ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นประเด็นร้อนฉ่าในทางการเมืองในทันที เมื่อปรากฏข่าวว่า “พล.ท.สรภฎ นิรันดร” อดีตรองเจ้ากรมยุทธการทหารบก ทายาทของ “ขุนนิรันดรชัย” หรือ “พ.ต.สเหวก นิรันดร” หนึ่งในผู้ก่อการของคณะราษฎร 2475 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินย่านธุรกิจในกรุงเทพมหานครกว่า 90 แปลง แถลงข่าวสำนึกผิดแทนบิดาที่ได้กระทำการมิบังควรต่อทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาเป็นของตนเองโดยมิชอบ
ทั้งนี้ เรื่องราวของ “ขุนนิรันดรชัย” กลับมาเป็นที่สนใจของคนไทยอีกครั้งเมื่อ “ม็อบคณะราษฎร 2563” ลั่นกลองรบว่าจะสืบทอดอุดมการณ์ของคณะราษฎรในอดีตที่กระทำการอภิวัฒน์ประเทศไทย พร้อมทั้งเดินหน้าปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนที่รักสถาบันมีการขุดคุ้ยถึงความไม่ชอบมาพากลของบรรดาแกนนำคณะราษฎร และค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินพระคลังข้างที่และทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไปเป็นของตนเองและพวกพ้อง
โดยส่วนของพระคลังข้างที่ ได้มีการซื้อที่ดินของผู้ที่มีอำนาจในรัฐบาลคณะราษฎรในราคาแพงๆ และมีการขายและเช่าที่ดินพระคลังข้างที่ในทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้กับหลายคนแก่ผู้ก่อการคณะราษฎรในราคาถูกๆ เพื่อไปขายต่อหรือเช่าต่อในราคาแพงต่างกันหลายเท่า
และแน่นอนว่า ตัวละครสำคัญก็คือ พันตรีขุนนิรันดรชัย (สเหวก นีลัญชัย หรือ เสหวก นิรันดร) ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ พันเอกหลวงพิบูลสงคราม และ เป็นคณะราษฎรสายทหารบก กลุ่มเด็กรุ่นใหม่ ที่คอยช่วยเหลือสายทหารในการก่อการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 จนกระทั่งประสบความสำเร็จ
และในเวลาต่อมา “ตระกูลนิรันดร” ซึ่งเป็นทายาทของ “ขุนนิรันดรชัย” กลายเป็นมหาเศรษฐีที่ดิน 90 แปลงใจกลางกรุงเทพมหานคร เช่น ย่านถนนสาทร ถนนเจริญกรุง ถนนชิดลม ถนนเพลินจิต ถนนวิทยุ รวมถึงที่ดินย่านบางลำภู ย่านหัวลำโพง ย่านมหานาค ฯลฯ โดยมีการประเมินมูลค่าว่าไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท และบรรดา “ลูกๆ” กำลังมีการฟ้องร้องมรดกของขุนนิรันดรชัยดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้
สำนักข่าวอิศราได้เคยนำเสนอเรื่องราวของ “ขุนนิรันดรชัย” เมื่อครั้งเกิดกรณีพิพาทมรดกที่ดินของขุนนิรันดรชัยในช่วงปี 2561 เอาไว้ว่า
“เขาอยู่ทำงานในสายรับใช้ ‘ผู้ใหญ่’ มาโดยตลอด จนจอมพล ป. ไว้ใจเป็นอย่างมาก กระทั่งถูกแต่งตั้งเป็นคนประสานระหว่างรัฐบาล (ช่วงจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี) กับคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (สมัยรัชกาลที่ 8 ทรงครองราชย์) โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นแกนนำในกลุ่มคณะทำงานชุดนี้ และมีขุนนิรันดรชัยเป็นเลขานุการคณะทำงานผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ว่ากันว่าในช่วงนี้ ภายหลังมีการตั้งคณะทำงานผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไม่นานนัก คณะราษฎรบางสาย ได้ชวนกันจับจองกว้านซื้อที่ดินใจกลางเมือง ทำเลเลิศหรู ไม่ว่าจะเป็นที่ดินแถวถนนสาทร ถนนวิทยุ เป็นต้น
“การกระทำดังกล่าว ส่งผลให้มี ส.ส. ประเภทที่ 1 (ช่วงเวลานั้นมีแต่สภาผู้แทนราษฎรแห่งเดียว แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ส.ส. ประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้ง ส่วนประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้ง) อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เนื่องจากมี ส.ส. ประเภทที่ 2 บางรายที่มาจากการแต่งตั้งของคณะราษฎรบางสาย ใช้เส้นสายไปซื้อที่ดินดังกล่าวไว้หลายสิบแปลง ส่งผลให้พระยาพหลพลพยุหาเสนาลาออก เปิดทางให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นสู่อำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก
“ขุนนิรันดรชัย ฝากตัวรับใช้จอมพล ป. พิบูลสงครามอยู่หลายปี รวมถึงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่งสงครามสิ้นสุดลง ฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระเห็จระเหินหนีขอลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ บทบาทของขุนนิรันดรชัยจึงหมดลงไปด้วยเช่นกัน (อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก เว็บบอร์ดวิชาการเรือนไทย)
“ที่ดินหรูหลายสิบแปลงใจกลางเมืองที่กลายเป็นมรดกตกทอดของสกุล ‘นิรันดร’ นั้น เมื่อปี 2551 นายธรรมนูญ นิรันดร ทายาทขุนนิรันดรชัย เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับวันที่ 2 ก.พ. 2551 ว่า ปัจจุบันมีที่ดินใจกลางเมืองประมาณ 90 แปลง ส่วนหนึ่งเป็นมรดกตกทอดจากขุนนิรันดรชัย
“ที่ดินแปลงสำคัญอยู่ตรงข้ามด้านหน้าวังสวนจิตรลดา เดิมรัชกาลที่ 8 พระราชทานพื้นที่ให้ประมาณ 1 ไร่ ต่อมามีการซื้อเพิ่มเติมรวม 6-7 แปลง ประมาณ 10 ไร่เศษ โดยซื้อมาตารางวาละ 4 บาท (ขณะนั้น) ส่วนบริเวณหน้าวังซื้อมาในตารางวาละ 250 บาท (ขณะนั้น) อดีตเป็นสวนผัก แต่ปัจจุบันราคาซื้อขายที่ดิน (ช่วงปี 2551) ตกอยู่ที่ 2.5 แสนบาท/ตารางวา เพราะสามารถก่อสร้างตึกสูงได้เพียง 4 ชั้นเท่านั้น
“นอกจากนี้ยังมีที่ดินบนถนนสาทร ติดโรงแรมเอเวอร์กรีน ลอเรล พื้นที่ประมาณ 5-6 ไร่ ซื้อมาในราคา 8 หมื่นบาท ขณะนี้เจ้าของสายการบินอีวาแอร์ และเจ้าของธุรกิจขนส่งสินค้าเอเวอร์กรีน และเจ้าของโรงแรมอีกหลายแห่งทั่วโลก ขอซื้อตารางวาละ 9 แสนบาท พร้อมเป็นผู้ดำเนินการออกค่าโอนและค่าภาษีให้ด้วยเพื่อจะลงทุนทำโรงแรม 7 ดาว มูลค่าโครงการ 5.2 พันล้านบาท แต่ไม่มีนโยบายจะขายที่ดิน แต่ยื่นข้อเสนอในการร่วมลงทุนแทน
“ขณะเดียวกันยังมีที่ดินฝั่งตรงข้ามกับสนามบินดอนเมือง พื้นที่ประมาณ 180 ไร่ ซื้อมาเมื่อหลายสิบปีก่อน ราคาตารางวาละ 8 หมื่นบาท ยังมีที่ดินบริเวณเขาใหญ่อีก 400 ไร่ ที่ดินชายหาดหัวหินอีก 3 ไร่ และที่ดินย่านบางลำพู หัวลำโพง มหานาค รวมแล้วประมาณ 90 แปลง มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท”
ทั้งนี้ พันตรีสเหวก นิรันดร หรือ “ขุนนิรันดรชัย” เป็นบุตรของนายปลั่ง และนางวอน เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443 สกุลเดิมคือ “นีลัญชัย” ต่อมาได้ขอรับพระราชทานนามสกุลใหม่ว่า “นิรันดร”
ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ร้อยโท ขุนนิรันดรชัย อายุ 31 ปี 7 เดือน เข้าประจำแผนกโรงเรียนทหารปืนใหญ่ แล้วต่อมาได้เลื่อนยศทหารเป็นนายร้อยเอกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 นายร้อยเอก ขุนนิรันดรชัย เข้าอยู่ในประเภทนายทหารนอกกอง กองทัพบก ประเภททหารกองหนุน ไม่มีเบี้ยหวัด เพื่อไปเป็น “เลขานุการของนายกรัฐมนตรี” ตามมติคณะรัฐมนตรี
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้อัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 [14] ขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เนื่องจากทรงมีพระชันษาเพียง 9 ปี รัฐบาลโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรว่ายังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎมณเฑียรบาล จึงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2478
และนี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของวิถีชีวิตของ ร้อยเอกขุนนิรันดรชัย นายทหารบกรุ่นน้องในคณะราษฎรสายทหารบก ผู้ใกล้ชิดกับ พันเอกหลวง พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในยุคนั้น จากฝ่ายรัฐบาล ก็ได้ถูกวางตัวให้ก้าวข้ามฟากเข้าสู่อำนาจในการประสานงานกับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478 นายร้อยเอกขุนนิรันดรชัย เป็นผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 นายร้อยเอกขุนนิรันดรชัย ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “ราชเลขานุการในพระองค์” และในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2481 นายร้อยเอกสเหวก นิรันดร ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหาร เป็น นายพันตรี
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 พันตรี ขุนนิรันดรชัยเป็นกรรมการที่ปรึกษาจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงมีส่วนในการตัดสินใจในเรื่องพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายมากขึ้นกว่าเดิม
วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2487 พันตรี ขุนนิรันดรชัยขอลาออกจากตำแหน่งเลขานุการในพระองค์ ภายหลังจากจอมพล ป. และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงลาออกจากตำแหน่งประธานและคณะกรรมการผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
รวมระยะเวลาที่ จอมพล ป. อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 เป็นเวลาถึง 5 ปี 228 วัน โดยในเวลานั้น ขุนนิรันดรชัยอยู่ในฐานะเป็น “ราชเลขานุการในพระองค์” และกรรมการที่ปรึกษาจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
หลังจาก“ขุนนิรันดรชัย”ได้ลาออกจากตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์แล้ว ก็ได้กลายเป็นนักธุรกิจเต็มตัว มีเงินลงทุนในกิจการที่ร่วมกับรัฐและเอกชนอีกมากมาย จนกลายเป็นมรดกอันมากมายมหาศาลของตระกูล“นิรันดร”ที่กำลังมีคดีความฟ้องร้องกันในวันนี้
โดยเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 61 “พล.ท.สรภฎ นิรันดร” เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง “นายธรรมนูญ นิรันดร” พี่ชายต่างมารดา ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารนครหลวงไทย “นายธรรมรัชต์ นิรันดร” บุตรชายคนกลางของนายธรรมนูญ “นางเยาวณี นิรันดร” บุตรสาวคนโต ของนายธรรมนูญ และบริษัท 31 สาธร จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-4 ต่อศาลแพ่ง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมแบ่งทรัพย์มรดก
“พล.ท.สรภฎ” ไม่พอใจที่มีการแต่งตั้ง “ธรรมนูญ นิรันดร” เป็นผู้จัดการมรดก และ “ธรรมนูญ” ก็เสียชีวิตไปแล้ว ก็เลยฟ้องร้อง “ปราณี นิรันดร” ภรรยาของธรรมนูญ “เยาวณี” บุตรสาวคนโต “ธรรมรัชต์” บุตรชายคนกลาง ต่อศาลแพ่ง และอาญา ในข้อหายักยอกทรัพย์ ในขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของศาล
นี่คือการทะเลาะกันใน “ตระกูลนิรันดร” ซึ่งต้นตระกูลคือ “ขุนนิรันดรชัย” ที่เป็นคนที่มีบทบาทและมีอำนาจในคณะผู้แทนพระองค์เมื่อครั้งนั้น