xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รู้จัก “มิน อ่อง หล่าย” Deep State แห่งเมียนมา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุด  “อองซานซูจี”  ผู้นำโดยพฤตินัยของเมียนมา รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆ จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ก็เรียบร้อย  “โรงเรียนทหารเมียนมา”  เมื่อกองทัพภายใต้การนำของ  “พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย”  ก่อการรัฐประหารเมื่อช่วงเช้ามืดวันของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา

หลังการรัฐประหาร กองทัพเมียนมาได้ออกแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ว่าจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยให้  “พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้กุมอำนาจสูงสุด และแต่งตั้ง  “นายพล มิน ส่วย” อดีตรองประธานาธิบดี ขึ้นเป็นผู้รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดี

แน่นอนว่า โมงยามนี้ประชาคมโลกย่อมจับจ้องไปที่ผู้นำการรัฐประหารที่ชื่อ “มิน อ่อง หล่าย”

สำหรับคนไทยและประเทศไทยแล้ว ชื่อ “มิน อ่อง หล่าย” เป็นที่คุ้นหูและได้ยินได้ฟังกันมาอย่างต่อเนื่อง
ในทางการเมือง มีความพยายามที่จะโยงชื่อนี้ไปที่  “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์”  ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ผู้ล่วงลับ ด้วยเป็นที่รับรู้ว่า “มิน อ่อง หล่าย” ปวารณาตัวเป็น  “บุตรบุญธรรมป๋าเปรม” 

สายสัมพันธ์ตรงนี้เกิดขึ้นหลังจากได้เข้าพบ ‘ป๋าเปรม’ ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ ในปี 2555 ซึ่งทั้งคู่ต่างพูดคุยถูกคอกันจึงทำให้ “มิน อ่อง หล่าย” ได้ขอเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่นั้นมา หลังจากนั้นทุกครั้งที่มาเยือนไทยก็จะเข้าพบป๋าเปรมเสมอ

แต่เอาเข้าจริงต้องบอกว่า “มิน อ่อง หล่าย” มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มก๊วนอำนาจในประเทศไทยอย่างกว้างขวางมาทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอดีตนายกรัฐมนตรีไทยที่ชื่อ  “ทักษิณ ชินวัตร” 

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ด้วยเหตุอันใดการรัฐประหารในเมียนมาครั้งนี้ ทั้ง “นายใหญ่”ทักษิณ ชินวัตร และ “นายหญิง” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ “เงียบเป็นเป่าสาก” จนแทบจะประกาศตามหาคนหาย

ปกติ “สองศรีพี่น้องหนีคดี” เป็นโรคอ่อนไหวกับการรัฐประหารง่าย ทุกวันครบรอบ 19 กันยายน 2549 หรือ 22 พฤษภาคม 2557 จะต้องออกมาโอดโอยว่า ถูกกระทำย่ำยี

โดยเฉพาะ “ยิ่งลักษณ์” นี่น่าจะเป็นเข้าใจหัวอกผู้หญิงด้วยกัน ไม่มีแม้แต่แสดงความเห็นอกเห็นใจ “ออง ซาน ซูจี” แม้สักนิด เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์แทบจะร้าง

นั่นเพราะสองศรีพี่น้องน้ำท่วมปาก พูดไม่ออก เพราะผู้ที่กระทำรัฐประหารอย่าง “มิน อ่อง หล่าย’ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น “คนกันเอง” ของตระกูลชินวัตร โดยเฉพาะ “ทักษิณ” นี่รักกันดี

โดยเมื่อปี 2556 ในช่วงเทศสงกรานต์ “ทักษิณ” เคยไปเจรจาลับกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ที่บ้านพักหรู เชิงเขาเขตมัณฑะเลย์ มาแล้ว ท่ามกลางข่าวลือเรื่องการลงทุนโครงการท่าเรือทวาย ขณะเดียวกัน ยังมีข่าวว่า “ทักษิณ” มีบ่อน้ำมันอยู่ในเขตพิเศษทวายด้วย นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่า ผู้ทำรัฐประหารเมียนมารายนี้ ยกที่ดินใจกลางเมืองย่างกุ้งให้กับอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยมาแล้ว

 หลักฐานคือเสียงของชายจากแดนไกลในคลิปบอกว่า เคยไปร่วมงานสงกรานต์กับมิน อ่อง หล่าย พร้อมระบุว่า “พวกผมทั้งนั้นแหละ มันยกที่ให้ผมแปลงนึง ใจกลางเมืองย่างกุ้ง” 

“ทักษิณ” นั้น มีความเกี่ยวข้องอยู่กับผลประโยชน์ทางธุรกิจครอบครัวกับทางการเมียนมาที่มีผู้นำเป็นรัฐบาลทหารมาโดยตลอด

คดีที่คนไทยไม่มีวันลืมคือ กรณีที่ “ทักษิณ” สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี เห็นชอบให้  ธนาคาร เอ็ก- ซิมแบงก์ อนุมัติปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอัตรา 3% ต่อปี ให้กับรัฐบาลพม่าวงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของเมียนมา ซึ่งดอกเบี้ยนั้นต่ำกว่าราคาต้นทุนของเอ็กซิมแบงก์ และเพื่อหวังประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียม ที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์จาก บริษัท ชินแซทเทอร์ไลท์ ฯที่เป็นบริษัทในเครือชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชินวัตร

เรื่องนี้ถูกคัดค้านอย่างมากว่า “ทักษิณ” ไม่สมควรจะมีความร่วมมือด้านโทรคมนาคมเป็นการเฉพาะกับประเทศไทย เนื่องจากเป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดภายในประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อครหาว่ามีผลประโยชน์ส่วนตัวเกี่ยวข้อง

ที่สุดศาลฎีกาพิพากษาว่า เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) ให้จำคุก 3 ปี

นอกจากเรื่องคดีความชื่อของ “มิน อ่อง หล่าย” ยังเคยปรากฏใน  “คลิปถั่งเช่า” อันลือลั่น ระหว่าง “ทักษิณ” กับ “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา สมัยเป็น รมช.กลาโหม และมี “คุณหนูปู” เป็นนายกฯควบ รมว.กลาโหม ที่มีการพูดถึง “นายพลเมียนมา” คนนี้อย่างเป็นกันเอง ขึ้นไอ้ ขึ้นมัน แสดงให้เห็นถึงความสนิทสนมกลมเกลียว

ไม่แปลกที่ “พรรคเพื่อไทย” จะอยู่ในอาการแบะๆ ใบ้กิน พูดไม่ออก เพราะเป็นซี้ “เจ้านาย”

บรรดาแฟนคลับต่างล้อเลียนกันว่า “มิน อ่อง หล่าย” เป็นบุตรบุญธรรม “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้ล่วงลับ โดยไม่รู้เลยว่า “ทักษิณ” นี่ตัวพ่อเลย

ภาพถ่ายจากเฟซบุ๊กของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่เจ้าตัวกำลังรดน้ำผู้บัญชาการทหารแห่งพม่า ณ บ้านพักตากอากาศเขตเมย์เมียว (Maymyo) เมืองหุบเขา แห่งมัณฑะเลย์
กล่าวสำหรับเส้นทางสายทหารของ “มิน อ่อง หล่าย” เริ่มต้นขึ้นหลังสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยป้องกันชาติแห่งประเทศพม่า(Defense Services Academy -DSA) โดยหลังจากนั้นรับตำแหน่งผู้บัญชาการรัฐมอญ ก่อนที่ในปี 2545 จะได้รับการเลื่อนขั้นรับตำแหน่งผู้บังคับบัญชีการกองบัญชาการของกรมทหารภาคสามเหลี่ยมในรัฐฉาน (the Triangle Regional Military Command) ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเจรจากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย 2 กลุ่มคือ กองทัพแห่งรัฐว้า (United Wa State Army - UWSA) และกองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กลุ่มหยุดยิงเมืองลา (National Democratic Alliance Army - NDAA)

เรียกว่า จากประวัติและผลงานนับตั้งแต่เข้ารับราชการทหาร “มิน อ่อง หล่าย” ได้รับการจับตามองอย่างมากในฐานะดาวดวงใหม่แห่งกองทัพเมียนมาเลยทีเดียว

ต่อมา ในปี 2552 ชื่อของ “มิน อ่อง หล่าย” เริ่มฉายแววโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด จากการเป็นผู้นำกำลังเข้าต่อต้านกลุ่มกองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย (NDAA) ในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยโกกัง ส่งผลให้ชาวโกกังราว 3.7 หมื่นคนลี้ภัยไปจีนหลังจากนั้น ในปี 2553 “มิน อ่อง หล่าย” ซึ่งในขณะนั้นมียศเป็นพลโทได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกองยุทธการพิเศษที่ 2 (the chief of the Bureau of Special Operations-2) หน่วยบัญชาการทหารภาครัฐฉานและรัฐกะเหรี่ยง ก่อนที่ในปี 2554 จะได้รับการสืบทอดตำแหน่งจาก  “พล.อ.อาวุโสตานฉ่วย”  ให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการสูงสุดของกองทัพจนถึงปัจจุบัน

ที่น่าสนใจก็คือ สถานะของผู้นำสูงสุดของกองทัพเมียนมานั้นไม่ได้มีแค่  “อำนาจ” หากแต่ยังดูแลรัฐวิสาหกิจสำคัญอย่างน้อย 2 แห่ง ซึ่งทั้งสองแห่งถูกขนานนามว่า เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับต้นๆ ของเมียนมาคือ

 1.) Myanma Economic Holdings Limited (MEHL)
2.) Myanmar Economic Corporation (MEC) 


โดยทั้งสองแห่งทำธุรกิจหลากหลาย ตั้งแต่ท่าเรือ เหมืองแร่ ธนาคาร ประกันภัย ขนส่ง เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงธุรกิจเครื่องดื่ม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เบียร์ที่เป็นพันธมิตรของแบรนด์เบียร์รายใหญ่ระดับโลกหลายยี่ห้อ

รัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งในความดูแลของกองทัพเมียนมา มีความเกี่ยวข้องกับอย่างน้อย 106 บริษัทในหลากหลายธุรกิจของเมียนมาโดยรายได้จากรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งทำให้กองทัพเมียนมามีอิสระทางการเงินจากรัฐบาล โดยเฉพาะบริษัท Myanma Economic Holdings Limited (MEHL) ที่ถูกจับตาเป็นอย่างมาก โดยเชื่อว่าอาจเป็นธุรกิจที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงของกองทัพเมียนมา

ทั้งนี้ มีรายงานว่าบริษัท MEHL จ่ายเงินให้กับบุคลากรของกองทัพเมียนมาไม่ต่ำกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 540,000 ล้านบาทในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผ่านการเข้าไปบริหารและถือหุ้นบริษัทของผู้นำกองทัพเมียนมา

ขณะที่ข้อมูลจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า เมื่อปี 2553-2554 พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ถือหุ้นในบริษัท MEHL จำนวน 5,000 หุ้น และได้รับเงินปันผลราว 250,000 ดอลลาร์ หรือราว 7.5 ล้านบาท

ขณะที่ครอบครัวของ “มิน อ่อง หล่าย” ประกอบธุรกิจที่หลากหลายเช่นกัน และถูกวิจารณ์มาโดยตลอดว่า ใช้อำนาจบารมีของพ่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้กับลูกๆ หรือไม่ โดยลูกชายคือ “อ่อง แพ โซน (Aung Pyae Sone)”  เป็นเจ้าของธุรกิจนำเข้าอาหาร ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขณะเดียวกันยังถูกจับตาจากการทำธุรกิจร้านอาหารใกล้กับเจดีย์ชเวดากอง ในนครย่างกุ้ง จนถูกวิจารณ์อย่างมากว่าได้สิทธิ์เช่าอาคารในทำเลที่ดีที่สุดในราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ “อ่อง แพ โซน” ยังเป็นเจ้าของรีสอร์ทขนาดใหญ่ที่ถูกสังคมวิจารณ์ว่า ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างจากพรรคพวกใกล้ชิดกับกองทัพ รวมทั้งยังได้สัมปทานจากกระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยวในการสร้างโรงแรมที่เมืองมรัค-อู อีกด้วย

ขณะที่ภรรยาของอ่อง แพ โซน ก็มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจก่อสร้างและการพัฒนาที่ดินเช่นกัน

ส่วนบุตรสาวของ “มิน อ่อง หล่าย” คือ   “ขิ่น ทีรี เต็ด มอญ (Khin Thiri Thet Mon)” มีรายงานว่าเธอเป็นเจ้าของธุรกิจสื่อ ที่เซ็นสัญญาจัดการด้านการตลาดให้กับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ‘Mytel’ ซึ่งเป็นของรัฐวิสาหกิจในกองทัพเมียนมา

นอกจากนั้น ลูกสาวคนนี้ยังประสบความสำเร็จในการสร้างภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ในเมียนมาหลายเรื่อง จนสื่อท้องถิ่นของเมียนมารายงานว่า เธอคิดนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการสร้างภาพยนตร์ ทั้งๆ ที่พ่อของเธอมีนโยบายเข้มงวดเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ที่เข้าฉายในประเทศ

และทั้งหมดนั้นคือเรื่องราวของ “มิน อ่อง หล่าย” Deep State ตัวจริงแห่งเมียนมา ผู้มีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งกับนักการเมืองไทย โดยเฉพาะนักโทษชายหนีคดี “ทักษิณ ชินวัตร”


กำลังโหลดความคิดเห็น