ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หัวข่าวมติคณะรัฐมนตรีสัปดาห์ก่อน ระบุว่า"ครม.เห็นชอบกรอบงบประมาณ 3,283 ล้านบาท เป็นเจ้าภาพการประชุม เอเปก 2022 โดยจะเริ่มราวเดือน ธ.ค.64 –พ.ย.65 รวม 15 การประชุม
ประกอบด้วย การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส 5 ครั้ง การประชุมระดับรัฐมนตรี 9 ครั้ง และการประชุมระดับผู้นำ 1 ครั้ง และยังมีการประชุมและ/หรือกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมตามที่ส่วนราชการจะเป็นเจ้าภาพ เช่น การจัดกิจกรรมสัปดาห์ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security Week) และการดำเนินโครงการโรงเรียนเครือข่ายเอเปก เป็นต้น
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่าที่ประชุมเห็นชอบกรอบวงเงินในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ รวมทั้งสิ้น 3,283.10 ล้านบาท ทั้งหมดมาจากงบประมาณรายจ่ายปี 2565 จำนวน 2,342.28 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายปี 2566 จำนวน 940.82 ล้านบาท ครม. ยังขอให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาความจำเป็น เหมาะสมของภารกิจ และวงเงินที่จะใช้ในการดำเนินการให้รอบคอบ รัดกุม และไม่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณมากเกินความจำเป็นด้วย
หากในอนาคตกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีภารกิจที่มีความจำเป็นที่จะต้องขอรับการจัดสรรงบฯเพิ่มเติมให้หน่วยงานต่างๆ พิจารณาความจำเป็น เหมาะสมของภารกิจและวงเงินที่จะใช้ ในการดำเนินการให้รอบคอบ รัดกุม ไม่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณมากเกินความจำเป็น ก่อนเสนอขอรับการจัดสรรงบฯ ตามขั้นตอนต่อไป โดยให้ดำเนินการให้ถูกต้อง ครบถ้วน ตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติครม.ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย
เจ้าภาพมาจากไหน? ใครเลือก ย้อนกลับไปรัฐบาลปี 55 ผู้นำรัฐบาลสมัยนั้นแจ้งระหว่างประชุมเอเปกครั้งที่ 20 ที่นครวลาดิวอสต็อก สหพันธรัฐรัสเซียว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพปี 65 หรือ เอเปก 2022 เพราะยังไม่มีใครเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ หลังจากไทยเคยเป็นเจ้าภาพระดับรัฐมนตรี ปี 35 (1992) และระดับผู้นำประเทศ ปี 46 (2003) โดยทุกหน่วยงานเห็นชอบ จนมีการแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
จนเมื่อปี 61 รัฐบาลคสช. โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการไปยัง"สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (สป.กห.)" ให้เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น
"เร่งรัดการดำเนินการเตรียมความพร้อม “ด้านสถานที่”ที่จะใช้สำหรับการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก (APEC Economic Leaders Meeting)ในปี 65 (APEC 2022)ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ"
โดยให้คำนึงถึงการออกแบบ และการกำหนดขนาดของห้องประชุม รวมทั้งอาคารประกอบที่ใช้ประโยขน์ได้อย่างเหมาะสม คุ้มค่า และแสดงถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของไทยด้วย
“ในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 27ก.พ.61 นายกฯสั่งการไปแล้วต่อ รมว.กลาโหม เป็นเจ้าภาพหลัก ให้จัดหาสถานที่เพื่อเป็นหน้าเป็นตาของประเทศไทย”
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ "กระทรวงวัฒนธรรม" พิจารณาคัดเลือกบทเพลงที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ไทย เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ ใช้เป็นเพลงในการนำเสนอในเวที หรือการจัดนิทรรศการระดับนานาชาติ ทั้งที่จัดในประเทศไทยและต่างประเทศเพื่อแสดงความเป็นไทย
"นายกฯเห็นว่าประเทศไทยควรมีเพลงที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ไทย เพื่อนำเสนอในเวทีหรือการจัดนิทรรศการ ระดับนานาชาติ เพราะที่ผ่านมามีการนำเสนอเพลงรำวง เช่น เพลงลอยกระทง เป็นต้น จึงอาจต้องการให้เผยแพร่เพลงใหม่ๆ"
หากว่าด้วยเรื่อง“กรอบงบประมาณ”ในการจัดงานใหญ่ในระดับผู้นำแล้ว ล่าสุด รัฐบาลคสช. เคยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม "สุดยอดอาเซียน" และการประชุมที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ปี 62 เป็นการประชุมสุดยอดอาเชียนครั้งที่ 34 และการประชุมสุดยอดอาเชียน ครั้งที่ 35 โดยรัฐบาล คสช. ขณะนั้น จัดสรรงบฯ จากงบกลาง หลังจาก"สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)" เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเป็น "ประธานอาเซียนของไทย และ การประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง" สำหรับ 15 หน่วยงาน เบื้องต้นวงเงิน 1,198,110,900 บาท
เมื่อย้อนกลับไปดู การใช้งบฯ จัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ของรัฐบาลเก่าๆ เมื่อปี 46 หรือ ค.ศ. 2003 แม้ไม่มีตัวเลขแน่ชัด เพราะไม่มีการเปิดเผยการใช้งบประมาณที่แท้จริง
โดยมีการประเมินว่า ปี 46 ในจัดประชุมเอเปก ไทยใช้เงินไปทั้งสิ้นราว 5,000 ล้านบาท งบฯ กว่า 2,083.71 ล้านบาทที่ ระบุไว้ในมติครม.ปี 46 แบ่งเป็นค่าปรับปรุงตกแต่งสถานที่ต่างๆ เช่น งบที่จัดให้กองทัพเรือกว่า 500 ล้านบาท มีการขอวงเงิน "งบกลาง" เพิ่มเติมสำหรับเป็นค่าใช้จ่าย จำนวน 366,870,600 บาท มีการโยกงบฯ ที่ยังไม่จำเป็นมาใช้จ่าย เช่น ให้กระทรวงการต่างประเทศ นำเงินเหลือจ่ายของงบกลางรายการค่าใช้จ่ายในการเตรียมการช่วยเหลืออพยพคนไทยและแรงงานไทยในอิรัก อิสราเอล และคูเวต ซึ่งมีวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 80 ล้านบาท ไปใช้เพื่อการประชุมเอเปก เพิ่มเติมด้วย
ครม.ปี 46 มีข้อสังเกตว่า งบฯ ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุม ซึ่งมีจำนวนสูงมากกว่า 1,000 ล้านบาท จึงควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกันด้วยว่า วงเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าว นอกจากจะเป็นค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก แล้ว ยังรวมถึงการจัดประชุมย่อยระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และระดับรัฐมนตรีด้านต่างๆ ซึ่งได้จัดประชุมมาตลอดก่อนหน้านี้ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ รวมกว่า 20 ครั้ง และรวมตลอดถึงค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและปรับปรุงซ่อมแซมอาคารต่างๆ ที่จะใช้จัดกิจกรรมต่างๆ ในระหว่างการจัดประชุมเอเปกด้วย ซึ่งภายหลังการประชุมสิ้นสุดแล้ว ก็จะเป็นทรัพย์สินถาวรที่สามารถจะใช้ประโยชน์ทางราชการได้ต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีรายการค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดหาเพื่อให้การดำเนินการจัดการประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งสามารถนำไปใช้งานต่อไปได้ด้วย และในฐานะที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม รัฐบาลต้องดำเนินการให้บรรดาผู้นำประเทศต่างๆ ตลอดจนผู้ร่วมเดินทางมาร่วมการประชุมเกิดความประทับใจมากที่สุด เพื่อให้เกิดภาพพจน์ และความเชื่อถืออันดีแก่ประเทศ
ยังมีงบที่จัดสรรให้ "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" ขณะนั้น 77,163,206 บาท จัดหาครุภัณฑ์สนับสนุนการปฏิบัติภารกิจการรักษาความปลอดภัยและการจราจร เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 38 ชุด
ที่น่าสนใจ ในคราวนั้น มีการอนุมัติให้ "กองทัพเรือ" ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารกองทัพเรือ ในวงเงินไม่เกิน 499,500,000 บาท โดยให้ดำเนินการในลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2545-2546 โดยอาคารดังกล่าว หลังเสร็จภารกิจ มีประโยชน์มาหาศาลในด้านการในเชิงพาณิชย์
สำหรับการประชุม เอเปก2022 โฆษกรัฐบาล บอกว่าโอกาสสำคัญที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก ในปี 65ว่า จะเป็น “ยุคปกติใหม่”ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลก ทำให้ไทยสามารถส่งเสริมประเด็นที่ไทยได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึง ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร ในบทบาทที่ไทยเป็นผู้ผลิตอาหารให้แก่โลก รวมทั้งการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืนด้วย
โฆษกยังสรุปว่า ไทยจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือของเอเปก ในการรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 เช่น การช่วยเหลือนักธุรกิจและ MSMEsการสนับสนุนการเพิ่มการเข้าถึงยา เวชภัณฑ์และสินค้าที่จำเป็นของประชาชน รวมทั้งผลประโยชน์อื่นๆ จากนโยบายที่เอเปก ผลักดัน อาทิ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตและเข้าถึงตลาดโลก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ การส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในระบบเศรษฐกิจ อีกด้วย
ส่วนกรอบงบประมาณ 3,283 ล้านบาท รัฐบาลจะนำไปจัดสรรส่วนไหนบ้าง ติดตามชมกันต่อไป
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า งบฯก้อนนี้ รัฐบาลใช้งบรายจ่ายปี 64-65 ไม่เหมือนรัฐบาลก่อนๆ ที่ส่วนใหญ่ใช้ ”งบกลาง”หรืออย่างการจัดประชุม "สุดยอดอาเซียน" สมัยไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ปี 62 ก็ใช้ “งบกลาง”
ที่แน่ๆ งบฯก้อนนี้ ถูกจัดสรรเพื่อเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ให้กับ "สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม" ไปแล้ว