xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อัพสปีดความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. อุบัติเหตุเพิ่มหรือลด อีกไม่นานรู้กัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพบน) รายละเอียด “ร่างกฎกระทรวงกำหนดความเร็วของยานพาหนะ” กำหนดให้ใช้ “ความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. และเลนขวาห้ามใช้ความเร็วต่ำกว่า 100 กม./ชม.” | (ภาพล่าง) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการ “ร่างกฎกระทรวงกำหนดความเร็วของยานพาหนะ” กำหนดให้ใช้  “ความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. และเลนขวาห้ามใช้ความเร็วต่ำกว่า 100 กม./ชม.” บนทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบท ที่มีช่องเดินรถทางเดียวกันตั้งแต่ 2 ช่องเดินรถขึ้นไป เกาะกลางถนนเฉพาะแบบกำแพงกั้น และไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ดูเหมือนว่า ยังคงมี  “ควันหลง” หรือ“เสียงวิพากษ์วิจารณ์” ตามมาพอสมควร

ความจริงต้องบอกว่า ข้อถกเถียงนี้มีมาอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายที่รณรงค์เรื่อง “อุบัติเหตุ” เห็นว่า จะทำให้ตัวเลขคนเจ็บคนตายบนท้องถนนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมองเห็นว่า ความเร็วที่กฎหมายเดิมนั้นช้าเกินไป เพราะโดยข้อเท็จจริงทุกวันนี้ด้วยสมรรถนะของรถและพื้นผิวการจราจรที่ดีกว่าเดิม ทำให้รถแต่ละคันใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแทบทั้งนั้น

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการแปรนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคมไปสู่การปฏิบัติ ครั้งที่ 1/2563 ว่าในที่ประชุมได้มีการติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานการ โดยในส่วนของนโยบายปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ทุกประเภทบนถนนที่มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป จากความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. (Maximum Speed)

และเมื่อนำเรื่องเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ออกมายืนยันว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฯ กำหนดความเร็วของยานพาหนะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยกำหนดอัตราความเร็วสูงสุดเป็น 120 กม./ชม.

อย่างไรก็ดี รถที่ใช้ความเร็วดังกล่าวได้จะต้องขับขี่บนทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบทที่มีช่องเดินรถทิศทางเดียวกันตั้งแต่ 2 ช่องขึ้นไป (4 ช่องจราจร ไป - กลับ) เป็นถนนที่มีเกาะกลางถนนแบบกำแพงกั้น (Barrier Median) และไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน โดยมีสะพานกลับรถ หรือทางลอด

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดรายละเอียดความเร็วของรถแต่ละประเภทเอาไว้ด้วย กล่าวคือ

- รถบรรทุกน้ำหนักเกิน 2,200 กก. บรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คน กำหนดความเร็วสูงสุดไม่เกิน 90 กม./ชม.

- รถลากจูง, รถยนต์ 4 ล้อเล็ก, รถยนต์ 3 ล้อ กำหนดความเร็วสูงสุดไม่เกิน 65 กม./ชม.

- รถจักรยานยนต์ กำหนดความเร็วสูงสุดไม่เกิน 80 กม./ชม.

- รถจักรยานยนต์ที่มีกำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่ 35 กิโลวัตต์ขึ้นไป หรือมีความจุกระบอกสูบตั้งแต่ 400 ลบ.ซม. ขึ้นไป : กำหนดความเร็วสูงสุดไม่เกิน 100 กม./ชม.

- รถโรงเรียน, รถรับส่งนักเรียน กำหนดความเร็วสูงสุดไม่เกิน 80 กม./ชม.

- รถบรรทุกคนโดยสารเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 15 คน กำหนดความเร็วสูงสุดไม่เกิน 100 กม./ชม.

- รถยนต์ทั่วไป กำหนดความเร็วสูงสุดไม่เกิน 120 กม./ชม.

ขณะเดียวกันได้กำหนดความเร็วขั้นต่ำสำหรับช่องขวาสุดของทางเดินรถในทางหลวง ซึ่งแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันตั้งแต่ 2 ช่องทางขึ้นไปไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. ส่วนเขตทางที่มีป้ายหรือเครื่องหมายจราจรแสดงว่าเป็นเขตอันตราย หรือเขตให้ขับรถช้าๆ ให้ลดความเร็วลงและเพิ่มความ

ในกรณีที่มีเครื่องหมายจราจรกำหนดอัตราความเร็วขั้นสูงต่ำกว่าที่กำหนดไว้ข้างต้น ไม่ว่าตลอดทางเดินรถหรือช่วงใดช่วงหนึ่ง ให้ผู้ขับขี่รถทุกประเภทขับไม่เกินอัตราความเร็วขั้นสูงที่กำหนดไว้ในเครื่องหมายจราจรนั้น ยกเว้นในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติได้เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องปริมาณรถ หรือเหตุขัดข้องอื่นอันมีเหตุผลสมควรแก่กรณี

ทั้งนี้ กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท จะมีการแสดงเครื่องหมายจราจรกำหนดอัตราความเร็ว ให้ผู้ขับขี่รถทุกประเภทขับขี่เห็นอย่างชัดเจนล่วงหน้า 50 เมตร ว่า กำลังจะเข้าเขตที่กำหนดความเร็ว หรือพ้นเขตที่กำหนดความเร็ว จราจร ซึ่ง จะต้องดำเนินการติดตั้ง เครื่องหมายจราจรให้พร้อมก่อนประกาศใช้

ส่วนการจัดระเบียบช่วงถนนที่จะปรับเพิ่มความเร็ว120กม./ชม. เช่น ถนนเพชรเกษม ถนนสุขุมวิท พหลโยธิน มิตรภาพ โดยกระทรวงจะดำเนินการบนถนนบางช่วงและในส่วนที่สามารถทำได้ก่อน บนถนนสายหลัก แต่หากกรณีอยู่ในเขตชุมชนให้ลดความเร็ว เพื่อความปลอดภัย เบื้องต้นถนนที่จะนำร่อง คือ สายเอเซีย (ทางหลวงหมายเลข 32) โดยจะประกาศกำหนดความเร็วเป็นช่วงๆ ตามกายภาพถนน

สำหรับการขับเคลื่อน “ร่างกฎกระทรวงกำหนดความเร็วของยานพาหนะ” คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ได้ร่วมกันหารือแนวทางการขับเคลื่อนแผนงาน และการจัดระบบการจราจร รวมถึงการแก้ไขปัญหาการจราจรของประเทศ อาทิ แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขต กทม. และปริมณฑล เกี่ยวกับการเพิ่มพื้นที่ และการรองรับปริมาณการจราจรบนถนนในจุดที่จำเป็น การส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดปริมาณรถส่วนบุคคลบนถนน

เป้าหมายดำเนินการขับเคลื่อนแผนพัฒนาระบบคมนาคมทั้งใน กทม. ปริมณฑล และต่างจังหวัด อย่างบูรณาการโดยคำนึงถึงเป้าหมายเพื่อการเดินทางและการขนส่งที่มีความรวดเร็ว สะดวก ลดอุบัติเหตุ และปลอดภัย ตลอดจนรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม  มูลนิธิไทยโรดส์  เปิดเผยผลการศึกษาสถานการณ์ปัญหาการใช้ความเร็วในประเทศไทย พบว่า  “การใช้ความเร็ว (Speeding)”  เป็นสาเหตุหลักที่สำคัญมากที่สุดของการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย พบว่า สถิติอุบัติเหตุบนท้องถนน 40% เกิดจากการใช้ความเร็ว บนทางหลวง 4 ช่องจราจร และอุบัติเหตุจากการใช้ความเร็วเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตบนทางหลวง สัดส่วนมากถึง 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนทางหลวง

สำหรับประเภทรถที่อุบัติเหตุจากความเร็วอับดับหนึ่ง คือ รถยนต์นั่ง 33 % รองลงมา คือ รถปิคอัพ 28 % รถจักรยานยนต์ 16% และรถบรรทุกมากกว่า 10 ล้อ ทั้งนี้ ดัชนีความรุนแรงเปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตต่อจำนวนอุบัติเหตุ บ่งชี้ว่า อุบัติเหตุจากการใช้ความเร็วที่เกิดขึ้นในเวลากลางคืน มักมีโอกาสทำให้เกิดการเสียชีวิตมากกว่า

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดข้อกังวลเกี่ยวกับการขับขี่ยานพาหนะด้วยความเร็ว เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ต้องคำนึงถึงการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนควบคู่กันด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น