xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถอดรหัสกองทัพพม่าโค่นอำนาจ ‘อองซานซูจี’ ขัดแย้งภายในหนัก- ไม่ใช่แค่ข้ออ้าง “โกงเลือกตั้ง” จับตา “มิน อ่อง หล่าย” สู่ถนนสายการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  การเมืองในเมียนมากลับสู่ภาวะตึงเครียดอีกครั้ง เมื่อกองทัพภายใต้การนำของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจแบบไม่สูญเสียเลือดเนื้อเมื่อช่วงเช้ามืดวันจันทร์ (1 กุมภาพันธ์) พร้อมทั้งมีการควบคุมตัว “อองซานซูจี” ผู้นำโดยพฤตินัยของเมียนมา รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆ จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ก่อนจะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี ท่ามกลางเสียงประณามจากนานาชาติที่มองความเคลื่อนไหวนี้ว่าเป็นการดับฝันของชาวเมียนมาที่จะเห็นประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ 
รัฐประหารครั้งนี้ยังเป็นการปิดฉากทศวรรษแห่งการปกครองโดยพลเรือนในเมียนมา โดยกองทัพอ้างว่าการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วที่พรรค เอ็นแอลดีคว้าชัยชนะอย่างท่วมท้นมีความผิดปกติหลายอย่าง และคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สามารถคลี่คลายข้อสงสัยเหล่านี้ได้

โฆษกพรรคเอ็นแอลดีเปิดเผยว่า ซูจี และประธานาธิบดี วิน มิ้น ถูกทหารเข้าควบคุมตัวที่บ้านพักในกรุงเนปิดอว์เมื่อเช้ามืดวันจันทร์ (1) เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะมีการเปิดประชุมสภาครั้งแรกหลังศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน

สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในกรุงเนปิดอว์ถูกตัดขาด ส่วนสถานีโทรทัศน์แห่งชาติก็อยู่ในภาวะ  “จอดำ”  ทันทีหลังมีการควบคุมตัวผู้นำพรรคเอ็นแอลดี ขณะที่กองทหารติดอาวุธ รถบรรทุกทหาร และยานเกราะจำนวนมากตรึงกำลังปิดถนนรอบเมืองหลวง


หลังจากนั้นไม่นาน กองทัพเมียนมาได้ออกแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ว่าจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยให้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้กุมอำนาจสูงสุด และแต่งตั้งนายพล มิน ส่วย อดีตรองประธานาธิบดี ขึ้นเป็นผู้รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดี พร้อมทั้งให้สัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งหลังครบกำหนดการบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน
ทางด้านพรรคเอ็นแอลดีได้เผยแพร่เอกสารซึ่งอ้างว่า ซูจี ได้ร่างเอาไว้ล่วงหน้า เนื่องจากคาดว่ากองทัพมีแผนจะยึดอำนาจ โดยในถ้อยแถลงดังกล่าวเธอเรียกร้องให้ประชาชนชาวเมียนมาอย่ายอมรับการรัฐประหาร และให้ออกมาประท้วง

 “การกระทำของกองทัพจะทำให้ประเทศก้าวถอยหลังกลับไปอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ เราขอเรียกร้องให้ประชาชนอย่ายอมรับสิ่งนี้ จงตอบสนองและประท้วงอย่างเต็มที่ เพื่อต่อต้านการรัฐประหารโดยกองทัพ” คำแถลงซึ่งมีชื่อของ ซูจี แต่ปราศจากลายเซ็น ระบุ 

วิน เต็ง หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดี ออกมายืนยันและสาบานว่าถ้อยแถลงนี้เป็นคำพูดที่มาจาก ซูจี จริงๆ

มีรายงานในวันพุธ (3) ว่า ตำรวจเมียนมาได้แจ้งข้อหา อองซานซูจี ฐานนำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคมผิดกฎหมาย โดยเกี่ยวข้องกับการครอบครองวิทยุมือถือ (walkie-talkie) จำนวน 6 เครื่อง ระหว่างการตรวจค้นบ้านพักของเธอในกรุงเนปิดอว์ โดยทางตำรวจอ้างว่าวิทยุมือถือเหล่านี้ถูกนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมายและนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเธอจะถูกควบคุมตัวเพื่อสอบสวนไปจนถึงวันที่ 15 ก.พ.

 มีอำนาจล้นฟ้า แต่ทำไมถึงต้องรัฐประหาร
คำถามสำคัญที่นานาชาติต่างไม่เข้าใจก็คือ ทำไมบรรดานายพลในกองทัพซึ่งยังทรงอิทธิพลทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ จึงออกมาดึงอำนาจคืนจากนักการเมืองพลเรือนอีกครั้ง

ที่สำคัญคือเมื่อปี 2551 คณะผู้นำการปกครองได้ร่างรัฐธรรมนูญโดยจัดสรรที่นั่งในสภานิติบัญญัติ 25% ให้แก่กองทัพ รวมทั้งควบคุมกระทรวงหลัก ๆ อย่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ทั้งยังสามารถใช้อำนาจยับยั้งหรือวีโต้การแก้ไขบทบัญญัติใด ๆ ในรัฐธรรมนูญ

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย แถลงต่อรัฐบาลชุดใหม่ของเขาในการประชุมครั้งแรกเมื่อวันอังคาร (2) ว่า การเข้ายึดอำนาจโดยกองทัพ  “เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”  เนื่องจากมีเสียงประท้วงเรื่องการทุจริตการเลือกตั้งมาแล้วหลายหน ทว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สนใจคำร้องเรียนเหล่านั้น

“แม้จะมีการร้องเรียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากทางกองทัพ แต่นี่คือเส้นทางที่ต้องเลือกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนกว่ารัฐบาลชุดถัดไปจะถูกจัดตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง เรายังจำเป็นต้องควบคุมประเทศ” พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าว

ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมาระบุด้วยว่า ระหว่างช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ การจัดเตรียมเลือกตั้งและต่อสู้โรคระบาดโควิด-19 จะเป็นภารกิจที่รัฐบาลทหารให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ พร้อมให้คำมั่นว่ากองทัพจะจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม และส่งมอบอำนาจให้แก่ผู้ที่ชนะ แต่ไม่กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน


 รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม  ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “เท่าที่ผมพอจะเข้าใจคือ เดิม NLD และกองทัพ ต่างก็ต้องหวังพึ่งซึ่งกันและกัน แต่ในระยะหลังกองทัพเองก็ไม่ได้มีความเป็นเอกภาพมากนัก ในอดีตกองทัพสนิทสนมกับจีน ว่าด้วยผลประโยชน์หลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงทรัพยากร แต่ในระยะหลัง เมื่อเมียนมาเปิดประเทศ ต่างชาติกลุ่มใหม่เข้ามามากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์เรื่อง ชนกลุ่มน้อยโกก้างในรัฐฉานติดชายแดนจีนทำให้หลายฝ่ายมองจีนเป็นภัยความมั่นคง อีกด้านของพรมแดน ทางตะวันตก ปัญหาเรื่องเบงกาลี-โรฮิงญา ที่ชาติตะวันตกเข้ามาแทรกแซงก็ทำให้ หลายๆ ฝ่ายในประเทศกังวล
“กองทัพคบจีนก็น่ากังวล รัฐบาลคบตะวันตกก็น่ากังวล ดังนั้นกองทัพกับรัฐบาลที่เคยต้องพึ่งพากันเหมือนเครื่องหมายหยิน-หยาง ที่ต่างกัน ตรงกันข้ามกัน แต่ต้องอยู่ด้วยกัน ถ่วงดุลกัน จึงเสียสมดุล ประกอบกับ ในกลุ่มกองทัพเอง ระหว่างกลุ่มอาวุโส กับกลุ่มรุ่นใหม่ ก็ดูจะไม่เป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อก่อนอาจจะอยู่ด้วยกันได้ แต่ภายหลังเองหลังจากที่กองทัพบางหน่วยได้รับการสนับสนุนจาก อินเดีย (ซึ่งเป็นพันธมิตรสหรัฐ ในยุทธศาสตร์ อินโด-แปซิฟิก และเป็นคู่กรณีกับจีน) โดยเฉพาะเรื่อง เรือดำน้ำ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลเองก็ได้รับการสนับสนุนเรื่องวัคซีนโควิดจากอินเดีย

“นั่นทำให้ดุลอำนาจ และการพึ่งพาระหว่างจีน ตะวันตก และผู้เล่นใหม่คือ อินเดียเสียสมดุล และสมดุลเดิมระหว่าง NLD และกองทัพ (ซึ่งมี USDP เป็นตัวแทน) ก็เสียสมดุล เพราะกองทัพ มีความแตกตัวออกเป็นกลุ่มๆ กลุ่มนายทหารอาวุโส (สนิทจีน) กลุ่มทหารรุ่นใหม่ที่ยอมรับ NLD มากขึ้น กลุ่มทหารที่ต้องการคบคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่จีน และจากประวัติศาสตร์เมื่อเสถียรภาพในกองทัพไม่มี การออกมาแสดงกำลังมักจะเกิดขึ้น เช่น หลัง 8888 ทหารฝ่ายเนวิน ถูกโค่นโดยฝ่ายตานฉ่วย หรือในช่วงทศวรรษ 2000 ที่ตานฉ่วยก็โค่นตัวแทนของตนเองอย่างโซ่วิ่น-หม่องเอ แล้วแต่งตั้งเต็งเส่ง และในอนาคตอันใกล้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มิน อ่อง ลาย ก็กำลังจะเกษียณอายุ ในเดือนกรกฎาคมนี้ ดังนั้นการที่จะต้องกระชับอำนาจ ถ้าจะต้องทำ ก็ต้องรีบทำตอนนี้”

อย่างไรก็ดี จีนออกมาปฏิเสธข้อครหาให้การสนับสนุนการยึดอำนาจในเมียนมา โดย หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า “ทฤษฎีเหล่านั้นไม่เป็นความจริงเลย ในฐานะเพื่อนบ้านที่ดีของพม่า เราคาดหวังว่าทุกฝ่ายจะสามารถลดความเห็นต่าง เพื่อคงไว้ซึ่งเสถียรภาพของสังคมและระบบการเมือง”

นักวิเคราะห์บางคนมองว่ารัฐประหารในครั้งนี้อาจจะเป็นจุดจบทางการเมืองของหญิงแกร่งที่ชื่อ อองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 1991 และอดีตนักโทษการเมืองวัย 75 ปี ซึ่งกลายมาเป็นผู้นำในทางพฤตินัยของเมียนมา ก่อนจะสูญเสียความเชื่อมั่นจากประชาคมโลกจากการที่เธอไม่ยี่หระต่อปฏิบัติการล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ และถึงขั้นออกหน้าปกป้องกองทัพเมียนมาในศาลระหว่างประเทศ

นิวยอร์กไทม์สอ้างข้อมูลจากที่ปรึกษาของ ซูจี และอดีตทหารเกษียณบางคนซึ่งระบุว่า การที่ ซูจี ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่คนเมียนมาที่นับถือศาสนาพุทธทำให้พวกนายพลอาวุโสมองเธอเป็นตัวอันตราย อีกทั้งระยะหลังๆ มานี้ ความสัมพันธ์ระหว่าง ซูจี กับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ไม่สู้จะดีนัก โดยว่ากันว่าทั้งสองไม่ได้พูดคุยกันโดยตรงมานานเป็นปีแล้ว การสื่อสารที่ลดลงน่าจะมีส่วนทำให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา ซึ่งใกล้เกษียณอายุราชการเกิดความหวาดระแวง และไม่มั่นใจว่าหากปล่อยให้ ซูจี กุมอำนาจต่อไปจะกระทบกับ  “เครือข่ายอุปถัมภ์”  ที่ตนสร้างเอาไว้หรือไม่

 ผู้ใกล้ชิดบางคนระบุว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย มีท่าทีว่าอยากจะลงเล่นการเมืองอยู่เหมือนกัน และอาจถึงขั้นคาดหวังตำแหน่งประธานาธิบดีเมียนมา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ อองซานซูจี ถูกห้ามโดยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีบุตรและสามีเป็นคนต่างด้าว 

 นานาชาติรุมประณามถอยหลังลงคลอง
และแน่นอนว่า สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี  โจ ไบเดน  ได้ออกแถลงการณ์ประณามการรัฐประหารในเมียนมา พร้อมยืนยันว่าอเมริกา “จะยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตย” และขู่ฟื้นมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯ เคยยกเลิกให้แบบค่อยเป็นค่อยไป หลังจากที่รัฐบาลทหารเมียนมาริเริ่มกระบวนการปฏิรูปประชาธิปไตยและปล่อยตัวนักโทษการเมืองเมื่อช่วง 10 ปีก่อน

“การก้าวถอยหลังของกระบวนการดังกล่าวทำให้เราจำเป็นต้องทบทวนกฎหมายและอำนาจคว่ำบาตรของเราในทันที ตามด้วยการดำเนินการอย่างเหมาะสม” ไบเดน ระบุ

อย่างไรก็ตาม คำขู่นี้ดูเหมือนจะไม่ได้ผล เพราะกองทัพเมียนมานยังคงเดินหน้ารวบอำนาจด้วยการประกาศปลดรัฐมนตรี 24 คนในคณะบริหารของ ซูจี คืนวันจันทร์ (1) พร้อมกับแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่จำนวน 11 คนเพื่อดูแลกระทรวงสำคัญต่างๆ เช่น กระทรวงการคลังคลัง, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี  บอริส จอห์นสัน  แห่งอังกฤษ เรียกร้องให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัว อองซานซูจี รวมถึงผู้นำพลเรือนคนอื่นๆ ที่ถูกจับ พร้อมย้ำเตือนให้เคารพเสียงของประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้เรียกทูตเมียนมาเข้าพบเพื่อแจ้งว่า สหราชอาณาจักร  “จะร่วมมือกับชาติพันธมิตรที่มีแนวคิดตรงกัน และกดดันทุกวิถีทางให้เมียนมากลับสู่ระบอบประชาธิปไตย” 

โจเซป บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป, อูร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป รวมถึงรัฐบาลในอียู ต่างออกคำแถลงติเตียนรัฐประหารในเมียนเช่นกัน ทว่าส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยชื่ออองซานซูจี บ่งบอกถึงความผิดหวังที่ยุโรปมีต่อนักการเมืองหญิงซึ่งถูกยกย่องให้เป็น “ไอคอนประชาธิปไตย” แต่กลับเพิกเฉยต่อชะตากรรมของชนกลุ่มน้อยในเมียนมา โดยเฉพาะชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ถูกกองทัพปราบปรามอย่างหนัก

สิงคโปร์เป็นประเทศแรก ๆ ในอาเซียนที่ออกมาแสดงจุดยืนต่อการรัฐประหารในเมียนมา โดยกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ระบุว่า “กังวลอย่างยิ่ง” และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมา “ใช้ความอดทนอดกลั้น เปิดช่องทางการเจรจา เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ในเชิงบวกและสันติ”

รัฐบาลมาเลเซียเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมาใช้แนวทางสันติวิธีคลี่คลายข้อพิพาทเรื่องผลการเลือกตั้ง โดยสนับสนุนการเจรจาระหว่างผู้นำเมียนมา เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนและต่อรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่อินโดนีเซียเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนในเมียนมายึดถือแนวทางประชาธิปไตย และขอให้เคารพหลักการที่ระบุไว้ใน “กฎบัตรอาเซียน”

กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์แถลงเมื่อวันอังคาร (2) ว่ารู้สึกกังวลต่อสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งเป็นการเผยท่าทีขึงขังมากยิ่งขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต ออกมาพูดในช่วงแรกๆ ว่า การรัฐประหาร “เป็นกิจการภายในที่ชาวฟิลิปปินส์ไม่ควรไปก้าวก่าย”

ด้านนายกรัฐมนตรี  ฮุน เซน แห่ง กัมพูชา ระบุชัดเจนว่าการรัฐประหารในเมียนมา “เป็นกิจการภายใน”  และกัมพูชาไม่ขอแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องภายในของประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนหรือไม่ก็ตาม ซึ่งก็ดูคล้ายๆ กับท่าทีของรัฐบาลไทยที่  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์นักข่าวเพียงสั้นๆ ว่าไทยยึดถือ  “จุดยืนอาเซียน” ขณะที่  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี ก็พูดแค่ว่า  “เป็นเรื่องภายในของเขา กลัวเรื่องโควิดอย่างเดียว” 


ช่วงค่ำวันอังคาร (2) ชาวเมียนมาในนครย่างกุ้งได้รวมตัวกันเคาะหม้อเคาะกระทะ และเปล่งเสียงขับไล่ “ความชั่วร้ายจงออกไป” ซึ่งถือเป็นการแสดงออกถึงการประท้วงอย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรก ขณะที่แพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจาก 70 โรงพยาบาลใน 30 เมืองทั่วเมียนมาเริ่มหยุดงานประท้วงในวันที่ 3 ก.พ. เพื่อแสดงพลังต่อต้านการรัฐประหาร

ขณะเดียวกัน ชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในต่างแดนก็ได้รวมตัวประท้วงที่หน้าสถานทูตหรือหน่วยงานของรัฐในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, เนปาล รวมถึงในประเทศไทย ซึ่งเมื่อวันที่ 1 ก.พ. นายปิยรัฐ จงเทพ หัวหน้ากลุ่ม วี วอลันเทียร์ หรือ “วีโว่” พร้อมกับนายพริษฐ์ ชิวารักษ์, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มราษฎร, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, น.ส.พรรณิการ์ วานิช และแรงงานชาวพม่า ได้รวมตัวกันที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยบนถนนสาทรเหนือ โดยมีการอ่านแถลงการณ์ 3 ภาษาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการทำรัฐประหาร และเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัวอองซานซูจี

ในขณะที่ชาวเมียนมาส่วนใหญ่และนานาชาติต่างรุมประณามคัดค้านการก่อรัฐประหารโค่นอำนาจผู้นำพลเรือน ข่าวการควบคุมตัว อองซานซูจี ก็ได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็วในค่ายผู้ลี้ภัยบังกลาเทศซึ่งมีมุสลิมโรฮิงญาอาศัยอยู่ราว 1 ล้านคน และมีรายงานว่าชาวโรฮิงญาจำนวนมากแสดงความ  “ดีอกดีใจ” ที่ผู้นำหญิงคนดังรายนี้ร่วงตกจากอำนาจ

 ฟาริด อุลลาห์ ผู้นำชุมชนชาวโรฮิงญาในค่ายกุตุปะหล่องซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยใหญ่ที่สุดในโลกให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า ซูจี “อยู่เบื้องหลังความทุกข์ยากทั้งหมดของพวกเรา แล้วทำไมพวกเราจะไม่เฉลิมฉลอง” ขณะที่ โมฮัมหมัด ยูซุฟ ผู้นำค่ายลี้ภัยที่อยู่ใกล้ๆ กันกล่าวว่า “ซูจีเป็นความหวังสุดท้ายของเรา แต่เธอกลับไม่สนใจชะตากรรมของพวกเรา และสนับสนุนการล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา”

“อองซานซูจี เมินเฉยต่อเสียงตำหนิติเตียนของนานาชาติ โดยอ้างว่าตัวเองไม่ใช่นักสิทธิมนุษยชน แต่เป็นแค่นักการเมือง น่าเสียดายที่แม้แต่ความเป็นนักการเมืองของเธอก็ยังไม่ดีพอ” ฟีล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอตช์ประจำภูมิภาคเอเชีย ระบุ “เธอสอบตกทางด้านศีลธรรมอย่างใหญ่หลวงจากการช่วยปกปิดความโหดร้ายป่าเถื่อนที่กองทัพเมียนมากระทำต่อชาวโรฮิงญา แต่การสงบศึกกับกองทัพก็ไม่สามารถเป็นจริงได้ และเวลานี้ชัยชนะถล่มทลายที่เธอได้มาจากการเลือกตั้งก็ต้องมาพังทลายลงเพราะรัฐประหาร”

 จับตาผลกระทบทางเศรษฐกิจ 

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศฟันธงเมื่อวันอังคาร (2) ว่าปฏิบัติการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. เข้าองค์ประกอบของการก่อ “รัฐประหาร” ซึ่งทำให้สหรัฐฯ จำเป็นต้องตัดความช่วยเหลือแก่พม่าโดยอัตโนมัติ แต่อาจจะไม่รวมถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เช่น การช่วยเหลือที่ให้กับชาวมุสลิมโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยไร้รัฐ เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการลงทุนของสหรัฐฯ ในเมียนคนหนึ่งมองว่า มาตรการคว่ำบาตรและการตัดเงินช่วยเหลืออาจถูกต่อต้านจากภาคธุรกิจที่ยังต้องการให้สหรัฐฯ คงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเมียนมาไว้ และนักลงทุนส่วนใหญ่น่าจะต้องการเห็นบทลงโทษที่พุ่งเป้าเฉพาะเจาะจงไปยังบุคคลในคณะรัฐประหารมากกว่า
ขณะเดียวกัน อดีตเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญก็ยอมรับว่า สหรัฐฯ มีอำนาจต่อรองค่อนข้างจำกัดกับกลุ่มนายพลที่ก่อรัฐประหาร เนื่องจากบุคคลเหล่านี้มีอิทธิพลใกล้ชิดกับบริษัทใหญ่ๆ ภายในประเทศ แต่ไม่ค่อยมีผลประโยชน์หรือทรัพย์สินในต่างแดนให้อายัดได้มากนัก อีกทั้งยังเห็นแล้วว่าการคว่ำบาตรในอดีตแทบไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อคณะผู้นำทหาร มีแต่จะทำให้พลเมืองยากจนลง

ฮิวแมนไรต์วอตช์ (HRW) เรียกร้องให้ประธานาธิบดี ไบเดน ใช้บทลงโทษอย่างเฉพาะเจาะจงกับบริษัทซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับกองทัพ ตัวอย่างเช่น Myanmar Economic Holdings Limited (MEHL) และ Myanmar Economic Corp (MEC) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนในหลายภาคส่วน ทั้งด้านธนาคาร, อัญมณี, ทองแดง, การสื่อสาร และเครื่องแต่งกาย

ในแง่ของผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและนักวิเคราะห์คาดว่า การรัฐประหารอาจจะทำให้บริษัทอเมริกันและตะวันตกให้ความสนใจเข้าลงทุนในเมียนมาน้อยลง หรืออาจจะถึงขั้นทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่บางรายตัดสินใจถอนกิจการออก

 ข้อมูลจากหน่วยงานของสหรัฐฯ ระบุว่า การค้าระหว่างเมียนมาและสหรัฐฯ มีมูลค่าเกือบ 1,300 ล้านดอลลาร์ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2020 เพิ่มขึ้นจาก 1,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 ขณะที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) รายงานว่ามูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเมียนมาขยายตัวขึ้นถึง 33% มาอยู่ที่ 5,500 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2562/2563 โดยสิงคโปร์และฮ่องกงเป็นชาติที่เข้าไปลงทุนมากที่สุด 

สำหรับไทยซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา แน่นอนว่าย่อมจะได้รับผลกระทบบ้างไม่มากก็น้อย โดยเมื่อวันที่ 1 ก.พ.  นายเกรียงไกร เธียรนุกุล  รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้ว่ายังเร็วเกินไปที่จะประเมินสถานการณ์ทางตรงต่อเศรษฐกิจไทย แต่ผลกระทบทางอ้อมที่น่าเป็นห่วงก็คือ แรงงานอาจไหลทะลักเข้ามาในไทย ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์โควิด -19 จึงอยากให้หน่วยงาน  ที่เกี่ยวข้องเข้มงวดในการตรวจตราบริเวณชายแดน โดยเฉพาะบริเวณช่องทางธรรมชาติ 2,400 กิโลเมตร และต้องจัดการกับขบวนการลักลอบขนแรงงานผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด

ขณะที่ “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า นักลงทุนไทยกำลังติดตามอย่างใกล้ชิดว่าตะวันตกจะกดดันกองทัพเมียนมาด้วยการคว่ำบาตรสินค้าหรือไม่ เพราะหากเกิดขึ้นจริงจะมีผลเชิงลบกับนักลงทุนของไทยที่เข้าไปสร้างฐานผลิตเพื่อส่งออก จะทำให้การส่งออกไปประเทศตะวันตกลำบากมากขึ้น

ดังนั้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สถานการณ์ในเมียนมาจะดำเนินไปอย่างไร และรัฐบาลทหารที่นำโดย “พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย” จะทำตามสัญญาที่ประกาศหรือไม่ และกระแสต่อต้านจะสั่นสะเทือนทหารได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงข่าวที่เขาจะเดินหน้าเข้าสู่ถนนสายการเมืองจะเป็นจริงแค่ไหนอย่างไร.


กำลังโหลดความคิดเห็น