xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“รถเก่าแลกรถใหม่” ล่มปากอ่าว บิ๊กโปรเจ็กต์ของ “สุริยะ” ที่ยังไม่เข้าตา?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (ภาพบน) |  นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (ภาพล่าง) |  รถไฟฟ้าหลากหลายชนิดที่กำลังเติบโตและได้รับความนิยมจากผู้ซื้อมากขึ้นเป็นลำดับ (ภาพขวา)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ก่อนหน้านี้ ต้องใช้คำว่า สร้างความ  “ร้อนแรง” ในแวดวงยานยนต์เลยก็ว่าได้ สำหรับ “โครงการรถเก่าแลกรถใหม่ 1 แสนคัน”  ที่  “กระทรวงอุตสาหกรรม” โดย “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการ เดินผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ นายสุริยะนำเสนอแนวคิดดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาพอสมควร โดยนำเสนอผ่าน  “ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.)”  และ  “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)”  ก่อนที่จะขอความเห็นชอบ จาก  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)  ในขั้นตอนสุดท้าย

แต่แล้ว “บิ๊กโปรเจ็กต์” ที่ถูกตีปี๊บอย่างต่อเนื่องก็มีอันต้องพับฐานลงไป จะใช้คำว่า “เป็นไปตามความคาดหมาย”  ก็คงไม่เกินเลยจากความเป็นจริงเท่าใดนัก เพราะนับแต่เริ่มแรกก็เต็มไปด้วย “เสียงคัดค้าน” กันทั้งบ้านทั้งเมือง ด้วยมองว่าเต็มไปด้วยปัญหาที่ไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างแจ้งได้ว่า “ทำไปเพื่ออะไร” และ  “ใครจะได้ประโยชน์”  จากเรื่องนี้ โดยเฉพาะเสียงค้านจากผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมรถยนต์
กล่าวคือ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ก็เห็นชอบให้ชะลอหรือเลื่อนโครงการดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อให้ทุกฝ่ายกลับไปศึกษาความเป็นไปได้ทั้งหมด และเพื่อไม่ให้ตลาดรถยนต์เกิดภาวะชะงักงัน
 “นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์”  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็น   “คนเคาะคนสุดท้าย” ชี้แจงว่ายังคงต้อ

หารือในรายละเอียดของโครงการดังกล่าวอีกมาก และยังไม่ได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน เพราะมีทั้งเรื่องภาษีและเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับรถที่จะเข้าโครงการ ซึ่งต้องอาศัยเวลา ดังนั้น เมื่อยังไม่ได้ข้อสรุปก็ต้องสร้างความชัดเจนว่าโครงการนี้ให้ชะลอและเลื่อนออกไปก่อนเพื่อที่จะได้ไม่กระทบตลาดรถยนต์
ฟังน้ำเสียงจากนายสุพัฒนพงษ์แล้วก็ต้องบอกว่า รู้สึกหงุดหงิดกับโครงการนี้พอสมควร และรับรู้ได้ว่า ไม่เห็นด้วยกับนายสุริยะ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องรายละเอียดของโครงการที่มาแบบ “งงๆ เบลอๆ” จนเกิดคำถามตามมามากมาย
กล่าวสำหรับโครงการรถเก่าแลกรถใหม่ ในเบื้องต้น มีกระแสข่าวออกมาว่า มาตรการรถเก่าแลกรถใหม่ กำหนดให้สามารถนำรถที่มีอายุการใช้งานมาแล้ว 12 ปี มาแลกกับรถยนต์ไฟฟ้า EV ตามเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น โดยได้ผลักดันให้เกิดการใช้รถอีวีเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 30% ในปี 2573 ซึ่งเหตุผลที่เลือกกำหนดอายุการใช้งาน 12 ปี แทนที่จะเป็น 15 ปี เนื่องจากข้อมูลการจดทะเบียนพบว่ามีจำนวนรถที่จะครบกำหนด 12 ปี จำนวนมาก
ส่วนประเด็นที่รถยนต์อีวียังไม่มีการผลิตในประเทศไทย ก็อาจจะผ่อนปรนให้เป็นรถไฮบริด ปลั๊ก-อิน ไฮบริดได้ด้วย ขณะที่รถระบบสันดาปก็มีการหารือเช่นกันมีแนวโน้มว่าจะให้แลกรถที่เป็นยูโร 5 และยูโร 6 ได้ เพราะจะทำให้รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้อีกเรื่องหนึ่งด้วย
ขณะเดียวกันโครงการนี้ยังเกี่ยวเนื่องไปถึงการทำลายซากรถเก่าอย่างมีระบบ ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะหากปล่อยให้รถยนต์เก่ามาขับเคลื่อนบนท้องถนนมากเท่าใดก็ยิ่งทำให้ปัญหาเกิดขึ้นมากเท่านั้น
สรุปก็คือ โครงการดังกล่าวยังมีความไม่ชัดเจนว่าจะสรุปหลักเกณฑ์ออกมาอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นประเภทเครื่องยนต์ว่าจะถูกกำหนด เสปกให้เฉพาะรถไฟฟ้า (อีวี) หรือ รวมถึงไฮบริด เครื่องยนต์สันดาป อายุรถต้องผ่านการใช้งานมาแล้วกี่ปี ฯลฯ ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามด้วยว่า การที่มุ่งเน้นการกระตุ้นรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี อาจไม่สอดคล้องกับตลาดในปัจจุบัน เนื่องจากปัจจุบันรถอีวียังมีราคาค่อนข้างสูง หรือขยายวงไปสนับสนุนรถยนต์ไฮบริดที่ลูกค้านิยมในการใช้งานอยู่แล้ว
ก่อนที่จะมีอันเป็นไป นายสุริยะออกมาให้ข้อมูลว่า กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเตรียมเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับโครงการเพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าใจผิด ถึงมาตรการดังกล่าว ว่าจะสนับสนุนทางด้านภาษีอย่างไร และรถยนต์ประเภทใดบ้าง
“สำหรับโครงการนี้เรารอทางสภาพัฒน์ แถลงข่าวก่อน เช่นเดียวกับกระทรวงการคลังที่ต้องศึกษาเรื่องของภาษี ส่วนทางเรามั่นใจว่ามันไม่กระทบตลาดและยอดขายรถยนต์ และเราก็จะส่งเสริมรถไฮบริด” นายสุริยะกล่าว
ทว่า แม้จะมีเสียงตอบรับที่ดี แต่ทันทีที่ออกมาก็สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดรถพอสมควร เพราะปรากฏว่ามีการยกเลิกใบจองรถใหม่จำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อ “ตลาดรถมือ 2” ไม่แพ้กัน
ที่สำคัญคือปัจจุบันตลาดรถยนต์เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้น ผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมรถยนต์จึงเห็นพ้องไปในทิศทางใกล้เคียวกันว่าไม่จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องออกมาตรการมากระตุ้นตลาดในลักษณะนี้เพราะทุกวันนี้ค่ายรถก็ทำแคมเปญ โปรโมชั่นถล่มทลายเพื่อปลุกยอดขายที่ซบเซาไปในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 กันอยู่แล้ว
“รัฐบาลอาจต้องปรับเงื่อนไขที่ให้เฉพาะรถยนต์อีวี ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ยังผลิตไม่ได้ ก็อาจจะไม่เกิดการใช้ประโยชน์กว้างขวาง หากรัฐบาลต้องการให้กระตุ้นการลงทุน ก็ควรสนับสนุนให้แลกรถยนต์ในกลุ่มอีวีที่มีการตั้งไลน์ผลิตในประเทศ”นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องดังกล่าวก่อนหน้านี้
สอดคล้องกับความเห็นของ  นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์  รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ที่กล่าวว่า ภาคเอกชน ต้องการให้รัฐบาล ส่งเสริมรถยนต์ทุกชนิดที่ผลิตในประเทศไทย ไม่เฉพาะเจาะจงกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า เพราะปัจจุบันรถอีวี 100% ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกแล้ว มีประมาณ 1,900 คัน เกือบทั้งหมดเป็นการนำเข้า แต่หากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ควรส่งเสริมรถยนต์ทุกชนิดที่ผลิตในประเทศ เพราะปัจจุบันรถยนต์ทั่วไปที่ผลิตในประเทศไทย เกี่ยวพันกับหลายอุตสาหกรรม เป็นห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ป้อนโรงงาน มีการจ้างงานรวมกันมากถึง 1 ล้านคน
นอกจากนี้ อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ข้อเสนอเรื่องที่สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 3% ของราคารถยนต์ โดยหักลดหย่อนได้สูงสุดได้เกิน 1 แสนบาท
นั่นหมายความว่า ผู้ที่จะสามารถการหักลดหย่อนเต็มวงเงิน 1 แสนบาทได้ต้องซื้อรถยนต์ในราคาที่คันละ 3.3 ล้านบาท ส่วนคนที่ซื้อรถยนต์ในระดับคันละ 5 แสนบาท ก็จะได้รับเงินคืนเพียงแค่ 15,000 บาทเท่านั้น
ประเด็นนี้ตรงกับความเห็นของ  นายขวัญชัย ปภัรส์พงษ์  ประธานจัดงานมหกรรมยานยนต์ หรือมอเตอร์เอ็กซ์โป ครั้งที่ 37 ซึ่งจะจัดระหว่างวันที่ 1-13 ธันวาคม นี้ที่บอกว่า ปัจจุบันตลาดรถยนต์เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น และไม่จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องออกมาตรการมากระตุ้นตลาด ล่าสุดจากการคุยกับค่ายรถต่าง ๆ ทุกคนต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ลูกค้ายกเลิกคำสั่งซื้อและขอคืนเงินมัดจำเป็นจำนวนมาก

“ตอนนี้ขอแนะนำให้ผู้ที่กำลังจะซื้อรถศึกษารายเอียดให้ดี เพราะทุกวันนี้ค่ายรถก็ทำแคมเปญ โปรโมชั่นกันถล่มทลายและให้มากกว่าเงินคืน 3% ที่จะได้รับอยู่แล้ว”นายขวัญชัยกล่าว

ขณะที่ นายพิทักษ์ พฤทธิสาริก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐที่มีโครงการ รถเก่าแลกรถใหม่ นั้นบริษัทฯ เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว มองว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งจะได้ประโยชน์ถึงสองทาง

หนึ่งคือในด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากรถเก่ามากนั้นมีมลพิษสูงจะถูกกำจัดออกจากระบบไป ส่วนรถรุ่นใหม่ๆ ที่มีผ่านมาตรฐานไอเสียยูโร4 ขึ้นไปปล่อยไอเสียน้อยอยู่แล้ว อีกด้านหนึ่งคือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่การสร้างความต้องการเทียมขึ้น เป็นการปลุกความต้องการที่หลับอยู่ ของกลุ่มคนที่มีรถอยู่แล้ว

“การใช้นโยบายนี้ วิธีคิดมาถูกทาง รัฐไม่ขาดทุน แต่เงื่อนไขต่างๆ นั้นยังไม่ชัดเจน และส่วนลดที่ให้กับประชาชนนั้นมองว่าน้อยเกินไป เพราะรถเก่าอย่างไรก็มีมูลค่าคันละ 3-5 หมื่นบาทเป็นอย่างน้อยอยู่แล้ว ดังนั้นการให้ส่วนลด 1 แสนบาทจึงไม่น่าจะสร้างแรงจูงใจที่มากพอให้คนหันมาเปลี่ยนได้ ควรเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มากกว่านี้” นายพิทักษ์กล่าว

และแน่นอนว่า กระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์น่าจะสร้างกดดันไปที่รัฐบาลอยู่ไม่น้อย จน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาชี้แจงว่า โครงการดังกล่าวยังเป็นเพียงการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเบื้องต้นเท่านั้น ยังคงต้องหารือเพิ่มเติมอีกหลายประเด็นในรายละเอียด รวมถึงการขอความคิดเห็นจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความรอบคอบ รัดกุม และชัดเจน ถึงผลกระทบในรอบด้านที่อาจจะเกิดขึ้นได้

และในที่สุดโครงการนี้ก็มีอันเป็นไป เมื่อรัฐบาลตัดสินใจ  “ไม่เล่นด้วย” กับกระทรวงอุตสาหกรรมของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

ทั้งนี้ หลังโครงการล้มพับ นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นอีกครั้งว่า เห็นด้วยที่จะชะลอโครงการดังกล่าวออกไปก่อนเพื่อให้ทุกอย่างมีความชัดเจนในรายละเอียดเพื่อที่จะทำให้ผู้ที่กำลังพิจารณาจะซื้อรถยนต์ได้ตัดสินใจซื้อเพราะบางส่วนมีการมองว่านโยบายที่ออกมาไม่ชัดเจนทำให้กระทบต่อการตัดสินใจซื้อได้เช่นกัน

ที่สำคัญคือรัฐจะต้องมีความชัดเจนในแง่ของทั้งภาษีที่จูงใจ รถเก่าที่จะมาแลกรถใหม่นั้นรถใหม่หมายถึงรถที่ดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดีซึ่งยังต้องมาตีความหมายด้วยว่าเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ก็ยังแบ่งออกเป็นหลายประเภท ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) เป็นต้น ขณะเดียวกัน รถยนต์ที่เป็นยูโร 5-6 จะรวมในนี้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการหารือกับทุกภาคส่วนก่อนที่จะประกาศความชัดเจน

“ผมคิดว่าเวลานี้เป็นโอกาสทองสำหรับผู้ซื้ออยู่แล้ว เพราะมีการลดแลกแจกแถมเพราะปัญหาโควิด-19 การเลื่อนออกไปเพื่อให้เงื่อนไขต่างๆ ชัดเจนถือว่าดี ซึ่งเอกชนไม่ได้คัดค้านในหลักการรถเก่าแลกรถใหม่หากจะกระตุ้นตลาด แต่ต้องชัดเจนหากรัฐจะส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าก็ควรจะเน้นการผลิตในประเทศที่การผลิตในประเทศขณะนี้ยังไม่มี และจะเริ่มในช่วงปลายปี 64 และต้นปี 65 เป็นต้นไป ถึงตอนนั้นหากจะกระตุ้นก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่เงื่อนไขต่างๆ ต้องชัดเจนและประกาศทันที ไม่เช่นนั้นจะส่งผลให้ตลาดรถชะงักได้” นายสุรพงษ์กล่าว
ขณะที่ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาแจกแจงเหตุผลถึงการชะลอโครงการว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และขอให้ชะลอโครงการออกไปไม่มีกำหนด เนื่องจากมีรายละเอียดมากที่้ต้องปรึกษาหารือจำนวนมาก ทั้งผู้ประกอบการรถยนต์ กระทรวงการคลัง ว่ารถที่จะเข้าร่วมโครงการจะเป็นรถแบบใด รวมถึงจำนวนที่จะให้แลกที่เหมาะสมจำนวนควรเป็นกี่คัน
“รมว.อุตสาหกรรมขอให้ชะลอโครงการรถเก่าแลกรถใหม่ออกไปก่อน จนกว่าจะได้ข้อสรุปในเบื้องต้น และพูดคุยถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่จะเกิดกับผู้ประกอบการรถยนต์ และจะได้ทำให้ประชาชนที่จะตัดสินใจซื้อรถยนต์ตอนนี้ไม่เกิดความสับสน จนเกิดการชะลอซื้อออกไปก่อน” นายอนุชา กล่าว
ที่สำคัญคือสื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า งานนี้ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นคนที่ขอให้ชะลอโครงการนี้ออกไปด้วยตัวเอง โดยให้ข้อสังเกตว่า อยากให้นายสุริยะไปพิจารณาข้อดี ข้อเสีย ให้รอบด้าน เพราะหวั่นว่าจะทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์เพี้ยนไป หากดูแลเฉพาะรถยนต์รถไฟฟ้า รถยนต์ธรรมดาจะทำอย่างไร

ดังนั้น แม้หลายข่าวจะออกมาในทำนองว่า งานนี้ “นายสุริยะ” ตัดสินใจถอยด้วยตนเอง แต่เอาเข้าจริง น่าจะไม่ใช่ และน่าจะถูกคัดค้านหนักจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ทั้งจากตัวนายกรัฐมนตรีเอง จากตัวนายสุพัฒนพงษ์ และจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง


 ดังนั้น ถึงตรงนี้ คงสามารถสรุปได้ว่า เโครงการที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นผลงานชิ้น “โบแดง” ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ล้มไม่เป็นท่า ด้วยเป็นการผลักดัน “บิ๊กโปรเจ็กต์” แบบไม่สะเด็ดน้ำ เป็นการโยนหินถามทางโดยที่ไม่ได้ศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ กระทั่งก่อให้เกิดผลกระทบกับการซื้อขายรถยนต์อยู่ไม่น้อย
ที่สำคัญคือไม่รู้ว่า ชัดเจนว่า โครงการนี้จะยังไม่ถูกผลักดันเข้ามาใหม่ในระยะเวลาอันใกล้ เพราะฉะนั้นใครที่คิดจะซื้อรถยนต์ในช่วงเวลานี้ก็เดินหน้ากันต่อไปได้เลย.




กำลังโหลดความคิดเห็น