xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“คนละครึ่ง” สุดคึกยาวไปถึง มี.ค.ปีหน้า กล้าทุจริต-เล่นตุกติก “ลุงตู่” ลั่นสั่งเลิก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม | (ซ้าย) พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา | (ขวา) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง | โครงการ “คนละครึ่ง” ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชน จนรัฐบาลต้องขยายเวลาการใช้สิทธิ์ออกไป | ร้านลาบ จ.อุบลราชธานี ตุกติกขอบวกค่าอินเทอร์เน็ตจ่ายโครงการคนละครึ่ง
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สุดปังจ่ายตังค์ “คนละครึ่ง” กระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีสุดคึก ดีเดย์เฟส 2 ของขวัญปีใหม่ 2564 ศบศ. เคาะขยายเวลาใช้สิทธิ์ยาวถึงสิ้นเดือนมีนาคมปีหน้า จัดให้ 5 ล้านสิทธิ์ แถมเพิ่มวงเงินจาก 3,000 บาท เป็น 3,500 บาท ขณะที่พ่อค้าแม่ขายบางรายเริ่มร่ายวิชามาร ลดปริมาณ ขึ้นราคา คลังย้ำอย่าหาทำเล่นตุกติก เจอเชือดไก่ให้ลิงดูอย่างแม่ค้าร้านลาบเมืองอุบล โกงลูกค้าคิดค่าเน็ต เปิดสายแจ้งเบาะแส 24 ชั่วโมง เล่นงานหนักแน่  
ได้ใจประชาชนคนฐานรากมากที่สุดสำหรับโครงการจ่ายคนละครึ่งที่มีประชาชนแห่ใช้สิทธิ์และร้านค้าเข้าร่วมโครงการคับคั่ง กระทั่งล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ให้ขยายร้านค้าร่วมโครงการให้รวมถึงร้านค้าของกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมือง รวมทั้งวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ครอบคลุมผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยที่มีความสำคัญต่อวงจรเศรษฐกิจฐานราก ได้แก่ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และร้านค้าชุมชน และส่งเสริมให้มีการใช้จ่ายไปยังชุมชนเพิ่มขึ้น เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจนถึงระดับฐานราก 
 
นอกจากจะขยายร้านค้าเข้าร่วมรายการแล้ว ยังเตรียมเปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิ์ เฟส 2 ที่มาแน่นอนรับศักราชใหม่ในวันที่ 1 มกราคม 2564 ตามที่  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันถึงการลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 2 ว่า มีแน่นอน หลังผลตอบรับโครงการดังกล่าวดีและมีการขอให้ขยายสิทธิ์เพิ่ม ขณะนี้การลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 2 อยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขและรายละเอียดเพิ่มเติมว่าควรมีกลุ่มใดเพิ่มเข้าอีก

สอดรับกับ  นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่กำหนดวันเวลาชัดเจนว่า ในปี 2564 รัฐบาลจะเดินหน้ากระตุ้นการบริโภคภายในประเทศโดยเฉพาะโครงการคนละครึ่งเฟส 2 ที่จะเริ่มดำเนินการต่อเนื่องในวันที่ 1 มกราคม 2564 เพื่อเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ โดยผู้ที่ได้รับสิทธิ์คนละครึ่งเฟส 1 จะสามารถพ่วงต่อเฟส 2 ได้โดยอัตโนมัติ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องใช้เงิน 3,000 บาทก้อนแรกที่ได้รับมาให้หมดภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ก่อน 
 
ขุนคลัง ยังคาดหวังว่า ในปี 2564 ตัวเลขจีดีพีจะกลับมาเป็นบวกแน่นอนที่ 4-4.5% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งโครงการคนละครึ่งที่ต่ออายุออกไปอีก 3 เดือน สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2564 และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่จะมีการปรับใหม่ โดยคาดการณ์การท่องเที่ยวไทยจะฟื้นต่อเนื่อง จากการเปิดให้ต่างชาติเดินทางเข้าไทยได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด คาดว่าในปี 2564 จะมีต่างชาติเดินทางมาไทยประมาณ 8 ล้านคน และเมื่อวัคซีนออกมาจะทำให้ปี 65 มีนักท่องเที่ยวมาไทยประมาณ 16 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 32 ล้านคนในปี 66 ก่อนจะกลับมาเต็มศักยภาพที่ 40 ล้านคนในปี 2567 โดยขึ้นกับประเทศต้นทางด้วยว่าจะผ่อนคลายการเดินทางมากน้อยเพียงใด

 ศบศ.เคาะคนละครึ่ง เฟส 2 รีบเลย 5 ล้านสิทธิ์  

หลังจากรอลุ้นในรายละเอียดกันว่า คนละครึ่ง เฟส 2 จะขยายวงเงิน เปิดให้ผู้ลงทะเบียนได้รับสิทธิ์มากน้อยแค่ไหน คำตอบสุดท้ายเคาะออกมาแล้ว โดยนายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ครั้งที่ 6/2563 ลงมติเห็นชอบการขยายมาตรการ “คนละครึ่ง” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการใช้จ่ายในระยะที่สอง ที่เสนอโดยกระทรวงการคลัง โดยจะดำเนินมาตรการในรูปแบบเช่นเดียวกับในระยะแรกที่ภาครัฐจะร่วมจ่าย 50% แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน แต่มาตรการในระยะที่สอง ซึ่งในเฟส 2 นี้มีรายละเอียดเพิ่มเติม ด้วยการขยายสิทธิ์ให้ประชาชนลงทะเบียนเพิ่มเติมอีก 5 ล้านคน โดยจะได้รับวงเงินที่คนละ 3,500 บาท

ขณะเดียวกัน ผู้ที่ถูกตัดสิทธิจากโครงการคนละครึ่ง ระยะที่หนึ่ง เนื่องจากไม่ได้ใช้จ่ายภายใต้โครงการภายในวันที่กำหนดไว้หลัง โดยจากที่ลงทะเบียนรับสิทธิไปแล้ว จะยังสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการระยะที่สองได้ มีกำหนดการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม 2564

 ศบศ.ยังเพิ่มวงเงินผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง เฟสแรก อีกคนละ 500 บาท โดยจะขยายระยะเวลาการใช้สิทธิมาตรการระยะที่หนึ่งออกไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 

นอกจากนี้ ศบศ. ยังเห็นชอบมาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เสนอโดยกระทรวงการคลัง โดยการเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 500 บาทต่อคนต่อ เดือน เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 3 เดือน โดยมีระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2564
ทันทีที่ ศบศ. เคาะต่อโครงการคนละครึ่ง เฟส 2 ทางฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด มีมุมมอง  “เป็นบวก” จากเม็ดเงินที่จะเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่งที่เฟสแรกมียอดใช้จ่ายสะสมกว่า 3.1 หมื่นล้าน เป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 1.6 หมื่นล้าน และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 1.5 หมื่นล้าน ซึ่งในเฟส 2 ที่ขยายเวลาต่อเนื่องให้กับเฟสแรก และเพิ่มจำนวนคนลงทะเบียนใหม่ และเพิ่มวงเงินขึ้นอีก

ดังนั้น คนละครึ่ง เฟส 2 จะเป็นการเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่วนหนึ่งแม้จะกระทบต่อร้านสะดวกซื้อในสินค้าบางประเภท เช่น อาหารสดพร้อมทาน เนื่องจากการใช้สิทธิ์เน้นเพื่อการบริโภคเป็นหลัก แต่เม็ดเงินที่เข้าสู่ตลาดและผู้ประกอบการจะกลับมาเป็นกำลังซื้อต่อกลุ่มธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตจากผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนเราเที่ยวด้วยกัน จะขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการและผู้ใช้สิทธิ์หนุนแรงจับจ่ายใช้สอยเพิ่มเช่นกัน

 ตุกติกเจอดีแน่ แม่ค้าร้านลาบเจอเชือด 

ผลสำเร็จของโครงการที่เสียงตอบรับล้นหลาม อีกด้านหนึ่งก็ย่อมมีพวกฉกฉวยโอกาสหาประโยชน์โดยมิชอบ ทั้งร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ และประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ ทำผิดวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยให้ลงไปยังรายเล็กรายย่อย หาบเร่แผงลอย

กระแสข่าวที่มีผู้ประกอบการเอาเปรียบลูกค้าในรูปแบบต่างๆ ทั้งการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าสูงกว่าราคาป้ายตามปกติ รวมถึงการบวกราคาสินค้าเพิ่มโดยอ้างว่าเป็นค่าอินเทอร์เน็ต รวมทั้งการลดปริมาณสินค้าลงแต่ขายในราคาเท่าเดิม ทำให้นายกรัฐมนตรี ออกมาปรามโดยเตือนไปยังร้านค้าที่มีพฤติกรรต่างๆ เหล่านี้ และสั่งการให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการตรวจสอบและเอาผิด หากยังพบว่ามีการทุจริตเช่นนี้อีก นายกฯ ถึงขั้นขู่จะพิจารณายกเลิกโครงการเพราะถือเป็นการฉกฉวยโอกาสโกงประชาชน

หลังคำสั่งการของนายกรัฐมนตรี ทางกระทรวงการคลัง โดยนายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง ออกมาขอความร่วมมือประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ ร้านค้าอย่าฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า หรือมีวิธีทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น เป็นการเอาเปรียบประชาชนและทำลายบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยถือเป็นทำผิดเงื่อนไขของโครงการ

หากพบพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสมาที่ halfhalf@fpo.go.th หรือติดต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3697, 3527, 3548, 3509 (เวลาราชการ) หรือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 0-2111-1144 (24 ชั่วโมง) หากตรวจสอบพบทำผิดจริงจะระงับการใช้แอพพลิเคชั่น ตลอดจนการจ่ายเงินของร้านค้าทันที และอาจดำเนินการกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

กรณีตัวอย่างที่เจอเชือดเนื่องจากทำผิดเงื่อนไขที่กลายเป็นข่าวโด่งดัง คือร้านขายลาบก้อยที่เมืองอุบลฯ ของ  นางเยาวะเรศ รัตนพร อายุ 46 ปี ที่เรียกเก็บค่าอินเตอร์เน็ตเพิ่มเติมจากราคาของที่ตั้งไว้เดิม 100 บาท เป็น 110 บาท หากลูกค้าใช้จ่ายคนละครึ่ง ซึ่งถูกดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับมีความผิดฐานประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการฯ ที่ต้องแสดงราคาให้ตรงกับที่จำหน่ายซึ่งมีอัตราโทษปรับสูงสุด 10,000 บาท แต่รายของนางเยาวะเรศ เป็นหาบเร่แผงลอยจึงปรับเพียง 1,000 บาท และถอดรายชื่อออกจากการเข้าร่วมโครงการ

เคสตัวอย่างของนางเยาวะเรศ เป็นรายการเชือดไก่ให้ลิงดู โดยนายชาญยุทธ วันดี พาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี เตือนไปยังร้านค้าต่างๆ ที่แม้ไม่ได้เข้าร่วมโครงการจากรัฐ ต้องปิดป้ายแสดงราคาสินค้าให้ชัดเจน และต้องขายให้ตรงกับราคาป้ายที่แสดงไว้ สินค้าต้องมีน้ำหนักหรือจำนวนตามที่ระบุไว้ หากไม่ครบถ้วนก็มีความผิดเช่นกัน
ขณะที่ น.ส.ปานจิตต์ ตะเพียนทอง คลังจังหวัด ย้ำเตือนพ่อค้าแม่ค้ารายอื่น ซึ่งมีข่าวออกมาไม่ได้ขายสินค้าแต่ให้มาแลกเป็นเงินสดอย่าได้ทำ เพราะโครงการนี้รัฐบาลต้องการช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพประชาชน ช่วยเหลือผู้ค้าระดับเล็กๆ ให้มีรายได้ และขายของได้มากๆ ส่วนที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มร้านค้าก็ควรต้องรับผิดชอบเองอย่าได้ทำผิดเป็นอันขาด

 แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คลังจะเตือนอย่าหาทำ แต่ร้านค้าและบางกรณีอาจรวมถึงประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการด้วยก็หาช่องซิกแซกใช้คนละครึ่งแบบสะสมซื้อของชิ้นใหญ่อย่างที่มีการแชร์เทคนิคลับใช้คนละครึ่งสะสมสแกนจ่ายเงิน จากเงื่อนไขคนละครึ่งที่จำกัดใช้ไม่เกินวันละ 150 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่จะซื้อของกินของใช้เล็กๆ น้อยๆ แต่หากต้องการของชิ้นใหญ่ที่มีราคาสูง ทางร้านค้ากับผู้ได้รับสิทธิ์จะตกลงกันสแกนใช้จ่ายสะสมไปเรื่อยๆ ให้ถึงยอดเงินสำหรับซื้อสินค้านั้นๆ เช่น สินค้าราคา 600 บาท ก็สแกนสะสม 2 วัน ก็รับสินค้านั้นๆ ไป 

กรณีการสแกนใช้จ่ายแบบ  “สะสมยอด”  นี้ ทางแบงก์กรุงไทยที่เป็นผู้ร่วมดำเนินโครงการ ชี้ว่าเป็นการใช้จ่ายที่ไม่ตรงกับเงื่อนไขของรัฐที่กำหนดให้ใช้วันต่อวัน ไม่สามารถตัดยอดและสะสมยอดได้ หากรัฐตรวจสอบว่าผิดเงื่อนไขร้านค้าที่ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งจะถูกถอนสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของโครงการ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 8.7 แสนร้านค้า และผู้ใช้สิทธิ์แล้วจำนวน 9,515,956 คน มียอดการใช้จ่ายสะสม 31,777 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 16,226 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 15,551 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 184 บาทต่อครั้ง โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชลบุรี ตามลำดับ

 กกร.ฝันหวานปีหน้าเศรษฐกิจฟื้น จีดีพีบวก 2-4% 
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเรียกความเชื่อมั่นคืนมาขนาดที่ว่าภาคเอกชนคาดการณ์เศรษฐกิจไม่ดิ่งเหวลึกอย่างที่คาดไว้ก่อนหน้า โดยเริ่มเห็นสัญญาณเป็นบวก ตามที่  นายกลินท์ สารสิน  ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย กล่าวภายหลังประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า กกร.ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 ดีขึ้น โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ปี 2563 จะหดตัวในกรอบ -6% ถึง -7 % จากเดิมที่คาดไว้ในเดือน พ.ย.เป็น -7% ถึง - 9%

ส่วนการส่งออกจะหดตัวในกรอบ -7% ถึง -8 % จากกรอบเดิม -8% ถึง -10% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะหดตัวอยู่ในกรอบ -0.9 % ถึง -1% จากเดิม -1% ถึง -1.5% ขณะที่คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะขยายตัวได้ในกรอบ 2% ถึง 4% ขณะที่การส่งออกจะขยายตัวในกรอบ 3% ถึง 5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 0.8% ถึง 1.2%

ประธาน กกร. ยังมองว่า เศรษฐกิจโลกยังน่าจะได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจไทยจะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนกว่า 10 % ของ GDP ยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัดรวมถึงตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทรุดหนักลากยาว ทาง กกร.ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมท่องเที่ยว ตามที่สมาคมโรงแรมไทยเสนอ 2 มาตรการ คือ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับหนี้คงเหลือเดิมปรับลดดอกเบี้ยเป็นคงที่ 2% พร้อมทั้งพักการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 2 ปี และสินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องรายละไม่เกิน 60 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% งดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 2 ปี หลังจากนั้นแปลงเป็นสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ หากมีหลักประกันไม่พอ บสย.หรือรัฐบาลเป็นผู้จัดตั้งกองทุนค้ำประกัน และไม่จำกัดสิทธิโรงแรมขนาดใหญ่ที่มีวงเงินรวมเกิน 500 ล้านบาท

ส่วนอีกมาตรการ คือขอการสนับสนุนเงินเดือนค่าจ้างร้อยละ 50 เพื่อรักษาการจ้างงาน สนับสนุนให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจ้างพนักงานเดิมจำนวน 200,000 คน หรือไม่เกิน 30% ของจำนวนพนักงานปัจจุบัน ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี

 ปลุกท่องเที่ยวสะดุด ติดเชื้อโควิด-19 พุ่ง 
เสียงเรียกร้องให้เร่งกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ฟื้นคืนกลับมา ได้รับการตอบรับจากที่ประชุม ศบศ. นัดล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดย นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ศบศ. เห็นชอบปรับปรุงโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยเพิ่มจำนวนห้องพักในโครงการจากเดิม 5 ล้านคืน เป็น 6 ล้านคืน โดยจำนวนห้องที่เพิ่มมาจะสนับสนุนเฉพาะ E-voucher แต่ไม่อุดหนุนเรื่องค่าที่พัก และขยายสิทธิห้องพักต่อคืนจาก 10 คืนต่อ 1 สิทธิ์ เพิ่มเป็น 15 คืน และยังขยายระยะเวลาการใช้สิทธิ์โครงการไปจนถึง 30 เมษายน 2564 จากเดิมที่สิ้นสุด 31 มกราคม 2564 ให้ครอบคลุมไปถึงช่วงสงกรานต์

นอกจากนั้น ยังเพิ่มโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาต แต่มีหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้ และอนุมัติธุรกิจการขนส่งภาคท่องเที่ยว ธุรกิจสปา หรือนวดเพื่อสุขภาพใช้ E-Voucher พร้อมกับปรับปรุงเกณฑ์สนับสนุนค่าบัตรโดยสารเครื่องบินจากเดิมสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาทต่อ 1 สิทธิ์ เป็นสูงสุดไม่เกิน 3,000 บาท ต่อ 1 สิทธิ์ ในจังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง เช่น ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ และเชียงราย และให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจ สามารถลาพักร้อนในวันธรรมดาเพิ่มได้ 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลาเมื่อใช้สิทธิในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน

สำหรับโครงการกำลังใจ ได้ปรับปรุงโดยเปิดให้บริษัทนำเที่ยวที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ พร้อมกับเห็นชอบโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุ 55 ปีขึ้นไป เดินทางท่องเที่ยวผ่านบริษัทนำเที่ยว โปรแกรมไม่น้อยกว่า 3 วัน 2 คืน ในวันธรรมดา มีค่าใช้ต่อโปรแกรมไม่น้อยกว่า 12,500 บาทต่อคน รัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายผ่านบริษัทนำเที่ยวแบบร่วมจ่ายคนละ 5,000 บาท โดยบริษัทนำเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการ ต้องจดทะเบียนทำธุรกิจก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563 รับนักท่องเที่ยวผ่านโครงการได้ไม่เกิน 3,000 ราย โครงการมีระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ ครม.อนุมัติ ตั้งเป้าหมายมีคนกลุ่มนี้เที่ยว 1 ล้านคน

 อย่างไรก็ดี ขณะที่การปลุกท่องเที่ยวให้ฟื้นคืนกำลังดำเนินไป จู่ๆ ก็มีเคสติดเชื้อโควิด-19 ลักลอบข้ามชายแดนพม่าเข้ามาไทย กลายเป็นตัวแพร่เชื้อปั่นป่วนกันอีกยกใหญ่ ส่งผลทำให้สถานการณ์ของประเทศกลับมาเข้าสู่โหมดตั้งการ์ดสูงกันใหม่ไปพร้อมๆ กับการบูมท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีให้คึกคัก ซึ่งก็คงต้องติดตามกันว่า ผลที่ออกมาจะเป็นไปตามเป้าที่คาดไว้หรือไม่ อย่างไร 




กำลังโหลดความคิดเห็น