ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ผ่านการประชุมระบบทางไกล โดยฝ่ายไทยก็มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เข้าร่วมด้วย
แม้การประชุมครั้งนี้ ผู้นำสมาชิกอาเซียน จะไม่ครบ 10 ประเทศ เนื่องจากสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา อยู่ระหว่างกักตัว 14 วัน หลังพบปะกับรัฐมนตรีต่างประเทศและการค้าฮังการี ที่พบเชื้อโรคโควิด-19 จึงส่ง "ผู้แทน"เข้าร่วม
ถือเป็นการประชุมระดับผู้นำ "ครั้งสุดท้าย" ของปี 2563 ที่ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นประธานอาเซียน ซึ่งมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ รวมถึงเลขาธิการอาเซียน และผู้นำของคู่เจรจาจาก “จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อินเดีย และรัสเซีย รวมทั้งเลขาธิการสหประชาชาติ กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)และประธานธนาคารโลก”
ถ้อยแถลงของฝ่ายไทย นายกฯระบุถึงกรอบอาเซียน กรอบแม่โขง รวมถึงผลักดันประเด็นสำคัญในการประชุมกรอบอาเซียน และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องใน 3 ประเด็น คือ
1.การรับมือกับการแพร่ระบาดและผลกระทบของโควิด-19 2. การสร้างอนาคตที่เข้มแข็งและยั่งยืนในยุคหลังโควิด-19 และ 3.การส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจและการสร้างบรรยากาศความร่วมมือในภูมิภาค
ส่วนการร่วมประชุมกับคู่เจรจาในกรอบต่างๆ ไทยได้เน้นย้ำความสำคัญของกลไกต่าง ๆ ที่อาเซียนมีบทบาทนำ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันและมุ่งหวังว่าจะมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนไทยพร้อมจะร่วมมือกับอาเซียน และคู่เจรจาของอาเซียนในการรับมือกับโควิด-19 และสนับสนุนข้อริเริ่มที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความยั่งยืนร่วมกัน
สำหรับฝ่ายไทย นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทน ได้รับมอบหมายให้ร่วมรับรองเอกสาร "19 ฉบับ" ประกอบด้วย
1. ปฏิญญากรุงฮานอยว่าด้วยวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 ที่ประกาศการเริ่มต้นกระบวนการหารือเพื่อจัดทำวิสัยทัศน์ โดยผู้นำอาเซียนจะสั่งการให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนกำกับดูแลกระบวนการจัดทำวิสัยทัศน์ฯ และพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานระดับสูง ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากประชาคมอาเซียนทั้งสามเสา เพื่อจัดทำวิสัยทัศน์
2. กรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน และแผนการดำเนินการตามกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมอาเซียนสำหรับการฟื้นตัวและสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาวให้แก่อาเซียนภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างมาตรการด้านสาธารณสุข การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นความร่วมมือใน 5 ด้าน ได้แก่ สาธารณสุข ความมั่นคงของมนุษย์ การส่งเสริมการค้าและตลาดอาเซียน ดิจิทัล และการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและแข็งแกร่ง
3. ปฏิญญากรุงฮานอยว่าด้วยการรับรองแผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ 4 (ค.ศ. 2021–2025)
4. แผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ 4 (ค.ศ. 2021 –2025) เพื่อลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาระดับภูมิภาคของกัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยคำนึงถึงผลกระทบจากประเด็นท้าทายใหม่ ๆ เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปในอีกหลายปีข้างหน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025
5. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนากรอบข้อตกลงระเบียงการเดินทางของอาเซียน เพื่อเป็นกลไกในการอำนวยความสะดวกให้แก่การเดินทางด้านธุรกิจที่จำเป็นในภูมิภาค
6. ปฏิญญากรุงฮานอยว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับงานสังคมสงเคราะห์เพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่แน่นแฟ้นและตอบสนอง มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งด้านกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับงานสังคมสงเคราะห์ การสร้างมาตรฐานการรับรองวิชาชีพและการออกใบอนุญาต การสนับสนุนการทำงานร่วมกันของวิชาชีพ การพัฒนา และยกระดับเครือข่ายนักสังคมสงเคราะห์และเวทีการประชุมวิชาชีพในระดับภูมิภาค เพื่อเพิ่มทัศนคติเชิงบวกของงานสังคมสงเคราะห์และนักสังคมสงเคราะห์ในระดับประเทศและระดับภูมิภาค
7. เอกสารว่าด้วยอัตลักษณ์อาเซียน อันปรากฏตามเอกสารผลลัพธ์และกิจกรรมโครงการต่าง ๆ ของอาเซียน โดยเน้นความร่วมมือบนพื้นฐานของค่านิยมและเป้าหมายร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน ที่จะทำให้ความเป็นสังคมของอาเซียน พัฒนาไปสู่ประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ (1) ค่านิยมที่สืบทอดกันมา ได้แก่ ความเป็นเอกภาพ ความเป็นเครือญาติ ความอดทน อดกลั้น ระบบการจัดการองค์กร และเอกภาพบนความหลากหลาย และ (2) คุณค่าที่สร้างขึ้น อาทิ เพลงประจำอาเซียน กฎบัตรอาเซียน และวิสัยทัศน์อาเซียน
8. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการท่องเที่ยวเชิงดิจิทัล มีวัตถุประสงค์ เช่น การแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ การดึงดูดให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างความปลอดภัย และความมั่นคงด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนนำวิธีการเชิงดิจิทัลมาใช้สำหรับแก้ไขปัญหาในระหว่างและหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19
9. แผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน - จีน เพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง (ค.ศ. 2021 – 2025) ที่อาเซียนและจีนจะดำเนินการร่วมกันในระยะ 5 ปีข้างหน้า เพื่อปฏิบัติตามวิสัยทัศน์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน – จีน ค.ศ. 2030 ซึ่งผู้นำอาเซียนและจีนได้รับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน – จีน ครั้งที่ 21 เมื่อปี 2561 และมีสาระครอบคลุมความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงความเชื่อมโยง เมืองอัจฉริยะ การพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียนและการลดช่องว่างด้านการพัฒนา ความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และระหว่างประเทศ และการติดตามและการนำแผนปฏิบัติการฯ ไปปฏิบัติ
10. แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการพัฒนาทุนมนุษย์ ณ การประชุมสุดยอดอาเซียน –สหรัฐฯ ครั้งที่ 8 ระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้นำสหรัฐฯ ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเน้นเรื่อง การศึกษา สาธารณสุข เศรษฐกิจ และศักยภาพในภาครัฐและสิทธิของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม
11. แถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน –ญี่ปุ่น ครั้งที่ 23 ว่าด้วยความร่วมมือต่อเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด –แปซิฟิก เป็นเอกสารยืนยันวัตถุประสงค์และหลักการของเอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด –แปซิฟิก (AOIP) โดยตระหนักถึงความคล้ายคลึงของวัตถุประสงค์และหลักการของเอกสาร AOIP กับแนวคิด Free and Open Indo – Pacific (FOIP) ของญี่ปุ่น และมุ่งส่งเสริมความร่วมมือผ่านกลไกอาเซียน –ญี่ปุ่นที่มีอยู่ เพื่อสนับสนุนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมภายใต้สาขาหลักที่กำหนดไว้ในเอกสาร AOIP ซึ่งประกอบด้วยความร่วมมือทางทะเล ความเชื่อมโยงระหว่างกัน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ค.ศ. 2030 และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสาขาอื่นที่เป็นไปได้
12. แถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน –ออสเตรเลียรอบสองปี ครั้งที่ 2 ที่ยืนยันการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งของทั้งสองฝ่าย และแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะการรับมือและฟื้นฟูจากโควิด-19 อีกทั้งเป็นการแสดงความยินดีที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน –ออสเตรเลีย เป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี 2564
13. แถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมระดับผู้นำอาเซียน –นิวซีแลนด์ในโอกาสครบรอบ 45 ปี เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับนิวซีแลนด์ โดยมีเนื้อหามุ่งขยายความเป็นหุ้นส่วนที่เน้นความร่วมมือใน 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ สันติภาพ ความมั่งคั่ง ประชาชน และโลก รวมถึงความร่วมมือด้านการฟื้นฟูเศรษฐภิจภายหลังโควิด-19
14. แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนบวกสามว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียนบวกสามเพื่อความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการเงินต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ โดยผู้นำอาเซียนบวกสาม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในกรอบด้านเศรษฐกิจและการเงิน บนพื้นฐานของความเข้มแข็งและต่อยอดความสำเร็จในอดีต และย้ำความมุ่งมั่นของประเทศอาเซียนบวกสามที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถและตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินในเอเชียตะวันออก รวมทั้งรักษาพลวัตของความร่วมมือเพื่อการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านกลไกต่าง ๆ ของอาเซียนบวกสาม อาทิ มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี : CMIM)
15. ปฏิญญากรุงฮานอยในโอกาสครบรอบ 15 ปี ของการประชุมสุดยอดอาเซียนตะวันออก ในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และเสริมสร้างความเข้มแข็งของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่มีอาเซียนเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ตลอดจนรักษาบทบาทสำคัญของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกในการรับมือกับพัฒนาการของภูมิภาคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยต่อยอดความสำเร็จในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาและกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์สำหรับอนาคต
16. แถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยความยั่งยืนทางทะเล เพื่อเป็นองค์รวมในภูมิภาค โดยสอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และเอกสารสำคัญต่าง ๆ ในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกใช้กลไกที่มีอาเซียนเป็นแกนกลางที่มีอยู่แล้ว รวมถึงมุ่งหวังที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทางทะเลและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในสาขาหลักที่ทุกประเทศให้ความสนใจและมีผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนทางทะเล
17. แถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการเติบโตที่มั่นคงของเศรษฐกิจภูมิภาค ส่งเสริมความร่วมมืออย่างเป็นเอกภาพระหว่างประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้มั่นคงและยั่งยืน ตลอดจนสร้างสภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาค
18. แถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถร่วมกันในการป้องกันและรับมือกับโรคระบาด ส่งเสริมความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรับมือโรคติดต่อและโรคระบาดในภูมิภาค รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือในด้านการพัฒนาศักยภาพในการจัดทำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรและห้องปฏิบัติการวิจัยในภูมิภาค
19. แถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยสตรี สันติภาพ และความมั่นคง ที่ส่งเสริมบทบาทนำและการมีส่วนร่วมของสตรีในด้านสันติภาพและความมั่นคงในระดับประเทศและภูมิภาค โดยสนับสนุนข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1325 ว่าด้วยสตรี สันติภาพ และความมั่นคง และต่อยอดถ้อยแถลงด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสตรีภายใต้กรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย –แปซิฟิก : ARF)
ขณะเดียวกัน ยังรวมถึง "ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการสร้างความเข้มแข็งในการปรับตัวรับภัยแล้ง" ปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับออสเตรเลีย ที่นายกฯลงนาม เอกสารผลลัพธ์ด้านแรงงาน จำนวน 4 ฉบับ
เช่นกัน เวทีนี้ยังมีประเด็น หารือเรื่องสถานการณ์โลกและภูมิภาค ความร่วมมือและการฟื้นฟูหลังโควิด-19 สถานการณ์ในรัฐยะไข่ และทะเลจีนใต้ การถกถึงความคืบหน้า การริเริ่มของอาเซียนในการรับมือโควิด-19 โดยเฉพาะ "กองทุนเพื่อรับมือกับโควิด-19" และการจัดทำกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมในการประชุม ACC Working Group ว่าด้วยภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยจะร่วมบริจาค 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ สนับสนุนกองทุนดังกล่าวเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของอาเซียน
หรือ การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2034 โดยได้มีมติเสนอ 5 ประเทศร่วมกันจัดทำข้อมูลทางเทคนิคประกอบการเสนอตัว ประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยมอบหมายให้ประเทศไทยเป็นหลัก
ขณะเดียวกัน เป็นที่จับตาว่าการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ จะสามารถลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ได้หรือไม่ หลัง 15 ชาติเข้าร่วม ยกเว้นประเทศอินเดีย ที่ยังแสดงท่าทีไม่เต็มใจกับการเปิดตลาด เนื่องจากมีความกังวลว่า ยอดขาดดุลการค้ากับจีน อาจขยายตัวเพิ่มขึ้น
เช่นเดียวกันในปลายปีนี้ไทย ยังจะร่วมเวทีผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 เพื่อถกแถลงร่างปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 (ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ ค.ศ. 2020) ด้วย.