xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ส่งยานอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์ ไทยจะทำเพื่ออะไร...แล้วยังไง???

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไทยจะเป็นชาติที่ 5 ของเอเชียที่สร้างยานอวกาศไปดวงจันทร์ ในกลางเดือน ม.ค.ปี 2564 คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 7 ปีหรือราวๆ ปี 2571 จะสามารถส่งบินโคจรรอบดวงจันทร์ แต่ต้องขอความร่วมมือและการสนับสนุนจากประชาชนในการระดมทุน

ทันทีที่หมุดหมายอันแน่วแน่หลุดจากปาก  “นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์” รัฐมนตรีว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  เมื่อสัปดาห์ก่อน เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ดังตามมาอื้ออึงเลยทีเดียว

ทั้งนี้ 4 ประเทศที่เดินหน้าสู่ดวงจันทร์ตามที่ “อาจารย์อเนก” ว่าไว้ ประกอบด้วย

 หนึ่ง- “ประเทศจีน” ที่ส่งยาน ฉางเอ๋อ 5 ไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 เพื่อเก็บก้อนหินบนดวงจันทร์ กลับมาศึกษาที่โลก โดยคาดว่าจะกลับถึงโลกในวันที่ 17 ธ.ค. 2562 นับเป็นภารกิจกลับไปเก็บตัวอย่างบนดวงจันทร์ ครั้งแรกของโลกในรอบกว่า 40 ปี

 สอง-“ประเทศญี่ปุ่น” ที่ส่งยานอวกาศสำรวจดวงจันทร์ลำแรกของประเทศได้ เมื่อ 13 ปีก่อน มูลค่าโครงการกว่า 55,000 ล้านเยน หรือ 16,000 ล้านบาท

 สาม-“ประเทศอินเดีย”  ส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ของที่ขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี 2561 กำลังปฏิบัติภารกิจและคาดว่าจะได้เห็นแผนที่ดวงจันทร์ที่มีความละเอียดสูง และ  สี่-“ประเทศเกาหลีใต้” ที่ประกาศจะส่งยานอวกาศเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ในปี 2563 เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ฝันใหญ่ไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่คำถามที่หลายคนใคร่สงสัยคือ ไทยส่งยานอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์…แล้วจะเป็นอย่างไรต่อ? ทั้งนี้ทั้งนั้นยิ่งเปิดระดมทุนสร้างยานอวกาศด้วยแล้ว ยิ่งส่งเสียงวิพากษ์ โดนปรามาสไปต่างๆ นานา

คำถามดังกล่าว  นายณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการสื่อออนไลน์เกี่ยวกับอวกาศ Spaceth.co ให้คำตอบเกี่ยวกับการส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ว่า เป็นการสำรวจดวงจันทร์จะทำให้มนุษยชาติรู้จักตัวเอง และนำสิ่งที่ได้จากการสำรวจกลับมาพัฒนาตัวเอง ซึ่งเป็นงานระยะยาวในอีก 20 - 30 ปีข้างหน้า

ทว่า โมเดลการพัฒนาอวกาศไทยนั้น ประเด็นสำคัญต้องเกิดจากการที่ต้องมีเป้าหมายร่วมกันชัดเจนทำเพื่ออะไรสังคมได้อะไร ที่น่าจับตาว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการส่งยานอวกาศไปโคจรนอกโลก ล้วนมีวาระทางการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง ดังเช่น การส่งยานอวกาศดวงจันทร์ของประเทศสหรัฐฯ หรือประเทศรัสเซีย มีวาระทางการเมืองทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี ระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียต มีแข่งขันช่วงชิงความเป็นหนึ่งกันมาตลอด นับตั้งแต่ช่วงปี 1950 ไล่เรียงภารกิจของสหรัฐฯ จะเป็นภารกิจใช้นักบินอวกาศ ภายใต้ชื่อโครงการ  “อะพอลโล” มี   “นีล อาร์มสตรอง”  จากยานอะพอลโล 11 สร้างประวัติศาสตร์เป็นมนุษย์คนแรกที่ได้เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ขณะที่สหภาพโซเวียต จะเน้นส่งยานสำรวจที่ไม่มีนักบิน ขึ้นไปเก็บตัวอย่างดินและหินจากดวงจันทร์กลับมายังโลก โดย  “ยานลูน่า 2”  เป็นยานอวกาศลำแรกที่ลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ ความสำเร็จดังกล่าว ทำให้นานาประเทศตื่นตัวริเริ่มโครงการพิชิตอวกาศ

นอกจากนี้ เพจ Spaceth.co โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุกรณี ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ พูดขึ้นมาวันนี้อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยว่า “ประเทศไทยจะทำยานไปโคจรรอบดวงจันทร์ใน 7 ปี” ความว่า

“คำถามแรก การทำยานไปโคจรรอบดวงจันทร์ในเวลา 7 ปีนั้นทำได้จริงหรือไม่ ? คำตอบก็คือได้ และไม่ใช่เรื่องยากด้วย เชื่อหรือไม่ ด้วยความดุเดือดในการแข่งขันด้านอวกาศในโลกที่ทุกคนตื่นเต้นกับการกลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2024 อย่างโครงการ Artemis นั้น ทำให้ตอนนี้ พื้นที่บนจรวด ยานอวกาศ ต่างถูกจับจอง การส่งยานแบบ Orbiter, Lander หรือแม้กระทั่ง Rover ไปลงจอดบนดวงจันทร์ เป็นสเกลงานที่ทำได้ในงบหลักแค่ล้านบาทจนถึงร้อยล้านบาทเท่านั้น

ในงานประชุม IAC ประจำปี 2019 (และ 2020 ที่ถูกจัดออนไลน์) บริษัทอวกาศยักษ์ใหญ่ระดับโลกต่างหาแนวร่วมในการพัฒนา Payload หรือยานไปลงบนดวงจันทร์อย่างมีนัยสำคัญ ประเทศอย่างอิสราเอล และบริษัท SpaceIL เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ พวกเขาเริ่มต้นจากการพัฒนาด้วยทุนจากโครงการ Google Lunar X Prize ก่อนที่จะมาสำเร็จในเวลาผ่านไปจากความสนับสนุนจากภาคธุรกิจและรัฐบาล พวกเขาส่งยานไปลงจอดดวงจันทร์ในปี 2019 ที่ผ่านมา แม้จะพลาดลงจอดไม่สำเร็จ แต่ก็ทำให้เราเห็นว่าสเกลในการทำงานอวกาศในเรื่องของ Moon Lander นั้นไม่โตเท่าที่คิด

การทำยานไปลงดวงจันทร์ในบริบทการแข่งขันยุคปัจจุบันจึงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะในช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้ เราจะได้เห็นการทดสอบการนำร่องระบบลงจอดต่างๆ บนดวงจันทร์ ซึ่งแน่นอนว่า Payload จำนวนมากก็จะต้องถูกส่งไป ทั้งบนผิวของดวงจันทร์ หรือโคจรบนดวงจันทร์ ดังนั้นถามว่า การทำยานไปลงดวงจันทร์ใช้เวลา 7 ปี กับงบประมาณของประเทศนั้นเป็นไปได้ไหม บอกได้เลยว่าได้ และทำได้

แต่คำถามสำคัญก็คือ ทำไปเพื่ออะไร ? อาจจะเป็นคำถามที่ดูเหมือนตั้งแง่ ซึ่งถ้าเราถามสเปซทีเอชว่า เราสำรวจอวกาศไปทำอะไร เราก็อาจจะได้คำตอบแนวๆ Abstract ที่บอกว่า สำรวจไปเพื่อมนุษยชาติได้รู้จักตัวเองมากขึ้น แต่ในระดับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล (Goverment Policy) นั้น ควรมีการศึกษาและวางเป้าหมายที่ชัดเจน”

อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับความจริงที่ว่า แม้แวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยกำลังพุ่งทะยาน แต่วิทยาศาสตร์ของไทยยังไม่เปรี้ยงปังในระดับนานาชาติเท่าที่ควรนัก ทั้งยังเกิดคำถามเกี่ยวกับเด็กเก่งเด็กนักเรียนที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดงในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการทางด้านต่างๆ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์

เด็กอัจริยะเหล่านี้อันสะท้อนให้เห็นว่านักเรียนไทยมีความรู้ความสามารถเป็นเลิศทัดเทียมนานาประเทศ ถูกจับตาว่าหลังจากได้รับรางวัลโอลิมปิกวิชาการ พวกเขามีเส้นทางชีวิตอย่างไร ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เดินเข้าสู่จุดแวดวงวิชาการนำความรู้ความสามารถสร้างคุณูปการให้ประเทศชาติตลอดจนมนุษยชาติหรือไม่อย่างไร

บทความเรื่อง  “ทำไมการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ไทยไม่สามารถเข้าสู่ระดับนานาชาติ?”  โดย ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ manager.co.th ตั้งข้อสังเกตว่าขณะที่เด็กไทยจำนวนหนึ่งมีความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์คว้ารางวัลโอลิมปิกวิชาการ อีกจำนวนหนึ่งกลับสอบได้คะแนนต่ำมากในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ตามมาตรฐานการทดสอบ O-NET จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์โดยนักวิชาการด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ว่า เพราะเหตุใดนักเรียนไทยจึงอ่อนด้อยด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ทั้งๆ ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเงินงบประมาณด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จำนวนมากในแต่ละปี มีอะไรเกิดขึ้นกับแวดวงวิชาการด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของไทย

“ทำไมการศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยจึงไม่สามารถพัฒนาก้าวหน้าสู่ระดับนานาชาติได้อย่างที่คาดหวังทั้งๆ ที่นักเรียนและนักวิทยาศาสตร์ไทยมีสติปัญญาความรู้และความสามารถไม่แพ้นักวิชาการต่างชาติเลย และอาจเก่งกว่านักวิทยาศาสตร์ต่างชาติในบางสาขาวิชาด้วยซ้ำไปเหตุการณ์ด้านการศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์ไทย”

ขณะที่บทความเรื่อง “เด็กโอลิมปิกวิชาการหายไปไหน?”  เผยแพร่ผ่าน www.tcijthai.com ระบุถึงการเฟ้นหานักเรียนหัวกะทิไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการความว่า กว่าจะได้เป็นตัวแทนประเทศไปแข่งระดับโลกต้องผ่านด่านมากมาย เริ่มตั้งแต่เฟ้นหาเด็กทั่วประเทศมาสอบแข่งขัน เข้าค่ายส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา (สอวน.) ผู้ที่ทำคะแนนได้อันดับต้นๆ จะได้เข้าค่ายส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จึงจะได้เป็นตัวแทนไปแข่งระดับโลก ทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 2 ปี (ข้อมูลปี 2558) จากนั้นจึงสามารถเลือกรับทุนได้ มีทุนตั้งแต่ให้ไปเรียนปรับพื้นฐานเตรียมความพร้อมเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำต่างประเทศ ต่อเนื่องถึงปริญญาเอกและวิจัยหลังจบปริญญาเอก โดยปริญญาโทและเอกสามารถเลือกสาขาประยุกต์ที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่รับทุนตอนแรกได้ และสามารถกลับมารับราชการในประเทศไทยเป็นนักวิจัยในหน่วยงานของรัฐหรือเป็นอาจารย์สอนนิสิต/นักศึกษา

การส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยเป็นประเด็นที่น่าจับตา เช่นเดียวกับ การสร้างยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ ซึ่งรายละเอียดยังคงต้องติดตามต่อไป ณ วันนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า รัฐบาลไทยจะส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ทำไม?


กำลังโหลดความคิดเห็น