xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เจียด"มท."2.4 พันล้าน โซลาร์เซลล์สูบน้ำ อย่าให้มีข้อครหา! เอื้อพ่อค้า ทุนการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ผ่านไปแล้ว กับการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VCS)และ DOPA Channelกับผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าฯ หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ของกระทรวงมหาดไทย

โดยครั้งนี้ มีการเชิญ"นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์" รมว.พลังงาน ที่มาขอความร่วมมือกับผู้ว่าฯ ให้ดำเนินการขับเคลื่อนแนวทางการพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก ปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 2,400 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2564

โดยแผนงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้กลไกการสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานทดแทน หรือการอนุรักษ์พลังงานที่เหมาะสมกับกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ที่มีความพร้อมในการบริหารจัดการเทคโนโลยีพลังงานที่เหมาะสม และเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงการใช้พลังงานแบบพึ่งพาตนเองในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีไฟฟ้าใช้

ซึ่งการจัดสรรเงินกองทุนฯ นี้จะช่วยเศรษฐกิจฐานราก ให้เกิดการกระจายไปยังทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง โดยกระทรวงพลังงาน จะสนับสนุนการทำงานผู้ว่าฯ เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์จากโครงการให้มากที่สุด

เช่นเดียวกัน "นายกุลิศ สมบัติศิริ" ปลัดกระทรวงพลังงาน ก็มาตอกย้ำว่า การจัดสรรเงินกองทุนฯดังกล่าว ในส่วนของจังหวัดจะจัดสรรให้ จังหวัดละ 25 ล้านบาท

โดยเทคโนโลยีพลังงานทดแทนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

1) สถานีพลังงานชุมชน เป็นการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานภายใต้แนวคิด ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ โดยขอรับการสนับสนุนเทคโนโลยีเดี่ยว หรือหลายเทคโนโลยีที่ประกอบกัน โดยมีรูปแบบของการร่วมจ่าย (Co-Pay)เช่น ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่ เตาชีวมวลประสิทธิภาพสูง และระบบผลิตแก๊สชีวภาพจากของเสีย เป็นต้น

2) ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับบ่อบาดาล โซลาร์เซลล์ ขนาด 2.5 กิโลวัตต์ และถังพักน้ำขนาด 20 ลูกบาศก์เมตร

3) ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับพื้นที่ที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ไม่มีไฟฟ้า ได้แก่ บ้านอยู่อาศัย กลุ่มชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงเรียนในสังกัดรัฐบาล

โดยทั้ง3 ประเภท "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการ" จะต้องเสนอโครงการผ่าน "คณะทำงานบูรณาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานเชิงพื้นที่ ระดับจังหวัด" เพื่อทำการกลั่นกรอง เรียงลำดับความสำคัญเสนอคณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) เพื่อนำเสนอไปยัง คณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

งบประมาณ 2,400 ล้านบาท เป็น 1 ในก้อนใหญ่ 6,000 ล้านบาทเศษ ที่คณะการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมี "นายสุพัฒนพงษ์" เห็นชอบเอาไว้

พูดง่ายๆ คือ เงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 2,400 ล้านบาท จะถูกจัดสรรให้ ท้องถิ่น ที่กำกับโดย กระทรวงมหาไทย ทั้งหมด ตัวอย่างโครงการทั้ง 3 ประเภท เป็นเรื่องดี ควรให้การสนับสนุนให้คนในท้องถิ่นเข้าถึงพลังงาน แบบพึ่งพาตนเองในพื้นที่ห่างไกล ที่ไม่มีไฟฟ้าได้จริง "โดยเฉพาะ ระบบโซลาร์เซลล์"

ทีนี้มารอดูว่า ท้องถิ่น จะเสนอผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด มากันกี่โครงการ

ย้อนกลับไปดู "โครงการของกระทรวงมหาดไทย" ที่กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ให้ความเห็นชอบ

ในปีงบประมาณ2562 มหาดไทย ได้รับงบฯสนับสนุนไปมากที่สุด 234 โครงการ คิดเป็นเงิน 1,940,363,606 บาทแต่สาธารณชนอาจจะยังไม่ทราบว่า โครงการที่หน่วยงานต่างๆทำเรื่องเสนอขอสนับสนุนงบฯ เข้ามามีรายละเอียด และข้อสังเกตสำคัญอย่างไรบ้างที่ผ่านมา โครงการที่หน่วยงานต่างๆเขียนมาขออนุมัติงบฯ จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานรอบล่าสุดนี้ ภาพรวมยังเป็นโครงการที่มีลักษณะการอนุรักษ์พลังงานเหมือนเช่นทุกครั้ง

โดยในส่วนของ "กระทรวงมหาดไทย" โครงการที่นำเสนอเข้ามาส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับ "ภารกิจงานสูบน้ำเพื่อประโยชน์ทางการเกษตร" ขอมาทั้งสิ้น 768 โครงการ คิดเป็นเงิน 11,308,965,199 บาท โดยได้รับการสนับสนุน 234 โครงการ เป็นเงิน 1,940,363,606 บาท

มีข่าวว่าการพิจารณาโครงการขอสนับสนุนงบประมาณกองทุนฯ ในครั้งนั้น ของคณะทำงานกลั่นกรอง คำนึงถึงประโยชน์การใช้จ่ายเงินอย่างเหมาะสม โดยโครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ มีการวางเงื่อนไขสำคัญหลายประการ อาทิ จะต้องมีการตรวจสอบจากอุตสาหกรรมจังหวัดก่อนว่ามีใบอนุญาตจริง

ขณะที่พลังงานจังหวัด ตรวจเข้าไปตรวจสอบก่อนว่ามีบ่อจริงจึงจะอนุมัติเงินให้ นอกจากนี้ ยังได้มีการตั้งคณะกรรมการประเมินผลแล้ว โดยโครงการส่วนบุคคลจะต้องถูกผู้ตรวจลงไปประเมินผลถ้าเป็นโครงการหลอกจะมีการตั้งกรรมการสอบสวนด้วย ส่วนโครงการประเภทซื้อหลอดไฟ เครื่องปรับอากาศ มาเปลี่ยน ไม่ได้มีการอนุมัติให้ ถูกตัดทิ้งไปหลายพันล้านบาท

ในคราวนั้น มหาดไทยยังได้รับการจัดสรรเงินอีก 2,500 ล้านบาท เพื่อนำไปส่งเสริมให้ อปท. ดำเนินการสร้างระบบคัดแยกขยะชุมชนครบวงจร สำหรับนำขยะมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงในรูปแบบไฟฟ้าและก๊าซชีวภาพ

นับรวมวงเงินทั้ง 2 ส่วน สูงกว่า 4.4 พันล้านบาท เลยทีเดียว

คราวนั้น ยังถือเป็นครั้งแรกที่ถูกนำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อขอสนับสนุนงบฯ แต่ไม่ค่อยมีรายละเอียดประกอบอะไรมากนัก และเป็นการเสนอเข้ามาในวาระจร โดยอ้างอิงมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานส่วนนี้ด้วย แต่ที่ประชุมก็ยังเห็นชอบ ตั้งกรอบวงเงินให้

ล่าสุด ในปีงบประมาณ 2563 แม้ไม่พบว่า หน่วยงานสังกัดมหาดไทย ได้รับจัดสรรงบฯ มากน้อยเพียงไร แต่จากงบฯกองทุน ที่ลงไปยัง "กลุ่มงานสนับสนุนลดต้นทุน ยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มเศรษฐกิจฐานรากและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม" จาก 1 ใน 3 ประเภท พบว่า เป็น "โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร" ที่มหาดไทย เคยได้รับในปีก่อนๆ ถึง 968 โครงการ แถมยังพบว่า เป็นโครงการที่ยื่นของบฯ เข้ามามากที่สุด รวมกว่า 2,339 โครงการ เป็นวงเงินกว่า 9,172 ล้านบาท

ขณะที่ การจัดสรรเงินปีงบประมาณ 2563 ในกองทุนฯ ให้หน่วยงานต่างๆ ถูกจับตามองโดย "เครือข่ายอาสาสมัครพลังงาน (อสพน.) และวิสาหกิจพลังงานชุมชน" โดยเฉพาะโครงการที่ผ่านการอนุมัติที่ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ "โซลาร์โฮม สูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร" ล้วนไม่คุ้มค่า ตั้งงบฯ สูงกว่าราคากลาง เอื้อพ่อค้าและทุนการเมือง เป็นต้น

ในปีงบ 2563 คณอนุกรรมการกองทุนฯ ใช้ หลักเกณฑ์ 7 ข้อ ที่ใช้ในการพิจารณากลั่นกรองโครงการ คือ

1.ต้องตรงกับวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ตามมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 2535

2.เน้นโครงการที่มีข้อมูลทางเทคนิคของอุปกรณ์มาประกอบการพิจารณา โดยแสดงผลประหยัดที่ถูกต้อง มีระยะเวลาการคืนทุน มีข้อมูลความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการ มีกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์จากโครงการชัดเจน

3.เน้นโครงการที่ผู้ขอยื่นรับการสนับสนุนไม่เข้าข่ายเป็นผู้ขอแทนกันในลักษณะที่ไม่ใช่เจ้าของหน่วยงานในสังกัดเดียวกัน

4.กรณีที่เป็นโครงการต่อเนื่อง ต้องมีรายงานแสดงผลการเบิกจ่ายของปีที่ผ่านมา ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และมีรายงานผลความก้าวหน้าของโครงการในปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยแสดงข้อมูลดังกล่าว ณ วันที่ยื่นข้อเสนอโครงการ

5.ไม่สนับสนุนโครงการที่ขอดำเนินการในลักษณะเดียวกับโครงการสาธิตริเริ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ หรือมีการดำเนินการมาก่อนหน้าแล้ว

6.กรณีเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนผลผลิตภาคการเกษตรจะต้องสามารถวัดผลได้ว่า มีการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร

7.ทรัพย์สินที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ถือเป็นทรัพย์สินที่ผู้ได้รับการสนับสนุนจะต้องบำรุงรักษาต่อไป

ข้อมูลของ ศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC )ระบุว่า มีโครงการที่ได้รับอนุมัติยังมีวงเงินที่สูงกว่าราคากลางที่กำหนดไว้หลายเท่า สะท้อนถึงส่วนต่างที่เกิดขึ้น

ยกตัวอย่าง โครงการพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จ.เชียงใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดตั้งชุดโซลาร์โฮมให้ชุมชนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ รวมวงเงินที่ขอรับจัดสรร สูงถึง 424 ล้านบาท ในขณะที่ราคากลางกำหนดไว้เพียง 106 ล้านบาท

หรือโครงการพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จ.นครนายก ซึ่งเป็นการขอระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้โครงการสถานีพลังงานชุมชน ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 15 แห่ง มีวงเงินที่ขอรับจัดสรรรวมถึง 28 ล้านบาท แต่วงเงินตามราคากลางเพียง 9.6 ล้านบาท เป็นต้น

สื่อด้านพลังงาน ยังตั้งข้อสังเกตคราวนั้นว่าคำตอบสุดท้ายที่ถูกตั้งประเด็นไว้ คือ พ่อค้าขายระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ พ่อค้าระบบโซลาร์โฮม และทุนการเมืองจะกลายเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์สูงสุด

ส่วนประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับจัดสรรงบ อาจจะได้ประโยชน์บ้างในช่วงเริ่มต้นโครงการที่ระบบติดตั้งยังไม่พัง และคนที่เสียประโยชน์ในเกมนี้ คือบรรดาผู้ใช้น้ำมันทั้งหลายที่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงานนั่นเอง

อย่าลืมว่า งบฯจากองทุนโครงการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก ที่ผ่านคณะกรรมการกองทุนฯ นั้นก็เป็นงบฯแบบเดียวกัน ที่ "กอ.รมน.ภาค 3" ใช้ไปถึง 45 ล้านบาท ในการติดตั้งแผง Solar Cellsใน 5 พื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2562 เช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น