คอลัมน์...คนแคระบนบ่ายักษ์
โดย....แพทย์พิจิตร
คราวที่แล้ว ผมได้ทิ้งภาพปริศนา ที่มีอาจารย์ชัยอนันต์อยู่ในรูปนั้นด้วย !
ทำไมผมถึงคิดว่ารูปนี้มีปริศนา ? เหตุผลคือ หนึ่ง อาจารย์ชัยอนันต์ตั้งกรอบรูปนี้ในห้องทำงานของท่าน สอง อาจารย์ชัยอนันต์เป็นคนลึกซึ้ง เวลาทำอะไรมักจะมีนัยความหมายซ่อนให้คิดอยู่เสมอ สาม สีหน้าท่าทางของท่านในรูปและเพื่อนของท่านที่ยืนอยู่ตรงไมโครโฟนดูคร่ำเครียด คล้ายกำลังมีเรื่องสำคัญอะไรอยู่ อีกทั้ง หน้าของคนที่อยู่ริมขวาสุด ก็ดูเคร่งขรึมไปด้วย
ผมเห็นรูปนี้ครั้งแรกเมื่อประมาณสี่สิบปีที่แล้ว แม้ว่าตอนนั้นจะสงสัยใคร่รู้ แต่ก็ไม่กล้าถามท่าน ทั้งๆ ที่ปกติจะกล้าถามในเรื่องวิชาการ แต่อันนี้ มันไม่ใช่เรื่องวิชาการ แต่มันเป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน แต่เป็นเรื่องส่วนตัวที่ท่านเปิดให้เห็น แต่ก็เปิดให้เห็นในห้องทำงานส่วนตัวอยู่ดี ผมจึงไม่กล้า และเก็บความสงสัยนั้นไว้ในใจ
ต่อมา ผมไปเรียนที่อังกฤษ และได้มีโอกาสเข้าไปในห้องสมุดของสามัคคีสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ มีหนังสืออนุสรณ์และรายงานกิจกรรมประจำปีของคณะกรรมการและสมาชิกของสมาคม ผมเห็นรูปคนหนึ่งในหนังสือที่มีหน้าตาเหมือนเพื่อนอาจารย์ชัยอนันต์ที่ยืนหลังไมโครโฟน ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นคนๆ เดียวกัน เพราะหน้าตาโดดเด่นแบบนี้ ไม่น่าจะหาคนหน้าซ้ำแบบนี้ได้ง่ายนัก
อาจารย์ชัยอนันต์ซะอีก ที่หน้าตาท่านในรูปถ่ายสมัยเรียนวชิราวุธถือว่าเป็นหน้าโหลกว่าเพื่อนข้างๆ ท่าน เพราะในประสบการณ์ชีวิตของผม ผมเจอคนที่มีหน้าตาเหมือนอาจารย์ชัยอนันต์สมัยเด็กเกินสิบคนขึ้นไป แต่ตอนหลังๆ ที่ผมได้เรียนหนังสือกับท่านที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ หน้าตาและรูปร่างท่านกลับมีความโดดเด่นแบบที่เรียกว่า ไม่น่าหาใครซ้ำได้ เพราะศีรษะโตมาก ร่างอ้วนแต่ดูแข็งแรง คิ้วปุกปุยเหมือนปราชญ์ตะวันออก
กลับมาที่รูปเพื่อนของท่านที่ผมได้เห็นในหนังสืออนุสรณ์สามัคคีสมาคมฯ ดูตามรายชื่อที่อยู่ใต้ภาพ พบว่าชื่อ “โกศัลย์ คูสำราญ” นักเรียนมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และผมก็บันทึกชื่อนี้เข้าไปในความทรงจำ
หลังจากผมกลับมาเมืองไทย ก็ได้ถามอาจารย์ชัยอนันต์ว่า บุคคลในรูปสมัยวชิราวุธนั้นคือ โกศัลย์ คูสำราญ ใช่ไหม ? คำตอบของท่านยืนยันสมมุติฐานของผม และท่านก็เล่าสรรพคุณของเพื่อนคนนี้ว่าเรียนเก่งมากและได้ทุนไปเรียนจนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด
แต่ผมก็ดันไม่ถามท่านต่อว่า ตกลงแล้ว ในรูปนั้น ท่านกับอาจารย์โกศัลย์กำลังทำอะไรกันอยู่ ถึงได้หน้าตาคร่ำเครียดขนาดนั้น ดูคล้ายๆ กำลังจะแถลงการณ์อะไรบางอย่าง ไม่รู้จะเป็นการก่อหวอดกับครูอาจารย์ที่วชิราวุธหรือเปล่า คล้ายกับพวก “นักเรียนเลว” สมัยนี้ !?
และหลังจากนั้นมาเนิ่นนาน ผมก็ดันไม่ได้ถามท่านซักที จนเมื่อถึงวันหนึ่ง มันก็สายเกินไปที่จะถาม เพราะท่านได้จากผมไปแล้ว
จะว่าไป ผมเริ่มต้นเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องราวของอาจารย์ชัยอนันต์ตั้งแต่ก่อนที่ท่านจะจากไป โดยก่อนหน้านี้ ผมได้เขียนถึงท่านอาจารย์สุจิต (ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. สุจิต บุญบงการ) อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯและอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ท่านอาจารย์สุจิตเป็นสิงห์ดำ (ศิษย์เก่ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ) รุ่นพี่อาจารย์ชัยอนันต์หนึ่งรุ่น และหลังจากเขียนเรื่องอาจารย์สุจิตจบ ผมก็เขียนเรื่องอาจารย์ชัยอนันต์ และระหว่างที่เขียนอยู่นั้น ท่านก็มาด่วนจากไปเสีย
ในงานสวดท่านอาจารย์ชัยอนันต์ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส. ศิวรักษ์) ได้มาแสดงความเคารพการจากไปของท่านอาจารย์ชัยอนันต์ วันนั้น ผมไปงานพอดี และก่อนหน้าที่อาจารย์สุลักษณ์จะมา ท่านอานันท์ ปันยารชุนมา มีคนไปต้อนรับท่านอยู่พอสมควร แต่ตอนอาจารย์สุลักษณ์เดินเข้ามา ไม่ทราบว่าเพราะเจ้าภาพจะกำลังยุ่งอยู่หรือยังไง ไม่มีใครเดินไปรับ ผมนั่งรอพระสวดอยู่ ก็เลยรีบลุกไปต้อนรับท่าน
อาจารย์สุลักษณ์เป็นคนเจ้าคารมคมปากกล้า ท่านเห็นหน้าผมแล้ว ก็กล่าวด้วยเสียงอันดัง (ไม่รู้ว่าดังเป็นปกติ หรือจงใจจะให้ใครๆได้ยิน !) “คุณเขียนเรื่องชัยอนันต์ ชัยอนันต์เลยตายเลย”
ผมฟังแล้วก็มึน ไม่รู้จะตอบยังไง ทั้งๆที่ปกติ ใครๆชอบบอกว่า ผมเป็นคนหัวไว ตอบโต้อะไรเฉพาะหน้าได้ดี คนรอบๆ ที่ได้ยินก็คงอึ้งไปเหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าอาจารย์ ส. แกต้องการสื่ออะไร จะด่าผม หรือจะให้ตลก ?! ซึ่งบรรยากาศมันไม่เอื้อจะให้ใครรู้สึกตลก ผมก็ไม่ตลก ครอบครัวของอาจารย์ชัยอนันต์ก็ไม่ตลก สถานการณ์ขณะนั้น มันดูตีบๆ ตันๆ ยังไงชอบกล
แต่ก็ชั่วอึดใจเดียว อาจารย์ ส. ท่านหัวไว เมื่อท่านเห็นว่ามันท่าจะไม่ดี ท่านก็พูดต่อโดยพลันว่า “คุณเขียนเรื่องผมบ้างสิ ผมจะได้ตาย” เอ๊า ! เห็นผมเป็นนักเขียนมือเพชฌฆาตไปได้ แล้วท่านอาจารย์สุจิตจะคิดยังไง ??
แต่จนแล้วจนรอด ผมก็ไม่สามารถหาคำตอบได้สักทีว่าในรูปนั้น อาจารย์โกศัลย์กับอาจารย์ชัยอนันต์กำลังทำอะไรกันอยู่ และก็ยังไม่มีโอกาสเขียนเรื่องราวอาจารย์สุลักษณ์ตามที่ท่านเปรยมา
ต่อมา ไม่นานมานี้ ลูกศิษย์ปริญญาเอกผมคนหนึ่งชื่อ ชัชพันธุ์ ยิ้มอ่อน (อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์) กำลังศึกษาเรื่องพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และจากการสำรวจวรรณกรรมต่างๆ พบว่า มีวิทยานิพนธ์ปริญญาโทฉบับหนึ่งศึกษาเกี่ยวกับพระองค์ท่าน และพบว่าอาจารย์ชัยอนันต์เป็นหนึ่งในกรรมการวิทยานิพนธ์
ขณะเดียวกัน หนังสืออ้างอิงในวิทยานิพนธ์นั้นมีบทความของ คุณสตีเฟน กรีน เขียนเกี่ยวกับพระราชดำริของรัชกาลที่หก แต่เรามีข้อสงสัย แต่ไม่รู้จะไปถามใคร เมื่อไปดูชื่อบรรณาธิการหนังสือที่สตีเฟน กรีนเขียน ก็พบว่า คุณเตช บุนนาค เป็นบรรณาธิการ ผมก็เลยแนะนำให้ชัชพันธุ์ไปขอสัมภาษณ์คุณเตช (อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ สำนักราชเลขาธิการ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่สภากาชาดไทย ในตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทยฝ่ายบริหาร)
ผมมีสมมุติฐานว่า จากการที่อาจารย์ชัยอนันต์เป็นกรรมการวิทยานิพนธ์เล่มนั้น คงแนะนำให้นิสิตผู้นั้นอ่านหนังสือที่คุณเตชเป็นบรรณาธิการ เพราะหนังสือเล่มนั้นเป็นภาษาอังกฤษทั้งเล่ม และตีพิมพ์ก่อนวิทยานิพนธ์จะปิดเล่มเพียงปีเดียว สมัยก่อนโน้น การเข้าถึงหนังสือภาษาอังกฤษที่ออกใหม่ไม่รวดเร็วเท่าสมัยนี้ นิสิตจะไปพบเองก็ไม่น่าใช่ น่าจะเป็นอาจารย์ชัยอนันต์นี่แหละที่แนะนำไป
ที่สำคัญคือ ผมแอบรู้มาว่า คุณเตชจบวชิราวุธ (ที่รู้ก็เพราะอาจารย์เพื่อนร่วมงานที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เป็นศิษย์เก่าวชิราวุธเคยบอกไว้) จึงเป็นไปได้มากว่า จากสายสัมพันธ์ของความเป็น โอ.วี. (O.V. คือคำย่อ หมายถึงนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย คล้ายๆกับสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษที่ใช้คำว่า Old England Student: ซึ่งก็ให้น่าสงสัยและอาจจะน่าน้อยใจสำหรับนักเรียนไทยที่ไปจบที่เวลส์หรือสก๊อตแลนด์หรือไอร์แลนด์เหนือ ?!)
ไปๆ มาๆ นอกจากอาจารย์ชัยอนันต์และคุณเตชจะเป็นนักเรียนเก่าวชิราวุธแล้ว ยังเป็นนักเรียนรุ่นเดียวกันอีกด้วย ว่าแล้ว ผมคงจะได้คำตอบจากคุณเตชเสียทีว่าในรูปนั้น อาจารย์ชัยอนันต์กับอาจารย์โกศัลย์เพื่อนรุ่นเดียวกับคุณเตช กำลังก่อการอะไรกันอยู่ !