"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
ในแวดวงการเมืองเหตุการณ์ที่สร้างความสนใจแก่ประชาชนอย่างหนึ่งไม่พ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ผู้คนจำนวนมากติดตามอย่างใกล้ชิดดุจตามดูละครดัง เรื่องราวถูกนำมาถกแถลงและตอบโต้กันด้วยภาษา น้ำเสียง และท่วงทำนองที่เร้าอารมณ์ เป็นห้วงเวลาที่สามารถสร้างคะแนนนิยมและทำลายคะแนนนิยมไปพร้อมกัน เป็นห้วงเวลาที่ทดสอบวุฒิภาวะทางอารมณ์ของบรรดาผู้นำทางการเมือง เป็นบททดสอบสติปัญญา ความมีเหตุผล จริยธรรมในการตัดสินใจ และบทบาทในฐานะความเป็นรัฐบาลและความเป็นฝ่ายค้าน
โดยทั่วไปประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ฝ่ายค้านมักหยิบยกมาอภิปรายรัฐบาลได้แก่ ความล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงาน การทุจริตคอรัปชั่น การใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบ การขัดกันของผลประโยชน์ และการมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมหรือขาดคุณสมบัติ สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งแรกในปี ๒๕๖๔ ฝ่ายค้านได้ยื่นเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๔ ผู้ที่ถูกอภิปรายประกอบด้วยพลเอกประยุทธ์ จันท์โอชานายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่น ๆ อีก ๙ คน เช่น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ์ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นต้น
ประเด็นที่ฝ่ายค้านตั้งข้อกล่าวหารัฐบาลมีทั้งประเด็นที่ในลักษณะเดิมที่เป็นแบบแผนของการกล่าวหาในอดีต กับประเด็นใหม่ที่ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยที่เป็นทางการมาตั้งเป็นข้อกล่าวหารัฐบาลโดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ประเด็นใหม่ที่ฝ่ายค้านตั้งข้อกล่าวหานายกรัฐมนตรีมีหลายประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นที่ร้ายแรงทั้งสิ้น ประกอบด้วย ๑) ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย ๒) ทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน นำสถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน ๓) แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง
ไม่ปรากฏมาก่อนว่านายกรัฐมนตรีผู้ใดของสังคมไทยถูกตั้งข้อกล่าวหาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเหมือนพลเอกประยุทธ์ในครั้งนี้ การปรากฏขึ้นของประเด็นเหล่านี้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของรัฐสภาและการเมืองไทย ซึ่งทำให้ความเข้มข้นและความน่าสนใจของการอภิปรายมีมากขึ้น และคาดว่าจะส่งผลให้อุณหภูมิการเมืองทั้งภายในรัฐสภาและนอกรัฐสภาร้อนแรงยิ่งขึ้น
สัญญาณของความขัดแย้งปรากฎออกมาอย่างชัดเจนเมื่อฝ่ายรัฐบาลออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านอย่างทันควัน ในวันรุ่งขึ้น สมาชิกพรรคพลังประชารัฐนำโดยนายวิรัช รัตนเศรษฐรองหัวหน้าพรรคออกมาแถลงวิจารณ์ญัติติอภิปรายว่า เป็นการกล่าวหาโดยใช้ภาษาที่ดุเดือด ดังภาษาที่ใช้ในภาพยนต์ และตำหนิฝ่ายค้านว่าไม่ควรใช้ภาษานำสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องในญัตติ และไม่ยอมให้ฝ่ายค้านอ้างถึงสถาบันและพร้อมที่จะประท้วงทันทีหากมีการนำประเด็นเหล่านี้มาอภิปราย
บริบทการเมืองที่ส่งผลให้ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ ว่าสร้างความแตกแยกและแอบอ้างสถาบันเป็นเกราะกำบังความผิดพลาดคือการชุมนุมของเยาวชนและประชาชนกลุ่มราษฎรที่นำเสนอประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และรัฐบาลได้ดำเนินการจัดการอย่างเข้มงวดและรุนแรงต่อผู้ชุมนุม มีการนำมาตรา ๑๑๒ มาบังคับใช้อย่างเข้มข้นโดยจับกุมแกนนำผู้ชุมนุมด้วยมาตรานี้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการนำบุคคลที่เป็นทหารและตำรวจใส่ชุดสีเหลืองออกมาต่อต้านการชุมนุมหลายครั้ง มีการสั่งการให้ส่วนราชการในต่างจังหวัดระดมมวลชนใส่ชุดสีเหลืองแสดงพลังทางการเมือง และมีข่าวที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างรัฐมนตรีบางคนกับมวลชนใส่ชุดสีเหลืองที่ออกมาชุมนุมและเกิดการปะทะกับผู้ชุมนุมกลุ่มคณะราษฎรที่หน้าอาคารรัฐสภา
ท่าทีของรัฐบาลต่อข้อเสนอของฝ่ายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์คือ การปฏิเสธข้อเสนอเหล่านั้นและมองว่าผู้เสนอเป็นปรปักษ์กับรัฐบาล การใช้ท่าทีเช่นนั้นทำให้ความแตกแยกและความขัดแย้งในสังคมขยายตัวและไม่มีแนวโน้มว่าสถานการณ์ที่ตึงเครียดจะยุติหรือสงบลงได้ แม้ว่าในช่วงปัจจุบันการชุมนุมขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงปลายปี ๒๕๖๓ จะลดลงไปบ้างแล้วก็ตาม แต่กระแสความคิดและการเคลื่อนไหวในรูปแบบอื่น ๆมิได้ลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด และยังมีศักยภาพสูงที่จะปรากฎออกมาอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตเมื่อจังหวะเวลาและสภาพเงื่อนไขถึงพร้อม
การจัดการความขัดแย้งทางการเมืองด้วยการเพิ่มความเข้มข้นของการใช้อำนาจและกฎหมายเพื่อกำราบและปราบปรามผู้ชุมนุม จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฝ่ายค้านหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการอภิปรายนายกรัฐมนตรีในประเด็นทั้งสามข้างต้น
นอกเหนือจากตัวประเด็นแล้ว คาดว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นระหว่างการอภิปรายครั้งนี้คงอบอวลไปด้วยการประท้วงและการวิวาทะกันอย่างร้อนแรงโดยเฉพาะช่วงที่มีการอภิปรายนายกรัฐมนตรี จนอาจทำให้การอภิปรายหยุดชะงักเป็นบางเวลา ผู้ที่เป็นประธานในที่ประชุมคงต้องทำหน้าที่อย่างหนักหน่วงในการทำให้การประชุมดำเนินการไปได้
สิ่งที่สังคมคาดหวังต่อพรรคฝ่ายค้านคือ การนำเสนอข้อมูล หลักฐาน และการอภิปรายเชื่อมโยงอย่างเป็นเหตุเป็นผลเพื่ออธิบายรัฐบาลตามข้อกล่าวหา และคาดหวังให้ฝ่ายค้านทุกพรรคทำหน้าที่อย่างเต็มที่สมบทบาทและแตกต่างจากครั้งที่แล้ว การอภิปรายในครั้งก่อนนั้นสังคมเกิดความสงสัยต่อบทบาทของพรรคฝ่ายค้านบางพรรคอันได้แก่ พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีสมาชิกพรรคบางคนอภิปรายเพื่อถ่วงเวลาให้หมดไปโดยมีเนื้อหาสาระน้อยมาก ทำให้ดูเหมือนมีเจตนาแอบแฝงในการช่วยเหลือพลเอกประวิตร ไม่ให้ถูกอภิปราย ในการอภิปรายครั้งนี้เมื่อพรรคเพื่อไทยมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคใหม่แล้ว ซึ่งน่าจะมีกรอบคิด จุดยืนและแนวทางทางการเมืองชัดเจนขึ้น และคงจะทำหน้าที่ได้ดีกว่าเดิม แต่หากยังคงมีพฤติกรรมแบบเดิม ความเชื่อถือไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อพรรคก็คงจะลดลงไปอีก
อย่างไรก็ตามไม่ว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายด้วยข้อมูลที่หนักแน่นน่าเชื่อถือเพียงใด ก็ยากที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ เพราะการลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจนั้นมิได้เป็นเจตจำนงอิสระของส.ส.แต่ละคน หากแต่ถูกกำหนดจากมติพรรค ซึ่งเกือบทุกพรรคถูกกำหนดโดยหัวหน้าพรรคและบรรดาผู้บริหารจำนวนน้อยในพรรคซึ่งถูกกำหนดของกรอบคิดของความเป็นรัฐบาลและความเป็นฝ่ายค้านอีกที ในแวดวงการเมืองไทยนั้นความเป็นรัฐบาลและความเป็นฝ่ายค้านเป็นเงื่อนไขหลักของการสร้างอัตลักษณ์และความเป็นตัวตนของพรรคการเมืองและนักการเมือง ซึ่งแสดงออกมาอย่างชัดเจนในเวทีการอภิปรายไม่ไว้วางวางใจ
ความเป็นรัฐบาลและความเป็นฝ่ายค้านเป็นวาทกรรมที่ทรงพลังในการนิยามตัวตนและบทบาทของนักการเมือง นักการเมืองจำนวนมากผูกติดกับความหมายนั้นมากกว่าความหมายของ “ความเป็นตัวแทนประชาชน” นักการเมืองที่นิยามตนเองภายใต้วาทกรรมความเป็นรัฐบาลมีความเชื่อว่ารัฐบาลของตนดีที่สุด ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความสามารถมากที่สุด พวกเขาผลิตซ้ำความเชื่อนั้นจนกลายเป็นความจริงสำหรับตัวเอง รวมทั้งมีการปฏิบัติการณ์ปกป้องผู้นำรัฐบาลอย่างถึงที่สุด และพร้อมออกมาตอบโต้สิ่งที่กระทบกับความจริงที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเพื่อรักษาความเป็นรัฐบาลให้มั่นคง จนพื้นที่แห่งความเป็นตัวแทนของประชาชนในจิตสำนึกของพวกเขาเลือนหายไป
ในทางกลับกันนักการเมืองฝ่ายค้านก็ตกอยู่ภายใต้วาทกรรมของความเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งมีความเชื่อหลักคือรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น เล่นพรรคเล่นพวกเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง ไร้ภูมิปัญญา ปราศจากวิสัยทัศน์ สร้างความแตกแยกในสังคมและบริหารประเทศล้มเหลว และมีการปฏิบัติการณ์เชิงวาทกรรมเพื่อตอกย้ำชุดความเชื่อของตนเองอย่างต่อเนื่องในหลากหลายรูปแบบ
ในการลงมติไม่ไว้วางใจ นักการเมืองแต่ละคนมีแนวโน้มลงมติตามเงื่อนไขของความเป็นรัฐบาลและความเป็นฝ่ายค้านอย่างมั่นคง หากมีนักการเมืองผู้ใดลงมติแตกต่างจากกรอบวาทกรรมที่ตนเองสังกัด มีความเป็นไปได้สองประการคือ ประการแรก เขามีสติปัญญาเหตุผล จริยธรรม และความกล้าหาญทางการเมืองเพียงพอ จนทำให้ตนเองหลุดพ้นการครอบงำจากวาทกรรมและการกระทำนอกกรอบโดยเปลี่ยนไปยึดถือวาทกรรมของ “ความเป็นตัวแทนประชาชน” เป็นกรอบใหม่ในการตัดสินใจ ประการที่สอง เขาถูกชักจูงและโน้มน้าวด้วยผลประโยชน์ที่มากเพียงพอ ซึ่งเขามองว่าคุ้มค่าหากต้องข้ามเส้นแบ่งของการนิยามภายใต้กรอบวาทกรรมของความเป็นรัฐบาลหรือความเป็นฝ่ายค้าน
ภายใต้บริบทการเมืองที่มีการแบ่งขั้วอย่างชัดเจนดังในยุคปัจจุบัน แม้ว่าการสร้างอัตลักษณ์ใหม่โดยฉีกตัวออกจากตัวตนภายใต้นิยามเดิมไปสู่ตัวตนภายใต้นิยามใหม่ทำได้ไม่ง่ายนัก แต่ก็ใช่ว่าไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ที่ผ่านมามีนักการเมืองหลายคนแปลงร่างสร้างตัวตนขึ้นใหม่ และมีนักการเมืองบางคนที่สับสนในอัตลักษณ์ของตนเอง ไม่รู้ว่าจะสร้างตัวตนภายใต้วาทกรรมของความเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านดี
กล่าวได้ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เป็นการอภิปรายที่น่าสนใจและน่าติดตามมากครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะมีประเด็นข้อกล่าวหาชุดใหม่ต่อนายกรัฐมนตรี ที่ไม่เคยมีมาก่อนภายในระบบรัฐสภาไทยยุคใหม่และเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันอย่างใกล้ชิด และน่าติดตามว่าบทบาทที่นักการเมืองจะแสดงออกมาเป็นการผลิตซ้ำวาทกรรมความเป็นรัฐบาลและความเป็นฝ่ายค้านมากขึ้น หรือสามารถดิ้นรนให้ตนเองหลุดพ้นจากวาทกรรมเดิมที่ตรึงจิตสำนึกของพวกเขาอยู่ และสร้างอัตลักษณ์ใหม่แห่ง“ความเป็นตัวแทนประชาชน” ขึ้นมาแทน