คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ความเป็นมาของคอลัมน์ “คนแคระบนบ่ายักษ์”
“คนแคระบนบ่ายักษ์” เป็นชื่อที่ผมตั้งให้คอลัมน์ที่เคยเขียนให้มติชนสุดสัปดาห์ ความเป็นมาของการเขียนบทความในนิตยสารรายสัปดาห์ของผมเริ่มจาก พี่รุ่งเรือง ปรีชากุล บรรณาธิการสยามรัฐรายสัปดาห์ ในครั้งกระโน้น ได้ขอให้ผมเขียนบทความพิเศษรำลึกถึง ท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (ศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์) ผมก็ได้เขียนบทความชื่อ “แม่ครับ...อาจารย์ป๋วยตายแล้ว”
ต่อมา แวดวงคนสนใจความคิดใหม่ๆกำลังสนใจเรื่องโพสต์โมเดิร์น พี่รุ่งฯ แกก็มาขอให้ผมเขียนเล่าเรื่องโพสต์โมเดิร์นเป็นตอนๆ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีชื่อคอลัมน์ แต่อยู่ภายใต้หัว “บทความพิเศษ” และได้เขียนเรื่องโพสต์โมเดิร์นในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์หลายตอนมากจนกลายเป็นหนังสือเล่มได้ถึง 4 เล่ม ได้แก่ “Postmodern : ชะตากรรมโพสต์โมเดิร์นในอุ้งมือนักปรัชญาการเมืองโบราณ” (2550) “Postmodern in Japan” (2550) “Postmodern man : คนกับโพสต์โมเดิร์น เล่มที่หนึ่ง” (2552) และ “Postmodern man : คนกับโพสต์โมเดิร์น เล่มที่สอง” (2555)
ที่จริงเรื่องโพสต์โมเดิร์นใน “Postmodern man : คนกับโพสต์โมเดิร์น เล่มที่สอง” นี่ยังไม่จบดี แต่ผมยุติการเขียนไป โดยบทความชิ้นสุดท้ายที่ลงในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์คือ ฉบับประจำวันที่ 13-19 กุมภาพันธ์ 2547
ในเวลาเดียวกันกับที่เขียนเรื่องโพสต์โมเดิร์นให้สยามรัฐฯ ผมก็มีโอกาสเขียนลงคอลัมน์รหัสดนตรีที่เป็นของผู้เขียนที่ใช้นามปากกาว่า “วลีเดิม” ด้วย สืบเนื่องมาจาก “วลีเดิม” อยากจะแบ่งๆ กันเขียนเล่าเรื่องเพลงและดนตรี ผมก็เลยเขียนโดยใช้นามปากกาว่า “แตกะตูน”
สาเหตุที่ผมยุติการเขียนทั้งสองเรื่องให้สยามรัฐฯ เพราะตอนต้นปี 2547 เกิดเรื่องไข้หวัดนก และพี่รุ่งฯ แกเอาเรื่องมาลงมีผลกระทบต่อรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรขณะนั้น และในที่สุด พี่รุ่งฯ ก็โดนพิษการเมือง ทำให้ต้องออกจากการเป็นบรรณาธิการไป ผมก็ตัดสินใจออกตามไปด้วย เพราะพี่รุ่งฯ เป็นคนชวนผมมาเขียน เมื่อพี่เขาไม่อยู่ ผมก็ไม่อยู่
หลังจากไม่ได้เขียนให้สยามรัฐฯ แต่ยังชอบเขียนอยู่ พี่แซม (อาจารย์วรศักดิ์ มหัธโนบล) จึงชวนมาเขียนที่มติชนสุดสัปดาห์ ตอนนั้น คุณเสถียร จันทิมาธร เป็นบรรณาธิการ แกให้ผมลองเขียนส่งไปให้แกดูก่อน ปรากฏว่าผ่าน ก็เลยได้เขียนต่อเนื่องมาเรื่อยๆ และตั้งชื่อคอลัมน์ว่า “คนแคระบนบ่ายักษ์” และใช้นามปากกาว่า “แพทย์พิจิตร” มาจากชื่อคลินิกของพ่อผม ที่ตั้งอยู่ที่ถนนไมตรีจิต แถววงเวียน 22 กรกฎาคม ต่อมาย้ายมาอยู่ที่ถนนบรรทัดทองและอ่อนนุชในที่สุด
หลายคนที่อ่านข้อเขียนของ “แพทย์พิจิตร” ก็ให้สงสัยว่าคนเขียนเป็นหมอหรือเป็นคนพิจิตรหรือไร จำได้ว่า พี่พิภพ ธงไชย ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งต่อมา ผมก็ได้เปิดประกาศไปตอนครั้งที่สำนักพิมพ์มติชนเอาบทความในคอลัมน์ “คนแคระบนบ่ายักษ์” ที่ผมเขียนเรื่อง “ตาสว่างกับรัชกาลที่สี่” ไปตีพิมพ์รวมเล่มว่า ผมคือ “แพทย์พิจิตร”
ภายใต้ “คนแคระบนบ่ายักษ์” ผมเขียนเรื่องต่างๆ มากมาย โดยส่วนใหญ่จะเป็นหัวเรื่องใหญ่แล้วก็เขียนเป็นตอนย่อยๆ บางหัวเรื่องที่เขียนก็ได้กลายเป็นงานวิจัยและกลายเป็นหนังสือ เช่น งานวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองของเดนมาร์ก ค.ศ. 1849 และต่อมาตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “ปิยกษัตริย์: เส้นทางสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเดนมาร์ก, 1849” (2561) งานวิจัยเรื่องทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผล (rational choice) งานวิจัยเหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจากการเขียนภายใต้หัวข้อ “ความยุติธรรมที่ไม่เปลี่ยนผ่าน” ใน “คนแคระบนบ่ายักษ์”
หรือบางทีก็เอาตัดเอางานวิจัยมาลง เช่น ประเพณีการปกครองไทยฯ, การเปลี่ยนแปลงการปกครองสวีเดน ค.ศ. 1809, ทรราชกรีกโบราณ ฯลฯ
ล่าสุดผมกำลังเขียนระลึกถึง “อาจารย์ชัยอนันต์” (ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช) หนึ่งในอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประศาสตร์วิชาความรู้ให้ผมที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทั้งยังได้สนับสนุนให้ผมไปเรียนต่อต่างประเทศ และท่านยังเมตตากรุณาผมในเรื่องต่างๆ อีกมาก ดังนั้น เมื่อย้ายวิกมาเขียนที่ “ผู้จัดการสุดสัปดาห์” ผมก็จะเขียนระลึกถึงท่านต่อ
ที่จริงอาจารย์ชัยอนันต์ก็เป็นนักเขียนประจำให้กับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการมายาวนาน ก่อนที่ท่านจะล้มป่วย การที่ผมมาเขียนเรื่องท่านที่ผู้จัดการฯนี้ ก็น่าจะทำให้ผู้อ่าน “ผู้จัดการฯ” ที่เคยเป็นแฟนอาจารย์ชัยอนันต์ได้รับรู้เรื่องราวแง่มุมต่างๆ ของอาจารย์ชัยอนันต์จากประสบการณ์และมุมมองของลูกศิษย์คนหนึ่งของท่าน
นอกจากเรื่องนามปากกา “แพทย์พิจิตร” ที่มีคนสงสัยและผมได้เฉลยไปแล้ว ก็ยังมีคนสงสัยว่า ทำไมผมถึงตั้งชื่อคอลัมน์ว่า “คนแคระบนบ่ายักษ์” คำๆ นี้มีที่มาจากประเด็นวิวาทะทางความคิดในประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของยุโรปที่เริ่มมาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบห้าและมาระเบิดในศตวรรษที่สิบเจ็ด-สิบแปด วิวาทะที่ว่านี้เป็นการโต้เถียงกันระหว่างกลุ่มคนที่นิยมยกย่องภูมิปัญญาโบราณกับกลุ่มคนที่นิยมในภูมิปัญญาสมัยใหม่ที่ค่อยๆเริ่มเกิดขึ้นหลังจากที่โคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา ทำให้ผู้คนเริ่มสงสัยในองค์ความรู้ทางภูมิศาสตร์ที่เชื่อกันอยู่ในขณะนั้น ต่อมาเมื่อกาลิเลโอค้นพบความรู้ใหม่ๆในทางวิทยาศาสตร์ ก็ยิ่งทำให้ผู้คนหันไปสนใจความรู้ใหม่ๆ แต่คนส่วนใหญ่ก็เชื่อความรู้เดิมอยู่ และเริ่มเกิดการวิวาทะกันตามมา
“คนแคระบนบ่ายักษ์” เป็นคำของเบอร์นาร์ด เดอ ชาร์ต (Bernard of Chartres) ชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่สิบสาม เบอร์นาร์ด เดอ ชาร์ตเป็นนักปรัชญาในสายสกุลเพลโต เมื่อเป็นนักปรัชญาสายสกุลเพลโต ก็คงเดาได้เลยว่า เขาเป็นหนึ่งในผู้นิยมภูมิปัญญาโบราณ เขาใช้คำว่า “คนแคระบนบ่ายักษ์” เป็นอุปมาอุปมัยเพื่อจะบอกว่า คนรุ่นใหม่เปรียบเสมือนคนแคระตัวเล็กที่ยังต้องพึ่งความรู้ของคนโบราณ คนแคระจะอยู่สูงมองเห็นอะไรต่างๆ ได้ไม่ใช่จากตัวเอง แต่จะต้องอาศัยความรู้ที่นักปราชญ์โบราณคิดค้นสั่งสมไว้ให้เป็นฐานอันยิ่งใหญ่
โดยเบอร์นาร์ด เดอ ชาร์ตได้กล่าวว่า “พวกเรา [ยุคปัจจุบัน] เป็นเหมือนคนแคระที่เกาะอยู่บนบ่าของยักษ์ [สมัยโบราณ] ดังนั้นเราจึงสามารถมองเห็นได้มากขึ้นและไกลกว่ายุคหลัง และนี่ไม่ได้เป็นเพราะความเฉียบแหลมของการมองเห็นหรือความสูงของร่างกายของเรา แต่เป็นเพราะเราถูกอุ้มให้สูงขึ้นและสูงขึ้นตามขนาดของยักษ์” หรือที่ปรากฏในภาษาละตินว่า nanos gigantum humeris insidentes หรือ “ค้นพบความจริงบนฐานจากการค้นพบก่อนหน้านี้”
ผู้ที่นำเอาความคิดของเบอร์นาร์ด เดอชาร์ตมาเผยแพร่คือ จอห์นแห่งซอลสเบอรี่ (John of Salisbury) ที่อยู่ในศตวรรษที่สิบสองเช่นกัน มุมมองของเบอร์นาร์ด เดอชาร์ตน่าจะมีอิทธิพลไม่น้อย ดังที่มีการนำเอามุมมองดังกล่าวนี้ของเขาไปสร้างศิลปะกระจกสีในวิหารแห่งหนึ่งในฝรั่งเศสที่ปัจจุบันนี้ก็ยังหาดูได้
ตัวผมเองก็ศึกษาปรัชญาการเมืองของเพลโตมาก และเห็นว่า องค์ความรู้ที่เพลโตค้นพบและถ่ายทอดยังมีประโยชน์และถือว่าเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาโบราณที่เป็นรากฐานสำคัญของความรู้ของมนุษยชาติ
และอันที่จริง ภูมิปัญญาความรู้ทางรัฐศาสตร์ที่อาจารย์ชัยอนันต์ได้ค้นคว้าและถ่ายทอดมายังลูกศิษย์ถือว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งในการทำความเข้าใจการเมืองไทย ก่อนจะจบบทนำของ “คนแคระบนบ่ายักษ์” ในยุค “ผู้จัดการสุดสัปดาห์” ผมมีรูปอาจารย์ชัยอนันต์สมัยอยู่วชิราวุธมาฝาก เป็นรูปที่ผมเคยเห็นในห้องทำงานท่านตอนผมไปนั่งเรียนวิชา “ความคิดทางการเมืองไทย” เมื่อปี พ.ศ. 2522 และเป็นรูปที่ผมมีข้อสงสัยมาตลอดจนบัดนี้ !?