ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เงียบเป็นเป่าสากมาตลอด สำหรับ “นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด” น้องชาย “เสี่ยเอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” แห่งคณะก้าวหน้า ที่ไปพัวพันจ่ายสินบน 20 ล้านบาท ให้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อได้สิทธิ์เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินผืนงามย่านชิดลม ใจกลางกรุงเทพฯ ในที่สุดก็ถึงเวลาที่ “น้องทอน” ออกมาอธิบายหรือที่หลายคนใช้คำว่า “แก้ตัว” ถึงต้นสายปลายเหตุเป็นวรรคเป็นเวร
“ข้าพเจ้านายสกุลธร อยากจะชี้แจงและขอยืนยืนความบริสุทธิ์และมีประเด็นอยากจะชี้แจงดังนี้...” นายสกุลธรเขียนเอาไว้ในช่วงเริ่มของเอกสารชี้แจงกรณีการจ่ายเงิน 20 ล้านบาท เพื่อให้ได้สิทธิเช่าที่ดินสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บริเวณชิดลม เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา
แต่เมื่ออ่านแล้ว “คิด วิเคราะห์ แยกแยะ” คำแก้ตัวทั้ง 6 ข้อของนายสกุลธรดูแล้ว ก็พบว่าเป็นคำแก้ตัวที่ “พูดง่ายๆ และไปแบบน้ำขุ่นๆ” ซึ่งจะว่าไปก็ไม่แตกต่างอะไรจาก “พี่ชาย” ที่ก่อนหน้านี้เคยต้องคดีและโดนศาลพิพากษาให้มีความผิดด้วยหลักฐานที่ชัดแจ้ง แต่ก็ไม่เคยยอมรับกระบวนการยุติธรรมของไทย ได้แต่อ้างตะพึดตะพือเรื่อง 2 มาตรฐานอยู่ร่ำไป จะว่าไปก็ช่างละม้ายคล้ายคลึงกับ “นักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร” ที่แม้ผิดแต่ก็ยังแถไปว่า “บกพร่องโดยสุจริต” ไปโน้น
ที่สำคัญคือ การที่ “นายสกุลธร” เลือกที่จะทำเป็น เอกสารชี้แจง แทนที่จะตั้งโต๊ะแถลงข่าวก็ทำให้อดคิดหรืออดเกิดคำถามไม่ได้ว่า หรือเป็นเพราะเกรงกลัวการตรวจสอบและเกรงว่าจะไม่สามารถตอบคำถามในทุกแง่มุมได้ ใช่หรือไม่
คดีสินบนของ “นายสกุลธร” เกิดขึ้นเมื่อปี 2560 จำเลยในคดีนี้มี 2 คน คือ “นายประสิทธิ์ อภัยพลชาญ” เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ ระดับ บ.4 แผนกโครงการธุรกิจ 1 กองโครงการธุรกิจ 1 ฝ่ายโครงการพิเศษ สํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และ “นายสุรกิจ ตั้งวิทูวนิช” ซึ่งเป็นเหมือนคนกลางที่คอยประสานงานเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินโดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการประมูลตามขั้นตอนปกติ โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิพากษาจำคุก 3 ปีทั้ง 2 คนตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมาแล้วแบบเงียบๆ ขณะที่ “นายสกุลธร” ผู้จ่ายเงินใต้โต๊ะ 20 ล้านบาทนั้นกลับยังไม่ถูกดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่ หรือข้อหาเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิด
นายสกุลธรสรุปว่าตัวเองเป็นผู้เสียหาย เป็นผู้บริสุทธิ์ และ ไม่รู้จัก “นายประสิทธิ์ อภัยพลชาญ” เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นการสวนตัว ... ส่วน “สุรกิจ ตั้งวิทูวนิช” นั้น รู้จักผ่านนายหน้าอีกคน ที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกันมาก่อน ... สำหรับเงิน 20 ล้านบาทนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่านายหน้าตามปกติของการทำธุรกิจ ไม่ใช่เป็นเงิน ”สินบน” ตามที่มีการกล่าวอ้างกัน อย่างไรก็ดี เมื่อไล่เรียงจาก “คำแก้ตัว” ของนายสกุลธรกันทีละข้อก็จะพบว่า ไม่สมเหตุสมผล
นายสกุลธรอ้างว่า 1. ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าไม่เคยรู้จัก นายประสิทธิ์ อภัยพลชาญ เป็นการส่วนตัว รวมถึงข้าพเจ้าไม่เคยรู้จักเจ้าหน้าที่ในสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ท่านใดก็ตาม ข้าพเจ้ามารู้ว่าคุณประสิทธิ์คือใครหลังจากตำรวจได้ทำการสืบคดีแล้วเท่านั้น
ข้อนี้เป็น “คำแก้ตัว” ที่ “ง่ายเกินไป” เป็นไปได้อย่างไรสำหรับนักธุรกิจใหญ่ระดับหมื่นล้านที่จะตัดสินใจควักเงินจ่ายให้คนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน คำว่า “ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว” ใครๆ ก็อ้างได้ เป็นสิ่งที่ตื้นเขินเกินไปถ้าจะให้สังคมเชื่อเช่นนั้น
นายสกุลธรอ้างว่า 2. ในปี 2560 ข้าพเจ้าได้รู้จักนายสุรกิจผ่านนายหน้าที่รู้จักอีกท่านหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกันมาก่อน รวมถึงไม่มีความสนิทสนมใดๆ ตลอดระยะเวลาในการทำงาน ที่ดินแปลงนี้มีคณะนายหน้าจำนวนหลายท่านได้รวมตัวเข้ามาเสนอที่ดินให้กับข้าพเจ้า ดังนั้น การเจรจาต่างๆ มีผู้รับรู้หลายท่านเป็นสิ่งที่เปิดเผยมาก และการที่คนที่เพิ่งรู้จักกันมันเป็นไปไม่ได้ที่ข้าพเจ้าจะบอกให้คุณสุรกิจนำเงินไปดำเนินการในสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้กับบุคคลที่สาม หรือมีลักษณะเรียกเงินเพื่อให้มีการกระทำที่ทุจริตยิ่งเป็นไปไม่ได้ ผมขอยืนยันว่าในกรณีนี้ผมไม่ได้ไปวิ่งหาที่ดินตั้งแต่แรก แต่เป็นนายหน้าเข้ามาเสนอที่ดินให้ข้าพเจ้า โดยที่ผมไม่ได้เป็นผู้มอบหมายให้นายหน้าไปจัดหาเมื่อผมพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความคุ้มค่าในเชิงธุรกิจจึงมีการดำเนินโครงการต่อ
ข้อนี้ก็เป็น “คำแก้ตัว” ที่ “อ่อนด้อยด้วยตรรกะ” อีกเช่นกันโดยพยายาม “ตัดจบ” ความสัมพันธ์กับนายสุรกิจว่า “ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว”(อีกแล้วครับทั่น) ด้วยการอ้างว่ารู้จักนายสุรกิจผ่านนายหน้าค้าที่ดินอีกคนหนึ่ง นายสกุลธรอ้างว่าก๊วนนายหน้านำที่ดินมามาเสนอ อ้างว่าไม่ได้มอบหมายให้ไปจัดหา แต่สุดท้ายกลับบอกว่าเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความคุ้มค่าในเชิงธุรกิจจึงมีการดำเนินโครงการต่อ ...อ้าว...ช่างเป็นเหตุผลที่ย้อนแย้งเสียนี่กระไร คนเราถ้าไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นหน้าค่าตา ไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน จะไว้ใจมอบหมายให้ทำงานใหญ่ได้กระนั้นหรือ การอ้างเรื่องความคุ้มค่าในเชิงธุรกิจ ใครๆ ก็พูดได้ แต่การอ้างเรื่องนี้ย่อมต้องหมายความว่าต้องศึกษาที่มาที่ไปของที่ดิน เจ้าของที่ดินและบรรดานายหน้าค้าที่ดินก่อน มิใช่หรือ
นายสกุลธรอ้างว่า 3. ทั้งนี้ ตลอดการทำงานข้าพเจ้าเน้นย้ำเสมอถึงความโปร่งใสและการทำงานบนความถูกต้อง โดยมีการระบุลงไปในสัญญาการจ้างอย่างชัดเจนว่า “ในการปฏิบัติงานนายหน้าจะต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย ตามข้อบังคับหรือระเบียบต่างๆ และรวมถึงการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของวิชาชีพของนายหน้า”
ข้อนี้ก็เป็น “คำแก้ตัว” ที่ตลกสิ้นดีเพราะบริษัทห้างร้านต่างๆ ย่อมรู้ถึงข้อควรปฏิบัติในเรื่องนี้อยู่แล้ว มิจำเป็นต้องกล่าวอ้างเพื่อ “เอาดีใส่ตัว” แต่ประใด
ถัดมานายสกุลธรอ้างว่า 4. ทั้งนี้ ตลอดในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีการทำงานหลายขั้นตอนจน Final project development proposal ได้ออกมาเป็นโครงการเป็นลักษณะ Mix-Use ขนาด 160,000 ตารางเมตร ประกอบไปด้วย โรงแรม ศูนย์การค้า สำนักงาน และคอนโดมิเนียม (ดูเอกสารประกอบที่ 1) ซึ่งตลอดการทำงานมีการจ้างที่ปรึกษาหลายหน่วยงานเพื่อส่งแผนการพัฒนานี้ ซึ่งมีการทำงานจริง เพราะขณะนั้นเชื่อเพียงว่าการผ่านการพิจารณาได้จะต้องทำโครงการให้มีความโดดเด่นเท่านั้น ดังนั้น การชำระเงินตามที่มีข่าวอออกไป เป็นการชำระค่าจ้างในลักษณะของ real estate consultancy ตามคู่สัญญาการค้าที่มีการระบุในสัญญาตามมาตรฐานธุรกิจทั่วไป โดยแบ่งจ่ายเมื่อแผนงานมีความคืบหน้า ทุกครั้งมีการชำระเงินเป็นเช็คและได้มีการบันทึกใบรับเช็คตามมาตรฐานสัญญาธุรกิจทั่วไป ซึ่งไม่ได้มีเจตนาที่จะหลบหลีกการตรวจสอบ ในกรณีนี้ได้มีการทำเอกสารราชการปลอมนำมาแสดงกับข้าพเจ้าเพื่อยืนยันความคืบหน้าในการทำงานอันจะทำให้มีสิทธิ์ขอเบิกค่าจ้างตามที่สัญญากำหนดไว้ได้ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าเกิดความเสียหาย
อ้างว่า 5. ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 ข้าพเจ้าได้รับหนังสือจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อเชิญไปนำเสนอแผนพัฒนาโครงการในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 (ภายหลังทราบว่าเป็นหนังสือที่ได้ถูกปลอมแปลงขึ้นมา) ปรากฏว่า ข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์จากนายหน้าว่าขอยกเลิกการประชุมล่วงหน้า 1 วันก่อนถึงวันประชุม จึงเป็นเหตุที่ทำให้เริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติ จึงได้ส่งหนังสือถึงสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพื่อสอบถามเกี่ยวกับการเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวโดยมีการบันทึกรับเอกสารจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และได้รับหนังสือตอบกลับจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์แจ้งว่า ยังไม่มีนโยบายในการหาผู้เช่ารายใหม่แต่อย่างใด ข้าพเจ้าจึงได้ยกเลิกสัญญาและส่งหนังสือทวงหนี้ 2 ครั้งตามระบบ ซึ่งจากการที่เราตรวจสอบเอกสารจนค้นพบข้อเท็จจริงทั้งหมดแสดงถึงความบริสุทธิ์ว่าเราไม่มีการไหว้วานใครให้ไปกระทำการที่ผิดกฎหมาย จนทำให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้ทำการตรวจสอบและได้ทำการสืบสวนต่อจนทราบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารจนสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้และที่ผ่านมาได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่จนสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้จากเหตุการณ์นี้
และอ้างว่า 6. ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้เสียหายจากเหตุการณ์นี้และขอยืนยันในความบริสุทธิ์ ทั้งนี้ ข้าพเจ้าขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า จากข่าวที่สังคมได้รับนั้นเป็นเพียงคำกล่าวอ้างของบุคคลอื่น ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้วกรณีนี้ข้าพเจ้าเป็นผู้เสียหายจากการปลอมแปลงเอกสาร สำหรับสิ่งที่ข้าพเจ้าได้ชี้แจงนั้นได้ถูกปรากฏอยู่ในเอกสารสำนวนสอบสวนตั้งแต่แรก ในส่วนของค่านายหน้านั้นเป็นการตกลงตามมาตรฐานในวิชาชีพตามหลักสากลของธุรกิจนี้และจะทำการชำระก็ต่อเมื่อได้ทำธุรกรรมจดสิทธิการเช่าที่สำนักงานที่ดินให้แล้วเสร็จ
“คำแก้ตัว” ทั้ง 3 ข้อก็ไม่มีอะไรมากกว่าปฏิเสธว่ามิใช่จ่าย “เงินสินบน” หากแต่เป็น “ค่านายหน้า” ซึ่งใครๆ ก็ทำกันในการทำธุรกิจ แต่คำถามมีอยู่ว่า ตามปกติของการทำธุรกิจนั้น การจ่าย “ค่านายหน้า” จะจ่ายก็ต่อเมื่อได้ทำงานสำเร็จแล้ว บรรลุเป้าหมายแล้วจึงจะจ่าย... ไม่เคยมีธรรมเนียมของการจ่ายค่านายหน้าล่วงหน้า อย่างที่ “นายสกุลธร” กล่าวอ้าง ที่สำคัญคือ ที่ผ่านมาสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ก็ใช้วิธีการเปิดประมูลมาตลอด ไม่เคยต้องมีนายหน้าวิ่งเต้นเพื่อให้ชนะการประมูล
อย่างนี้ เขาเรียกว่า “สินบน” ครับไม่ใช่ “ค่านายหน้า”
ดังนั้น อย่ามามั่วว่าเป็นการ “วิ่งเต้นโดยสุจริต” เพราะเหม็นขี้ฟัน
ด้าน“วัชระ เพชรทอง” อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ผู้ยื่นเรื่องขอทราบข้อเท็จจริงกรณีนี้ จากสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ตั้งคำถามรัวๆ ถึง “นายสกุลธร” เอาไว้ 6 ข้อแบบแทงตรงๆ ทะลุถึงหัวใจเช่นกัน กล่าวคือ
1. เหตุใดจึงตกลงจ่ายค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงินสูงถึง 500 ล้านบาท ตามที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง หน้า 9 บรรทัดที่ 10
2. การเสนอเงิน 500 ล้านบาท ให้แก่นายหน้า เพื่อให้ได้สิทธิในการเช่าโดยไม่ต้องประมูลแข่งขัน แบบนี้เขาเรียกว่า “เงินติดสินบน” ใช่หรือไม่ หรือเรียกว่า “เงินค่านายหน้า”
3.“สกุลธร” กล่าวว่าทุกครั้งมีการชำระเงินเป็นเช็ค แสดงว่า การจ่ายเงิน 20 ล้านบาท ครั้งแรก 5 ล้านบาท ครั้งที่สอง 5 ล้านบาท ครั้งที่สาม 10 ล้านบาท เป็นเช็คทั้งสิ้น “สกุลธร” สั่งจ่ายในฐานะเป็นประธานบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และเป็นผู้มีอำนาจลงนามผูกพันแทนบริษัท แสดงว่า ผู้ถือหุ้นในขณะนั้น ย่อมทราบถึงการกระทำนี้ด้วย ใช่หรือไม่ ?
4. เมื่อ “สกุลธร” คิดว่าตนเองเป็นผู้เสียหายแล้ว ได้แจ้งความดำเนินคดีอาญากับบุคคลทั้งสองตามวิสัยของวิญญูชน หรือไม่
5. ในเอกสารคำแถลงข่าวของ “สกุลธร” ไม่ได้ระบุตำแหน่ง และชื่อบริษัทของสกุลธรเลย เป็นเพราะเหตุใด ? หรือว่าเพราะอับอาย
6. หากสกุลธรอ้างว่าเงิน 20 ล้านบาท เป็นจ่ายเงินค่านายหน้า ตามกฎหมายปกติ แล้วที่ตกลงกันทั้งหมด 500 ล้านบาท แล้วได้สิทธิเข้าไปทำโครงการ Mix-Use ขนาด 160,000 ตารางเมตร โดยไม่ต้องประมูลใดๆ กับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อีก เงิน 500 ล้าน ที่ “สกุลธร” ตกลงให้ “นายสุรกิจ” หากไม่เรียกว่าเงินสินบน จะให้เรียกว่าค่าอะไร หรือเป็นค่าอนาคตใหม่ หรือค่าก้าวหน้า อย่างนั้นหรือ
นอกจาก 6 คำถามที่มีถึง “สกุลธร” ข้างต้นแล้ว “วัชระ” ยังได้เสนออีก 1 ข้อว่า เพื่อเป็นการยืนยันความมั่นใจของ “สกุลธร” ที่ออกเอกสารมาชี้แจงเผยแพร่ในวันนี้ว่า เป็นเอกสารจริง ควรลงชื่อกำกับ แล้วประทับตราบริษัทนำส่งให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี เพื่อประกอบสำนวนการสอบสวนของตำรวจต่อไป เพราะอาจมีการอ้างว่าเป็นเอกสารปลอมในอนาคต
ขณะเดียวกันเมื่อย้อนดูคำอธิบายชัดๆ จาก “อัยการสูงสุด” กันอีกครั้งว่า ทำไมสังคมถึงตั้งคำถามว่า นายสกุลธร “มั่ว”
วันที่ 9 ธันวาคม 2563 นายอิทธิพร แก้วทิพย์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ได้สรุปเนื้อหาและลำดับความเป็นมาของคดีตามคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ดังนี้
ต้นปี 2560 นายสุรกิจ ตั้งวิทูวนิช นายหน้าค้าที่ดินอิสระไปพบกับนายสกุลธร ซึ่งเป็นประธานบริษัทเรียลแอสเสทฯ เพื่อนำที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จำนวน 2 แปลงตั้งอยู่ใน ซ.ร่วมฤดี และที่ตั้งขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ย่านชิดลม มาเสนอให้เช่า ซึ่งนายสกุลธรให้ความสนใจ จึงได้ทำสัญญาว่าจ้างให้นายสุรกิจติดต่อประสานงานเพื่อให้ทางบริษัทได้เช่าที่ดินโดยมีค่าตอบแทนวงเงิน 500 ล้านบาท หลังจากทำสัญญากันแล้ว นายสุรกิจและนายประสิทธิ์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้แนะนำให้นายสกุลธรยื่นหนังสือขอเช่าที่ดินตามช่องทางปกติกับสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งนายสกุลธรได้จ่ายเงินงวดแรก 5 ล้านบาท เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้
มี.ค. 2560 นายประสิทธิ์ได้ปลอมเอกสารราชการของสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่ระบุว่าบริษัทเรียลแอสเสทฯ ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติในการเป็นผู้เช่าที่ดินเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเมื่อนายสกุลธรได้รับหนังสือแล้วจึงจ่ายเงินอีก 5 ล้านบาท
พ.ย. 2560 เมื่อปรากฏว่าบริษัทยังไม่ได้สิทธิในการเช่าที่ดินทั้ง 2 แปลง นายสกุลธรจึงได้เร่งรัดให้นายสุรกิจไปดำเนินการ นายสุรกิจและนายประสิทธิ์จึงร่วมกันปลอมเอกสารของสำนักงานทรัพย์สินฯ อีกฉบับหนึ่งเป็นจดหมายเชิญตัวแทนบริษัทเรียลแอสเสทฯ ไปประชุม เมื่อได้รับหนังสือเชิญประชุม นายสกุลธรจึงจ่ายเงินอีก 10 ล้านบาท รวมยอดจ่ายเงิน 3 ครั้งเป็นเงิน 20 ล้านบาท ซึ่งนายสุรกิจและนายประสิทธิ์ได้นำเงินไปแบ่งกัน แต่เมื่อใกล้ถึงวันประชุม นายสกุลธรได้รับแจ้งว่าการประชุมถูกยกเลิก จึงได้ทวงถามเอาเงินคืน ซึ่งจากการสอบสวนได้ความว่ามีการคืนเงินให้นายสกุลธร 7 ล้านบาท หลังจากนั้นสำนักงานทรัพย์สินฯ ทราบเรื่องจึงมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่เข้าร้องทุกข์กับกองบังคับการปราบปรามเพื่อให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
เม.ย. 2562 หลังจากจับกุมนายสุรกิจและนายประสิทธิ์ ผู้ต้องหาทั้ง 2 คนได้ พนักงานสอบสวนกองปราบปรามการได้ดำเนินการสอบสวนจนเสร็จสิ้นและส่งสำนวนให้สำนักงานอัยการ โดยกล่าวหาว่าทั้งสองคนร่วมกันเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเป็นการตอบแทนในการที่จะจงใจหรือไม่จงใจให้เจ้าพนักงานโดยวิธีการอันทุจริตหรือผิดกฎหมายให้กระทำการหรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือโทษแก่บุคคลไทย ร่วมกันปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พนักงานอัยการพิจารณาสำนวนคดีและมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จำเลยทั้งสองคนให้การรับสารภาพ
27 พ.ย. 2562 ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 2 คน ๆ ละ 3 ปี
ที่น่าสนใจคือในเอกสารแถลงข่าวของอัยการสูงสุดระบุเอาไว้ชัดเจนว่า “ในส่วนของนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ พนักงานสอบสวนไม่ได้ตั้งเป็นผู้ต้องหา แต่ได้สรุปในรายงานการสอบสวนว่าจะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีต่อนายสกุลธรตามกฎหมายต่อไป”
ดังนั้น เขาเรียกว่า “สินบน” ไม่ใช่ “ค่านายหน้า” อย่างที่ “นายสกุลธร” มั่ว เพราะได้จ่ายเช็คให้นายสุรกิจและนายประสิทธิ์ให้นำไปให้แก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำผิดหน้าที่ ช่วยเหลือบริษัทเรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ให้ได้สิทธิเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ โดยไม่ผ่านขั้นตอนตามปกติ เข้าลักษณะเป็นการใช้ให้ผู้ต้องหาทั้งสองไปกระทำความผิด
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากนายสกุลธรแล้ว ดูเหมือนสังคมกำลังเรียกร้องให้ตรวจสอบความรับผิดชอบร่วมกันของบรรดา “ผู้ถือหุ้น” และ “กรรมการ” บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ว่าจะต้องมีส่วนแสดงความรับผิดชอบต่อคดีสินบนนี้ด้วยหรือไม่
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ “สำนักข่าวอิศรา” พบว่าบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการหลายครั้ง กล่าวคือในช่วงก่อตั้งคือ วันที่ 17 ม.ค.2548 มีกรรมการ 4 คนคือ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ น.ส. ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ น.ส.รุจิรพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายสกุลธร จึงรุ่งเรือง ต่อมาวันที่ 2 พ.ค.2561 มีกรรมการ 5 คนคือ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ น.ส.รุจิรพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ นายบดินทร์ธร จึงรุ่งเรืองกิจ น.ส. ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายสกุลธร จึงรุ่งเรือง จากนั้นกระทั่งวันที่ 25 ม.ค.2562 นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ น.ส.รุจิรพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ออกจากกรรมการ พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (1 ต.ค. 2558 – 30 ก.ย.2559) อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าเป็นกรรมการร่วมกับนางอัญชลี ชวนิตย์ นายดุษฎี เตชะมนตรีกุล นายเสวก ประกิจฤทธานนท์ น.ส.ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายบดินทร์ธร จึงรุ่งเรืองกิจ รวมเป็น 7 คน
วันที่ 29 พ.ค.2562 กรรมการลาออก 4 คนคือ พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ นางอัญชลี ชวนิตย์ นายดุษฎี เตชะมนตรีกุลและนายเสวก ประกิจฤทธานนท์ ไม่มีกรรมการเข้าใหม่ เหลือกรรมการ 3 คนคือ น.ส.ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจและนายบดินทร์ธร จึงรุ่งเรืองกิจ จนถึงปัจจุบัน
ส่วน “ผู้ถือหุ้น” ข้อมูลเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 ประกอบด้วย นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ 28% นางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ, นายบดินทร์ธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นางสาวรุจิรพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในสัดส่วนคนละ 18%
ขณะที่งบการเงินรอบปี 31 ธ.ค. 2562 รายได้รวม 1,745,039,913 บาท กำไรสุทธิ 151,676,685 บาท รวมสินทรัพย์ 7,536,444,375 บาท หนี้สิน 4,805,643,521 บาท กำไรสะสม 1,830,800,854 บาท ก่อนหน้านี้รอบปี 2561 รายได้ 2,171,081,303 บาท กำไรสุทธิ 293,178,504 บาท ปี 2560 รายได้ ร1,792,981,007 บาท กำไรสุทธิ 151,209,913 บาท
งานนี้...คงต้องติดตามกันต่อไปว่า นอกจากนายสกุลธรแล้ว คดียังจะลุกลามไปถึง “พี่น้องจึงรุ่งเรืองกิจ” คนอื่นๆ ด้วยหรือไม่ อย่างไร.