ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สงครามสารเคมีเกษตรไม่มีวันจบลงง่ายๆ แม้ว่าเวลานี้สารเคมีเกษตรสำคัญที่สร้างพิษภัยร้ายแรงอย่างพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส จะถูกคณะกรรมการวัตถุอันตรายสั่งแบนไปตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ความพยายามผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงมติและเอาสารพิษดังกล่าวกลับคืนมาใช้ยังไม่เลิกราด้วยข้ออ้างต่างๆ นาๆ และยังคงเป็นรัฐมนตรี “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” ที่ออกศึกตามล้างตามเช็ด
ความพยายามครั้งล่าสุดของกลุ่มทุนสารเคมี มีความเคลื่อนไหวผ่านทาง “สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย” นอมินียักษ์สารเคมีที่สิงสถิตอยู่ในกรมวิชาการเกษตร ที่ออกโรงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนมติแบนสารพิษอีกครั้ง กล่าวอ้างข้างๆ คูๆ เพื่อโน้มน้าวให้สังคมเข้าใจผิดว่าถ้าไม่อนุญาตให้ใช้สารพิษเกษตรดังกล่าว ปราบวัชพืชและศัตรูพืชแล้ว เกษตรกรจะแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว อับจนหนทางทำมาหากินกันจนต้องเลิกราอาชีพนี้กันไปเลยโน่น
งานนี้ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้มีจุดยืนคัดค้านสารพิษชัดเจนหนักแน่นมาโดยตลอด จึงหวดกรมวิชาการเกษตร สายงานในบังคับบัญชาให้ลงไปจัดการกับสมาคมดังกล่าวที่ยึดเอากรมวิชาการฯ เป็นที่ตั้งสมาคมฯ และเล่นบทย้อนแย้งสวนนโยบายแบนสารพิษเกษตรของรัฐบาลไทยอยู่ไม่เลิกรา
จังหวะก้าวเขย่าการแบนสารพิษเกษตรคราวนี้ เริ่มต้นขึ้นจากการจัดงานเสวนาในหัวข้อ “ก้าวต่อไปอย่างไร เมื่อเกษตรกรไทยไร้พาราควอต” ในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2563 ฉลองครบรอบ 43 ปี ของสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นการโชว์ผลงานการเคลื่อนไหวทิ้งทวนปลายปีเพื่อให้เข้าตาสปอนเซอร์ใหญ่ยักษ์เคมีเกษตรระดับโลกที่หนุนเนื่องอยู่เบื้องหลังมาตลอด โดยเนื้อหาสาระหลักๆ ที่เสวนากันวันนั้นคือ การเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ทบทวนการแบนสารเคมีพิษภาคเกษตร โดยอ้างว่าจะทำให้มีเกษตรกรต้องเลิกอาชีพ 25% หากไม่มีสารเคมีทดแทนที่ต้นทุนต่ำพอ
แน่นอนว่า ใครที่ได้รับข้อมูลด้านเดียวจากงานเสวนาวันนั้น ก็คงจะเคลิ้มหลงเชื่อเป็นตะเป็นตุ แต่ในที่สุดก็โดนจับโป๊ะ
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ “ไบโอไทย” ที่ติดตามเปิดโปงสารพัดเล่ห์กลยักษ์ใหญ่สารเคมีเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง ออกมาแฉเบื้องหน้าเบื้องหลังสมาคมนี้ว่า แต่เดิมสมาคมฯ มีบทบาทในเชิงวิชาการ ส่วนใหญ่บรรดาอาจารย์ในภาควิชาพืชไร่ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาเป็นกรรมการและนายกสมาคม แต่ในช่วงหลัง สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เริ่มมีการแต่งตั้งตัวแทนจากบริษัทสารเคมีเกษตรเข้ามาเป็นกรรมการ จึงเริ่มเห็นบทบาทของสมาคมฯ ที่เริ่มไม่เป็นวิชาการตั้งแต่มีการต่อสู้เรียกร้องให้มีการยกเลิกการใช้หรือแบนพาราควอต
ผอ.ไบโอไทย ยืนยัน มีหลักฐานจากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ว่า สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ได้รับทุนวิจัยจากบริษัท ซินเจนทา ผู้ผลิตและจำหน่ายสารพาราควอต จึงอาจกล่าวได้ว่า สมาคมฯ นี้ไม่ได้ยืนอยู่บนฐานวิชาการจริงๆ แต่มีบทบาทสนับสนุนบริษัท ซินเจนทา เจ้าของสารเคมีเกษตร พาราควอต เป็นด้านหลัก
อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สมาคมดังกล่าวมีที่ตั้งอยู่ในกรมวิชาการเกษตร ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณพื้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คำถามคือเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะบทบาทมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือกรมวิชาการเกษตร เป็นองค์กรด้านวิชาการ หากองค์กรที่มีบทบาททางวิชาการมาขอใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งสำนักงานอาจพอรับได้ แต่หากองค์กรที่มาตั้งอยู่ในสถานที่ราชการที่ทำงานด้านวิชาการ ไม่ได้ยืนอยู่หลักวิชาการอย่างแท้จริง นั่นน่าจะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของหน่วยงานทางวิชาการของรัฐ โดยภาษีของประชาชน
นายวิฑูรย์ ย้ำอีกครั้ง สมาคมนี้มีบทบาทในการคัดค้านนโยบายแบนสารพิษเกษตร ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสารเคมีข้ามชาติอีกด้วย ดังนั้น กรมวิชาการเกษตร อาจต้องทบทวนการให้สมาคมนี้มาตั้งที่กรมวิชาการเกษตรกันใหม่ เพราะเวลาเผยแพร่งานออกไปสังคมจะสับสนระหว่างบทบาทของสมาคมฯ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทสารเคมีจากต่างประเทศ กับบทบาทของหน่วยงานทางวิชาการของรัฐ กลายเป็นว่ามีการจัดตั้งสมาคมฯ ในสถานที่ราชการ คือกรมวิชาการเกษตร เพื่อมาคัดค้านนโยบายของราชการเสียเอง
หลังการออกมาแฉเบื้องหน้าเบื้องหลังสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ของไบโอไทย ในวันถัดมา นางมนัญญาที่กำกับกรมวิชาการเกษตร ได้สั่งการให้ทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง โดยมอบหมายให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรไปสอบถามการดำเนินงานของสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยว่า ทำไมเล่นบทบาทย้อนแย้งกับนโยบายของกรม ย้อนแย้งกับนโยบายรัฐมนตรีที่กำกับดูแล
และดูเหมือนว่าปัญหาฝังรากลึกกว่าที่คิด เมื่อ “รัฐมนตรีมนัญญา” ยอมรับว่า สมาคมต่างๆ ที่เข้ามาตั้งอยู่ในกรมวิชาการเกษตร 7 สมาคมนั้น แต่ละคนในสมาคมก็เป็นนักวิชาการในกรมวิชาการเกษตร อดีตอธิบดีก็มี สมาคมพวกนี้ถูกตั้งคำถามมากมายว่า ตั้งขึ้นมาแล้วทำประโยชน์อะไรให้เกษตรกรบ้าง หรือว่าแค่ตั้งมาเพื่อเปลืองน้ำเปลืองไฟหลวง แล้วให้คนในสมาคม เดินไปมาสวัสดีทักทายกัน แล้วบอกว่าอยากได้โน่นอยากได้นี่ เรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรจริงๆ กลับละเลย ไปพูดแต่เรื่องจะเอาสารพิษกลับมา ทั้งที่มันจบไปแล้ว
ความรู้สึกอัดอั้นตันใจของ “รัฐมนตรีมนัญญา” ต่อกรมวิชาการเกษตร มีอยู่มากมายหลายเรื่อง ทั้งการโยกย้ายตำแหน่งในกรมวิชาการเกษตร ที่มีปัญหา ย้ายใครก็ต้องเป็นเส้นทางตรงไม่มีการนำคนรุ่นใหม่เข้ามา อย่างที่พูดเปรียบเปรยว่า “มีแต่ขะหน่อไม่มีแขนง” แล้วจุดประสงค์ของการตั้งกรมนี้ขึ้นมา ก็ไม่ไปไม่ถึงดวงดาวเสียที งานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร อย่างเช่น น้ำมันมะคาเดเมียบำรุงผิว การปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลัง ทำไว้แล้วก็ไม่เอาไปต่อยอด พืชผักผลไม้ที่ประเทศไทยต้องนำเข้าจำนวนมาก อย่างมันฝรั่งที่บริษัทเอกชนต้องการมหาศาล ก็ละเลยไม่สนใจส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก มัวไปไปยุ่งอยู่กับการจะเอาสารพิษกลับมา
เธอยังบอกอีกว่า เรื่องการแบนสารพิษจบไปแล้ว แต่กลุ่มผู้สนับสนุนสารเคมี ยังพยายามจะเล่นงานตนไม่หยุด เวลามีการประชุมก็ก้าวร้าวใส่ ซ้ำยังให้ไปชี้แจงในที่ประชุม ส.ว.อีกหลายครั้ง “ถ้ายังไม่หยุดกัน เดี๋ยวเราก็จะไม่หยุดบ้าง”
กล่าวสำหรับ สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย หากตรวจสอบข้อมูลจะพบว่า ได้ออกหน้าเรื่องสารเคมีเกษตรเต็มตัวนับจากปี 2554-ปัจจุบัน โดยหนึ่งในผลงานสำคัญคือ เป็นเจ้าภาพร่วมกับ Crop Life Asia จัดการประชุมระดมสมอง เรื่อง Guidelines of herbicide registration in minor crops in Thailand ที่ โรงแรมอามารี แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ เมื่อปี 2557 ซึ่ง CropLife ก็คือเป็นองค์กรของบริษัทผลิตและค้าสารพิษที่มีอิทธิพลอย่างสูงในการกำหนดนโยบายการเกษตรของประเทศต่างๆทั่วโลก ดังพาดหัวข่าวของเว็บไซต์ agribusinessglobal (https://www.agribusinessglobal.com/.../croplife-asia.../) หรือในรายงานข่าวของบลูมเบอร์ก (https://www.bloomberg.com/.../thailand-urged-to-delay...)
CropLife ถูกจัดตั้งขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก โดยในเอเชียมีสำนักงานใหญ่ CropLife Asia ที่สิงคโปร์ มีบริษัทสมาชิก 6 บริษัทคือ BASF ไบเออร์-มอนซานโต้ ซินเจนทา FMC ซูมิโตโม และ Corteva AgriScience
CropLife Asia ยังมีสมาชิกที่ประกอบไปด้วยสมาคมค้าสารพิษกำจัดศัตรูพืชอีก15 องค์กรในประเทศต่างๆ และอีก 2 เครือข่าย โดยในประเทศไทย สมาชิกของ CropLife คือ สมาคมอารักขาพืชไทย (Thai Crop Protection Association หรือชื่อเดิม Thailand Pesticides Trade Association) ไม่นับ CropLife Thailand ที่ใช้ชื่อภาษาไทยว่า “สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย” หรือ TaiTa ซึ่งเป็นสาขาของ CropLife Asia ที่เพิ่งตั้งขึ้นเพื่อรับมือกับการต่อต้านการแบน 3 สารพิษโดยตรงเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าทุกประเทศที่เคยเสนอแบนพาราควอตและไกลโฟเซต ล้วนแล้วแต่ต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากในการผลักดันข้อเสนอดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย ศรีลังกา บราซิล หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกา และยุโรปก็ตาม
และถึงแม้ประเทศไทยจะผลักดันให้มีการแบนพาราควอตจนสำเร็จแล้ว ก็ยังมีความพยายามให้ทบทวนใหม่ เพื่อให้นำเอากลับมาใช้เหมือนเดิม จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นสงครามสารเคมีเกษตรที่ไม่มีวันจบสิ้นจริงๆด