดียวย่อมจะรู้สึกไม่ดีเท่ากับไปกันทั้งบ้านแน่ แต่แน่นอนว่า หรวดในฐานะพี่ใหญ่ต้องไปผจญภัยเบิกทางตามลำพังก่อน และอีกสองปีต่อมา แป๊ดหรือประจักษ์ศิลป์ก็ตามมา และอีกสองปีก็ป๋อม อชิรวิทย์
ผมเดาๆว่า เมื่อพี่ไปก่อน น้องๆ ก็คงอยากตามไปอยู่กับพี่ การไปโรงเรียนประจำของน้องที่มีพี่บุกเบิกไปก่อนแล้วนั้นน่าจะไม่มีปัญหาเท่ากับต้องไปบุกเบิกด้วยตัวเอง
ผมไม่ทราบเหมือนกันว่า นักเรียนที่มีพี่น้องสามคนอยู่โรงเรียนประจำเดียวกันนั้นจะกลายเป็นแก๊งหรือเปล่า ? มีเวลามีโอกาสคงต้องเรียนถามพวก โอ วี (ศิษย์เก่าวชิราวุธ) รุ่นต่างๆดูว่าเป็นอย่างไร ?
โรงเรียนผมไม่ใช่โรงเรียนประจำ แต่มีนักเรียนที่เป็นพี่เป็นน้องกัน และมักจะมีอะไรเหมือนกันๆ เช่น ถ้าพี่เป็นเด็กเรียน น้องก็มักจะเป็นเด็กเรียนไปด้วย หรือพี่เป็นนักเลง น้องก็เป็นนักเลงไปด้วย โดยเฉพาะน้องที่มีพี่เป็นนักเรียนนักเลง ก็จะซ่าเป็นพิเศษ เพราะถึงเวลา ก็มักเรียกพี่มาช่วยชก แต่ไม่ค่อยเห็นพี่ขอความช่วยเหลือจากน้องเท่าไรนัก และคนส่วนใหญ่ที่กลัวน้องเพราะกลัวเจอพี่มากกว่าจะกลัวน้องจริงๆ นอกจากพี่น้องสายเรียน สายชก ก็มีสายดนตรี คือพี่เล่นดนตรี น้องเล่น พี่ตั้งวง น้องก็ตั้ง คนละวงกัน แต่ใช้เครื่องดนตรีร่วมกัน และก็มีสายกีฬา พี่เตะบอลหรือเล่นบาส น้องก็เล่นบาสหรือเตะบอล
และถ้าสืบสาแหรกไปถึงรุ่นพ่อ ก็จะพบว่าในบางกรณีที่ลูกๆ เป็นนักเลง คุณครูที่สอนมาตั้งแต่รุ่นพ่อ (ที่โรงเรียนผมเรียก “มาสเตอร์” แต่ออกเสียงเป็น “มัด-เซอร์”) ก็มักจะเปรยๆว่า พ่อมันเป็นแบบนี้ ! ทำให้สงสัยอยู่เหมือนกันว่า ตกลงแล้วมันเป็นเรื่องของอิทธิพลของสายพันธุ์หรือสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน
แต่ที่ยังไม่เจอคือ พี่เป็นกะเทยและน้องก็เป็นกะเทยไปด้วย (ขออภัยที่ใช้คำนี้ จริงๆแล้ว ผมหมายถึงผู้ชายที่ออกอาการเป็นผู้หญิง) หรือน้องเป็นก่อน แล้วพี่เป็นตาม แต่ที่แน่ๆคือ พ่อไม่น่าจะเป็นกะเทยไปได้ หรือถ้าเป็นหรือออกอาการจัดๆ ก็น่าจะหลังมีบุตรแล้ว
พูดถึงเรื่องกีฬาและดนตรี ทราบจาก พี่หม่อมชัยนิมิตร นวรัตน หนึ่งใน โอ วี ว่า ที่วชิราวุธ แม้ว่าจะไม่ได้บังคับให้นักเรียนต้องเล่นดนตรีหรือกีฬา แต่นักเรียนกว่าร้อยละแปดสิบจะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างดนตรีกับกีฬา ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดี และนักเรียนน่าจะเลือกทำอะไรสักอย่าง เพราะมีเวลาอยู่กับโรงเรียนมาก การอยู่ประจำมีเวลาและโอกาสมากกว่านักเรียนไปกลับที่ต้องเสียเวลาเดินทางโดยเฉลี่ยสองชั่วโมงต่อวัน ซึ่งสองชั่วโมงทุกวันที่ว่านี้ ถ้าใช้ไปในการเรียนและฝึกดนตรีหรือกีฬา สักสองหรือสามปีก็น่าจะได้ทักษะติดตัวแล้ว หรืออาจถึงขั้นเป็นนักกีฬาหรือนักดนตรีที่สามารถไปเลยก็ได้
นี่คือข้อดีของการอยู่โรงเรียนประจำ ยิ่งถ้าโรงเรียนมีครูมีอุปกรณ์ สนาม สระว่ายน้ำให้นักเรียนได้ฝึกได้ใช้ ก็ยิ่งวิเศษสำหรับเด็กและผู้ปกครอง มิฉะนั้นแล้ว ผู้ปกครองจะต้องไปจัดหาอุปกรณ์และพาไปเรียนไปฝึกตามสถานที่ต่างๆ
เมื่อนักเรียนกว่าร้อยละแปดสิบเลือกดนตรีหรือกีฬา คงมีคนสงสัยว่า อาจารย์ชัยอนันต์ของเรานั้นเลือกอะไร ? เพราะตอนก่อนๆ อาจารย์ชัยอนันต์เคยเล่าให้ฟังว่า “...เล่นรักบี้กลางสนามยามฝนตก เวลาพุ่งแทคเกิลเพื่อนแล้วพลาด ไถลหน้าถูไปกับน้ำใสและหญ้าชุ่มที่หอมปนเหม็นเขียว ..” ก็แปลว่า แกเล่นรักบี้ ส่วนดนตรี ยังไม่ทราบ
พี่หม่อมชัยนิมิตรได้เฉลยให้ฟังว่า อาจารย์ชัยอนันต์เลือกเป่าทรอมโบนอยู่วงโยธวาทิต และวงโยฯ มีหน้าที่บรรเลงนำขบวนให้นักเรียนเดินสวนสนาม
และการที่อาจารย์ชัยอนันต์เป็นนักดนตรีวงโยธวาทิตนี่เองที่ทำให้เครื่องแบบของอาจารย์ชัยอนันต์แตกต่างไปจากของอาจารย์โกศัลย์ในรูปที่เป็นปริศนาในตอนก่อนๆ
พี่หม่อมได้อธิบายว่า นักเรียนที่เป็นนักดนตรีวงโยธวาทิต “จะมีสายสะพาย เข็มขัดหนังรัดเอว สวมสนับแข้งสีขาว เท่ห์กว่าเครื่องแบบปกติ” ผมก็เลยสงสัยต่อไปว่า แล้วอาจารย์โกศัลย์ท่านไม่เล่นดนตรีหรือไร ? พี่หม่อมบอกว่า อาจารย์โกศัลย์ (แพะ) เลือก “เล่นไวโอลินอยู่วงจุลดุริยางค์มีหน้าที่เล่นเพลงโรงเรียนบนหอประชุม จึงสวมเครื่องแบบเช่นเดียวกันกับนักเรียนวชิราวุธทั่วไป”
ถึงบางอ้อเลยครับ ! ถ้าท่านผู้อ่านยังจำได้ ผมสงสัยมานานมากแล้วว่า ผมเคยเห็นรูปคล้ายอาจารย์โกศัลย์สีไวโอลิน แต่ไม่แน่ใจว่าใช่ท่านหรือเปล่า และก็จำไม่ได้ว่าเคยเห็นรูปนั้นที่ไหน มาตอนนี้ จากคำบอกเล่าของพี่หม่อม ก็แน่ใจได้เลยว่า รูปที่ผมสงสัยอีกรูปหนึ่งนั้นก็คือ รูปของอาจารย์โกศัลย์แน่ๆ และผมจำได้ลางๆว่า เห็นรูปอาจารย์โกศัลย์สีไวโอลินที่อังกฤษ
ทีนี้ ก็อยากรู้เหมือนกันว่า ตกลงแล้ว เจ้าตัว (หม่อมหลวงนวรัตน) เลือกเล่นดนตรีหรือกีฬาอะไร ? ท่านปรารภแฝงคติไว้ว่า “ส่วนใครเลือกเล่นดนตรีอะไรก็สุดแต่ใครคิดสั้นคิดยาว พวกวงปี่สก๊อตกับวงโยธวาทิตแต่งเครื่องแบบเท่ห์อยู่ไม่กี่ปี ออกจากโรงเรียนไปแล้วก็แค่นั้น ไม่เคยเห็นพี่ปิ๋งนึกครึ้มเอาทรัมโบนมาเป่าในงานหรือในบ้านอีกเลย แต่พี่แพะสามารถมีความสุขกับการสีไวโอลินได้ตลอด”
ก็จริง เพราะนอกจากอาจารย์ชัยอนันต์จะไม่เอาทรัมโบนมาเป่า อาจารย์ไม่เคยกล่าวถึงทรัมโบนให้ผมหรือเพื่อนๆ ผมได้ยินเลย เพิ่งรู้จากพี่หม่อมด้วยซ้ำว่า แกเคยเป่าทรัมโบน ส่วนกรณีของอาจารย์โกศัลย์ ก็จริงของพี่หม่อม เพราะอาจารย์โกศัลย์ไปสีไวโอลินต่อที่อังกฤษ แม้ว่าการเป่าทรัมโบนคนเดียวก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ แต่มันก็ไม่เหมือนเป่าในวง ส่วนสีไวโอลินนั้นก็น่าจะเหมือนกีตาร์หรือเปียโน นั่นคือ เล่นคนเดียวก็ดี เล่นเป็นวงก็ได้
ผมมีลูกสาวที่เป่าทรัมเป็ตตอนอยู่โรงเรียนมัธยม และเป็นหัวหน้าวงโยฯ ของโรงเรียน ก็น่าเห็นใจ(ตัวผมเองและเพื่อนบ้าน) หากเขาจะมาเป่าเล่นเพลินๆ ที่บ้าน จำได้ว่า มีครั้งหนึ่ง หลังจากเขาจบชั้นมัธยมแล้ว เขาตื่นแต่เช้าแล้วเดินทางไปที่บริเวณหน้าพระบรมรูปทรงม้า เพื่อจะหาทางเป่าทรัมเป็ตแถวนั้นคนเดียว ไม่แน่ใจว่า เขาได้เป่าหรือเปล่า เพราะเป็นเขตพระราชฐาน ถ้าเป่าดีเป่าเพราะก็แล้วไป แต่ถ้าไม่ อาจจะเป็นที่ระคายเคืองฯ ได้
ส่วนหม่อมหลวงชัยนิมิตนั้น แกบอกว่า “ส่วนผมบ้าบอคอแตกที่สุด เลือกตีกลองแท๊กเพราะเข้าวงง่าย แต่ต้องแบกจนไหล่ลู่เหงื่อท่วมตัว ออกจากโรงเรียนแล้วก็สาบส่งไปเลย”
เข้าใจ...เข้าใจจริงๆครับ พี่ ผมว่า กลองแท๊กนี่น่าจะอาการหนักกว่าทรัมโบนหรือทรัมเป๊ต หากจะควักมาตีเล่นในบ้านหรือยืนรัวอยู่หน้าพระบรมรูปฯ ตามลำพัง ! แต่ก็ถือว่าเสียสละนะครับ เพราะวงขาดกลองไม่ได้เลย คิดเสียว่าอย่างน้อยก็น่าจะยังดีกว่ากลองเบสใหญ่ก็แล้วกัน หากจะไปยืนตีคนเดียวอยู่หน้าพระบรมรูปฯ
ว่าจะคุยเรื่องชื่อเล่นของคุณพิสิตถ์ศักดิ์ (หรวด) ว่าทำไมถึงผิดแผกแตกต่างไปจากแป๊ดและป๋อม ก็ยังไม่ได้คุยเลย เอาเป็นว่า ตบท้ายคราวนี้ให้ชวนรู้จัก พิสิตถ์ศักดิ์ (หรวด) มากกว่าไปการที่เขามีความเป็นนักคิดนักปรัชญาที่กล่าวไปในตอนที่แล้ว คนอาจจะคิดว่า หรวดเป็นเด็กเรียน ซึ่งก็จริง แต่ “หรวด” เป็นเด็กเนิร์ดสอบเข้ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้เป็นที่หนึ่ง ทั้งที่ๆเรียนมาในสายวิทยาศาสตร์ และใช้เลือกสอบวิชาภาษาฝรั่งเศสที่เขาไม่ได้เรียนที่วชิราวุธ แต่เรียนเองเพียงสองเดือน แต่สอบได้ A และเขาเป็นเด็กเนิร์ดคนเดียวที่เป็นนักรักบี้ทีมจุฬาฯ ชนะเลิศอุดมศึกษา 2 และได้เสื้อสามารถของจุฬาฯไปใส่ตอนไปเรียนต่อที่อังกฤษ
และด้วยความพิเศษของหรวดนี้เองที่ทำให้อาจารย์ชัยอนันต์กล่าวไว้ว่า “พิสิตถ์ศักดิ์เป็นใคร ผมอยากให้เรารู้จักเขา..”