xs
xsm
sm
md
lg

โควิดทำพัง1.6หมื่นล.-วิษณุเชื่อขรก.เอี่ยวแรงงานเถื่อน-จ่อกำหนดโซนอันตราย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360- ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 46 ราย เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 39 ราย เชื่อมโยงตลาดกลางกุ้ง สธ. ระบุเป็นสายพันธุ์เดียวกับพบที่ท่าขี้เหล็ก มีต้นตอจากอินเดีย รองผู้ว่าฯ ขณะที่จ. สมุทรสาคร ติดเชื้อเพิ่ม 121 ราย รวมยอดสะสม 1,184 ราย ด้านหอการค้าจังหวัด ประเมินทำเศรษฐกิจพัง 1.6 หมื่นล้าน “บิ๊กตู่”เผยประชุมศบค.วันนี้ ชัดเจนกำหนดโซนสีแดง ส้ม เขียว ตามความรุนแรงของพื้นที่–จังหวัด เตรียมรื้อระบบขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว “วิษณุ”เชื่อ มีขรก.เอี่ยวนำเข้าแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ผบ.ตร.วอนให้ความเป็นธรรม ตม.ถูกสังคมมองหละหลวมปล่อยแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าประเทศ ชี้ หากบกพร่องไม่ใช่หน่วยเดียว เพราะรับผิดชอบร่วมกันหมด กทม.ประกาศปิดรร.ในสังกัด 437 แห่ง ศูนย์เด็กเล็ก 292 แห่ง

เมื่อเวลา 11.35 น. วานนี้ (23ธ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในประเทศ พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 46 ราย เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 39 ราย เชื่อมโยงกับตลาดกุ้งสมุทรสาคร จาก กรุงเทพฯ 11 ราย ฉะเชิงเทรา 5 ราย นครปฐม 3 ราย กำแพงเพชร 2 ราย ตาก 2 ราย ปราจีนบุรี 2 ราย พระนครศรีอยุธยา 2 ราย สมุทรปราการ 2 ราย สระบุรี 2 ราย เพชรบูรณ์ 1 ราย กระบี่ 1 ราย ขอนแก่น 1 ราย นครราชสีมา 1 ราย นนทบุรี 1 รายปทุมธานี 1 ราย ภูเก็ต 1 ราย และสุพรรณบุรี 1 ราย

ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และพบในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ ทุกรายเข้าสถานกักกันที่รัฐจัดให้ มี 7 ราย ประกอบด้วย สหราชอาณาจักร 1 ราย บาห์เรน 1 ราย เมียนมา 1 ราย รัสเซีย 1 ราย สหรัฐอเมริกา 1 ราย และปากีสถาน 1 ราย ส่วนผลตรวจหาเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวยังไม่มีเพิ่มเติม เนื่องจากต้องรอการสรุปที่ชัดเจนอีกครั้ง

โดยผู้ติดเชื้อภายในประเทศทั้ง 39 ราย แบ่งเป็นรายที่ 8 ถึงรายที่ 38 เป็นผู้มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร

รายที่ 39-40 และรายที่ 42 มีประวัติไปสถานที่ชุมชน เช่น ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า รายที่ 41 มีประวัติสมัผัสกับชาวเมียนมา ที่มีอาการป่วย

รายที่ 43- รายที่ 44 มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ และรายที่ 45- รายที่ 46 อยู่ระหว่างสอบสวนโรค

ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 5,762 ราย เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 3,837 ราย ผู้เดินทางจากต่างประเทศ 1,925 ราย และผู้ป่วยที่ตรวจพบในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ 1,394 ราย ส่วนผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มอีก 17 ราย รวมเป็น 4,095 ราย ยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,607 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 60 ราย




โควิดมหาชัย สายพันธุ์ท่าขี้เหล็ก

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. แถลงผลการตรวจสอบรหัสสายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ที่ระบาดในพื้นที่จ.สมุทรสาคร ว่า เป็นสายพันธุ์ GHเหมือนกับที่พบในสถานบันเทิง1G1ในเมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า และอ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งสายพันธุ์นี้ มีต้นกำเนิดหรือวิวัฒนาการมาจากอินเดีย ระบาดเข้ามาทางรัฐยะไข แล้วแพร่กระจายไปทั่วพม่า แล้วลักลอบเข้ามาในไทย สายพันธุ์นี้ไม่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดในอินโดนีเซีย ตามที่มีคนสงสัยว่า เชื้อที่ระบาดในสมุทรสาคร จะมาจากเรือประมงหรือไม่

ส่วนกรณีที่พบการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งทำให้การติดเชื้อรุนแรงขึ้นนั้น ประเทศไทยก็มีการเฝ้าระวังว่าจะมีหลุดรอดมาหรือไม่ แต่ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีอะไรที่สัมพันกับเชื้อที่ระบาดในอังกฤษ

ดังนั้นจึงยืนยันได้ว่า ที่ระบาดในสมุทรสาครในขณะนี้ มีต้นกำหนิดมาจากอินเดีย และระบาดเข้ามาทางพม่า และข้ามมาฝั่งเรา ซึ่งเราจะระมัดระวังต่อไป ถ้ามีสายพันธุ์ที่แปลกปลอมหรือผิดปกติ เราก็จะสามารถตรวจจับได้โดยเร็ว




สมุทรสาครพบผู้ติดเชี้อโควิดเพิ่ม 121 ราย

นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า พบผู้ติดเชื้อในจังหวัดสมุทรสาคร เพิ่มขึ้น 121 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสมทั้งสิ้น 1,184 ราย ขณะที่ภาพรวมการตรวจหาเชื้อ (swab) ได้ดำเนินการไปแล้ว 9,417 ราย ผลตรวจออกมาแล้ว 5,292 ราย มีผลเป็นบวกคือติดเชื้อ 1,184 ราย คิดเป็น 22.37% ซึ่งถือเป็นอัตราส่วนที่ลดลงจากวันแรกๆ ที่มีอัตราติดเชื้อประมาณกว่า 40%

สำหรับผู้ติดเชื้อทั้งหมดจำนวน 1,184 ราย แบ่งเป็นคนไทย 55 คน เป็นชาวเมียนม่า 1,129 คน หรือ 95% ของผู้ติดเชื้อ และยังมีผู้รับการตรวจหาเชื้อแล้วที่รอผลการตรวจอยู่ 4,125 ราย




เศรษฐกิจพัง 1.6 หมื่นล.-ย้ำอาหารทะเลปลอดภัย

หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ได้เผยแพร่วีดีโอคลิปในหัวข้อ "คุณรู้หรือไม่? โควิดครั้งนี้ทำให้สมุทรสาครสูญเสียไปเท่าไร?" ระบุว่า หอการค้าจังหวัดสมุทรสาครประเมินตัวเลขและคาดการณ์มูลค่าความเสียหายภายใน 15 วันนี้ไว้ว่า สูงถึง 16,000 ล้านบาท จากความคึกคักของตลาดที่ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทย สร้างจีดีพีให้การส่งออกของประเทศอยู่ในแถวหน้า เป็นแหล่งวัตถุดิบหลักของประเทศ และของโลก เพียงแค่ 1 วันผ่านไป สภาพเศรษฐกิจพลิกผัน จากเมืองส่งออกอาหารทะเลและฐานการผลิตอาหารแช่แข็ง กลับกลายเป็นเมืองร้าง ไร้ผู้คน

"แต่โควิด-19 สามารถป้องกันได้ ด้วยการสวมใส่แมสก์ หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง รับประทานอาหารปรุงสุก กินร้อน ช้อนกลางส่วนตัว คุณรู้หรือไม่ ความเชื่อผิดๆ สร้างความเสียใจให้คนบ้านผมเท่าไหร่ สินค้าทะเลบ้านผมปลอดภัย แค่อาหารคุณปรุงสุก ก็ปอดเชื้อโควิด-19 แล้ว อย่ารังเกียจคนหรือสินค้าจากบ้านผมเลยนะครับ ที่ผ่านมาพวกคุณก็รู้ว่าบ้านผมเป็นครัวของประเทศไม่ใช่หรือ ทุกวันนี้พวกผมต่อสู้กันแบบสุดกำลัง ไม่ใช่เพื่อใคร ก็เพื่อพวกเราทุกคน ช่วยกันเถอะ อย่าทอดทิ้งกัน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพลังที่จะผลักดันให้เรามีแรงต่อสู้ และก้าวข้ามผ่านวิกฤตนี้ไปได้




เตรียมกำหนดโซนพื้นที่เสี่ยง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึง สถานการณ์โควิด-19ว่า ที่ได้รับรายงานในขณะนี้สถิติการติดเชื้อใหม่รายวันเริ่มลดลง เนื่องจากเราได้มีการตรวจสอบและควบคุมพื้นที่มากขึ้น สิ่งใดที่เป็นอุปสรรคปัญหา ก็ได้ไล่เรียงทุกหน่วยงานไปแล้วว่า จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งสาเหตุขั้นต้นมาจากแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามา เราต้องขจัดกระบวนการลักลอบให้ได้มากที่สุด

"ตอนนี้ที่กังวลคือ แรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน มีการหลบเลี่ยง มีการจ้างงานโดยผู้ที่เห็นแก่ตัว เป็นการจ้างงานโดยไม่ต้องจ่ายค่าแรงตามกำหนด มีขบวนการนำส่งเข้ามา ผมกำลังรื้อทั้งหมด และติดตามขบวนการเหล่านี้"

นอกจากนี้ บางโรงงานหรือหลายโรงงาน ที่มีการใช้แรงงานไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อเกิดปัญหา ก็เอาไปปล่อยพื้นที่อื่น หรือไล่ออกจากงาน ตนได้สั่งการศบค.ให้หามาตรการตรงนี้ จะทำอย่างไร ซึ่งได้ให้แนวทางไปว่า ให้กระทรวงมหาดไทย แรงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณา เพราะ หากเราดำเนินการแบบเข้มข้นเกินไป ก็จะมีการนำแรงงานไปปล่อยที่อื่น

ทั้งนี้ ในการประชุมศบค. วันนี้ (24ธ.ค.) จะได้ข้อยุติว่าจะทำอย่างไรในส่วนของมาตรการในช่วงนี้ และช่วงปีใหม่ด้วย การกำหนดพื้นที่ทั้งหมด ว่าควรจะทำอย่างไร กับพื้นที่ตรงไหน แพร่ระบาดมาก แพร่ระบาดน้อย ความเสี่ยงมากความเสี่ยงน้อย จะกำหนดพื้นที่ทุกจังหวัดให้เป็นสีต่างๆ สีเขียว สีส้ม สีแดง และจะมีมาตรการเฉพาะลงไปว่า ทำอะไรได้บ้าง

นายกยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องการเสนอข่าวของสื่อ ขอให้รับฟังข้อมูลจากศบค.ด้วย อย่าเอาข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไปเสนอจนสร้างความตื่นตะหนก รวมทั้งบรรดาผู้ใช้โซเชียลฯด้วย

"ขอความร่วมมือพวกเราทุกคน ในช่วงที่เรากำลังเจอการระบาดโควิด-19 ในขณะนี้ ซึ่งมันไม่ถึงขั้นร้ายแรงเหมือนกับประเทศอื่นๆ หลายประเทศขึ้นมาแล้วเท่าไหร่ แล้วของเราขึ้นมาแล้วเท่าไหร่ ซึ่งของเราความจริงไม่ควรจะขึ้น ถ้าทุกคนร่วมมือ ทุกคนควรพร้อมที่จะแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อจะได้ทำลายขบวนการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศผิดกฎหมาย ทุกคนรู้หมดว่าเข้าทางไหน ออกทางไหน คนพื้นที่ทำไมจะไม่รู้ แต่เจ้าหน้าที่เขาก็อยู่เป็นจุด ลาดตะเวนเป็นพื้นที่ คนที่รู้มากที่สุดคือคนในพื้นที่ ดังนั้นต้องขอข้อมูลจากคนเหล่านี้มา ส่งตรงมาที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้เลย จะปกปิดให้ ไม่ต้องกลัว ถ้าทุกคนกลัว คิดว่าธุระไม่ใช่ มันก็จะเป็นแบบนี้ทุกเรื่อง" นายกรัฐมนตรี กล่าว




ชี้ขรก.เอี่ยวขบวนการแรงงานเถื่อน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การปราบปรามแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบเข้ามาผิดกฎหมายว่า ในที่ประชุม ครม. (22 ธ.ค.)ได้ประชุมกับผู้ว่าฯสมุทรสาคร ผ่านระบบเทเลคอนเฟอร์เร้นซ์ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานเบื้องต้นว่า มีเจ้าหน้าที่ ตำรวจ พลเรือน อาสามัคร นายจ้าง นายหน้า เกี่ยวข้องกับขบวนการแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย จึงกำชับให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและกวาดล้างผู้กระทำความผิด พร้อมเชื่อว่ามีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ยังต้องตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อน เพราะอาจเป็นการร้องเรียนเพื่อกลั่นแกล้งกัน




ผบ.ตร.วอนให้ความเป็นธรรม ตม. ถูกมองหละหลวม

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. กล่าวถึงมาตรการป้องกันแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19ว่า จะเน้นพื้นที่ 10 จังหวัดชายแดนภาคตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี แม่ฮ่องสอน ระนอง และราชบุรี ต้องดูเรื่องการข้ามไปข้ามมาทั้งช่องทางธรรมชาติ และด่านตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งขณะนี้มีการแพร่ระบาด และล็อกดาวน์ จ.สมุทรสาคร ไปแล้ว หลังจากนี้ ก็ต้องเน้นไปอีก 5 จังหวัด ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ได้แก่ กทม. สมุทรสงคราม สมุทรปราการ นครปฐม และ ราชบุรี

"ทุกพื้นที่ต้องอยู่ในความควบคุมของคณะกรรมการควบคุมโรคระดับจังหวัดเป็นหลัก ในการตัดสินใจ เราเป็นผู้สนับสนุน ตำรวจจะช่วยได้มากเรื่องการติดตามหาคน กรณีต้องสอบสวนโรค ซึ่งตอนนี้เราใช้ฝ่ายสืบสวนทั่วประเทศ เชื่อมโยงข้อมูลกัน ผ่านกองบังคับการสืบสวนของแต่ละภาค ตอนนี้ให้ตำรวจภูธรภาค 7 เป็นหลัก หาข้อมูลจากสมุทรสาคร และส่งกระจายไปช่วยติดตามหาคนที่เชื่อว่ามีความเสี่ยง ทุกอย่างต้องหารือกับบุคลากรทางการแพทย์ที่รับผิดชอบ และที่ตำรวจจะช่วยได้อีกอย่างคือ การจัดชุดออกไปสุ่มตรวจเชิงรุก ไปร่วมกับสาธารณสุข ตรวจพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ว่าได้มีการทำตามมาตรการป้องกันโรคหรือไม่ ซึ่งทางตำรวจนครบาล ก็เริ่มออกตรวจร่วมกับกรุงเทพมหานคร ไปที่หอพัก ร้านอาหาร หรือแหล่งที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่จำนวนมาก”

ส่วนกรณีตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ถูกสังคมมองว่าหละหลวม ปล่อยให้มีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาในประเทศ พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า หน้าที่หลักของ ตม. คืออยู่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ไม่ได้รับผิดชอบช่องทางธรรมชาติ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ มีการข้ามตามช่องทางธรรมชาติ ฝากให้ความเป็นธรรมเขาด้วย เพราะงานตม. ส่วนใหญ่เป็นเชิงธุรการ รวมถึงการให้บริการ และแม้ว่า ตม. มีกำลังไปสืบสวนจับกุมก็จริง แต่หากเทียบกับพื้นที่รอบประเทศไทยไม่มีทางพอ ซึ่งกำลังหลัก ต้องเป็นกำลังในพื้นที่ ที่รับผิดชอบช่องทางธรรมชาติ ทำงานร่วมกัน 4 หน่วย มีทหาร ฝ่ายปกครอง ตำรวจพื้นที่ และตชด. ที่ต้องขึ้นยุทธการกับฝ่ายทหาร หากมีความบกพร่อง ต้องไม่ใช่หน่วยเดียว ต้องด้วยกันทั้งหมด เพราะรับผิดชอบด้วยกัน ซึ่งพื้นที่ชายแดนไม่ได้มีแค่เรื่องคนเดินข้ามออก ยังมีเรื่องปัญหายาเสพติด และเรื่องอื่นๆอีกมากมาย




'บิ๊กตู่' สั่งเสริมทัพสธ.ตั้ง'รพ.สนาม'พันเตียงสมุทรสาคร

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมสภากลาโหม ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า นายกฯได้สั่งการให้ทุกเหล่าทัพ ลาดตระเวนตรวจเข้มตามแนวชายแดน เพื่อหยุดยั้งการเข้ามาของแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ทั้งทางบกและทางทะเล รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นงานด้านการข่าว และดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดกับขบวนการลักลอบนำแรงงานผิดกฎหมายเข้าประเทศ โดยต้องจับกุมตัวให้ได้

นายกฯ ยังสั่งการให้กองทัพบก และกองทัพเรือ ระดมกำลังสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 1,000 เตียง ที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งขณะนี้กำลังดูสถานที่อยู่ว่าจะใช้โรงงาน หรือที่พักอาศัย โดยโรงพยาบาลสนามจะต้องอยู่ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วย เนื่องจากไม่ต้องการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกนอกพื้นที่ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการบ้างแล้ว




กทม.ประกาศปิด 437 รร.-ศูนย์เด็กเล็ก 292 แห่ง

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang” ระบุว่า ประกาศหยุดเรียน 11 วัน โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กในสังกัด กทม. ตั้งแต่วันนี้ (24 ธ.ค.) ถึง 3 ม.ค. 63 "หยุดอยู่บ้าน หยุดเชื้อ หยุดการระบาดซ้ำ"

จากการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กทม. วันนี้ มีมติให้ควบคุมโรค เพื่อหยุดการระบาดซ้ำ ซึ่งอาจจะมีความรุนแรงกว่าเดิม 5 เท่า ดังนี้ หยุด รร. 437 โรงเรียน + ศูนย์เด็กเล็ก 292 แห่ง ให้ขรก. และลูกจ้าง กทม. ทำงานที่บ้าน (Work From Home) ยกเว้น ขรก.ที่ต้องปฏิบัติงานในหน่วยงานที่ให้บริการประชาชน ตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค. 63 - 3 ม.ค. 64




เลื่อนจัดงานวันเด็ก 1 สัปดาห์

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี2564 มีมติให้เลื่อการจัดงานวันเด็กออกไปก่อน ซึ่งตนเห็นด้วยเพราะดูความเหมาะสมในหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องของเด็กและผู้ปกครองที่มาจากหลายๆพื้นที่ ซึ่งมีโอกาสที่เชื้อโควิด-19 ได้ โดยอาจจะต้องเลื่อนไป1 สัปดาห์ ขอดูสถานการณ์อีก 7 วัน ว่าเราสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนการจัดวันครู ปี 2564 จะพิจารณาการจัดอีกครั้งหนึ่ง




แม่ค้าอยุธยาติดเชื้อ 2 ราย

นพ.พีระ อารีรัตน์ สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ได้รับการรายงานจาก รพ.ภาชี อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยาว่า พบผู้ป่วยโควิด-19 เป็นหญิง 2 ราย อายุ 33 ปี มีอาการ และอายุ 29 ปี ไม่มีอาการ อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน อาชีพแม่ค้าขายอาหารทะเล อยู่ที่ตลาดหน้าสถานีรถไฟภาชี โดยสาเหตุการติดเชื้อเนื่องจากวันที่ 6-7 ธ.ค. เดินทางไปซื้ออาหารทะเล ที่ตลาดทะเลไทย จ.สมุทรสาคร ต่อมา วันที่ 10-11 ธ.ค. ผู้ป่วยหญิง อายุ 33 ปี เริ่มมีอาการเจ็บคอ กลืนน้ำลายไม่ได้ หยุดอยู่บ้าน 12-16 ธ.ค.

วันที่ 18 ธ.ค. ได้เดินทางไปที่ รพ.สต.ไผ่ล้อม อ.ภาชี เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ว่าตนเองเดินทางกลับมาจากซื้ออาหารทะเลที่ตลาดทะเลไทย เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาและเฝ้าระวัง วันที่ 21ธ.ค. ไปตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด ที่ รพ.ภาชี วันที่ 22 ธ.ค.ได้รับแจ้งผลตรวจ พบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด

ทั้งนี้ ประชาชนที่ไปซื้ออาหารทะเล ที่ตลาดภาชี ระหว่างวันที่ 8-16 ธ.ค. ถ้ามีอาการผิดปกติควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อที่ รพ.ภาชี




เพชรบูรณ์พบผู้ป่วยโควิด

นายกฤษณ์ คงเมือง ผวจ.เพชรบูรณ์ นพ.ชัยวัฒน์ ทองไหม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ แถลงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ เป็นชายไทย อายุ 64 ปี อยู่ที่อ.หนองไผ่ ขับรถรับจ้างพาแม่ค้ารายหนึ่ง อายุ 68 ปี ไปที่ตลาดทะเลไทย จ.สมุทรสาคร เมื่อ16 ธ.ค.63 ขากลับ แวะที่ปั้ม ปตท.หนองแค จ.สระบุรี แวะส่งของให้ตามร้าน ที่ค่ายอดิสร จ.สระบุรี และไปที่ปากช่อง แล้วแวะที่โรงปูน TPIและส่งของที่โรงน้ำตาล อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ก่อนจะไปส่งแม่ค้า ที่ ต.บ้านโภชน์ และกลับบ้านพักที่อ.หนองไผ่ ของวันที่ 17 ธ.ค. เข้ารับการตรวจ ที่รพ.หนองไผ่ วันที่ 21 ธ.ค. และได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ จากการสอบสวนโรค พบมีผู้ใกล้ชิดและสัมผัสผู้ติดเชื้อรวม 12 ราย




โคราชพบผู้ติดเชื้อโควิด 3 ราย

ที่ จ.นครราชสีมา พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอบใหม่ 3 ราย ประกอบด้วย 1. ชาย อายุ 57 ปี อยู่ในพื้นที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ขายอาหารทะเล เดินทางไป จ.สมุทรสาคร มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 8 ราย สัมผัสเสี่ยงต่ำ 9 ราย เป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล 8 คน ผู้ใหญ่บ้าน 1 คน

2. หญิง อายุ 47 ปี อยู่พื้นที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ขายอาหารทะเล เดินทางไป จ.สมุทรสาคร มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 4 ราย สัมผัสต่ำ 2 ราย

3. ชาย อายุ 43 ปี รับราชการ เดินทางไปเยี่ยมญาติที่ จ.สมุทรสาคร มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 9 ราย เป็นเพื่อนร่วมงาน 4 ราย และญาติ 5 ราย

ผู้ป่วยทั้ง 3 รายมีอาการดี ขณะนี้รักษาตัวอยู่ รพ.มหาราชนครราชสีมา อ.เมืองฯ จ.นครราชสีมา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเสี่ยงที่เป็นข้าราชการเดินทางไปส่งสรรพสามิต 45 คน และแวะซื้อของที่ ตลาดทะเลไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจเพื่อรอผล ทุกคนกักตัว14 วัน



สมุทรสาครลามเพิ่มนครสวรรค์-อ่างทอง-อุดรฯ

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบพบผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับตลาดทะเล จ.สมุทรสาคร กระจายตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยที่พบผู้ติดเชื้อภายในจังหวัดเป็นรายแรก จ.นครสวรรค์ จ.อ่างทอง จ.อุดรธานี ทำให้เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบไทม์ไลน์ เพื่อสวนสวนโรคอย่างเร่งด่วน เพื่อสกัดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง




ผวา”โควิด-19”แห่คืนตั๋วบขส.ช่วงปีใหม่แล้ว 30%

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า จากการคาดการณ์ปริมาณการเดินทางของประชาชนโดยรถโดยสารสารณะช่วงวันที่ 29 -30 ธ.ค. 63 จาก สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ 3 แห่ง คือจตุจักร , เอกมัย ,สายใต้ใหม่ รวมประมาณ 150,000 คน/วัน หรือเพิ่ม2 เท่า จากวันปกติ ที่มีประมาณ 70,000 คน/วัน แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ คาดว่าการเดินทางจะลดลงจากประมาณการณ์ 30% หรือเหลือวันละ 100,000 คน/วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น