ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - วิจารณ์แซ่ดปม “ศูนย์ กศน. อมก๋อย” หรือ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ออกประกาศ “ห้ามครูดอยโพสต์ข้อความรับบริจาคผ่านโซเชียล หรือช่องทางอื่นๆ” เซ่นกระแสดรามา “พิมรี่พาย” มอบสิ่งของช่วยเหลือเด็กดอย จนตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ใหญ่โต กระทั่ง รมช.ศึกษาธิการ ออกมายืนยันยกเลิกประกาศกล่าวในเวลาต่อมา
สืบเนื่องจากกรณีสายเสี้ยมกระพือดรามากรณี “พิมรี่พาย” หรือ “พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์” แม่ค้าออนไลน์และยูทูปเบอร์ชื่อดัง ทุ่มเงินการกุศล 5 แสนบาท ติดตั้งโซลาร์เซลล์ ช่วยเหลือเด็กดอย” ที่หมู่บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ จนเป็นประเด็นเผือกร้อนถูกนำไปใช้ทางการเมืองโดยเฉพาะการพุ่งเป้าโจมตีแผนติดตั้งโซลาร์เซลล์ของ กอ.รมน. มูลค่าสูงกว่า 45 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้น สายเสี้ยมยังปลุกปั่นลุกลามไปถึงสถาบันเบื้องสูง
หลังจากคลิปที่มีชื่อว่า “สุขสันต์วันเด็ก พิมรี่พายจัดใหญ่ให้น้องบนดอยสูง” อัปโหลดผ่านยูทูบชาแนล “พิมรี่พาย” เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2564 ยอดวิวมากกว่า 5.8 ล้านครั้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มค. 2564) เนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางไปมอบสิ่งของให้เด็กๆ และชาวบ้านบนดอยที่หมู่บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ทุ่มเงินบริจาคกว่า 5 แสนบาท ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า ซื้อโทรทัศน์จอยักษ์ สร้างแปลงผักสำหรับชาวบ้านปลูกผักกินและขาย
กลิ่นดรามาเริ่มโชยคลุ้ง ตอนหนึ่งของคลิปเล่าว่า พิมรี่พายได้พบกับครูเจตน์ ครูดอยที่สอนอยู่บ้านแม่เกิบแห่งนี้ ก่อนเล่าให้ฟังว่าเด็กประมาณ 40 คน ไม่มีความฝันเพราะพวกเขาจินตนาการไม่ออกว่าถ้าได้เรียนจนจบชีวิตจะเป็นยังไงต่อ ที่นี่ทุรกันดารมาก การเดินทางลำบาก ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ชาวบ้านที่นี่ไม่รู้วิธีปลูกผักขาย อยู่กันในโลกแคบ พอตกค่ำก็เข้านอนเพราะไม่มีอะไรทำ
หลังคลิปเผยแพร่ออกไปตามมาด้วยกระแสชื่นชมและวิพากษ์วิจารณ์ สร้างความประหลาดใจแก่ผู้รับชมและเกิดคำถามว่ายังมีสถานที่ที่ทุรกันดารเช่นนี้เมืองไทยอยู่อีกหรือ? จนกระทั่งมีคนจับโป๊ะเธอดรามาเกินจริง ตั้งแง่โจมตีโดยมองข้ามเจตนาดีอันแท้จริงของ “พิมรี่พาย” ที่โนสนโนแคร์ออกมาสยบดรามาทุกข้อครหา ยืนยันหนักแน่นว่า “แค่อยากทำความดี อยากตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”
ประเด็นบริจาคของขวัญวันเด็กที่หมู่บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ของ พิมรี่พาย แม่ค้าออนไลน์และยูทูปเบอร์ชื่อดัง นำมาซึ่งกระแสวิพากษ์สังคมจนร้อนถึงหน่วยงานรัฐที่ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ “ศูนย์ กศน.อำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่” ร่อนจดหมายประกาศถึงครูและบุคลากรในหน่วยงาน เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2563 สั่งห้าม 3 ข้อ 1. ห้ามโพสต์ขอรับบริจาคผ่านโซเชียล 2. ห้ามตอบโต้หรือแสดงความคิดเห็นในแง่ลบผ่านโซเชียล และ 3. ห้ามรับบริจาคของทุกประเภทจากหน่วยงานภาคีหรือเครือข่ายอื่นๆ
คำสั่งตามประกาศของ กศน.อมก๋อย ถูกโจมตีอย่างหนักว่าจะทำให้เด็กนักเรียนถิ่นเสียผลประโยชน์ กระทั่ง นางวิไลลักษณ์ สุขสาย ผู้อำนวยการ กศน.อำเภออมก๋อย ต้องรีบกลับลำลงนามยกเลิกประกาศดังกล่าวใน วันที่ 11 ม.ค. 2564
ขณะเดียวกัน ครูพี่โอ๊ะ - ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกมายืนยันว่าได้มียกเลิกคำสั่งดังกล่าวแล้ว เนื่องจากมีการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน โดยโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารสามารถขอรับบริจาคได้ และขอขอบคุณประชาชนที่มีใจเอื้อเฟื้อให้การช่วยเหลือสังคม
กรณี “พิมรี่พาย” ขึ้นไปบริจาคสิ่งของช่วยเด็กบนดอยเป็นเรื่องดีน่าชื่นชมเสียด้วยซ้ำ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกเพราะที่ผ่านมา เด็กๆ ในหมู่บ้านตามถิ่นทุรกันดารหลายต่อหลายแห่งได้รับความช่วยเหลือจากหลายภาคส่วนมากมายไม่ว่าจะเป็น อาสาสามัคร จิตอาสา มูลนิธิฯ ฯลฯ เพียงแต่การช่วยเหลือที่ผ่านๆ ไม่เกิดกระแสดรามา หรือไม่ได้ประกาศออกสื่อครึกโครมเท่านั้น
หากตัดประเด็นดรามาต่างๆ ออกไป เด็กบนดอยตามพื้นที่ทุรกันดารในเมืองไทย มีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาตลอดจนสาธารณูปโภคจำเป็น ต้องยกคุณงามความดีให้กับ “ครูดอยยุคดิจิตอล” ซึ่งใช้สื่อโซเชียลฯ เป็นช่องทางเปิดรับบริจาคสิ่งของต่างๆ ตลอดจน “ศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.)” ที่มีอยู่หลายแห่งในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร
เช่นเดียวกัน “ศศช.บ้านแม่เกิบ” หรือ “โรงเรียนบ้านแม่เกิบ” ซึ่งตั้งตะหง่าน อยู่ภายในหมู่บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่กำลังเป็นเป้าสนใจของสังคม เป็นศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง โดยมีครูดอยผู้ปิดทองหลังพระขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ
ย้อนกลับไป ปี 2523 กรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ในขณะนั้น จัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) โดยมี ครูอาสา หรือ ครูดอย จำนวน 1 - 2 คน เข้าไปอยู่กับชาวบ้านในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้บริการการศึกษาและพัฒนาชุมชน สอนเด็กตั้งแต่อนุบาล-ป.6 ในตอนกลางวันและผู้ใหญ่ในตอนกลางคืน
ปี 2535 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงได้พระราชทานความช่วยเหลือครูบนดอย และทรงรับ ศศช. ทุกแห่งไว้ในพระอุปถัมภ์ และในปี 2537 โครงการ ศศช. ได้รับรางวัลจากองค์การยูเนสโก ในฐานะที่เป็นแนวคิดใหม่ในการจัดการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นพื้นฐาน ซึ่งมีการขยายเปิดตามชุมชนทุรกันดารถึง 773 แห่ง
ต่อมา ปี 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานชื่อใหม่ของ ศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) ทรงพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ซึ่งเป็นพระราชสมัญญานามของพระองค์ท่าน “แม่ฟ้าหลวง” หรือ “สมเด็จย่า” เพียงแต่ชื่อย่อยังนิยมเรียกชื่อเก่า ศศช.
การจัดการศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง หรือ การศึกษาชาวเขา ศศช. ให้บริการด้านการศึกษาสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบนพื้นที่สูง ที่ประกอบด้วยประชากรหลายเผ่าพันธุ์และหลายเชื้อชาติ วิธีการศึกษาทั้งในระบบนอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ไม่ได้ต่างไปจากการจัดการศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นราบแต่อย่างใด
สำหรับโรงเรียนบ้านแม่เกิบมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ศูนย์การเรียนชุมชนขาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ประกอบครูประจำการ 2 คน คือ นายเจตน์ สนธิคุณ และนายวาสุ แสงอรุณคีรี
พวกเขาใช้โซเชียลมีเดียกลายเป็นสื่อกลาง “ระดมครูอาสา” มาสอนที่โรงเรียนบ้านแม่เกิบ นอกจากนี้ ยังใช้โซเชียลฯ ทอดสะพานบุญ เป็นสื่อกลางขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ จนผู้มีจิตศรัทธาหลั่งไหล่เข้ามาบริจาคสิ่งของ รวมทั้งสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ จำนวนมาก
ย้อนกลับ ปี 2561 มูลนิธิวิจัยและพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิต ได้ติดตั้งระบบส่องสว่างให้กับโรงเรียนบ้านแม่เกิบ โดยร่วมมือกับกลุ่มจำปีเหล็ก TLC Group และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปี 2563 มูลนิธิวิจัยและพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิต ได้เดินทางเข้าพื้นที่บ้านแม่เกิบ ร่วมกับคณะของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ติดตั้งระบบส่องสว่าง ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับบ้านเรือนของราษฎรบ้านแม่เกิบ จำนวน 51 หลังคาเรือน
และช่วงปลายปีที่ผ่านมา กลุ่มครูจิตอาสาเปิดการระดมทุนผ่านเฟซบุ๊ก ร่วมทำโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ที่ ศศช.บ้านแม่เกิบ กศน.อมก๋อย หรือ โรงเรียนบ้านแม่เกิบ ได้เงินบริจาค 290,000 บาท กระทั่ง “พิมรี่พาย” หยิบยื่นน้ำใจบริจาคอีก 550,000 บาท โครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์จึงสำเร็จลุลวงไปด้วยดี
นอกจากนี้ เรื่องราวของการส่งเสริมการศึกษาในถิ่นทุรกันดารเปิดเผยผ่าน นางอรอานันท์ แสงมณี นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ กลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเนื่องจากกระแสดรามากรณียูทูบเบอร์ชื่อดัง กับการบริจาคสิ่งของติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้เด็กบนดอย เพื่อสร้างความเข้าใจแก่สังคม โดยอธิบายถึงการทำงานของศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.)” ตอนหนึ่งความว่า
“ศศช. หรือ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” เป็นสถานศึกษาในสังกัด สำนักงาน กศน. กระทรวงศึกษาธิการ เป็นการจัดการศึกษาชุมชนที่ยึดชุมชนเป็นหลัก จัดกระบวนการเรียนรู้ให้ประชาชนทั้งชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ทั้งการศึกษาต่อ มีอาชีพ และพัฒนาอาชีพของตนเอง ให้สามารถดำรงชีวิตด้วยความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและนำมาเป็นส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้กับชุมชน มามากกว่า 40 กว่าปี
มีกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ดังนี้
1. เด็กก่อนวัยเรียน อายุ 3-6 ปี จัดกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก โภชนาการ และดูพัฒนาการเด็กจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. เด็กวัยเรียนที่ไม่ได้รับการศึกษา ในระบบโรงเรียน อายุ 7-14 ปี
กลุ่มนี้ ศศช.บางแห่งเป็นสถานศึกษาพื้นที่เป้าหมาย การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ดูแลทั่งด้านโภชนาการ สุขอนามัย วิชาการจริยธรรม ฯลฯ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
3. กลุ่มเป้าหมายผู้ใหญ่ อายุ 15 - 59 ปี กลุ่มนี้จัดการศึกษาพัฒนาอาชีพและทักษะชีวิต การศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงทักษะฟังพูดอ่านเขียนภาษาไทยเพื่อสื่อสารและรับบริการ เช่น สถานพยาบาลเวลาเจ็บป่วยจะได้แจ้งอาการถูก เป็นต้น
4. ผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป จัดกิจกรรมตามความสนใจของผู้เรียน
ปกติครูทำหน้าที่สอนเด็กและประชาชนในชุมชน เป็นการจัดการศึกษาตามบริบทชุมชนและโครงการอื่นๆ ในพื้นที่จากหลายหน่วยงานโดยให้ ครู ศศช. เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการ (บาง ศศช.เป็น 10 โครงการก็มี) และมักมีเครือข่ายมาให้การสนับสนุนอยู่บ่อยๆ
ทั้งเรื่องของ อาคารเรียน ศศช. ที่จะถูกสร้างการสนับสนุนจากผู้ที่สนใจ (แต่เดิมชาวบ้านในชุมชนเป็นคนสร้างอาคาร ศศช.) ข้าวของเครื่องใช้ อาหารและยารักษาโรคต่างๆ ก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐตามพื้นฐานหรือจากผู้ให้การสนับสนุน
ด้วยพื้นที่ห่างไกล ระบบการใช้พลังงานไฟฟ้าไปไม่ถึงในบางพื้นที่ใช้พลังงานทดแทน พลังงานแสงอาทิตย์ หรือน้ำ แต่อาจจะไม่ได้มีทั้งชุมชน ภายใน ศศช. จะมีพลังงานทดแทนเหล่านี้สำหรับกิจกรรมการเรียนการสอนภายใน ศศช.”
อย่างไรก็ตาม กระแส “ดรามาพิมรี่พาย” นำสู่การประกาศของ “ศูนย์ กศน. อมก๋อย” ห้ามครูโพสต์รับบริจาคผ่านโซเชียลฯ และช่องทางอื่นๆ ทำให้สังคมกลับไปเพ่งเล็งระบบการศึกษาไทยที่ยังคงเป็นปัญหา ตลอดจนบทบาทของ “สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.)
โดยเฉพาะรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่ผลการตรวจสอบการดำเนินงานจัดการเรียนการสอนของ สำนักงาน กศน. โดยตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของสำนักงาน กศน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 - 2562 ภายใต้แผนงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน
สรุปความได้ว่าทักษะการพัฒนาสื่อดิจิทัล-ทักษะสอนอังกฤษ ของบุคลากรจำนวนมากไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งดูเหมือนว่าการพัฒนาทักษะบุคลากรเป็นโจทย์ใหญ่ของ สำนักงาน กศน. ตามที่ ครูพี่โอ๊ะ - ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช. ศธ. เคยกล่าวไว้ว่า “คุณภาพครู นำไปสู่คุณภาพของเด็ก”