ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ ติดอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยประเด็นสำคัญก็คือการออกมารณรงค์ของ “กลุ่มนักเรียนเลว” ที่เรียกร้องให้ “ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน” ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงมานานและยังไม่มีข้อยุติใดๆ มิหนำซ้ำ ทวีความร้อนแรงชนิดที่ต่างฝ่ายต่างประกาศจุดยืนยกเหตุผลฟาดฟันซัดกันเละ
ทั้งนี้ เครือข่ายนักเรียนเลว ส่งเทียบเชิญชวนนักเรียนทั่วประเทศนัดหมายใส่ชุดไปรเวท ในวันที่ 1 ธ.ค. 2563 ผ่านแคมเปญ 1 ธันวาฯ บอกลาเครื่องแบบ สลัดทิ้งเครื่องแบบที่ล้าหลัง มีนักเรียนร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มากกว่า 23 โรงเรียน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อาทิ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนหอวัง โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ฯลฯ โดยมีนักเรียนจำนวนหนึ่งร่วมสวม “ชุดไปรเวท” มาเรียนในวันแรกของการเปิดภาคเรียนที่ 2 ประจำปีนี้
นายลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ หนึ่งแกนของนำกลุ่มนักเรียนเลว ระบุความว่าเครือข่ายนักเรียน ต้องการประกาศจุดยืนให้นักเรียนต้องมีเสรีภาพในการเลือกเครื่องแต่งกาย ทรงผมและสีผมของตัวเองได้
“เราไม่ได้ต้องการให้ยกเลิกการใส่เครื่องแบบ แต่ต้องยกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบ เพื่อให้เลือกได้อย่างเสรี ใครไม่อยากใส่ก็ไม่ต้องใส่ ใครอยากใส่ก็ให้ใส่”
พวกเขามองว่าการบังคับให้ต้องใส่ชุดนักเรียน เป็นการปิดกั้นอัตลักษณ์เฉพาะบุคคลโดยไม่จำเป็น และเป็นการตีกรอบความคิดของเด็กให้เหมือนกัน ซึ่งไม่มีประโยชน์สำหรับการเรียนในโรงเรียนที่ต้องใช้ความคิดนอกกรอบ การบังคับให้ใส่ชุดนักเรียน สะท้อนอำนาจนิยมในโรงเรียนผ่านการบังคับให้ต้องทำตามกฎระเบียบ
ขณะที่การแต่งชุดไปรเวทส่งเสริมเสรีภาพในการแต่งกาย เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน ทำให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะเคารพความแตกต่าง และเตรียมพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในสังคมหลังเรียนจบที่ทุกคนมีอิสระในการเลือกงานหรือเลือกเครื่องแต่งกายของตนเอง
กลายๆ ว่าการนัดหมายใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนของเครือข่ายนักเรียนทั่วประเทศ ฉายภาพการต่อสู้กับโครงสร้างและอำนาจที่กดทับสะท้อน
นักเรียนที่ใส่ชุดไปรเวท ส่วนใหญ่ถูกเรียกเข้าห้องปกครอง ถูกครูตำหนิต่อว่า เรียกผู้ปกครองมาพบ บางคนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าโรงเรียน พร้อมกันนี้ องค์กรนักเรียนเลวได้ตั้งเว็บไซต์ BadStudent.co เปิดช่องทางร้องเรียนแจ้งรายชื่อครูแลโรงเรียนพฤติกรรรมลุแก่อำนาจ
นอกจากนี้ มีการตั้งคำถามด้วยว่าการแต่งเครื่องแบบนักเรียนลดความเหลื่อมล้ำจริงหรือไม่ เพราะ ชุดนักเรียนไม่ได้ราคาถูกๆ ซ้ำร้ายยังดูจะเป็นภาระของผู้ปกครองหลายท่าน ยิ่งไปกว่านั้น มีข้อมูลเปิดเผยว่าเด็กนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กว่า 3 ล้านคน หรือ 52% ของนักเรียนทั้งหมดในสังกัด สพฐ. ขาดแคลนชุดนักเรียน
อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่าแคมเปญนี้ดูจะไม่ได้รับเสียงตอบรับจากตัวนักเรียนส่วนใหญ่ รวมถึงผู้คนในสังคมเท่าที่ควร โดยเฉพาะท่าทีของ “กลุ่มนักเรียนเลว” ซึ่งออกไปในทางก้าวร้าวและเกรี้ยวกราดจนปลุกระดมไม่ขึ้น ขณะที่เหตุผลหลายประเด็นก็ไม่สามารถทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว การแต่งชุดไปรเวทดูเหมือนจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากกว่าชุดนักเรียนส่วนด้วยซ้ำไป หรือเรื่องการต่อสู้กับโครงสร้างและอำนาจที่กดทับสะท้อนก็เป็นประเด็นที่เบาบาง
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์วิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่คลุกคลีในวงแวดวงการศึกษามายาวนานให้ช่วยสะท้อนถึงเรื่องดังกล่าวอีกว่าเป็นเรื่องที่ทางโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง สามารถหาทางออกร่วมกันได้
“จริงๆ เรื่องนี้เราพูดกันมาตลอด แต่มันก็เป็นประเด็นเดิม การแต่งกายตอนนี้มันก็คงจะต้องให้เป็นเรื่องที่ตัดสินใจกันที่โรงเรียน เพราะโรงเรียน 30,000 กว่าโรง เอาเข้าจริงๆ เด็กที่มาจากโรงเรียนขนาดเล็กประมาณเกือบ 20,000 โรง โรงเรียนพวกนี้เขาไมได้แต่งชุดนักเรียนไปโรงเรียนทุกวัน เขามาจากครอบครัวที่ไม่พร้อม ที่เป็นประเด็นดรามากันมากๆ คือเป็นโรงเรียนของชนชั้นกลางในเมืองต่างหาก
นอกจากนี้ ยังมองว่า เครื่องแบบไม่ใช่ตัวชี้วัดถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะสังคมยังคงมีการเหลื่อมล้ำอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ทั้งนี้เองความสำคัญของเครื่องแบบนักเรียน ก็ขึ้นอยู่กับหลายบริบท
“วาทกรรมที่ว่ามาลดความเหลื่อมล้ำมันคนละเรื่องกันเลย ความเหลื่อมล้ำมันยังคงมีอยู่ตลอดเวลา เครื่องแบบมันไมได้ไปลดความเหลื่อมล้ำอะไรทั้งสิ้น มันก็แค่บอกว่าเราเป็นนักเรียนในโรงเรียนเดียวกัน มันอาจจะเหมาะกับหลายบริบท หลายประเทศเขาก็ยังมีเครื่องแบบอยู่ แต่มันก็มาจากการตกลงร่วมกัน เสื้อผ้าจริงๆ มันก็คือการแสดงออกถึงความเป็นตัวตนเขา เราก็ต้องให้เขาได้ลอง เพราะบางทีเด็กๆ เขาก็ไม่มีประสบการณ์พวกนี้ อยู่ในโรงเรียนก็มีการบังคับกฎเกณฑ์วันนี้ใส่ชุดกีฬาสี ใส่ชุดพละ ชุดลูกเสือ ชุดนักเรียน พอให้เริ่มแต่งเองตอนมาเป็นเด็กมหาวิทยาลัยมันก็เชย ไม่รู้ว่าตัวเองจะเหมาะกับอะไร มันเป็นโอกาสที่เราจะให้เด็กๆ เขาได้รับ ก็ให้วัฒนธรรมในโรงเรียนขัดเกลากันไป แต่งตัวไม่เหมาะสมมาคุณครูก็จะทักท้วงกันได้”
สำหรับท่าทีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบชัดหนุนนักเรียนแต่งเครื่องแบบ โดยยกเหตุผลว่าเครื่องแบบนักเรียนสามารถยังช่วยนักเรียน ทำให้เป็นที่สังเกตได้ง่าย หากเกิดเหตุอันตรายในที่สาธารณะ นอกจากนี้ยังสิ้นเปลืองน้อยกว่าการแต่งชุดไปรเวทที่อาจจะต้องมีหลายชุด จนตามมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณ์ร้อนแรงในสังคม
ขณะที่ นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว. ศธ.) ออกมาประกาศจุดว่า แม้ไม่มีแนวคิดหรือมีนโยบายปิดกั้นใดๆ แต่จะไม่ยอมให้ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนโดยเด็ดขาด อีกทั้งการแต่ใส่ชุดไปรเวทมาโรงเรียนทุกวัน อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจนระหว่างครอบครัวเด็กที่มีฐานะต่างกัน
ข้อสำคัญกระทรวงศึกษาธิการระบุชัดเจนว่าให้นักเรียนแต่งกายด้วยชุดนักเรียนเท่านั้น เพื่อเป็นการแยกระดับการศึกษาของนักเรียนแต่ละระดับชั้น ชุดนักเรียนเป็นเครื่องหมายแบ่งแยกบุคคลทั่วไปกับนักเรียน ทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย
“ขณะนี้ได้ฟังความเห็นทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาการศึกษา ประกาศชัดชุดนักเรียนยังจำเป็นเพื่อให้เกิดความเสมอภาคลดเหลื่อมล้ำ และได้ตั้งคณะทำงานมาดูแลเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนแล้ว”นายณัฏฐพลกล่าว
ด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ให้ความเห็นว่าเด็กทุกคนมีวิจารณญาณที่สามารถพิจารณาได้ว่าเรื่องไหนถูกต้องและเรื่องไหนไม่ถูกต้อง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษายืนยันว่าการใส่ชุดไปรเวทไปเรียนผิดกฎระเบียบ เนื่องจากโรงเรียนมีกฎระเบียบเรื่องเครื่องแต่งกายอยู่ พร้อมกันนี้กำลังเร่งทำงานอย่างหนักกับทุกภาคส่วนเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด
สำหรับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน ซึ่งเป็นระเบียบที่โรงเรียนจะยึดปฏิบัติตาม
เนื้อหาของระเบียบฉบับนี้ กำหนดเรื่องการแต่งเครื่องแบบนักเรียน ไม่ได้เป็นการลิดรอนสิทธิเด็กแต่อย่างใด เพราะการปฏิบัติตามกฎระเบียบคือการสร้างวินัยอย่างหนึ่งให้แก่นักเรียนให้เด็กทุกคนมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและสังคม
อย่างไรก็ดี ข้อเรียกร้องเครือข่ายนักเรียนแสดงความเห็นที่อยากจะให้มีการแต่งชุดไปรเวทมาโรงเรียน ต้องนำเรื่องเข้าสู่การตั้งคณะกรรมการพิจารณา ซึ่ง ศธ. ตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องเครื่องแบบนักเรียนแล้ว โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม
ข้อสรุปเบื้องต้นได้มีการเรียกตัวแทนหลายฝ่ายมาร่วมหารือทางออก เช่น กลุ่มนักเรียน ครู คณะผู้บริหารทางการศึกษา ภาคประชาชน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ร่วมกันหาทางออกที่ดีที่สุด คำนึงถึงสังคมความเหมาะสมและความเป็นไปได้ควบคู่กันไป
ท้ายที่สุดประเด็น “ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน” ยังคงต้องติดตามกันยาวๆ ว่าบทสรุปจะออกมาเป็นเช่นไร การพูดคุยหารือจะนำมาซึ่งคำตอบและแนวทางร่วมกันได้หรือไม่!?