xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พม่าบอกลา “อิตาเลียนไทย”ช้ำหนัก สูญ 8 พันล้านท่าเรือน้ำลึกทวายรัฐไทยฝันค้างเชื่อมแหลมฉบัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - รัฐบาลพม่าบอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายที่อิตาเลียนไทยถือครองอยู่ พร้อมกับมองหาพันธมิตรรายใหม่ทั้งจีน-ญี่ปุ่นเพื่อขับเคลื่อนไปข้างหน้า ตัดปัญหาความล่าช้าและมีปัญหาทางการเงินของทุนไทย ขณะที่รัฐบาลไทยยังฝันเคลียร์ปัญหาได้จบพร้อมเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ร่วมกันต่อเพราะทุ่มทุนไปไม่น้อยแล้ว 

ยืนยันอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลพม่าตามรายงานข่าวของเอเอฟพี ที่เผยแพร่ข่าว พม่าประกาศเมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมาว่าได้ยกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายกับ  บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล้อปเมนต์(ITD) ยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย โดยคณะกรรมการที่ดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของพม่า ระบุว่า คณะกรรมการสูญเสียความเชื่อมั่นใน  ITD  หลังมีปัญหาซ้ำๆ ซากๆ

 “ความล่าช้าซ้ำๆ การละเมิดภาระผูกพันทางการเงินภายใต้สัญญาอย่างต่อเนื่อง และความล้มเหลวของผู้ได้รับสัมปทานที่จะยืนยันความสามารถทางการเงินในการดำเนินการพัฒนาโครงการ” คณะกรรมการฯ ระบุในคำประกาศ โดยตุน นาย ประธานคณะกรรมการบริหารงานเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย กล่าวว่า พม่าจะมองหาผู้พัฒนารายใหม่เพื่อลงทุนในโครงการนี้ 

ก่อนที่จะมีข่าวออกมาจากฝั่งพม่า ทางบริษัท บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล้อปเมนต์ แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 มีรายละเอียดว่า ตามที่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวลล้อปเมนต์ และคู่สัญญากลุ่มธุรกิจร่วมทุนภายใต้บริษัทที่จดทะเบียนในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือ Project Companies รวม 5 บริษัท ได้รับสัมปทานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะแรก โดยได้ลงนามสัญญาสัมปทานกับคณะกรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือ Dawei Special Economic Zone Management Committee : DSEZ MC เพื่อดำเนินการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่รวม 27 ตารางกิโลเมตร พร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ ที่จำเป็นต่อนิคมอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 จำนวน 6 ฉบับ และเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 อีก 1 ฉบับรวมสัญญาสัมปทาน 7 ฉบับ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา Project Companies ทั้ง 5 บริษัท ได้รับหนังสือแจ้งการบอกเลิกสัญญาสัมปทานรวม 7 ฉบับ จาก DSEZ MC เนื่องจาก DSEZ MC อ้างว่า Project Companies ผิดนัดไม่ชำระค่าสิทธิตามสัญญาสัมปทาน และไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนบางประการในการเริ่มดำเนินการตามสัญญา สัมปทานได้

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ได้พิจารณาแนวทางการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว และได้มีมติให้ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทฯ จัดทำหนังสือชี้แจงและโต้แย้งข้อกล่าวหาของ DSEZ MC ข้างต้นโดยด่วน ซึ่งบริษัทฯ จะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป

หลังจากแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ทาง ITD ได้ทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และหารือร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้รัฐบาลช่วยเหลือตามข้อตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนในทุกระดับ เช่น การบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม คุ้มครองการลงทุนที่อาจไม่ได้รับการชดเชยตามสัญญาในโครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินการเสร็จแล้วเพื่อไม่ให้เกิดข้อพิพาทและเจรจาสัญญาเช่าที่ดินให้ดำเนินต่อไปได้

 ทั้งนี้ ITD ระบุว่า DSEZ MC ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาให้กับกลุ่มบริษัทร่วมทุน โดยอ้างเหตุกรณีไม่นำส่งหนังสือสละสิทธิของ ITD ที่ได้รับชดเชยเงินลงทุนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะสมบูรณ์ที่ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วตั้งแต่ปี 2551 กับกรณีไม่ชำระค่าสิทธิสัมปทานประจำปีให้แก่ DSEZ MC ซึ่ง ITD ปฏิเสธข้อกล่าวอ้างเพราะที่ผ่านมากลุ่มบริษัทลงทุนในพื้นที่ไปแล้วกว่า 8,000 ล้านบาท โดยช่วง 5 ปี หลังลงนามสัญญา ทาง DSEZ MC ได้ส่งร่างสัญญาเช่าที่ดินให้กลุ่มบริษัทเพียงฉบับเดียว และอยู่ระหว่างเจรจา โดย DSEZ MC ไม่เคยชี้แจงเหตุผลว่าทำไมไม่พิจารณาสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าว 

ตามรายงานข่าวผ่านสื่อ เผยแพร่คำชี้แจงของ ITD ด้วยว่า ก่อนบอกเลิกสัญญา DSEZ MC ได้ออกหนังสือ Notice of Modification ของสัญญาสัมปทานโครงการนิคมอุตสาหกรรมระยะแรก ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2562 พร้อมแจ้งความประสงค์การแก้ไขสัญญาสัมปทาน และให้สัญญาเช่าที่ดินโครงการดังกล่าวมีผล ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เพราะ DSEZ MC กำหนดแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ส่งร่างสัญญาเช่าที่ดินโครงการที่เหลือกลับมาให้กลุ่มบริษัทพิจารณา ทำให้กลุ่มบริษัทได้ขอใช้สิทธิพักการชำระค่าสิทธิสัมปทานประจำปีบางส่วน จึงเป็นเหตุข้ออ้างของการบอกเลิกสัญญาในที่สุด

“ในหนังสือ Notice of Modification กำหนดเงื่อนไขบังคับเพิ่มเติมให้ ITD ลงนามในหนังสือสละสิทธิ (Deed of Release) ในการได้รับค่าชดเชยสำหรับเงินลงทุนที่ใช้ในการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งการได้รับชดเชยดังกล่าว ITD ยืนยันว่า เป็นสิทธิที่บริษัทมีตามสัญญา 3 ฝ่าย” ITD อธิบายความ

ท่าทีจากฝ่ายรัฐบาลไทยหลังเกิดเรื่องใหญ่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้หารือถึงเรื่องดังกล่าวกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งก่อนที่จะลงมือแก้ไขปัญหาใดๆ อันดับแรกสุดนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งนายสุพัฒนพงษ์ เป็นประธานคณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทย-เมียนมาเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (JHC) แทนนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ ที่เคยนั่งในตำแหน่งดังกล่าว

อีกทั้งยังแต่งตั้งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-เมียนมาเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง (JCC) เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบโครงการความร่วมมือข้ามชาตินี้หลังจากว่างเว้นนับแต่นายสมคิด หลุดจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และไม่ได้เข้ามามีบทบาทใดๆ ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีก

ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมฯ คนใหม่ ต้องโชว์วิสัยทัศน์และเรียกความเชื่อมั่นคืนมา โดยนายสุพัฒนพงษ์ บอกว่า ในทางนโยบายรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับโครงการทวาย เนื่องจากได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมต่อกับโครงการไปเป็นจำนวนมาก และโครงการทวายก็เป็นท่าเรือน้ำลึกที่จะเปิดประตูออกสู่อันดามัน

สำหรับการช่วยเหลือบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ที่พม่าบอกเลิกสัญญาและส่งหนังสือขอให้รัฐบาลช่วยเหลือนั้น ขณะนี้กำลังรอรายงานจากคณะทำงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูว่ารัฐบาลจะสามารถช่วยเหลือได้อย่างไร ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วบริษัทเอกชนของไทยจะได้รับความคุ้มครองตามแนวทางและข้อปฏิบัติการคุ้มครองนักลงทุนอาเซียน ซึ่งคาดว่าฝ่ายกฎหมายของบริษัทเอกชนก็กำลังดูอยู่

ส่วนของรัฐบาลจะเร่งรัดการประชุมร่วม 3 ฝ่ายระหว่างไทย เมียนมา และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลไกคณะกรรมการที่มีอยู่ในโครงการนี้ เพื่อที่จะหารือถึงปัญหาการยกเลิกสัมปทานของเอกชน รวมถึงสถานะของโครงการนี้ด้วยว่าจะพัฒนาโครงการร่วมกันอย่างไรต่อไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของไทยและพม่า

 ทั้งนี้ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เป็นความร่วมมือของรัฐบาลเมียนมา รัฐบาลไทย และทุนไทย เพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทางทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ ซึ่งจะเปิดทางให้ธุรกิจไทยสามารถเข้าถึงมหาสมุทรอินเดียได้โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา 

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวยืนยันว่า ไม่ทอดทิ้งโครงการทวายซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทย-เมียนมา-ญี่ปุ่น ที่ร่วมดำเนินการกันมานานแล้วและคืบหน้าพอสมควร เพื่อเชื่อม 3 ประเทศให้มีทางออกทะเลฝั่งอันดามัน ส่วนเงินกู้ให้เมียนมากู้ 4,500 ล้านบาท สร้างถนนไปถึงทวายนั้น ถ้ากันเงินกู้ไว้ให้แล้วก็ต้องดำเนินการต่อไป

 “รัฐบาลไทยลงทุนไปเยอะในเรื่องถนนมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-กาญจนบุรี และกาญจนบุรี-ทวาย ซึ่งมีการพูดคุยกันอยู่ว่าจะช่วยเหลือกันอย่างไร รู้สึกแปลกใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะสาเหตุอะไร....” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว  

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน JCC ก็ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการทวายฯ ทั้งกระทรวงคมนาคม, สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. , สศช. และ สำนักงบประมาณ เพื่อหารือถึงสถานะโครงการ การปล่อยกู้ให้รัฐบาลเมียนมาสร้างถนนจากชายแดนบ้านพุน้ำร้อน กาญจนบุรี ไปถึงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทวาย ซึ่งรัฐบาลยังกันเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไว้ให้รัฐบาลเมียนมา 4.9 พันล้านบาท รวมถึงแนวทางแก้ไขปัญหากรณีที่เอกชนของไทยถูกถอนสัมปทานในโครงการทวาย

สื่อท้องถิ่นอย่างเมียนมาไทมส์ รายงานว่า การบอกเลิกสัญญากับอิตาเลียนไทยของรัฐบาลพม่า อาจเพราะต้องการผู้ลงทุนรายใหม่มาร่วมโครงการที่ล่าช้ามานาน ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีความหวังจะลงทุนต่อโดยล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ทางการญี่ปุ่นส่งหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ เพราะมีบริษัทจีนสนใจจะเข้าลงทุนในโครงการนี้ซึ่งญี่ปุ่นต้องการตีกันจีนออกไป

 สำนักข่าวนิคเคอิ เอเชีย รายงานตรงกันว่า รัฐบาลเมียนมาต้องการขจัดความไม่แน่นอนของโปรเจกต์ออกไป โดยการตัด ITD ออกจากแผนงานระดับชาติ และหวังจะดึงดูดผู้เล่นต่างชาติรายอื่น เพื่อมาช่วยผลักดันโครงการที่หยุดยาวให้เดินหน้าต่อ โดยก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นได้ลงนามในสัมปทานกับเมียนมาและไทยในปี 2558 เพื่อเข้าร่วมโครงการและจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการนี้ผ่านธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น 

แต่อย่างไรก็ตาม ทางญี่ปุ่นไม่ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจนกว่าจะสรุประยะแรก ทว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ญี่ปุ่นตัดสินใจเข้าร่วมการเจรจาระหว่างรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการนี้ แทนที่จะเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์

นิคเคอิ เอเชีย รายงานว่า มีกระแสข่าวบริษัทของรัฐบาลจีน แสดงความสนใจเข้าลงทุนโรงกลั่นน้ำมัน และโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย การตัดสินใจในเดือนพฤศจิกายนของญี่ปุ่นเชื่อว่า มีแรงจูงใจส่วนหนึ่งมาจากความต้องการที่จะต่อต้านอิทธิพลของจีนในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้

 จีนกับญี่ปุ่นต่างช่วงชิงบทบาทการลงทุนในเมียนมา โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในเขตติลาวา ซึ่งอยู่ใกล้กรุงย่างกุ้ง เริ่มดำเนินการในปี 2558 เป็นความร่วมมือพัฒนาระหว่างรัฐและเอกชนของญี่ปุ่น ส่วนโครงการท่าเรือน้ำลึกบริเวณชายฝั่งรัฐยะไข่ มูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นหัวใจหลักของโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา โดยท่าเรือ “เจ้าผิว” จะเป็นเส้นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียของจีนนั้น ได้รับการสนับสนุนจากจีน 

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน เพิ่งเสร็จสิ้นการเดินทางเยือนเมียนมาเป็นครั้งแรกในฐานะผู้นำจีน เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อเตรียมเซ็นสัญญาก่อสร้างโครงการพื้นฐานมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูง มูลค่า 8.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เชื่อมจากมณฑลยูนนานของจีนที่ไม่มีทางออกทางทะเล ไปสู่ชายฝั่งทางฝั่งตะวันตกของพม่า

และท่าเรือน้ำลึก “เจ้าผิว” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (CMEC) สร้างเส้นทางให้เชื่อมจีนไปสู่มหาสมุทรอินเดีย ตามแนวคิดเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 (One Belt One Road) ที่จะขยายเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานและอิทธิพลของจีนไปทั่วโลก

นอกจากนั้น จีนยังสนใจมีโครงการเขื่อนมิตโสน มูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้า 6,000 เมกะวัตต์

 สำหรับรัฐไทย โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่กลุ่มทุนอิตาเลียนไทยได้รับสัมปทานมาตั้งแต่ปี 2553 แต่มีความล่าช้าในการดำเนินการ กระทั่งสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านเศรษฐกิจขณะนั้น ได้เร่งเครื่องเพื่อเดินหน้าทวายเต็มสูบ โดยในช่วงปลายปี 2558 รัฐบาลไทยและเมียนมา ได้เข้า “เทกโอเวอร์” โครงการจากอิตาเลียนไทย กลายๆ โดยดึงญี่ปุ่นเข้าร่วมถือหุ้นในบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ 

โดยนายสมคิด ในฐานะคณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างเมียนมาและไทยเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (จีเอชซี) และนายญาณทุน รองประธานาธิบดีของเมียนมา ประธานร่วมขณะนั้น ได้บรรลุข้อตกลงหลังการประชุม จีเอชซี ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2558 ลงนามข้อตกลงผู้ถือหุ้นใหม่ของบริษัท ทวาย เอส อี แซด ดีเวลล๊อปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ (เอสพีวี) เพื่อขับเคลื่อนโครงการทวายฯ โดยมีประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นร่วมกับเมียนมา และไทย ฝ่ายละเท่าๆ กัน คือ 33.33% คิดเป็นเงินร่วมทุนฝ่ายละ 6 ล้านบาท เป็นหมุดหมายแรกที่ญี่ปุ่นเข้าร่วมผลักดันโครงการทวาย ที่มีวงเงินลงทุนรวมกว่า 400,000 ล้านบาท ให้เกิดขึ้นได้จริง

อดีตรองนายกฯ สมคิด ยังผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อแหลมฉบังกับทวาย เช่น การเร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟแนวตะวันออก-ตะวันตกด้านล่าง ช่วงกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง เพื่อเชื่อมการขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบัง – ทวาย ช่วยขนส่งไปพม่าและอินเดียได้เร็วขึ้น โดยเปิดให้ลงทุนในรูปแบบ PPP ที่การรถไฟฯ ศึกษาไว้เบื้องต้นแล้ว ระยะทาง 475 กม. เป็นราง 1 เมตร สร้างขนานไปกับแนวรถไฟเดิมและสร้างบนพื้นที่ใหม่ มูลค่าลงทุน 175,000 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังมีโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ เส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร วงเงินลงทุน รวม 45,000 ล้าน และโครงการก่อสร้างเส้นทางเพิ่มเติมจากกาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน ระยะทาง 70 กิโลเมตร ส่วนเส้นทางจากบ้านพุน้ำร้อน-ท่าเรือน้ำลึกทวาย ระยะทาง 132 กิโลเมตร ที่บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้รับสัมปทานจากพม่าเพื่อให้มีเส้นทางเชื่อมต่อ รับผิดชอบการก่อสร้าง หากโครงการเสร็จจะสามารถขนส่งสินค้าจากท่าเรือน้ำลึกทวาย ผ่านกาญจนบุรีมายังกรุงเทพฯ ออกไปยังท่าเรือแหลมฉบังสะดวกมากขึ้น

นับจากปี 2553 บริษัทอิตาเลียนไทยฯ ได้ลงนามในข้อตกลงเรื่องสิทธิในการพัฒนาและดำเนินการบริหารโครงการทวาย ตามระยะเวลาการเช่าที่ดินมากกว่า 75 ปี ประกอบด้วย การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ครอบคลุมพื้นที่ 4 แสนไร่ พร้อมด้วยถนนและทางรถไฟเชื่อมโยงไทย-พม่า รวมไปถึงน้ำมันและท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวมะตะบันไปยังชายแดนไทยพม่า วงเงินลงทุน 4 แสนล้านบาท


 ด้วยความที่เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อีกทั้งการเมืองภายในของไทยและเมียนมาไม่มีเสถียรภาพ ทำให้การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในโครงการดังกล่าวของอิตาเลียนไทย ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนในทุกด้านจากรัฐบาลทั้งสองประเทศ ประสบปัญหาลุ่มๆ ดอนๆ ต่อมามีการปรับสัญญา และดึงญี่ปุ่นเข้าร่วมลงทุน แต่โครงการยังไม่มีความคืบหน้า กระทั่งในที่สุดรัฐบาลพม่าบอกเลิกสัญญากับไทยเพื่อหันไปซบจีนแทน ขณะที่ญี่ปุ่นก็รีบรุกเข้ามามีบทบาทการลงทุนในเมียนมามากขึ้น 


กำลังโหลดความคิดเห็น