xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อุดช่องโหว่ “แรงงานแพลตฟอร์ม” หนุนสวัสดิการ ดันคุณภาพชีวิต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ระบบเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม (Platform Economy) สร้างแรงสั่นสะเทือนกระทบกับโครงสร้างตลาดแรงงาน ปัญหาส่อเค้ารุนแรงสอดคล้องกับการขยายตัวของระบบดังกล่าว กลายเป็นปัญหาใหญ่ของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดย  “กระทรวงแรงงาน” ตีโจทย์ไม่แตกยังไม่มีแนวทางรองรับแรงงานกลุ่มใหม่ที่เรียกกันว่า “แรงงานแพลตฟอร์ม” 

ขณะที่การขับเคลื่อน พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาแรงงานนอกระบบ เป็นไปอย่างล่าช้า

สำหรับธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลในเมืองไทย อาทิ Grab Line Man Foodpanda และ Lalamove ที่ให้บริการรถสาธารณะและรับส่งอาหาร, Airbnb, Agoda, Booking, Traveloka, Traveligo ฯลฯ ที่ให้บริการที่พักอาศัยชั่วคราว และ BeNeat, Ayasan, Seekster ที่ให้บริการลูกจ้างทำความสะอาดบ้านและสำนักงาน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเกี่ยวกับแรงงานแพลตฟอร์มฉายภาพชัดขึ้นจากสถานการณ์ประท้วงของผู้ขับขี่ Grab ทั้ง Grab Food และ Grab Bike ที่รู้สึกโดนเอารัดเอาเปรียบจากแพลตฟอร์ม Grab แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือที่ให้บริการเรียกรถยนต์ส่วนบุคคล แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ สำหรับรับส่งผู้โดยสาร รับส่งสั่งอาหาร รวมทั้งส่งพัสดุ กระทั่ง ออกมาประท้วง บ.Grab ที่มุ่งแน้นแสวงหาผลกำไรจนขาดความสมดุลในหลักคุณธรรมและมนุษย์ธรรม

 ประเด็นสำคัญ ที่ผ่านมารัฐไม่มีแนวทางควบคุมใดๆ เรียกว่า เปิดช่องให้บริษัทแพลตฟอร์มสามารถเอาเปรียบแรงงานได้อย่างอิสระ นิยามแรงงานที่ให้บริการผ่านแพลตฟอร์มตามกฎหมายเป็น “แรงงานอิสระ” หรือ “แรงงานนอกระบบ รัฐตีความว่าไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม 

ตีความให้พวกเขาเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือหุ้นส่วน (partner) อย่างไม่เป็นทางการของแพลตฟอร์ม หรือทางกฎหมายหมายถึงผู้รับจ้างทำของ (contractor) หมายความว่าจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และได้รับค่าตอบแทนตามชิ้นงาน ในขณะที่ลูกจ้างที่เป็นแรงงานในระบบจะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 และ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 และ พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554

ส่งผลให้กลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มไม่ได้รับความคุ้มครองจากประกันสังคมตามมาตรา 33 (ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายหรือ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตรและชราภาพ การว่างงาน) ขาดการดูแลจากกองทุนทดแทน (ความเจ็บป่วยและอันตรายที่เกิดจากการปฏิบัติงาน) สิทธิประโยชน์วันลา วันหยุดโดยได้รับค่าจ้าง การชดเชยการเลิกจ้าง การดูแลสภาพการทำงาน เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และสิทธิในการรวมตัวกันและการเจรจาต่อรองร่วม

ไม่นานมานี้ กระทรวงแรงงานและศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU-ColLaR) เปิดสัมมนาระดมความคิดเห็นทางระบบออนไลน์ เรื่อง  “ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 : ผลกระทบ แนวโน้มและทางออก”  ตอนหนึ่งกล่าวถึง  “กลุ่มแรงงานกิ๊ก (gig)” โดย นายอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ CU-ColLaR ระบุว่า


 คำว่า “gig” หรือ “กิ๊ก” ในบริบทของไทยคือการจ้างงานนอกระบบทั้งหมดทุกประเภท แต่ว่าคำว่า gig worker ขณะที่ บริบทที่มีศึกษากันในสากลค่อนข้างเฉพาะเจาะจงไปถึงแรงงานนอกระบบที่อยู่บนแพลตฟอร์ม โดยรูปแบบจะเป็นการจ้างงานแบบที่จบเป็นครั้งๆ จับคู่กันผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นหลัก 

อาทิ งานรูปแบบเก่า และงานรูปแบบเก่าบนความสัมพันธ์การจ้างงานแบบ ต่อให้มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีไปอย่างไร แต่ว่ารูปแบบเดิมก็ยังอยู่ ยกตัวอย่างเช่น วินมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ แม้ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามา มีแอปพลิเคชัน Platform Economy อย่าง Grab, Line man, GET ฯลฯ กล่าวคืองานแบบเดิมก็ยังคงอยู่

หรือ งานรูปแบบเก่าบนความสัมพันธ์การจ้างงานแบบใหม่ เป็นความสัมพันธ์การจ้างงานที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น การส่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน Grab Food Line man Food Panda เป็นต้น รวมทั้ง งานรูปแบบใหม่ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ยกตัวอย่าง อาชีพ YouTuber หรือ Influencer หรือ micro influencer อย่างปัจจุบัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม งานกิ๊กจัดให้อยู่ในหมวดของงานนอกระบบ ซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของสวัสดิภาพ สวัสดิการการคุ้มครองแรงงาน เพราะว่ากฎหมายก็มีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายคุ้มครองแรงงานต่างก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการนิยามการจ้างงานในระบบและนอกระบบ

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นคือรูปแบบเก่าบนความสัมพันธ์การจ้างงานในรูปแบบใหม่ กฎหมายยังไม่ได้กำหนดคำนิยามของแรงงานกลุ่มนี้ ทำให้เกิดสุญญากาศของการกำกับดูแลแรงงาน ซึ่งความท้าทายต่อจากนี้ รัฐไม่อาจการนิยามเพียงแรงงานนอกระบบและแรงงานในระบบ เพราะว่ามันมีการจ้างงานรูปแบบใหม่ขึ้น ต้องมีการขยายนิยามของความสัมพันธ์การจ้างงานให้ครอบคลุม ก่อนจะไปถึงเรื่องของการสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับแรงงานที่เป็นแรงงานกิ๊ก แรงงานนอกระบบได้อย่างครบถ้วนทุกกลุ่ม

นายอรรคณัฐ ให้สัมภาษณ์ประเด็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มความว่า ปัญหาหลักคือเรื่องการกำกับดูแลของรัฐ กฎหมายไทยตามไม่ทันรูปแบบการจ้างงานแบบใหม่ หลายประเทศมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่น ประเทศไต้หวันมีคนขับรถจักรยานยนต์ส่งอาหาร food panda ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตขณะทำงาน รัฐบาลกลับมาทบทวนกันคนที่ทำงานบนแพลตฟอร์มนั้นเป็นลูกจ้าง หรือเป็นแรงงานอิสระ เหมาช่วงแบบฟรีแลนซ์ เขาศึกษาแล้วได้ข้อสรุปว่า แรงงานที่ทำงานบนแพลตฟอร์มมีสภาพการจ้างงานเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม หมายความว่าบริษัทต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

ขณะที่ประเทศไทย เคนที่ทำงานให้แพลตฟอร์มส่งอาหารประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต บริษัทไม่ได้จ่ายค่าชดเชยใดๆ เพราะก่อนทำงานจะต้องคลิกยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไข ระบุไม่สามารถเรียกร้องสิทธิประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ที่ผ่านมามีกรณีเสียชีวิตบริษัทแค่ส่งพวงหรีดให้ บางคนกำลังไปส่งอาหารแล้วประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในหน้าที่ อาหารไปไม่ถึง คนสั่งไม่ทราบก็รีพอร์ตว่าไม่ได้มาส่งอาหาร บริษัทก็ไปบล็อกโดยที่ไม่รู้ว่าคนส่งตายไปแล้วระหว่างทำหน้าที่

ในประเด็นนี้  นายอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ LINE MAN Wongnai ยักษ์ใหญ่แพลตฟอร์ม Food delivery เมืองไทย  เปิดเผยในฐานะผู้ประกอบพร้อมอยู่ถ้าอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ยินดีปฏิบัติตามกฎหมายทุกอย่าง ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐทุกอย่าง เพียงรอรัฐประกาศความชัดเจนออกมาเท่านั้น

สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับไรเดอร์กลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มเป็นไปในลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะปัญหาการร้องเรียนเรื่องค่ารอบค่าตอบแทน กล่าวคือสมัยก่อนแพลตฟอร์มใดๆ เข้าระบบจะมีโปรโมชั่นสำหรับคนขับมีรายได้ดีเพื่อดึงดูดคนขับ และด้วยปริมาณคนขับที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กอปรกับผู้ให้บริการดิลิเวอร์เน้นย้ำขาดทุนทุกเจ้า จึงต้องหาววิธีการลดต้นทุนลง ซึ่งมักสะท้อนกลับไปที่การลดค่าลดรายได้รอบของไรเดอร์ ซึ่งทาง Line man มีอัตราการจ่ายดีที่สุดในอุตสหกรรม

 “เราอยากดูแลไรเดอร์ของเราให้ดี สมเหตุสมผลทางธุรกิจครับ” นายอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ LINE MAN Wongnai กล่าว 

อย่างไรก็ตาม Food Delivery Application ที่ให้บริการส่งอาหารอย่าง Line man, Grab food, Food Panda ฯลฯ ได้รับความนิยมเติบโตขึ้นหลายเท่าตัวอย่างรวดเร็ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการวิเคราะห์ผลจากแบบสำรวจและพบว่าแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร หรือ Food Delivery Application เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ของร้านอาหาร และช่วยให้มูลค่าของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ขยายตัวมากยิ่งขึ้น โดยเปลี่ยนค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคในการเดินทางไปยังร้านอาหาร เป็นค่าจัดส่งสินค้าแทน

นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มตัวอย่าง การมีแอปฯ สั่งอาหาร ทำให้ผู้คนเปลี่ยนไลฟ์สไตล์จากการทานอาหารนอกบ้าน มาสั่งอาหารผ่านแอปฯ มากขึ้น 63%โดยกลุ่มตัวอย่างเลือกสั่งอาหารผ่านแอปฯ โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักคือ การจัดโปรโมชั่นและส่วนลดต่างๆ 88%

 มูลค่ารวมของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ปี 2562 ซึ่งอยู่ราวๆ 33,000 - 35,000 ล้านบาท เป็นธุรกิจที่โตต่อเนื่องทุกปีประมาณ 10% ของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารของประเทศไทยโดยฟู้ดเดลิเวอรี่แอปพลิเคชั่น มีส่วนแบ่งรายได้ราว 3,400 ล้านบาท ขณะที่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหาร มีส่วนแบ่งรายได้ราว 3,900 ล้านบาท 

โดย Grab Food ครองตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ 50% ยอดออร์เดอร์พุ่งพรวดต่อเนื่องทุกปี รวมหลายล้านออเดอร์เดินหน้าจับมือพันธมิตรภายใต้หน้ากลยุทธ์ every day app ตามเป้าหมายของการก้าวเป็นซูเปอร์แอป จุดเด่นความเร็วและค่าบริการถูกกว่า มีแถมมีดีลพิเศษ รวมทั้ง โปรโมชั่นต่างๆตลอดทั้งปี
ขณะที่ LINE MAN ดาวรุ่งฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มียอดผู้ใช้หลายหลายล้านออเดอร์ เติบโตกว่า 300% แม้ค่าบริการแพงกว่าเจ้าอื่นๆ แต่โปร่งใสไม่บวกเพิ่มในราคาค่าอาหาร และไม่จำกัดเรื่องระยะทางการจัดส่ง

 ท้ายที่สุด ยังคงต้องติดตามกันว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาแรงงานนอกระบบ ที่กำลังผลักดันกันอยู่จะมีหน้าอย่างไร สามารถคุ้มครองให้ความเป็นธรรมแรงงานรูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัลแค่ไหน โดยเฉพาะแรงงานแพลตฟอร์ม ภาคธุรกิจที่อาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ช่องโหว่ของการกำกับดูแลของรัฐ แสวงประโยชน์ทางธุรกิจสูงสุด โดยไม่สนใจถึงผลกระทบต่อกลุ่มแรงงาน 



กำลังโหลดความคิดเห็น