xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คลี่ปริศนา “สงฆ์ไทย” ชูป้าย “เอาคิ้วเราคืนมา”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ภาพพระสงฆ์ชูป้าย “เอาคิ้วเราคืนมา”  เมื่อครั้งเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มราษฎร จนเป็นประเด็นถกเถียงใหญ่โต รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์พระเหล่านั้นกันอย่างหนัก เพราะจะว่าไปต้องยอมรับว่า การเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองมิใช่  “กิจของสงฆ์”  ขณะที่การดำรงอยู่ของ “คิ้ว” ก็มิใช่เรื่องที่พระเหล่านี้จะหยิบยกมาให้เป็นเรื่อง เพราะมิใช่หนทางที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการบวชคือการหลุดพ้น

ดังนั้น จึงมิอาจมองเป็นอื่นได้ว่า พระเหล่านั้น หมกมุ่นกับ  “กระพี้” ต้องการทำให้เป็นประเด็นทางการเมือง จนหลงลืมปลายทางของสมณเพศ

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากเป้าประสงค์ทางการเมืองแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า เมื่อประเด็นดังกล่าวถูกจุดขึ้นมา ก็นำไปสู่การค้นหาเช่นกันว่า ด้วยเหตุใดพระไทยต้องโกนคิ้ว เพราะแม้พระในหลายประเทศจะโกนคิ้ว แต่ในหลายประเทศก็ไม่โกนคิ้วให้เห็นเช่นกัน รวมทั้งนำไปสู่คำถามที่ว่าการโกนคิ้วแนวทางปฏิบัติที่สืบกันมาในหมู่คณะสงฆ์ไทยมีที่มาที่ไปอย่างไร

ถามว่าทำไมพระไทยต้องออกมาทวงคืนคิ้ว แน่นอนว่านัยมีมากกว่าคำตอบของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมชื่อดังอย่าง  “พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ” ที่ตอบเอาฮาทำนองว่า  “อาตมาเคยลองถอนทีละเส้นแล้วโยม ไม่ไหว มันเจ็บมาก”  

มีข้อมูลระบุว่า พระวินัยบัญญัติไม่มีบัญญัติเกี่ยวกับการโกนคิ้ว กล่าวคือถ้าภิกษุโกนคิ้วจะปรับอาบัติไม่ได้ หรือถ้าไม่โกนคิ้วก็ไม่เป็นอาบัติเช่นเดียวกัน ซึ่งพระวินัยอธิบายไว้ว่าการปลงผมและหนวด เป็นเครื่องหมายของบรรพชิต จุดประสงค์ก็เพื่อการตัดความกังวลในเรื่องการดูแลรักษา ป้องกันการแต่งผม แต่งหนวด อันไม่ใช่สิ่งที่พระภิกษุจะกระทำเพียงเท่านั้น

ตามหลักฐานพระไตรปิฏกและพระธรรมวินัย ข้อมูลจากเพจประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ในอรรถกาที่อธิบายพระวินัยปิฏก มหาวรรค ภาค ๑ ชื่อ สมันตปาสิกา (หลักสูตร ของ ป.ธ. ๕.๖ ) ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ห้ามบวชคนไม่มีขนคิ้ว มีบาลีว่า นิลฺโลมภมุก วา (น ภิกฺขเว นิลฺโลมภมุก ปพฺพาเชตพฺโพ) ปรับเป็นอาบัติทุกกฎ แก่ผู้ที่ให้บวช

โดยครั้งหนึ่งพระธัมมานันทมหาเถร เจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ จ.ลำปาง ถูกนิมนต์โดยพระธรรมคุณาภรณ์ (เช้า ฐิตปัญโญ ป.ธ. ๙ ) ให้มาสอนพระไตรปิฏก และสมเด็จญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงขอให้ตรวจข้อความในพระไตรปิฏกพร้อมทั้งคำแปล ได้วินิจฉัยว่าในที่นี้หมายเอาว่า “ทั้งที่ไม่มีขนคิ้วโดยธรรมชาติและโกนออก”

อีกทั้ง ไม่มีพระวินัยหรือสิกขาบทใดให้โกน ไม่มีพระราชบัญัติคณะสงฆ์ กฎมหาเถรสมาคม หรือข้อห้ามใดๆ เป็นแต่เพียงธรรมเนียม เรื่องเล่าที่บอกต่อมาว่าให้โกน จึงเป็นสาเหตุที่พระไทยบางกลุ่มไม่โกนขนคิ้ว

ขณะที่ ข้อมูลจากเพจพุทธที่แท้จริง ระบุว่า การโกนคิ้วนิยมเฉพาะในหมู่สงฆ์ไทย และฝ่ายเถรวาทที่ไปจากไทย เช่น ลาว เขมร และลังกา ส่วนภิกษุหมู่ใหญ่มิได้ปฏิบัติเลย คงไว้คิ้วกันทั้งสิ้น เช่น พระพม่าซึ่งเป็นเถรวาทเช่นเดียวกับไทย และพระฝ่ายมหายานทุกนิกาย และนิกายอื่นๆ ทุกประเทศ ไม่ว่าธิเบต จีน ญวน หรือญี่ปุ่น ส่วนสาเหตุการโกนคิ้วของสงฆ์ไทยนั้น ไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานไว้อยู่ 3 กรณี คือ

กรณีที่ 1 ในช่วงรัชกาลที่ 4 มีการให้พระไทยโกนคิ้ว เพื่อแยกต่างจากนักโทษ, กรณีที่ 2 มีภิกษุยักคิ้วใส่สีกา ความถึงพระสังฆราช จึงออกกฎให้พระไทยต้องโกนคิ้ว (แต่ข้อมูลมีทั้งบอกว่าเกิดขึ้นในสมัยอยุธยา , รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5) และกรณีที่ 3 สมัยอยุธยา ไทยพม่ารบกัน ทหารพม่าปลอมเป็นพระมาเป็นไส้ศึก พระราชาจึงสั่งให้พระไทยโกนคิ้ว เพื่อแยกแยะพระไทยกับไส้ศึก กล่าวคือพระพม่าไส้ศึกมีคิ้ว พระไทยไม่มีคิ้ว ซึ่งกรณีนี้น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด เนื่องจากการโคนคิ้วของสงฆ์ไทย มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ทั้ง 3 กรณีก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนอยู่ดี

นอกจากนี้ เพจศิลปวัฒนธรรม เปิดเผยข้อมูลเรื่อง “พระสงฆ์ไทย กับคิ้วที่หายไป?” หลังจากเกิดกระแส “เอาคิ้วเราคืนมา” ในหมู่วงการผ้าเหลือง ทำให้เกิดการถกเถียงกันเกี่ยวกับการโกนคิ้วของพระสงฆ์ไทย ท้ายที่สุดควรโกนคิ้วต่อไปหรือไม่ เพราะการโกนคิ้วไม่มีในพุทธบัญญัติ

โดยข้อมูลสอดคล้องกับข้างต้น กล่าวคือสาเหตุของการโกนคิ้วมี 2 กระแส หนึ่งคือ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โกนคิ้วเพื่อแยกพระสงฆ์ไทยกับพม่า ที่ปลอมตัวเป็นพระสงฆ์เข้ามาสืบข่าว สองคือ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อป้องกันไม่ให้พระสงฆ์ลักลอบเข้าไปพระพฤติมิงามกับนามสนมนางในในพระบรมมหาราชวัง รวมถึงป้องกันไม่ให้พระสงฆ์ยักคิ้วหลิ่วตาให้ผู้หญิง

อ้างอิงวิทยานิพนธ์เรื่อง “พระภิกษุข้ามถิ่นอัตลักษณ์ข้ามแดน : ศึกษาเปรียบเทียบพระภิกษุพม่าและพระภิกษุไทใหญ่ในภาคเหนือของประเทศไทย” โดย ศุภสิทธิ์ วนชยางค์กูล ได้อธิบายถึงเรื่องพระสงฆ์ไทยกับการโกนคิ้วว่า

“เรื่องเล่าเกี่ยวกับการโกนคิ้วของพระภิกษุไทยนั้นถูกเล่าผ่านต่อกันมา มีอยู่สองเรื่องราวด้วยกัน ในเรื่องแรกนั้นได้กล่าวถึง การทำสงครามระหว่างพม่ากับไทยในสมัยอยุธยาแล้วนั้น ได้มีทหารพม่าแอบปลอมตัวเป็นพระภิกษุสงฆ์เพื่อที่จะมาหาข่าวในฝั่งของประเทศไทยเพื่อเป็นประโยชน์ในการทำสงครามระหว่างประเทศไทย เมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีชาวพม่าที่ปลอมเป็นพระภิกษุเข้ามาหาข่าวจึงหากลวิธีที่ต้องการแยกระหว่างพระไทยและพระพม่า จึงมีการออกกฎให้พระภิกษุไทยต้องทำการโกนคิ้ว เมื่อมีพระภิกษุพม่าปลอมตัวมาก็จะสามารถแยกแยะและสามารถกุมจับตัวได้

“ส่วนในเรื่องเล่าที่สองนั้นเกิดขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องด้วยพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยนั้นมีนางสนมอยู่เป็นจำนวนมาก และก็มีจำนวนมากที่ชอบพอกับบุรุษภายนอกวัง หรือมีบุรุษที่ต้องการเข้าไปหานางสนม ซึ่งการที่ผู้ชายเข้าไปในพระราชวังนั้น หากไม่ได้รับอนุญาตก็ถือว่า ผิดกฏในราชสำนักอย่างร้ายแรง ดังนั้น จึงมีผู้อาศัยผ้าเหลืองห่มเข้าไปเพื่อลอบเข้าไปหานางสนมของพระมหากษัตริย์ เพราะพระภิกษุสงฆ์สามารถเข้าวังได้โดยไม่มีกฎเคร่งครัดมากนัก เมื่อความรู้ถึงพระมหากษัตริย์จึงมีคำสั่งให้พระภิกษุต้องโกนคิ้ว เพื่อให้สามารถพิสูจน์ได้ว่า ใครเป็นพระจริงหรือพระปลอม ถ้าไม่ใช่พระภิกษุแล้วทำไมถึงไม่มีคิ้ว”

การโกนคิ้วเกิดขึ้นในสมัยใดไม่มีหลักฐานระบุแน่นอน เพียงปรากฏใน “จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์” ทั้งนี้ ลา ลูแบร์ เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แสดงว่าพระสงฆ์ในสมัยนี้โกนคิ้วกันแล้ว ระบุว่า “พระภิกษุโกนหนวดเครา ผมบนศีรษะและขนคิ้วเกลี้ยง (They shave all their Beard, Head, and Eyebrows)”

อย่างไรก็ตาม มีหลักฐาน 2 ชิ้น กล่าวถึง “การโกนของพระสงฆ์” คือ “จดหมายเหตุของโยส เซาเต็น” และ “พรรณาเรื่องอาณาจักรสยาม ของ วัน วลิต” ระบุว่า “พระสงฆ์ต้องโกนผม แต่ไม่ได้กล่าวถึงการโกนคิ้ว” จึงเป็นไปได้ว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา ช่วงสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมถึงสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระสงฆ์ไทยอาจยังไม่โกนคิ้ว

การโกนคิ้วของพระสงฆ์ในปัจจุบันถือปฏิบัติทั้งกลุ่มพระสงฆ์ไทย สรุปได้ว่าการโกนคิ้วมีทำกันในสมัยกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แต่จะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลใดนั้นไม่มีหลักฐานแน่นอน

นอกจากประเด็นถกเถียงเรื่องการโกนคิ้วของพระสงฆ์ไทย ทั้งที่ไม่มีระบุในพุทธบัญญัติจนเกิดเป็นประเด็นถกเถียง สืบเนื่องจากพระรูปหนึ่งไปร่วมม็อบราษฎรแล้วทำการชูป้าย “เอาคิ้วเราคืนมา” ด้านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ก็ออกโรงตำหนิภิกษุยุ่งเกี่ยวกับการเมือง พร้อมกับให้ตรวจสอบพระภิกษุสามเณรที่เข้าร่วมม็อบฯ ดำเนินการทางวินัย ตรวจสอบสถานะปลอมบวชหรือไม่

ทั้งนี้ เบื้องต้นพบเป็นพระจริง 1 รูป และสามเณรจริง 1 รูป ส่วนที่เหลือยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

“พระสงฆ์ที่เข้ามาบวช ไม่ได้มีใครบังคับ เข้ามาด้วยความสมัครใจ และกฎบอกไว้ชัดเจนว่า ต้องโกนคิ้ว หากยอมรับระเบียบไม่ได้ ก็แค่ลาสิกขา เพราะการบวชไม่ได้มีใครบังคับ มาบวชด้วยความสมัครใจ” นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการ พศ.อธิบายถึงกรณีโกนคิ้วของคณะสงฆ์ไทย

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) มีมติให้แจ้งเจ้าคณะผู้ปกครองดำเนินการกับพระภิกษุสามเณรที่ฝ่าฝืนคำสั่ง เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ.2538 พร้อมทั้งมีมติให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม กรรมการ มส. ในฐานะประธานปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ฝ่ายปกครอง วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวให้มีความชัดเจน และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

สรุปแล้วการโกนคิ้วของพระสงฆ์ไทย กระทำกันในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระนารายณ์ อย่างแน่นอน แต่การโกนคิ้วนั้น ยังไม่แน่ชัดว่า พระสงฆ์ไทยกระทำด้วยสาเหตุใด




กำลังโหลดความคิดเห็น