ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นอันว่าหายนะจากการระบาดไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ที่มีต้นตอมาจากขบวนการค้าแรงงานเถื่อนและบ่อนทำชาติพัง โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจ สร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อชีวิตและเศรษฐกิจพังพินาศ รัฐบาลต้องล้วงเอาเงินก้นถุงซึ่งควรจะถูกใช้ไปกระตุ้นเศรษฐกิจต่อยอดเร่งฟื้นคืนสู่ภาวะปกติ กลับต้องวกกลับมาแจกเงินเยียวยาที่ชื่อฟังดูดีว่า “เราชนะ” และเพิ่มสิทธิ์ “คนละครึ่ง” อีกล้านสิทธิ์ แถมด้วยการลดค่าน้ำค่าไฟค่าเน็ตไปตามเรื่อง
ทั้งที่จริงแล้วหาใช่ “เราชนะ” แต่มันคือการแพ้ราบคาบให้กับขบวนการฉ้อฉลปล้นโอกาสลืมตาอ้าปากของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่นี้ สำนักพยากรณ์เศรษฐกิจของแบงก์หลายสำนักฟันธงตรงกันว่า สร้างความเสียหายฉุดเศรษฐกิจดิ่งนรกไม่ต่ำกว่าแสนล้าน ภาคธุรกิจท่องเที่ยว การค้า การลงทุน การจ้างงานกระทบถ้วนหน้า
ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมายอมรับว่า ต่อให้ร้อยนายกฯ ก็ไม่อาจปราบบ่อนพนันได้ถ้าทุกคนไม่ร่วมมือกัน ก็ยิ่งวังเวงประเทศไทย เพราะนี่เท่ากับหงายไพ่ให้ขบวนการใต้ดิน เกาะเกี่ยวพวกที่มีอำนาจหน้าที่ทำตัวเป็นรัฐซ้อนรัฐ ทำมาหากินกันอย่างสุขเกษมเปรมปรีดิ์ เพราะงานนี้นายกฯ ว่า “... ผมโทษใครไม่ได้ ถ้ามัวแต่โทษกันไปมาก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ความร่วมมือก็ไม่เกิด”
กล่าวสำหรับมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ ที่ผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 มกราคาที่ผ่านมานั้น มาตรการหลักๆ ประกอบด้วย การลดค่าไฟฟ้า 2 เดือนตามใบแจ้งหนี้ตั้งแต่ กุมภาพันธ์ - มีนาคม 2564 โดยให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก โดยให้กับบ้านพักอาศัยที่ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ส่วนบ้านที่ใช้เกินก็ลดไปตามเงื่อนไข ส่วนค่าน้ำลด 10% เป็นระยะเวลา 2 เดือนตามใบแจ้งหนี้ กุมภาพันธ์ - มีนาคม 2564 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก
ส่วนค่าอินเตอร์เน็ต ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หารือกับผู้ประกอบการ และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพิ่มความเร็วเน็ตบ้านและโทรศัพท์มือถือ สนับสนุนการโหลดแอปหมอชนะฟรีโดยไม่คิดค่าดาต้าเป็นระยะเวลา 3 เดือน
สำหรับโครงการคนละครึ่ง ให้ขยายสิทธิ์เพิ่มอีก 1 ล้านสิทธิ์ โดยเปิดลงทะเบียนวันที่ 20 มกราคมนี้ สามารถใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม เป็นต้นไป ส่วนมาตรการ “เราชนะ” ที่จะจ่ายให้ 3,500 บาท ต่อคนต่อเดือน แบ่งเป็นกลุ่มๆคล้ายๆ กับมาตรการเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน” คือ อาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ เกษตรกร เป็นเวลา 2 เดือน โดยจะนำเข้าครม.อีกครั้งในวันอังคารที่ 19 มกราคมนี้
เบื้องต้น “เราชนะ” จะช่วยเหลือ 2 เดือน คือ กุมภาพันธ์ – มีนาคม 2564 แต่คราวนี้มีตรวจบัญชีแบงก์ด้วยถ้าหากใครที่อู้ฟู่อยู่แล้วก็อดได้รับความช่วยเหลือ
ในส่วนของแรงงาน จะขยายเวลาลดหย่อนส่งเงินสมทบประกันสังคม, กรณีว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง ได้เงินชดเชย 70% ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 200 วัน กรณีว่างงานจากการลาออก ได้เงินชดเชย 45% ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 90 วัน
นอกจากนั้น ยังมีมาตรการอื่นๆ เช่น ขยายเวลาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอีก 1 ปี และ ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเหลือ 0.01% ขณะที่แบงก์รัฐเติมสภาพคล่องช่วยเหลือลูกหนี้อีก 2.68 แสนล้านบาท โดยแบงก์ออมสิน พักชำระหนี้ให้ลูกหนี้ในพื้นที่สีแดง 28 จังหวัดเสี่ยง แบงก์ ธ.ก.ส. ลดภาระหนี้สำหรับกลุ่มลูกหนี้เอ็นพีแอล หรือที่มีดอกเบี้ยค้างชำระเกิน 15 เดือน
ส่วนการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ ธนาคารออมสิน จัดซอฟท์โลนช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว วงเงิน 7,800 ล้านบาท, ช่วยเอสเอ็มอี 10,000 ล้านบาท ไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนปีนี้ เช่นเดียวกับเอสเอ็มอีแบงก์, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่ปล่อยสินเชื่ออุ้มเอสเอ็มอีต่อจนถึงกลางปีนี้เช่นกัน ขณะที่ซอฟท์โลนของแบงก์ชาติ ยังมีวงเงินคงเหลือประมาณ 370,000 ล้าน ปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปถึงจนกลางเดือนเมษายนนี้
สำหรับประชาชนทั่วไป แบงก์ออมสิน ปล่อยสินเชื่อฉุกเฉิน, สินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงินรวม 12,700 ล้านบาท ไปจนถึงกลางเดือนมิถุนายนนี้ ขณะที่ ธ.ก.ส. จัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชน ทั้งสินเชื่อฉุกเฉิน 11,000 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อเลี้ยงชีพ 10,000 ล้านบาท สินเชื่อนิวเจนฮักบ้านเกิด 60,000 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อฤดูกาลผลิตแสนล้านบาท สิ้นสุดการขอสินเชื่อถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้
การแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่นี้ สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไม่น้อยไปกว่ารอบแรก โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ระบุว่า การแพร่ระบาดรอบใหม่ที่กระจายไปทุกภูมิภาคอย่างรวดเร็วแม้ยังไม่ยกระดับสู่การล็อกดาวน์เหมือนรอบแรกเมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา แต่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผลกระทบด้านการค้าและการท่องเที่ยว ร้านอาหาร สถานบันเทิง
TMB Analytics ประเมินว่า ผลกระทบต่อภาคการค้า การท่องเที่ยว ในไตรมาสแรกของปีนี้จากปัจจัยที่ไทยมีสัดส่วนพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยว 22% ต่อจีดีพี รวมทั้งประเทศและมีการจ้างงานรวมกัน 6.9 ล้านคน คาดว่าผลกระทบจากสถานการณ์โควิดจะทำให้รายได้จากภาคการค้าและการท่องเที่ยวลดลงรวมกันกว่า 1.4 แสนล้านบาท
โดยกลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุด ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเป็นฐานการผลิต แหล่งการกระจายสินค้า และขายสินค้าที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งเป็นจังหวัดท่องเที่ยว กลุ่มนี้มีสัดส่วนพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยว 23% การจ้างงานในพื้นที่ 4.1 ล้านคน คาดผลกระทบต่อรายได้ภาคการค้าและการท่องเที่ยวอยู่ที่ 1.28 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 91% ของรายได้ที่ถูกกระทบทั้งหมด
ขณะที่กลุ่มที่เหลือซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมและเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง มีสัดส่วนพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยว 20% มีการจ้างงานในพื้นที่ 2.8 ล้านคน ผลกระทบต่อรายได้ภาคการค้าและการท่องเที่ยวคาดรวมกันกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ หากเจาะ 14 จังหวัดแรกที่ได้รับผลกระทบต่อภาคการค้าและการท่องเที่ยวสูง พบว่าส่วนใหญ่อยู่กลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจ มีรายได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สูงสุดของประเทศ และมีสัดส่วนการพึ่งพิงภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวมากถึง 33% มีการจ้างงาน 2.1 ล้านคน คาดรายได้ภาคการค้าและการท่องเที่ยวจะลดลง 81,424 ล้านบาท รองมาเป็น ชลบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีรายได้สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ และมีสัดส่วนการพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยว 19% มีการจ้างงาน 2.7 แสนคน ทำให้ผลกระทบต่อรายได้อยู่ที่ 15,463 ล้านบาท
ส่วนภูเก็ตซึ่งเป็นจังหวัดที่มีเป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ และมีสัดส่วนการพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยวสูงถึง 53% มีการจ้างงาน 1.5 แสนคน ผลกระทบต่อรายได้อยู่ที่ 2,799 ล้านบาท ขณะที่ ระยองและสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ในกลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเช่นเดียวกับชลบุรี แต่มีสัดส่วนพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยวต่ำกว่าโดยอยู่ที่ 8% และ 15% ทำให้ผลกระทบต่อรายได้ลดลงน้อยกว่าอยู่ที่ 2,748 และ 2,682 ล้านบาท ตามลำดับ
ทางด้าน นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัว 2.5% พ้นจากภาวะถดถอยที่เกิดขึ้นในปี 2563 ที่เศรษฐกิจหดตัวติดลบ 6.5% โดยปีนี้ยังเจอความท้าทายจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้เกิดความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1.6 แสนล้านบาท แต่ถ้ายืดเยื้อนานเกินกว่า 3 เดือน จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวเพียง 1% ซึ่งมาตรการที่ภาครัฐเตรียมเยียวยาและช่วยเหลือ เช่น แจกเงินกลุ่มอาชีพอิสระและเกษตรกร 3,500 บาทนาน 2 เดือน อาจทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 2% ได้
นอกจากนี้ แรงขับเคลื่อนภาครัฐจากมาตรการเยียวยา จะทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 1.7-2 แสนล้านบาท และเชื่อว่าอาจไม่ต้องกู้เพิ่ม เพราะยังมีงบประมาณและงบกลางรองรับอยู่ด้วย ส่วนผลกระทบหนักสุดคงเป็นธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรม จึงสนับสนุนแนวคิดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับภาคธุรกิจที่ให้โรงแรมบางส่วนมาอยู่ใน “แวร์เฮาส์ซิ่ง” เพื่อหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว เพราะนักท่องเที่ยวในขณะนี้ยังไม่กลับมาเปิดกิจการไปก็ยังไม่คุ้มทุน
“การแพร่ระบาดระลอกใหม่ทำให้เกิดค่าเสียโอกาสไม่ต่ำกว่า 1.6 แสนล้านบาทจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ล่าช้าออกไปท่ามกลางความไม่แน่นอน.... ” ศูนย์วิจัยกรุงไทย ระบุ แต่เชื่อว่า หากมาตรการที่ใช้อยู่สามารถควบคุมสถานการณ์ภายใน 2-3 เดือน จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 109.6 ล้านคนต่อครั้ง ต่ำลงกว่าประมาณการเดิมที่ 131.8 ล้านคนต่อครั้ง แต่ก็ยังสูงกว่าปีก่อนหน้าที่ 91.2 ล้านคนต่อครั้ง และการเยียวยาโควิดรอบสองของรัฐที่ออกมาจะมีส่วนช่วยลดผลกระทบด้วย