xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไล่ไทม์ไลน์ “หน้ากากอนามัย” “โควิด เวฟ 2” ก.พาณิชย์ เอาอยู่มั้ย!?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ปฏิเสธไม่ได้ว่า “หน้ากากอนามัย” หรือ “แมกส์” แทบจะกลายเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ไปแล้วตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด – 19 รอบแรก ในเมืองไทยราวๆ ต้นปี 2563 จวบจนโควิด - 19 ปะทุรอบที่ 2 ที่มิหนำซ้ำ ทำท่าจะรุนแรงเป็นเท่าทวีคูณ นับตั้งแต่ “แมกส์ขาดแคลน” ก่อนเพิ่มกำลังผลิตจน “แมกส์ล้นตลาด” ปัญหาเก่าๆ ทั้งเรื่องคุณภาพต่ำ สอดไส้ของมือสอง จำหน่ายเกินราคา รวมถึงการใช้งานไม่ถูกต้องใช้ผิดประเภท ยังคงเป็นปัญหาตลอดมา 

สืบเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จุดเริ่มจากคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อชาวเมียนมา ที่ทำงานในตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร กระทั่งแพร่กระจายลุกลามไปทั่วประเทศ ในช่วงรอยต่อส่งท้ายปีเก่าเข้าสู่ปีใหม่ปี 2564 ส่งผลให้อุปกรณ์ป้องกันเชื้อไวรัสอย่าง  “หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask)”  เป็นที่ต้องการมากขึ้นทันที

อย่างที่ทราบว่า ปัจจุบันหน้ากากอนามัยเพียงพอต่อความต้องการของตลาด วางจำหน่ายทั่วไปสามารถเลือกซื้อโดยง่าย ไม่ได้ขาดตลาดหาซื้อยากเหมือนแต่ก่อน ทว่า ราคาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ กลับมีราคาพุ่งพรวดขึ้นมาอีกครั้ง หลังโควิดส่อแววปะทุรอบ 2 โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มออนไลน์

ในประเด็นนี้ “อู๊ดด้า - นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) สั่งการปลัดกระทรวงพาณิชย์กำชับพาณิชย์จังหวัดและค้าภายในจังหวัด ให้เฝ้าติดตามสถานการณ์ความต้องการสินค้าป้องกันแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการฉวยโอกาสปรับราคาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask) ซึ่งเป็นสินค้าควบคุมราคาไม่เกิน 2.50 บาทต่อชิ้น หากพบขายเกินราคาให้ดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการทันที มีโทษทั้งจำคุกและปรับ

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask) ประมาณ 30 แห่ง กำลังการผลิตออกสู่ตลาดวันละ 5 ล้านชิ้น จากเดิมมีเพียง 11 โรงงาน กำลังผลิต 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน ทั้งนี้ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ออกประกาศควบคุมราคา ขายปลีก Surgical Mask ไม่เกิน 2.50 บาทต่อชิ้น ส่วนหน้ากากชนิดอื่นหรือหน้ากากนำเข้า กำหนดให้บวกเพิ่มจากราคาหน้าโรงงานอีก 10% และถึงผู้บริโภคบวกไม่เกิน 23%

ขณะที่ภาครัฐโดยองค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดสายพานการผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) กำลังการผลิตสูงสุด 8 แสน - 1 ล้านชิ้นต่อเดือน สำหรับบุคลากรทางการแพทย์เพียงพอต่อการใช้งาน ประชาชนได้

ที่น่าจับคือการเคลื่อนไหวของภาคเอกชนยักษ์ใหญ่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ทุ่มเงินกว่า 100 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย เป้าหมายหลักเพื่อแจกจ่ายฟรีแก่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลที่มีความจำเป็น และประชาชนทั่วไปที่ขาดโอกาสในการเข้าถึง ก่อนจะเกิด "ดรามา” เรื่อง “ราคา”  และทางซีพีชี้แจงว่า หน้ากากอนามัยดังกล่าว ซึ่งซัพพลายเออร์รายหนึ่งเป็นผู้นำมาจำหน่ายนั้น ขีดเส้นใต้ว่า  “ไม่ใช่เครื่องมือแพทย์ มีวัตถุประสงค์การใช้งานสำหรับป้องกันฝุ่นละออง หมอกควัน และเกสร จึงไม่ใช่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask)”  

สำหรับข้อกังวลปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในช่วงโควิด-19 ระบาดรอบ 2  นายวัฒนศักดิ์ ศรีเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ยืนยันว่าจะไม่มีความรุนแรงเท่ากับครั้งแรก เนื่องจากปริมาณการผลิตที่มีมากถึง 5 ล้านชิ้นต่อวันและเชื่อมั่นใจว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ไม่ซ้ำรอยเหมือนรอบแรกอย่างแน่นอน โดยขอความร่วมมือกับโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ให้เพิ่มกำลังการผลิตให้เต็ม 100% ขณะที่ในส่วนของประชาชนยังสามารถหาซื้อหน้ากากผ้าหรือหน้ากากป้องกันแบบต่างๆ เป็นทางเลือกได้

สำหรับช่องทางการจำหน่ายได้ขอความร่วมทางเจ้าหน้าตำรวจ และแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าออนไลน์ อาทิ Lazada, Shopee ฯลฯ ให้ร่วมตรวจสอบและป้องปรามไม่ให้เกิดการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาขายหรือบิดเบือนตลาด จนประชาชนผู้ใช้ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นความจำเป็นหรือปัจจัยอะไรที่จะมีการผลต่อการปรับราคาขาย

อย่างไรก็ดี แม้กระทรวงพาณิชย์จะตกปากรับคำว่า  “เอาอยู่” แต่หากย้อนไปดูความล้มเหลวครั้งเก่าก็อดทำให้ประชาชนประหวั่นพรั่นพรึงไม่ได้ เพราะครั้งนั้น ราคาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ปรับตัวสูงขึ้นเป็นหลายเท่าตัว จากเดิม 1 กล่อง 50 ชิ้น จำหน่ายอยู่ราวๆ 50 – 60 บาท กลับพุ่งพรวดไปกล่องละ 500 – 1,000 บาท กระทั่งกลายเป็นของหายาก ร้านขายยาทั่วทุกแห่งหนพร้อมใจปิดป้ายประกาศ “หน้ากากอนามัยหมด” ประชาชนหาซื้อไม่ได้ หรือที่ยังพอมีขายก็โก่งราคาแพงหู่ฉี่ แต่ที่น่าสังเกตในโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และแพลตฟอร์ม์ใหญ่ ชอปปี้ ลาซาด้า ต่างมีประกาศขายหน้ากากอนามัยล็อตใหญ่เป็นหมื่นเป็นพันชิ้น

เพราะฉะนั้น ในครั้งนี้ที่การแพร่ระบาดดำเนินไปอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าครั้งแรก จึงไม่น่าแปลกใจว่า ประชาชนจะเกิดคำถามในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง

นอกจากนั้น ปัญหาเดิมๆ เกี่ยวกับสินค้าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง ฯลฯ ก็ยังคงวนกลับมาให้เห็นอีกครั้ง เป็นต้นว่าจำหน่ายของใช้แล้วไม่ปลอดภัย เก็บหน้ากากเก่ามาซักรีดบรรจุถุงจำหน่าย รวมทั้งการนำเข้าหน้ากากอนามัยยัดไส้มือสองใช้แล้วมาจำหน่าย หน้ากากไร้คุณภาพบางเฉียบไม่ได้มาตรฐาน

โดยเมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทลายแหล่งลักลอบนำเข้าและแบ่งบรรจุถุงมือใช้แล้วไม่ปลอดภัย ย่านหนองแขม ยี่ห้อ Panyos® และ PURE Glove มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายเดิมที่เคยจับกุมในปี 2563 มีโทษตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ฐานไม่จดทะเบียนสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์ และฐานผลิต/ขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ปลอดภัยในการใช้มีโทษสูงสุด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะเดียวกันอีกประเด็นที่ถูกจับจ้องไม่แพ้กัน ก็คือ เมื่อผู้นำอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐาน ผอ.ศบค. ใส่หน้ากากอนามัยแบบมีวาล์ว แถมอ้างว่าถามทางแพทย์บอกว่าหน้ากากแบบนี้ประสิทธิภาพดี กระทั่งถูกโจมตีอย่างหนักเพราะข้อมูลวิชาการเป็นที่ประจักษ์ว่าหน้ากากแบบมีวาล์วไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้

“หน้ากากแบบเนี่ย (ถ้าเป็นระดับ N95 ที่มีวาล์ว) มันมีประสิทธิภาพดีแค่เรื่องการป้องกันการรับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย แต่มัน “ไม่ได้” ป้องกันการแพร่เชื้อออกไปสู่สังคมโดยรอบ ดังนั้น สมมติว่าประยุทธ์ติดเชื้อโรคโควิดนี้แล้ว ไม่มีอาการป่วย แต่แพร่เชื้อได้ (asymptomatic) ก็สามารถพ่นละอองไอน้ำลายออกมาทางวาล์ว และทำให้คนรอบข้างติดเชื้อตามไปด้วยได้ (เรื่องแบบนี้ พวกหมอรอบตัวเค้า ควรจะสอนเค้าหน่อยนะ) ปัญหาที่ตามมาของการดื้อเถียง และยังพูดเชิงโปรโมตหน้ากากวาล์วอีก ก็คือจะทำให้ประชาชน (โดยเฉพาะพวกแฟนคลับประยุทธ์) ทำตาม ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อมากขึ้นด้วย!!” รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ตอบโต้ความเข้าใจผิดเพี้ยนของท่านผู้นำผ่านแฟซบุ๊กส่วนตัว

 ท้ายที่สุด แม้ในปัจจุบันดูเหมือนว่า หน้ากากอนามัยจะเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ แต่ปัญหาคือ กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่สามารถควบคุมการจำหน่ายเกินราคาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังมีหน้ากากอนามัยไร้คุณภาพหลุดรอดออกสู่ตลาด 


 ที่สำคัญคือ สถานการณ์ ณ ขณะนี้ ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 2 ให้ยุติลงได้เมื่อไหร่ เพราะฉะนั้น ปัญหาเรื่องหน้ากากอนามัยจึงเป็นเรื่องที่ “รัฐบาลลุง” มิอาจมองข้าม ไม่เช่นนั้น ปัญหาเก่าๆ ก็อาจย้อนกลับคืนมาอีกครั้งก็เป็นได้ 


กำลังโหลดความคิดเห็น