ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในที่สุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็อนุมัติหลักการ "ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด พ.ศ. …."ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กระทรวงวัฒนธรรม เสนอ หลังจากรับหลักการ ร่างฉบับนี้ก็จะต้องให้ส่ง "สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา" ตรวจพิจารณาอีกครั้ง แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับการบริหารราชการ "พศ." ได้เห็นชอบเรื่องดังกล่าว
แม้ว่าตามกฎหมายจะเปิดให้กันที่ดินวัดเป็นที่จัดประโยชน์ได้ จนเป็นที่มาให้กลุ่มคนภายนอกเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินสงฆ์โดยมิชอบ ทำให้วัดขาดประโยชน์ ที่ดินแบบใดที่ปล่อยให้เช่าได้หรือไม่...
ข้อมูลของ พศ. ระบุว่าวัดทั่วประเทศที่มีอยู่กว่า 4 หมื่นวัด มีที่ดินของวัดอยู่ราว 3 หมื่นวัด จัดเป็นศาสนสมบัติของวัด และที่ดินวัดร้างอีกราว 6 พันวัด ซึ่งจัดเป็นศาสนสมบัติกลาง
ที่ผ่านมา กฎกระทรวงออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ระบุให้กันที่ดินวัดเป็นที่จัดประโยชน์ได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนา หรือ พศ.ในปัจจุบัน และได้รับอนุญาตจากมหาเถรสมาคม โดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้แทน หรือเป็นผู้มีอำนาจขาดของวัด กฎหมายให้อำนาจ พศ.บริหารจัดการ โดยรายได้ส่งเข้าบัญชีศาสนสมบัติกลาง ใช้ในกิจการของสงฆ์โดยผ่านความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม
ส่วนที่ดินศาสนสมบัติของวัดมี ด้วยกัน 3 ประเภท โดยที่ดินวัดจะจัดให้ทำประโยชน์ได้ก็เฉพาะที่ธรณีสงฆ์ และที่กัลปนา โดยวัดเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการเช่าที่ การเช่าที่ดินวัดมีทั้งเช่าเพื่ออยู่อาศัย ปลูกอาคารพาณิชย์เชิงธุรกิจ เพื่อการเกษตร ที่ทำการหน่วยงานราชการ เอกชน รวมไปถึงธุรกิจที่พัก โรงแรม อัตราค่าเช่าเป็นไปตามที่ตกลงกัน แต่ต้องไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 50 สตางค์
แต่การทำสัญญาเช่าที่หากเกิน 3 ปี ต้องแนบแบบการก่อสร้าง ผลประโยชน์ที่วัดจะได้รับ และขอความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมก่อนทำสัญญาเช่า แม้จะมีช่องว่างให้เปลี่ยนมือผู้เช่า การขายสิทธิ์ แต่ทุกขั้นตอนต้องแจ้งเปลี่ยนสัญญากับวัด เพราะกรรมสิทธิ์ในที่ดินและทรัพย์สินทั้งหมดยังถือเป็นของวัด หากไม่เป็นเช่นนั้น นับว่าผิดสัญญาวัดสามารถให้ออกจากพื้นที่ได้ทันที
ธุรกรรมทางการเงินไม่ใช่กิจของสงฆ์ วัดไม่ดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการ ไม่มีการจัดทำบัญชีรับ-จ่าย จึงกลายเป็นช่องว่างสำคัญ ที่ทำให้เกิดการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
พศ.ระบุว่า ร่างฉบับดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 12 พ.ค.63 ได้มีมติเห็นชอบ "ร่างกฎกระทรวงในข้อ 2." แล้ว เป็นวาระ ข้อ 4.10 จากกว่า 50 วาระ โดยเห็นชอบการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ออกตามความในพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505
ถามว่า พศ. เสนออะไร ??
ในวาระที่ 5 ที่เสนอครม.ระบุไว้ว่า ที่ผ่านมาพศ.ได้มีกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และได้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2511 ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน
โดย"การให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา หรือที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์ ที่มีกำหนดระยะเวลาการเช่า เกินสามปี"
จะกระทำได้ ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก พศ. [กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เดิม] และกำหนดให้การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกิน 3,000 บาทขึ้นไป ให้เก็บรักษาโดยวิธีการฝากไว้กับธนาคาร หรือ นิติบุคคลที่ พศ. ให้ความเห็นชอบ
ข้อต่อมา จากการใช้บังคับ "กฎกระทรวงในข้อ 1." พบว่า ที่ผ่านมาในการกำกับดูแลการให้เช่าที่ดินของวัด ของมหาเถรสมาคมและ พศ. นั้น "ทำได้เพียงในส่วนของการให้เช่าที่ดิน" โดยไม่รวมถึง "การให้เช่าอาคารซึ่งปลูกบนที่ดินดังกล่าว" ทำให้วัดสามารถให้เช่าที่ดินของวัดได้ตามกฎหมายโดยไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมและ พศ.
ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 57/2528 เรื่อง "ปัญหาข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 [การให้เช่าที่ดินของวัด ตามข้อ 4 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511)ฯ และมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 14/2521]"
ดังนั้น "วัด" ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 31 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ย่อมมีเอกสิทธิ์ที่จะดำเนินการให้เช่าอาคารซึ่งปลูกสร้างในที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ได้ตามกฎหมายโดยไม่จำต้องขอความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงทำให้เกิดปัญหา คือ "มีการแสวงหาประโยชน์ในที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์ของวัด ทำให้วัดขาดประโยชน์ ที่ควรได้รับโดยชอบและเป็นธรรม"
นอกจากนี้ การกำหนดให้วัดสามารถเก็บรักษาเงินสดได้เพียง 3,000 บาทนั้น ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายภายในวัด
ดังนั้น พศ.จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุง "กฎกระทรวงในข้อ 1. เกี่ยวกับการให้เช่าที่ดินของวัดให้ครอบคลุมถึงกรณีการให้เช่าอาคารที่ปลูกบนที่ดินดังกล่าว" เพื่อแก้ไขปัญหาการแสวงหาประโยชน์ในที่ดินของวัด และแก้ไขจำนวนเงินที่วัดสามารถเก็บรักษาได้ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันรวมทั้งปรับปรุงบทบัญญัติในประเด็นอื่นๆ ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด พ.ศ. … ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 40 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 บัญญัติให้การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง พศ. ระบุว่าในคราวประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 12 พ.ค.63 ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงในข้อ 2. ว่าด้วย "การให้เช่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง" แล้วย้อนกลับมาดูความเป็นมาของการแก้ไขกฎกระทรวงฉบับนี้
เริ่มจาก"กรมการศาสนา"ได้หารือไปยัง"สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา"กรณีการให้เช่าอาคารของวัดต้องดำเนินการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511)ฯ หรือไม่ซึ่ง"คณะกรรมการกฤษฎีกา"ไดํให้ความเห็นโดยสรุปว่า กฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดเฉพาะการให้เช่าที่ดินไม่รวมถึงการให้เช่าอาคาร หากจะให้รวมถึงการเช่าอาคารด้วยต้องดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงฯ ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 57/2528
ในระหว่างที่ยังไม่ดำเนินการปรับปรุง "กฎกระทรวง" มหาเถรสมาคมได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยมีมติในการประชุม ครั้งที่ 1/2563 มติที่ 31/2563 เมื่อวันที่ 8 ม.ค.63
"ให้วัดใดที่มีผู้ขอเช่าอาคารพาณิชย์หรืออาคารอื่นใดของวัด เพื่อใช้ในการแสวงหาผลประโยขน์ ให้เจ้าอาวาสนั้น ส่งแบบแปลน แผนผังก่อสร้าง งบประมาณ ผลประโยชน์ที่วัดจะพึงได้รับทั้งเงินบำรุงวัด ทั้งค่าเช่าอาคาร ร่างสัญญาเช่าไปยังพศ. เพื่อเสนอ "คณะกรรมการพิจารณางบประมาณศาสนสมบัติกลางประจำ(พศป.)" เห็นชอบก่อน"
เมื่อคณะกรรมการ พศป.เห็นชอบแล้ว ให้นำเสนอ"มหาเถรสมาคม" พิจารณา โดยวัดจะทำสัญญาเช่าได้ เมื่อมหาเถรสมาคมพิจารณาเห็นชอบแล้วและได้มอบพศ.ดำเนินการพิจารณา ปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511)ฯ ให้สอดคล้องกับมติมหาเถรสมาคม และเหมาะสมแก่กาลสมัยต่อมา พศ.ได้ดำเนินการแต่งตั้ง"คณะกรรมการพิจารณา ปรับปรุงแก่ไชเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ฯ" ประกอบด้วย ผู้แทนมหาเถรสมาคม เป็นที่ปรึกษา หัวหน้าส่วนราชการใน พศ.เป็นกรรมการ
ที่ประชุมได้จัดทำร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัดพ.ศ...โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้
1.ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ฯ
2. เปลี่ยนชื่อหน่วยงานจาก "กรมการศาสนา" เป็น "พศ."
3. การให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา หรือที่วัดที่กันไว้จัดประโยชน์และหรือสิ่งปลูกสร้าง ที่มีกำหนดระยะเวลาเช่าเกินกว่าสามปี จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก พศ.และได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม
4. การใช้ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ของวัด เป็นทางหรือถนนให้จัดทำเป็นสัญญาภาระจำยอม
5. ให้วัดสามารถเก็บรักษาเงินไว้ที่วัดเพิ่มจาก"สามพันบาท" เป็น"หนึ่งแสนบาท"
หากมาดู สาระสำคัญ "ที่แตกต่างจากกฎกระทรวงเดิม" มีดังนี้
ประเด็นที่ 1. "การมอบอำนาจให้ พศ. จัดประโยชน์แทนวัด" กฎกระทรวงเดิม "ไม่มีการกำหนดเกี่ยวกับการมอบอำนาจให้ พศ. จัดประโยชน์แทนวัดได้" ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ "กำหนดให้วัดสามารถมอบอำนาจให้ พศ. จัดประโยชน์ในศาสนสมบัติของวัดทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแทนวัดได้"
ประเด็นที่ 2. "การให้เช่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง" กฎกระทรวงเดิม "กำหนดให้การให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา หรือที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์ ที่มีกำหนดระยะเวลาการเช่าเกินสามปี ต้องได้รับความเห็นชอบจาก พศ. (กรมการศาสนา ศธ. เดิม)" ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ "กำหนดให้การให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา ที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์หรือ“สิ่งปลูกสร้าง”ที่มีกำหนดระยะเวลาการเช่าเกินสามปีต้องได้รับความเห็นชอบจาก พศ. และได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม"
ประเด็นที่ 3. "การเช่าที่ดินของวัดเพื่อเป็นทางเข้าออก" กฎกระทรวงเดิม "ไม่มีการกำหนดเกี่ยวกับการเช่าที่ดินของวัดเพื่อเป็นทางเข้าออกไว้" ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ "กำหนดให้ในกรณีที่มีผู้ขอเช่าที่ดินของวัดเพื่อเป็นทางเข้าออก ไม่ว่าจะกำหนดระยะเวลาการเช่ากี่ปีก็ตาม ให้วัดจัดทำเป็น “สัญญาภาระจำยอม”เท่านั้น โดยต้องได้รับความเห็นชอบจาก พศ.และได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม"
ประเด็นที่ 4. "การเก็บรักษาเงินของวัด" กฎกระทรวงเดิม "กำหนดให้การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกิน 3,000 บาทขึ้นไป ให้เก็บรักษาโดยฝากธนาคาร หรือนิติบุคคลที่ พศ. ให้ความเห็นชอบ" ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ "กำหนดให้การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกิน “100,000 บาทขึ้นไป”ให้เก็บรักษาโดยฝากธนาคาร หรือวิธีการอื่นใดตามที่มหาเถรสมาคมกำหนด"
หาร่างกฎกระทรวง ฉบับนี้ ผ่าน "สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา" ตรวจพิจารณาแล้ว ให้ พศ.จัดทำหนังสือส่งไป ศาสนาสถานทั่วไปเพื่อบังคับใช้ทันที